คดีกล่าวหารุมทำร้าย “พลทหารวิเชียร” ในค่ายทหารจนเสียชีวิต เป็นข่าวดังไปทั่วประเทศเมื่อ 12 ปีก่อน ศาลได้ฤกษ์นัดอ่านคำพิพากษาแล้ว ลุ้นระทึก “ศาลทหาร” ม้วนเดียวจบ ไม่มีอุทธรณ์-ฎีกา เปิดสารพัดเหตุการณ์สุดดราม่า ลูกนายพลผู้ถูกกล่าวหาชีวิตราชการยังรุ่งเรือง ยศขยับต่อเนื่อง แถมแจ้งจับหลานสาวผู้ตายโพสต์ขอความเป็นธรรม
แม้นว่าผู้คนในสังคมอาจหลงลืมไปแล้วกับโศกนาฏกรรมในอดีตที่เป็นความรุนแรงจากค่ายทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สำหรับครอบครัวของ พลทหารวิเชียร เผือกสม ยังคงเฝ้ารอความยุติธรรมอย่างใจจดใจจ่อ แม้ระยะเวลาจะล่วงเลยมานานถึง 12 ปีแล้วก็ตาม
24 ต.ค.66 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ของตนว่า ในวันพุธที่ 25 ต.ค. เวลา 09.00 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี พลทหารวิเชียร เผือกสม ที่ศาลมณทลทหารบกที่ 46
ที่มาของคดีนี้ สืบเนื่องจาก พลทหารวิเชียร ถูกเจ้าหน้าที่ทหารร่วมค่ายกระทำการละเมิด ซ้อมทรมาน เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย เมื่อปี 2554 เหตุเกิดที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ค่ายทหารแห่งเดียวกับที่เคยโดนปล้นปืน 413 กระบอก อันเป็นปฐมบทไฟใต้ที่ลุกโชนมาร่วม 2 ทศวรรษ
ผ่านมากว่า 12 ปี คดีเพิ่งจะถึงวันนัดอ่านคำพิพากษา...
พลทหารวิเชียร เป็นพลทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2554 สังกัด ร.151 พัน.3 (กองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 151) ถูกกระทำการละเมิด ซ้อมทรมาน โดยเจ้าหน้าที่ทหารรวม 9 นาย ที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายจากอาการบาดเจ็บสาหัส ไตวายเฉียบพลัน และกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง ในวันที่ 5 มิ.ย. 2554
ต่อมาพนักงานอัยการศาลทหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทหารยศร้อยโท กับเจ้าหน้าที่ทหารรวม 9 คน เป็นจำเลยในคดีดำที่ 41 ก./ 2563 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา
ที่ผ่านมาศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ได้สืบพยานมารดาของพลทหารวิเชียร, พลทหารที่ค่ายจำนวนหลายปาก ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ขณะเกิดเหตุ, ผู้ชันสูตรศพของผู้ตายในวันเกิดเหตุ โดยขึ้นเบิกความยืนยันในประเด็นผลชันสูตร
นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการ ป.ป.ท ที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีนี้ และได้วินิจฉัยชี้มูลว่าจำเลยมีความผิด โดยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ขึ้นเบิกความเพื่อยืนยันถึงรายละเอียดและข้อเท็จจริงของการสอบสวนในชั้น ป.ป.ท. รวมถึงการชี้มูลและแจ้งข้อกล่าวหาจำเลย
ต่อมาศาลแถลงว่าได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว แต่เนื่องจากคดีเป็นระบบไต่สวน ศาลอาจมีการนัดสืบพยานเพิ่มเติมหากยังคงมีข้อสงสัยในประเด็นใดระหว่างการเขียนคำวินิจฉัย โดยจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
เบื้องต้นศาลนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2566 แต่ปรากฏว่าศาลได้แจ้งให้คู่ความทราบในวันนัดว่า มีปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ จึงให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 25 ต.ค.2566
@@ เผยคดีขึ้นศาลทหาร ชั้นเดียวจบ!
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้ข้อมูลอีกว่า คดีนี้เป็นคดีซ้อมทรมาน โดยเจ้าหน้าที่ทหารผู้สังกัดอยู่ในราชการทหาร การพิจารณาคดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมทั่วไป คดีนี้จะสิ้นสุดที่ชั้นเดียว และจะไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไปได้ คำพิพากษาที่ออกมาถือเป็นที่สุด
@@ 12 ปีคดี “พลทหารวิเชียร” จบ ป.โท ยังโดนทำร้ายคาค่าย
พลทหารวิเชียร มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.สงขลา ก่อนเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่อปี 2554 เจ้าตัวเพิ่งสึกจากการเป็นพระ โดยก่อนหน้านั้นเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการศึกษาพัฒนาชุมชน จากภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ญาติของพลทหารวิเชียร ได้รับแจ้งจากทางโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2554 ว่า พลทหารวิเชียรเสียชีวิต โดยหลักฐานจากการชันสูตรศพของแพทย์ระบุว่า เสียชีวิตเนื่องจากไตวายเฉียบพลัน กล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรง ร่างกายถูกของแข็งกดทับ และมีร่องรอยถูกรุมซ้อมทำร้ายร่างกาย
ต่อมามีการสอบสวนจนทราบว่า มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นระหว่างการควบคุมของครูฝึกในหน่วยฝึกทหารใหม่ของค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชครินทร์ โดยบรรดาครูฝึกอ้างว่าพลทหารวิเชียรถูกลงโทษเพราะหลบหนีการฝึกถึง 2 ครั้ง
ในส่วนของคดีแพ่ง มารดาของพลทหารวิเชียรได้ยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดต่อหน่วยงานต้นสังกัด ปรากฏว่าสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ โดยศาลแพ่งสั่งให้กองทัพบกเป็นผู้ชดเชยเยียวยาค่าเสียหายแก่มารดาของพลทหารวิเชียร เป็นเงิน 7,049,213 บาท
ส่วนคดีอาญา ญาติของ พลทหารวิเชียร ได้แจ้งความร้องทุกข์เอาไว้ แต่เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นทหารยศต่ำกว่าพันตรี จึงอยู่ในอำนาจการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ท.
การสอบสวนดำเนินมานานกว่า 4 ปี กระทั่งปลายปี 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้ส่งหนังสือแจ้งการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร ระบุว่า ร้อยโทหนึ่งนายกับพวกรวม 10 คน ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ.2473 มาตรา 30 (4) คดีจึงถูกยื่นฟ้องต่ออัยการ และขึ้นศาลทหารในที่สุด
@@ นายทหารผู้ถูกกล่าวหายศพุ่งต่อเนื่อง แถมแจ้งจับคนวิจารณ์
ดราม่าของคดีพลทหารวิเชียร ไม่ได้มีแค่ประเด็นการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างล่าช้า และต้องลุ้นเหนื่อยทุกขั้นตอน แต่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ที่เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร ยังเป็นลูกนายทหารระดับนายพล หนำซ้ำยังเป็นนายพลที่มีบทบาทสูงในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
และระหว่างที่ถูกดำเนินคดี ยศและตำแหน่งของเขาก็ขยับขึ้นตลอด ไม่ได้หยุดพักหรือถูกสั่งให้พักราชการระหว่างต้องคดีแต่อย่างใด
หนำซ้ำในปี 2559 น.ส.นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ อายุ 25 ปี เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหลานสาวของพลทหารวิเชียร ได้โพสต์เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ พลทหารผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งเป็นญาติของเธอ แต่เธอกลับถูกนายทหารสัญญาบัตรซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ แจ้งความจับกุม และตำรวจ สน.มักกะสัน ก็ขยันขันแข็ง นำกำลังเข้าจับกุมถึงที่ทำงาน คือ กรมสวัสดิการเด็กฯ ตามหมายจับศาลจังหวัดนราธิวาส ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
น.ส.นริศราวัลถ์ เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่ขัดขืน และเคยเดินทางลงไปรับทราบข้อกล่าวหาถึง จ.นราธิวาส โดยเจ้าตัวบอกว่าการโพสต์เฟซบุ๊คเกี่ยวกับพลทหารวิเชียรนั้น สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ มั่นใจว่าไม่ได้โพสต์หมิ่นประมาทหรือโกหกหรือบิดเบือน
คำพิพากษาของศาลทหารในวันพุธที่ 25 ต.ค.2566 จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า คดีพลทหารวิเชียรจะจบลงแบบใด และครอบครัวของผู้ตายที่เฝ้ารอความเป็นธรรมมานานถึง 12 ปี จะตามหาความยุติธรรมพบเจอหรือไม่
@@ นายสิบ ตชด.เสียชีวิตหลังถูกครูฝึกสั่งวิ่ง 10 กิโลฯ
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ยังมีคดีเสียชีวิตระหว่างการฝึกเกิดขึ้นอีก 1 กรณีในพื้นที่ จ.สงขลา
โดยเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา นายสิบตำรวจ (นสต.) ปกรณ์ เนียมรัตน์ อายุ 26 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่อยู่ระหว่างฝึกอบรมที่กองกำกับการ 9 กองบังคับการฝึกพิเศษ ค่ายท่านมุก (กก.9 บก.กฝ.บช.ตชด.) ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ต.เขามีเกียรติ อ.สะเดา จ.สงขลา เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน หลังถูกครูฝึกสั่งให้วิ่งระยะทาง 10 กิโลเมตร
นสต.ปกรณ์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.เมืองสงขลา สอบติดตำรวจ สังกัด ตชด.เมื่อกลางปีที่ผ่านมา จากนั้นเข้าสู่การฝึกร่างกายในฐานะนักเรียนนายสิบตำรวจ ที่ค่ายท่านมุก เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ฝึกได้เพียง 10 วันก็เสียชีวิต
ข้อมูลจากคนใกล้ชิดระบุว่า ก่อนสิ้นใจ นสต.ปกรณ์ ป่วย มีไข้อยู่ประมาณ 2 วัน จากนั้นในเช้าวันที่ 10 ต.ค. ซึ่งเป็นวันที่เสียชีวิต ได้มีการรวมแถววิ่งเป็นปกติ ตั้งแต่เวลาประมาณ 07.00 น. วิ่งได้ 6 กิโลเมตร แต่ครูฝึกยังสั่งให้วิ่งจนครบระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร หลังจากนั้น นสต.ปกอรณ์ ก็เสียชีวิต
ต่อมาวันที่ 12 ต.ค.2566 มีคำสั่งให้ตำรวจ ตชด. ยศ “สิบตำรวจโท” นายหนึ่ง สังกัดกองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิม คาดว่าเพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของ นสต.ปกรณ์