แม้รัฐบาลนายกฯเศรษฐา จะยังไม่มี “รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง” เพื่อรับผิดชอบปัญหาและยุทธศาสตร์ความมั่นคงในภาพรวม ทั้งๆ ที่เกิดสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล ซึ่งกระทบคนไทยและแรงงานไทยอย่างหนักก็ตาม
แต่วันนี้ต้องยอมรบว่า รัฐบาลมี “รองนายกฯดับไฟใต้” เรียบร้อยแล้ว ก็คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯอันดับ 2 จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคแกนนำ
ทว่าการเป็น “รองนายกฯดับไฟใต้” ลักลั่นพอสมควร เพราะนายกฯเศรษฐา แบ่งงานให้รองนายกฯสมศักดิ์ กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. แต่กลับมอบอำนาจให้รองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งเป็นรองนายกฯอันดับ 3 จากพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. พิจารณาการต่ออายุ-ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวของประเทศที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอยู่ในปัจจุบัน
แต่ความลักลั่นยิ่งกว่านั้นก็คือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ก.ย.66 เห็นชอบให้รองนายกฯสมศักดิ์ เป็นประธานการประชุม กบฉ. แถมเป็นผู้แทนรัฐบาลในการตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
สุดท้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ยังไม่ได้ตั้ง มีแต่รักษาการ) จึงทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ทำหนังสือถึงนายกฯเศรษฐา เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 253/2566 โดยให้เปลี่ยนชื่อประธาน กบฉ. จากรองนายกฯอนุทิน เป็นรองนายกฯสมศักดิ์
ปรากฏว่านายกฯเศรษฐา เห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้รองนายกฯสมศักดิ์ เป็นประธานการประชุม กบฉ.เมื่อวันที่ 11 ต.ค. และเสนอให้ต่ออายุ-ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 3 เดือน “แบบเต็มแม็กซ์”
ปัจจุบันสถานะของรองนายกฯสมศักดิ์ คือกำกับดูแลภารกิจดับไฟใต้ รับผิดชอบหน่วยงาน ศอ.บต. และ กบฉ. แต่ไม่ชัดเจนว่าได้กำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพใหญ่ในงานดับไฟใต้ของทุกส่วนราชการด้วยหรือไม่
แต่รองนายกฯสมศักดิ์ ก็เดินหน้าแต่งตั้ง พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ หรือ “เจ้ากรมบอย” อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ เป็น “ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี” ซึ่งทราบกันวงในว่า มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ศอ.บต. และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (อ่านประกอบ : เปิดตัว “เจ้ากรมบอย” ที่ปรึกษา “รองนายกฯสมศักดิ์” กำกับ ศอ.บต.)
นาทีนี้จึงยังไม่มีความชัดเจนว่า งาน กอ.รมน.อยู่ในความดูแลของใคร เพราะโดยโครงสร้างตามกฎหมาย นายกฯ คือ ผอ.รมน. ส่วน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สามารถแบ่งให้รองนายกฯกำกับดูแลแทนได้หรือไม่ กฎหมายไม่ได้แจ้ง!
@@ ลงพื้นที่ชายแดนใต้ สำรวจพนังกั้นน้ำมูโนะ
ช่วงวันที่ 19-20 ต.ค.66 นายสมศักดิ์ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามงานการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน เรียกว่าเดินสายทั้งฝั่งไทยและฝั่งมาเลย์ รับภารกิจใหม่ “ดับไฟใต้” แบบเต็มตัว
จุดแรกไปตรวจการก่อสร้างพนังกั้นน้ำมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เนื่องจากเกิดปัญหาน้ำท่วมหนักทุกปี ปีที่แล้วน้ำก็เพิ่งทะลักจนตลาดจม ผ่านมา 7 เดือน ก็มีระเบิดโกดังเก็บพลุซ้ำอีก
โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตลาดมูโนะมี 3 โครงการหลักๆ คือ
1.ปรับปรุงพนังกั้นน้ำแม่น้ำสุไหงโก-ลก
2.ซ่อมแซมประตูระบายน้ำมูโนะ
3.ซ่อมแซมคันคลองฝั่งซ้ายและขวา
เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะนี้เดือน ต.ค.66 ใกล้จะถึงฤดูน้ำหลากอีกรอบแล้ว แต่โครงการก็ยังไม่เสร็จสิ้น และที่ผ่านมาก็มีรัฐมนตรีไปดูความคืบหน้าบ่อยมาก ก่อนหน้านี้คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม
@@ ภูมิใจไทย-พปชร.ร่วมลงพื้นที่ ไร้เงา รทสช.-ประชาชาติ
นอกจากนั้นการลงพื้นที่นราธิวาส ยังมี สส.นราธิวาสของพรรคภูมิใจไทยคือ นายซาการียา สะอิ และ สส.นราธิวาสของพรรคพลังประชารัฐ คือ นายสัมพันธ์ กับ นายอามิทร์ มะยูโซ๊ะ สองพี่น้อง ร่วมเดินทางไปด้วย แต่ไม่มี สส.อีก 2 คนจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน คือ นายวัชระ ยาวอหะซัน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ จากพรรคประชาชาติ ร่วมลงพื้นที่ด้วยแต่อย่างใด (สส.นราธิวาส มีทั้งหมด 5 คน มาจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด)
“การเดินทางมาในวันนี้ ผมลงมาพร้อมกับ สส.ของพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่ถือว่าเป็นคนหนุ่ม มุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยการพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้ตัวผมเองจะไม่ได้เป็นคนใต้ แต่ก็ยินดีและเต็มใจที่จะทำให้ และถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล” รองนายกฯสมศักดิ์ กล่าว
@@ บุกด่านบูเก๊ะตา ขับเคลื่อนมา 25 ปียังไม่สำเร็จ
จากนั้น นายสมศักดิ์ เดินทางต่อไปติดตามการพัฒนาด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ให้เป็นด่านปศุสัตว์และด่านสินค้าเกษตร อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งปัจจุบันในส่วนของอาคารด่านศุลกากรนั้นก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องของถนนที่อาจส่งผลกระทบกับบ้านเรือนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามด่านบูเก๊ะตา
เป็นที่น่าสังเกตว่า ด่านบูเก๊ะตา และสะพานข้ามแดนบูเก๊ะตา (สะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย) สร้างเสร็จและเปิดมาหลายปี โดยเฉพาะฝั่งมาเลเซียสร้างมารอนานแล้ว แต่ติดปัญหาที่ฝั่งไทย จึงดำเนินการขนส่งสินค้าเข้า-ออกได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องมาดูว่าการสร้างถนนเส้นอื่นทดแทน จะคุ้มค่ามากกว่าการเวนคืนที่ดินของประชาชนหรือไม่ และมูลค่าด่านจะมีรายได้เท่าไหร่ หรือมีความจำเป็นต้องสร้างทางยกระดับจากด่านพรมแดนไปยังหน้าอาคารด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ระยะทาง 800 เมตร
“อยากให้ทุกคนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นหลัก แล้วพูดคุยให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เพราะหากด่านนี้เปิดใช้ได้แล้ว มีมูลค่าทางธุรกิจ ก็จะเป็นสิ่งที่ดี โดยด่านนี้ถูกขับเคลื่อนมาแล้ว 25-26 ปี แต่ยังไม่สำเร็จ ผมก็จะนำปัญหาเสนอรัฐบาลต่อไป”
@@ ถกฝ่ายการเมือง-ขรก.-นักธุรกิจกลันตัน
ช่วงค่ำวันเดียวกัน ที่โรงแรมแกรนด์รีไนด์โฮเทล รัฐกลันตัน นายสมศักดิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เดินทางไปประชุมหารือร่วมกับ Datuk Seri Dr.Wee Ka Siong ประธานสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน (Malaysian Chinese Association) ถึงการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย กับรัฐชายแดนของประเทศมาเลเซีย
สำหรับ ดาโต๊ะ สรี วี กาเชียง (Datuk Seri Wee Ka Siong) ประธานสมาคมจีนประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศมาเลเซีย และยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ระบบราง เชื่อมสองฝั่งทะเลของมาเลเซียที่ชื่อว่า โครงการ “อีสต์โคสต์ เรลลิงค์” (East Coast Rail Link : ECRL) จะเริ่มวิ่งจากท่าเรือแคลง (Port Klang) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ข้ามคาบสมุทรมายังรัฐกลันตัน ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ.2026 หรืออีกราว 5 ปีข้างหน้า
หากประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงระบบรางของประเทศเข้ากับโครงการนี้ได้ ก็จะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โอกาสนี้ ทั้งสองคนยังได้หารือในประเด็นความร่วมมือโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาร่วมกัน โดยเฉพาะการเร่งรัดผลักดันการก่อสร้างโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และข้อเสนอให้ประเทศมาเลเซียเร่งรัดการพิจารณาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อให้เกิดโอกาสการเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมขนส่งของทั้ง 2 ประเทศ
@@ ผบ.ตำรวจกลันตันฝากไทยสกัดแรงงานเถื่อน
ต่อมา ช่วงเช้าของวันที่ 20 ต.ค. รองนายกฯสมศักดิ์ ยังได้พบกับ พล.ต.ท.มูฮัมหมัดซากี บินฮัจญีฮาหรน ผู้บัญชาการตำรวจรัฐกลันตันของมาเลเซีย ดาโต๊ะ คีมี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลงานด้านก่อสร้างและคมนาคม พร้อมเครือข่ายนักธุรกิจรัฐโกตาบารู รวมถึง ดาโต๊ะ กว๊วก หนวง เพง เจ้าของบริษัทพัฒนาพื้นที่และอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แห่งเมืองโกตาบารู เจ้าของห้าง Aeon
บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี มีการเน้นย้ำถึงความร่วมมือในการพัฒนาควบคู่กันทั้งสองฝ่าย โดยทางฝ่ายมาเลเซียมองไทยดีขึ้น จากปัญหาชายแดนใต้ที่ได้รับข่าวสารทำนองว่า ประเทศไทยทำร้ายพี่น้องมุสลิม แต่ปัจจุบันมีความมากขึ้นกว่าเดิม และยังฝากให้ไทยช่วยแก้ปัญหาแรงงานเถื่อนที่ลักลอบผ่านด่านฝั่งไทยเข้าไปในมาเลเซีย
รองนายกฯสมศักดิ์ กล่าวว่า ถือเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในพื้นที่ครั้งประวัติศาสตร์ เป็นโฉมใหม่ของการแก้ปัญหาภาคใต้ เพราะนี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่ผู้ใหญ่ระดับสูงของไทยได้มาเยือนรัฐกลันตัน และพูดคุยการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
@@ ยกระดับด่านตากใบ-พัฒนาระบบคมนาคมเชื่อมมาเลย์
วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เดินทางไปที่ด่านศุลกากรตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตาม ตามมติ กพต. เพื่อเดินหน้าพัฒนาและยกระดับด่านศุลกากรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
-ด่านสุไหงโก-ลก ซึ่งจะมีการสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 จากที่เดิมมีด่านศุลกากรและสะพานอยู่แล้ว 1 แห่ง
-ด่านบูเก๊ะตา โครงสร้างพื้นฐานเสร็จหมดแล้วแต่เปิดบางส่วนไม่ได้
-ด่านตากใบ เตรียมสร้างสะพานมิตรภาพอีกแห่งหนึ่ง โดยอาจก่อสร้าง 2 สะพาน แล้วมีถนนเชื่อมต่อ
@@ ชิมปูทะเลยะหริ่ง ขยายพื้นที่นากุ้งร้างสร้างอาชีพใหม่
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายสมศักดิ์ ไปติดตามความคืบหน้าการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจปูทะเล ในพื้นที่ ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นโครงการขยายผลความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปูดำ หรือปูทะเล ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
รองนายกฯสมศักดิ์ ได้สำรวจและพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปู พร้อมชิมไข่และเนื้อปูทะเล ก่อนชมเปาะ "อร่อยที่สุด จนภัตตาคารสู้ไม่ได้" และยังชิมยำสาหร่ายผมนาง หรือ “แซแฆ” ในภาษามลายู ที่ชาวบ้านนำมาให้ลองอีกด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบางปู เลี้ยงปูในบ่อนากุ้งร้างมานาน 4-5 ปีแล้ว โดยเริ่มแรกได้รับการสนับสนุนจาก ศอ.บต. และ ม.อ. บ่อหนึ่งมีความกว้าง 5-6 ไร่ มีปูประมาณ 3,000-4,000 ตัว น้ำหนัก 2 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม เป็นปูไข่ ได้ลองชิมดูแล้วอร่อยมาก จะส่งเสริมอาชีพนี้ให้ยั่งยืน สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรได้จริงต่อไป
ด้าน นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้พูดคุยกับเอกชนบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเอกชนในตำบลบางปู บานา และตันหยงลูโละ จะนำพื้นที่กว่า 1,000 ไร่จากบ่อนากุ้งร้างทั้งหมดกว่า 10,000 ไร่ โดยเจรจาขอทดลองนำร่องเลี้ยงก่อน เป็นเวลา 1 ปี
คาดว่าในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียงไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท จากอุตสาหกรรมปูทะเลในพื้นที่