“ปภ.นราธิวาส” โผล่แจงเกณฑ์จ่ายเยียวยาเหยื่ออุทกภัยละเอียดยิบ ทรัพย์สินเสียหายต้องเป็นเจ้าของ อ้างกรรมการระดับจังหวัดรับข้อมูลจากอำเภอ ประชุมกัน 10 ครั้ง จ่ายไปแล้ว 50 ล้าน ทุกอย่างจบ เพราะมีกรอบเวลาไม่เกิน 3 เดือน แต่ไม่มีคำอธิบายตรงๆ หญิงพิการได้ 100 บาทถ้วน คำนวณจากอะไร
จากกรณี “ทีมข่าวอิศรา” เสนอปัญหาของชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัยกว่า 400 คน จาก 6 หมู่บ้าน 2 ตำบลในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส รวมตัวกันเรียกร้องให้มีการตรวจสอบหลักเกณฑ์การจ่ายเยียวยาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค.66 เนื่องจากพบว่า มีการจ่ายอย่างไม่เป็นธรรม หญิงพิการคนหนึ่งได้เพียงแค่ 100 บาทถ้วน บางครอบครัวชื่อหล่นหาย เจ้าหน้าที่สำรวจซ้ำ 2 รอบ แต่รอนานเกือบครึ่งปียังไม่ได้รับแม้แต่บาทเดียวนั้น
หลังข่าวเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าล่าสุดวันเสาร์ที่ 18 พ.ค.67 นายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส (ปภ.นราธิวาส) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 23-25 ธ.ค.66 มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ทำให้เกิดอุทกภัยครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอของจังหวัด โดยเฉพาะอำเภอที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำสุไหงโก-ลก แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสายบุรี
ความเสียหายจากอุทกภัยในจังหวัดนราธิวาส ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 13 อำเภอ 77 ตำบล 588 หมู่บ้าน 62 ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบ 91,085 ครัวเรือน 352,773 คน มีผู้เสียชีวิต 14 ราย สูญหาย 1 ราย
“หลังจากจังหวัดนราธิวาสดำเนินการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติและเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์วิธีการที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการเฉพาะหน้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามความจำเป็นและเหมาะสม แต่มิได้มุ่งหมายที่จะชดใช้ความเสียหายแก่ผู้ใด”
“ในการจ่ายเงินทดรองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบ ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือเป็นการซ่อมแซมให้คืนสู่สภาพอันเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยไม่สามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างหรือสาธารณูปโภคที่ถาวรหรือก่อสร้างใหม่ได้ ซึ่งการช่วยเหลือตามระเบียบดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่เกิดภัยพิบัติ”
หัวหน้าวสันต์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 ในการดำรงชีพมีดังนี้
- ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเจ้าของ ที่ได้รับความเสียหายเท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 49,500 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเบื้องต้น กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังเท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 3,800 บาท
- ค่าเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับความเสียหายไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือมีความจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพ รายละไม่เกิน 1,100 บาท
- ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ และหรือเงินทุนสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติที่เป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวของผู้ประสบภัยพิบัติ เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
ส่วนค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ มีดังนี้
- กรณีบาดเจ็บสาหัสที่ต้องรักษาในสถานพยาบาลติดต่อกันตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน จำนวน 4,000 บาท
- กรณีบาดเจ็บจนถึงขั้นพิการไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติ ได้ให้ช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นเงิน จำนวน 13,300 บาท
- กรณีภัยพิบัติที่เป็นสาธารณภัยขนาดใหญ่หรือรุนแรงเป็นที่สะเทือนขวัญของประชาชนทั่วไป ให้จ่ายเงินและหรือสิ่งของปลอบขวัญผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่รักษาตัวในสถานพยาบาล รายละไม่เกิน จำนวน 2,300 บาท
- ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท
- ในกรณีผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัว ให้พิจารณาช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ครอบครัวอีกไม่เกิน 29,700 บาท
- ค่าเครื่องครัวและอุปกรณ์ ในการประกอบอาหารที่สูญหายหรือได้รับความเสียหาย และไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท
- ค่าเครื่องนอนที่สูญหายหรือได้รับความเสียหายและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือมีความจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพ กรณีไม่มีเครื่องนอนในการดำรงชีพขณะเกิดภัย เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 1,000 บาท
หัวหน้าสำนักงาน ปภ.นราธิวาส กล่าวด้วยว่า ได้มีข้อสั่งการให้อำเภอทุกอำเภอร่วมกับองกร์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เร่งสำรวจความเสียหายและเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติให้ครอบคลุมทุกมิติและทุกด้านให้กับผู้ประสบภัยพิบัติให้ได้รับความช่วยเหลือโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านทรัพย์สิน และการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร
อปท.สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้ทันที เพื่อเสนอคณะกรรมการฯ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหาก อปท.พิจารณาแล้วเกินขีดความสามารถของ อปท. สามารถส่งเอกสารขอความช่วยเหลือมายังอำเภอและจังหวัด เพื่อนำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ดำเนินการพิจารณาช่วยเหลือต่อไป
“ที่ผ่านมาทางจังหวัดนราธิวาสได้มีการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ก.ช.ภ.จ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบและกลั่นกรองการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านต่างๆ ตามที่คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) ได้สำรวจความเสียหายจากภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ที่รับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ร่วมถึงพิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด โดย ก.ช.ภ.จ.ได้ประชุมคณะกรรมการจำนวน 10 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 50,408,030 บาท และขณะนี้การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวได้สิ้นสุดแล้ว” หัวหน้าวสันต์ ระบุ