29 กันยายน 2566 ไม่ใช่แค่วันส่งมอบหน้าที่ ผบ.ตร. ระหว่าง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ กับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ที่มีแต่ความชื่นมื่นเท่านั้น
แต่ยังเป็น “วันพลีชีพ” ของตำรวจหนุ่มไฟแรงคนหนึ่งที่ลงไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่สีแดงจัด แห่งสามจังหวัดชายแดนแดนภาคใต้ นั่นก็คือ ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข หรือ “ผู้กองแคน”
เรื่องราวความสูญเสียของเขากลายเป็นข่าวดัง และทำให้ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กลายเป็นพื้นที่ร้อนแรง หรือ “ฮ็อตสป็อต” ของดินแดนปลายด้ามขวานที่คนไทยทั่วประเทศได้รู้จัก
วันนี้ผ่านมา 16 ปี หลายคนอาจลืมเรื่องราวและวีรกรรมของ “ผู้กองแคน” ไปแล้ว ในขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีแต่เรื่องอื้อฉาวและข่าวลบๆ ทำลายตัวเอง ทำลายองค์กรไม่หยุดหย่อน
ตำรวจในพื้นที่ชายแดนใต้เขียนบทความระลึกถึง “ผู้กองแคน” และตั้งคำถามถึงทิศทางในอนาคตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรที่พวกเขารัก ภายใต้การนำของ ผบ.ตร.คนใหม่ ที่กำลังจะรับหน้าที่อย่างสมบูรณ์...
@@ วันนี้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว
“ผู้กองแคน” วีรบุรุษเขื่อนบางลาง
เหตุการณ์ยังรู้สึกสะเทือนใจ ... น้องๆ ตำรวจ รุ่นใหม่ๆ ยกย่องเขาเป็น "ฮีโร่" เป็นวีรบุรุษปลายด้ามขวาน หรือวีรบุรุษเขื่อนบางลาง แต่ผู้เขียนยกย่องให้เขา เป็น "โมเดลความกล้าหาญ" ที่ครองใจประชาชนทั้งประเทศมายาวนานร่วม 16 ปีแล้ว
ตำนานความกล้าหาญ ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข หรือ “ผู้กองแคน” เสียชีวิตจากการถูกซุ่มโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 38 นักเรียนนายร้อยรุ่น 54 นายตำรวจผู้เป็นที่มาของสโลแกนรุ่น "54 Yes We Can"
ย้อนกลับไปช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2550 เส้นทางสายบันนังสตา - เขื่อนบางลาง จ.ยะลา นายตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็ว 12 นาย จากกองร้อยรบพิเศษที่ 1 กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน หรือ "พลร่ม ตชด." แห่งค่ายนเรศวร หัวหิน ออกลาดตระเวนรักษาความปลอดภัย หลังได้เบาะแสว่ากลุ่มโจรใต้วางแผนที่จะดักซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ และประชาชนที่จะใช้เส้นทางดังกล่าว
ระหว่างชุดเคลื่อนที่เร็วทั้ง 12 นาย ผ่านมาถึงเนินนวรัตน์ ถนนสองข้างทางเป็นเนินสูง ปกคลุมไปด้วยป่ารกทึบ "ผู้กองแคน" หัวหน้าชุดปฏิบัติการรู้สึกได้ถึงความผิดปกติในพื้นที่ เสมือนมีอันตรายรออยู่ จึงรับหน้าที่เป็น "ส่วนล่วงหน้า" ก้าวเท้านำ ตำรวจพลร่ม ตชด.ที่อยู่ในทีมเหมือนเช่นทุกครั้ง
ขณะนั้นเอง กลุ่มโจรใต้ไม่ต่ำกว่า 20 คน พร้อมอาวุธ กำลังเล็งศูนย์เข้าใส่เป้าหมายของพวกมัน...ใช่.... "ผู้กองแคน" นักรบจู่โจมที่มีผลงานยอดเยี่ยม ทั้งด้านยุทธการ และการเข้าถึงมวลชนในพื้น “ผู้กองแคน” กลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่มีค่าสร้างราคาในการบุกเข้าโจมตี วิถีกระสุนของคนร้ายพุ่งเข้าใส่ “ผู้กองแคน” เคลื่อนตัวหลบหาที่กำบัง พร้อมตะโกนสั่งลูกทีมยิงตอบโต้ ก่อนที่ร่างของเขาจะล้มร่วงลงบนเนินมรณะ
“ผู้กองแคน" เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2520 เป็นชาว จ.ขอนแก่น เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนจะติดตามบิดาไปศึกษาต่อที่ประเทศแคนาดาเมื่อปี 2533 กระทั่งกลับเมืองไทย เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยา จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเมื่อปี 2538 เลือกเรียนเหล่าตำรวจ ด้วยความใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็น ตชด. เพื่อรับใช้ชาติในพื้นที่ห่างไกล
เมื่อ ร.ต.ต.ธรณิศ ศรีสุข รายงานว่า จะขอลงตำแหน่ง รอง ผบ.หมวด กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ ตชด. มีทั้งเสียงปรบมือและเสียงโห่ร้องเพราะมันสอบได้ลำดับต้นๆ ของรุ่น กลับไปเลือก ตชด. ซึ่งยากลำบาก เพื่อนปรบมือให้เพราะ “แคน” พูดอยู่เสมอว่า จบไปจะอยู่ ตชด. รับใช้ชาติ ทั้งที่เพื่อนไม่คิดว่าเขาจะเอาจริง
ผ่านไป สายของวันที่ 29 กันยายน 2550 เสียงโทรศัพท์มือถือดังขึ้น ปลายสายบอกว่า "ผู้กองแคนโดนโจรใต้ยิง" ทั้งที่เป็นวันสุดท้ายของการลาดตระเวน อีก 1 วันก็จะได้พัก “ผู้กองแคน” บอกลูกน้องว่า ขอลาดตระเวนดูเนินนี้ อีกเนินเดียว เพราะโจรใต้ชอบมาพักแถวนี้ สุดท้ายเกิดการปะทะ “ผู้กองแคน” โดนยิง
16 ปีนับจากวันจากไปของ “ผู้กองแคน” วันเวลาได้พิสูจน์ให้ตำรวจหลายๆ คนได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ท่ามกลางสังคมที่สับสนวุ่นวาย หลายคนเห็นแก่ตัว บางคนฉกฉวยผลประโยชน์จากประเทศชาติโดยไม่รู้สึกละอายใจใดๆ เลย ยังมีผู้ชายคนหนึ่งที่อุทิศตัว ตั้งใจตั้งแต่วัยเป็นนักเรียน
ยังมีตำรวจจะทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง โดยไม่คำนึงถึงความยากลำบากส่วนตัวเลย ทั้งที่ฐานะทางสังคม การเงิน “ผู้กองแคน” มีพร้อมทุกอย่าง พ่อแม่เป็นอธิบดี รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจชาติหลายคน แค่เอ่ยปาก “ผู้กองแคน”ก็ได้มาช่วยราชการในเมืองหลวงแล้ว
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จริง ในวันที่เลือกตำแหน่งกับอุดมการณ์ “ผู้กองแคน” ก็คงตั้งมั่นที่จะยังเลือกลง ตชด.และขออยู่ชายแดน...เหมือนเดิม
@@ ถิ่นนามะปราง...สวรรค์ของกลุ่มติดอาวุธ
“ทีมข่าวอิศรา” เคยนำเสนอรายงานพิเศษ ชื่อ เอ็กซเรย์บันนังสตา…แดนสนธยากลืนชีวิต “หมวดตี้-ผู้กองแคน-ผู้กำกับฯสมเพียร” บอกเล่าถึงสภาพพื้นที่ และเหตุผลที่กลายเป็น Killing Zone และแดนสวรรค์ของผู้ก่อความไม่สงบ
เนื้อหาบางช่วงบางตอนระบุว่า...อ.บันนังสตาตั้งอยู่ตอนกลางของ จ.ยะลา หากใช้เส้นทางสายหลักจากตัวเมืองยะลา คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 มุ่งลงใต้เพียง 39 กิโลเมตรก็จะถึงตัวอำเภอ โดยปลายสุดของถนนสายนี้คือ อ.เบตง ใต้สุดแดนสยาม
บันนังสตาแม้จะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่ก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่น้อย กล่าวคือตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2450 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว เดิมชื่อ “อำเภอบาเจาะ” เป็นเขตการปกครองที่ขึ้นกับเมืองรามัน ตั้งอยู่บริเวณบ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บาเจาะ ในปัจจุบัน
ต่อมาสยามได้ยกเลิกหัวเมืองต่างๆ จึงย้ายอำเภอมาตั้ง ณ ที่แห่งใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น "บันนังสตา" ซึ่งเป็นภาษามลายูถิ่น แปลว่า "นามะปราง" ปัจจุบันมีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ถิ่นนามะปราง บางลางอุทยาน อนุสรณ์สะพานโบราณ คู่บ้านกล้วยหิน”
“บางลางอุทยาน” ก็คืออุทยานแห่งชาติเขื่อนบางลาง เขื่อนหินถมแกนดินเหนียวกั้นแม่น้ำปัตตานี ขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วน “สะพานโบราณ” น่าจะหมายถึงสะพานเหล็กที่ทหารญี่ปุ่นสร้างข้ามแม่น้ำปัตตานีช่วงเข้าเขต อ.บันนังสตา เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว เพราะใช้สะพานคอนกรีตที่สร้างขนานอยู่แทน
บันนังสตามีพื้นที่ 629 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดต่อกับ อ.ยะหา อ.กรงปินัง และ อ.รามัน จ.ยะลา ทิศตะวันออกจรด อ.รือเสาะ และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทิศใต้ติดต่อกับ อ.ธารโต จ.ยะลา และทิศตะวันตกติดต่อกับรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย
ที่ตัวอำเภอบันนังสตา มีสถานที่ราชการตั้งอยู่ติดๆ กัน ทั้งที่ว่าการอำเภอ โรงพัก และโรงเรียน มีสามแยกไม่เล็กไม่ใหญ่ หากหันหน้าไปทางทิศใต้บนทางหลวงหมายเลข 410 เลี้ยวขวาที่สามแยกนี้จะเข้าเขต ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นถนนสายที่เคยเกิดเหตุคนร้ายในชุดไอ้โม่งบุกยิงคนบนรถตู้สายเบตง-หาดใหญ่ เสียชีวิตถึง 8 ศพ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2550 กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศ
ถนนสายนี้ยังเคยเกิดเหตุรุนแรงอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเหตุยิงปะทะ ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ มีข้าราชการและประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องมาสังเวยชีวิตมากมาย
ความน่ากลัวของบันนังสตาตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา อธิบายได้ง่ายๆ ก็คือเป็นเพียงหนึ่งใน 2 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แม่ทัพภาคที่ 4 ประกาศ “เคอร์ฟิว” หรือมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถานตามเวลาที่กำหนด โดยอีก 1 อำเภอที่ประกาศเคอร์ฟิวพร้อมกันก็คือ อ.ยะหา ที่เกิดเหตุฆ่า 8 ศพบนรถตู้นั่นเอง
สภาพพื้นที่ของ อ.บันนังสตา เป็นที่ราบสลับหุบเขา ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น ป่ายางพารา และสวนผลไม้ แม้จะมีถนนสายใหญ่ตัดผ่านอย่างทางหลวงหมายเลข 410 แต่เมื่อแยกจากถนนสายนี้เข้าไปตามตำบลต่างๆ จะมีถนนสายเล็กๆ คดเคี้ยวไปตามเหลี่ยมเขาและราวป่า คล้ายเส้นโลหิตฝอยมากมายหลายสาย แต่ละสายลัดไปออกได้หลายอำเภอ บางสายลัดข้ามจังหวัดได้เลยทีเดียว
นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อำเภอแห่งนี้เป็นดั่งสวรรค์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะมีเส้นทางหลายเส้นที่เรียกกันว่า “คิลลิ่ง โซน” (Killing Zone) กล่าวคือเป็นทางโค้งขึ้นเนินเขาสูงข่ม สองข้างทางปกคลุมไปด้วยป่ารก ง่ายต่อการดักซุ่มยิงและลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน
หลังก่อเหตุก็มีเส้นทางให้เลือกหลบหนีได้อย่างสะดวกโยธิน!
@@ 19 ปีไฟใต้...สถานการณ์ร้ายยังย่ำรอยเดิม
ข้าราชการระดับสูงหลายนายต้องมาจบชีวิตที่นี่...
จากข้อมูลที่ “ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมมา พบว่าทหาร ตำรวจ ระดับ “พันเอก-พันตำรวจเอก” ล้วนเสียชีวิตที่ อ.บันนังสตา ก็คือ พ.อ.สุทธิศักดิ์ ประเสริฐศรี ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา จากเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่หมู่ 4 บ้านบันนังกูแว ต.บันนังสตา เมื่อ 26 ส.ค.49 ถือเป็นนายทหารยศสูงที่สุด ตำแหน่งสูงที่สุดที่เคยพลีชีพในเหตุการณ์ไฟใต้
อีกคนที่คนไทยรู้จักกันดี คือ พล.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา ทั้งๆ ที่เป็นผู้กำกับบันนังสตาเอง มีความเชี่ยวชาญพื้นที่อย่างมาก ปฏิบัติราชการมานานหลายปี อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ตั้งแต่ชั้นประทวน จนชาวบ้านเรียกติดปากว่า “จ่าเพียร” แต่ก็ต้องจบชีวิตจากเหตุระเบิดที่บ้านทับช้าง ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา เมื่อ 12 มี.ค.53 วันแรกที่คนเสื้อแดงนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสไม่เอารัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่นี้ยังเคยกลืนชีวิต “ตำรวจพลร่ม” ซึ่งได้รับการฝึกมา และมีความสามารถไม่แพ้ “หน่วยรบพิเศษ” ของทหาร โดยมี “พลร่ม” มาพลีชีพที่บันนังสตาถึง 2 นาย และเป็นข่าวดังไปทั้งประเทศ คือ
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2551 ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ หรือ "หมวดตี้" ผู้บังคับหมวด กองร้อยรบพิเศษ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ถูกซุ่มโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธจนเสียชีวิต ขณะนำกำลังออกลาดตระเวน บริเวณเนินบ้านสันติ 1 หมู่ 2 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา
เหตุการณ์นี้เป็นเหตุซ้ำรอยจากที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เพราะเมื่อ 29 ก.ย.2550 ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข หรือ "ผู้กองแคน" อายุ 30 ปี รองผู้บังคับกองร้อยรบพิเศษ 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี ถูกซุ่มโจมตีจนเสียชีวิต ขณะนำกำลังออกลาดตระเวนบริเวณเนินเนาวรัตน์ บนถนนบ้านสายสุราษฎร์-บ้านภักดี หมู่ 3 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา เช่นกัน
นี่คือความอันตรายของพื้นที่นี้ และผ่านมาถึง 19 ปีไฟใต้แล้ว แต่พื้นที่ก็ยังอันตรายอยู่เหมือนเดิม เพราะเมื่อวันที่ 17 ก.พ.66 ปีนี้เอง เพิ่งเกิดระเบิดช่วงก่อนเที่ยง คร่าชีวิต พ.ต.ต.ประสาน คงประสิทธิ์ สารวัตรสืบสวนสอบสวน (สว.สส.) สภ.บันนังสตา ตำรวจน้ำดีอีกนายหนึ่งไป
เหตุเกิดขณะปฏิบัติหน้าที่เดินทางเข้าที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางเพลิงเผารถบดถนน ในท้องที่ อ.บันนังสตา!
เป็นความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ครอบครัว และบุคคลอันเป็นที่รัก...ไม่ต่างจาก “ผู้กองแคน”