"กัสตูรี" ร่อนแถลงการณ์ พร้อมปล่อยภาพแขวนธงปาตานี พ่นสีเขียนข้อความ หวังสื่อสารข้อเรียกร้องไปยังฝ่ายรัฐ ประกาศศักยภาพในวันครบรอบ 53 ปีสถาปนาองค์การพูโล ด้านโฆษกทัพภาค 4 ยืนยันไม่พบการเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
วันที่ 22 ม.ค.64 นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานองค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-MKP) ส่งแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 53 ปี วันสถาปนาขบวนการพูโล ซึ่งก่อตั้งมาเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2511 โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า เป็นการแสดงความยินดีสมาชิกพูโลและประชาชน ที่ทางกลุ่มเยาวชนชายและหญิงที่ได้ออกมาเคลื่อนไหว อย่างสันติด้วยการชูธงพูโลพร้อมกับธงชาติปาตานี และเขียนข้อความตามที่ต่างๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปยังฝ่ายรัฐ ให้เห็นว่า ขบวนการพูโลยังมีศักยภาพในการเคลื่อนไหวอยู่และเลือกแสดงออกอย่างสันติ แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาสันติภาพมีความเป็นธรรมยึดหลักสากล รวมทั้งเรียกร้องให้กลุ่มต่างๆที่เคลื่อนไหวอยู่มาร่วมมือแก้ปัญหาความขัดแย้ง
โดยแถลงการณ์ของนายกัสตูรี ที่ออกมาดังกล่าว มีการใช้ภาพการติดธงชาติปาตานีที่ติดตามสถานที่ต่างๆ และภาพการพ่นสีเขียนข้อความ สัญลักษณ์ของขบวนการพูโลตามสถานที่ต่างๆ มาประกอบ ซึ่งไม่ได้มีการระบุในแถลงการณ์หรือในภาพดังกล่าวว่าเป็น การติดธงชาติหรือพ่นสีเขียนข้อความที่ไหน และเป็นภาพที่ถ่ายขึ้นเมื่อใด
จากข้อมูลจากหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ ระบุว่า นับจากเมื่อคืนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบการสร้างสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ รวมถึงการก่อกวนโดยการแขวนธงชาติ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มไหนเลย
ทาง "ทีมข่าวอิศรา" จึงได้ตรวจสอบเพื่อยืนยันเรื่องแถลงการณ์ของนายกัสตูรีและภาพการติดธงชาติ ไปยัง พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 ในฐานะโฆษกกองทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวว่า จากการตรวจสอบวันนี้ยังไม่พบการเคลื่อนไหวการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่คนในพื้นที่ต้องการความสงบสุข ทุกคนต้องการทำมาหากิน ทุกคนต้องการที่จะรักษาสุขภาพ ในสถานการณ์โควิคปัจจุบันประชาชนไม่คิดกันแล้วเรื่องแบบนี้ แม้วันนี้ยังไม่พบการเคลื่อนไหวใดๆ แต่เราก็เฝ้าระวังที่เต็มที่ ภารกิจที่สำคัญที่สุดคือ การดูแลพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด การสกัดกั้นการเข้าเมืองผิดกฎหมายคือ มาตรการเร่งด่วนที่ดำเนินการในขณะนี้
สำหรับกลุ่มพูโล แม้จะเป็นองค์กรเก่าแก่ที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐไทยและต้องการแยกดินแดน แต่ปรากฏว่า ภายในกลุ่มพูโลเองก็ไม่มีความเป็นเอกภาพ โดยแตกตัวออกเป็นอย่างน้อย 3 กลุ่มประกอบด้วย
1.กลุ่มพูโล DSPP หรือ สภาชูรอเพื่อการนำพูโล หรือ องค์การสหปัตตานีเสรี หรือ องค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานี มีแกนนำสำคัญ ได้แก่ นายกาแม ยูโซะ หรือ นูร์อับดุลดุลเราะห์มาน เป็นประธาน และมี นายลุกมาน บินลิมา หรือ มะ ปอแซ เป็นรองประธาน โดยนายลุกมานเคยร่วมคณะพูดคุยสันติภาพกับคณะพูดคุยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556
2.กลุ่มพูโล P4 (พีโฟร์) หรือพูโลเก่า หรือ องค์การสหปัตตานีเสรี มี นายซัมซูดิง คาน เป็นหัวหน้า และมีกองกำลังเป็นของตัวเอง ชื่อว่า พีแอลเอ หรือ Patani Liberation Army
3.กลุ่มพูโล MKP หรือองค์การสหปัตตานีเสรี หรือกลุ่มพูโลใหม่ แตกตัวออกมาจากพูโลเก่า มี นายกัสตูรี มาห์โกตา อดีตโฆษกและฝ่ายต่างประเทศพูโลเป็นประธาน
โดยกลุ่มพูโลอย่างน้อย 2 ใน 3 กลุ่มที่ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม "มารา ปาตานี" ก่อนจะยุติการพูดคุยไปช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด