เปิดสถิติคดีออนไลน์ 16 เดือนรับแจ้งความแล้วกว่า 3 แสนคดี มูลค่าความเสียหายรวม 4 หมื่นล้านบาท แก๊งคอลเซ็นเตอร์ติด 1 ใน 5 ที่มีการแจ้งความมากที่สุด แผ่อิทธิพลไม่เว้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลาออกโรงเตือน เหตุมีชาวบ้านร้องเรียนตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพเดือนละไม่ต่ำกว่า 10 ราย
ปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกรณีแก๊งมิจฉาชีพที่หลอกลวงเหยื่อทางออนไลน์ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นข่าวตามสื่อให้เห็นอยู่แทบทุกวัน
ข้อมูลของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า นับตั้งแต่เปิดระบบรับแจ้งความออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 จนถึงวันที่ 31 ก.ค.2566 มีการรับแจ้งความทั้งหมด 330,764 เรื่อง โดยเป็นคดีออนไลน์ 302,836 เรื่อง มี 5 ประเภทของคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด คือ การหลอกลวงซื้อขายสินค้า, หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน, หลอกให้กู้เงิน, หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ หรือ Call Center
แต่ที่น่าตกใจคือ ในจำนวนคดีออนไลน์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นคดีที่พบว่ามีความเชื่อมโยงกันของกลุ่มขบวนการผู้ก่อเหตุ (เป็นอาชญากรรมในลักษณะเครือข่าย) ถึง 152,519 คดี ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 41,336,435,283 บาท (กว่า 4 หมื่นล้านบาท)
รูปแบบพฤติกรรมของมิจฉาชีพออนไลน์ ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากสร้างความน่าเชื่อถือ โดยแอบอ้างเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" พยายามเร่งรัดสถานการณ์เพื่อต้องการให้เหยื่อทำขั้นตอนต่างๆ ให้เสร็จภายในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างรวดเร็ว และปิดท้ายด้วยการหลอกล่อให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชี ทั้งที่จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่มีนโยบายให้โอนเงินแบบนั้น ส่วนใหญ่ผู้ตกเป็นเหยื่อ แม้จะรีบแจ้งอายัดบัญชีเพื่อป้องกันความเสียหาย แต่ก็ไม่ทันการณ์แล้ว
โดยหากพลาดท่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ สิ่งแรกที่ต้องทำคือตัดช่องทางการติดต่อกับคนร้ายทั้งหมด แล้วรีบแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัญชี หลังจากนั้นให้นำ Bank Case ID หรือเลขที่ได้รับจากธนาคารไปแจ้งความกับตำรวจ ซึ่งปัจจุบันสามารถแจ้งความได้ทุกพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการระงับบัญชีของมิจฉาชีพให้เร็วที่สุด และเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดี
เมื่อเร็วๆนี้ พันจ่าโท อนันต์ บุญสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นายศุภวัฒน์ พันธุ์พณาสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดยะลา นำเจ้าหน้าที่หน่วยงาน กสทช.เขต 41 กอ.รมน.จังหวัดยะลา ตำรวจภูธรจังหวัดยะลา สคบ.จังหวัดยะลา พาณิชย์จังหวัดยะลา ประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ 3 จุด
ประกอบด้วย สถานีรถไฟยะลา ห้างโคลีเซียม และตลาดใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่พี่น้องประชาชนอยู่กันหนาแน่น เพื่อรณรงค์ให้ความเข้าใจถึงภัยอันตรายและป้องกันไม่ให้ถูกแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์หลอกได้ ซึ่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีรูปแบบหลอกลวงประชาชนด้วยการขอข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อที่จะหลอกทำธุรกรรมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลอกให้ลงทุนออนไลน์ และอีกหลายวิธีการเพื่อล้วงเงินในบัญชี
ทั้งยังมีการแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ ง่าย ๆ ที่ทุกคนก็ทำได้อยู่แล้ว คือ
1.ตั้งสติไม่หลงเชื่อ มิจฉาชีพมักจะใช้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุลของเหยื่อ ในการสร้างความตื่นตระหนกและการเร่งเร้า ข่มขู่ให้รีบโอนเงิน ไม่เช่นนั้นจะแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินคดี ให้ตั้งสติ พิจารณาและตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าในช่วงที่ผ่านมามีการซื้อสินค้าหรือทำธุรกรรมหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ
2.หากไม่แน่ใจควรวางสายการสนทนา เมื่อไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่กล่าวอ้างจากมิจฉาชีพเป็นความจริงหรือไม่ ให้รีบวางสาย เพื่อตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือบุคคลใกล้ชิด
3.ติดต่อหน่วยงานที่ถูกอ้างถึง หากปลายสาย (มิจฉาชีพ) อ้างถึงบริษัทขนส่ง ให้ติดต่อกับบริษัทโดยตรงสอบถามข้อมูลทันที เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการหลอกลวงหรือไม่
4.กรณีข้อมูลรั่วไหล เช่น รหัสผ่าน ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านทันที เพราะการที่มิจฉาชีพได้ข้อมูลเหยื่อมานั้น อาจเกิดจากการสุ่มหาใน Social Media และทำการแฮ็กรหัสผ่านบัญชี จนได้ข้อมูลส่วนตัวไป จึงควรรีบเปลี่ยนรหัสผ่านให้คาดเดาได้ยาก
ด้าน นายศุภวัฒน์ พันธุ์พณาสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ในแต่ละเดือนมีประชาชนในพื้นที่จังหวัดยะลาไม่ต่ำกว่า 10 รายที่มาร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมฯ เนื่องจากถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ส่วนมากผู้เสียหายถูกหลอกให้ไปลงทุนแบบออนไลน์มากที่สุด
“เมื่อถูกหลอกแล้วตกเป็นผู้เสียหาย สามารถเข้าแจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพได้ แต่ต้องแจ้งความภายใน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เช่น สถานที่โอนเงิน ถ้าโอนเงินออนไลน์ที่บ้าน สามารถแจ้งที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดยะลา ซึ่งอยู่ในศาลากลางจังหวัดยะลา หรือทุกหน่วยงานในพื้นที่ที่รับแจ้งผู้ถูกหลอกลวงจากแก็งคอลเซ็นเตอร์ โดยทางศูนย์ดำรงธรรมฯ จะรับคำร้องเรียนทุกพื้นที่มารวบรวมและดำเนินคดีต่อไป”
สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมในการร้องเรียนและแจ้งความ เช่น ภาพโปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้าหรือผู้ขายสินค้า โพสต์ ที่ประกาศขายสินค้า แชท ข้อความการพูดคุยระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย บัญชี ธนาคารที่โอนเงินไป สลิปการโอนเงินชำระค่าสินค้า เป็นต้น