"วันนี้ฮิลาลอะห์มัรสูญเสียรถบางส่วนที่คอยช่วยเหลือชาวบ้าน คนที่เดือดร้อนที่สุดไม่ใช่เรา แต่เป็นชาวบ้านที่พึ่งพาศัยรถมูลนิธิในยามเจ็บไข้ได้ป่วย"
สีตีคอรีเยาะ ยีดือเระ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร เล่าถึงผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์เผารถกู้ภัยของมูลนิธิฯ สาขายะหริ่ง ไปถึง 2 คัน เมื่อเช้าวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งตรงกับ "วันสตรีสากล"
สีตีคอรีเยาะ ทำงานกับมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร มานานกว่า 15 ปี เธอทำงานท่ามกลางอาสาสมัครผู้ชายจำนวนนับร้อย น่าสนใจว่าเธอมีวิธีทำงานอย่างไรจึงอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้
“ในขอบเขตการทำงานท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ หลักๆ คือเน้นความปลอดภัยของเราไว้ก่อน จะย้ำเตือนเสมอว่าก่อนออกไปหาเคสต้องเช็คข้อมูลให้ชัวร์ ออกไปแล้วต้องปลอดภัย หากประเมินแล้วจะได้รับอันตรายให้อยู่กับฐาน ห้ามออกไปจนกว่าเจ้าหน้าที่จะคลี่คลายสถานการณ์"
มูลนิธิฯ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2548 มี 12 ศูนย์ปฏิบัติการ ปัจจุบันมี 8 ศูนย์ปฏิบัติการย่อย กับ 1 สำนักงาน เป็นศูนย์กลางประสานงาน อาสาสมัครปัจจุบันมีประมาณ 100 คน
"งานอาสาสมัครคือคนที่ใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำ งานส่วนตัว เมื่อมีเวลาเขาก็จะมาบริการให้ความช่วยเหลือสังคมตรงนี้ จะบอกกันเสมอว่าก่อนมาทำงานอาสาทุกคนต้องมีงานประจำก่อน ดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวก่อน"
เรื่องการบริหารจัดการ สีตีคอรีเยาะ มั่นใจว่า ศูนย์ที่ยังอยู่กับมูลนิธิฯในตอนนี้สามารถดูแลตัวเองได้ มีหน่วยงานในพื้นที่ช่วยดูแลพอสมควร
“เรามีค่าใช้จ่ายคือค่าน้ำมันในการออกไปหาเคสทุกครั้ง ซึ่งองค์กรเราไม่มีทุนพอช่วยค่าน้ำมัน จึงมีมติกันว่าหากไม่มีน้ำมัน รถเราก็จอด เมื่อไหร่ที่เราต้องควักเงินตัวเองออกมาเติมน้ำมันเพื่อออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน มองว่าไม่ใช่งานช่วยเหลือชาวบ้าน เพราะเราเอาใจมาอาสาแล้ว"
สำหรับสถานการณ์ที่รถของมูลนิธิฯ ถูกลอบวางเพลิงทั้ง 2 คัน เธอบอกว่าลองย้อนกลับไปถึงรถมูลนิธิฯ รถกู้ชีพกู้ภัย หากถูกเผาเมื่อ 15 ปีที่แล้วจะไม่มีใครสงสัยว่าเพราะอะไร ทำไปทำไม เพราะถือว่าสถานการณ์ตอนนั้นรุนแรง
"แต่สถานการณ์ ณ ตอนนี้ทำให้เราได้ตั้งคำถามเช่นกันว่า ทำไมเขาถึงมาเผารถกู้ชีพกู้ภัยที่เรานำไปช่วยเหลือสังคม ให้บริการประชาชน คนที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่ใช่เรา แต่เป็นชาวบ้านที่พึ่งพาอาศัยรถมูลนิธิยามเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อรถขาดไป 2 คัน แล้วชาวบ้านที่เจ็บป่วยลำบากต่อไปนี้ใครจะดูแลเขา"
"อย่างในช่วงโควิดเราทำงานกันหนัก คือเวลามีชาวบ้านติดเชื้อแล้วเราต้องขนไปส่งที่ศูนย์พักพิง เป็นงานหนัก เพราะวันหนึ่งวิ่งหลายเคส ค่าใช้จ่ายคือค่าน้ำมัน บางศูนย์เมื่อมีการเสียชีวิต น้องๆ ก็ต้องออกไปนำศพไปฝัง ต้องเซฟตัวเอง ทุกคนทำงานกันหนักมาก"
ความเป็นผู้หญิงมุสลิมกับการทำงานท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ง่ายเลย...
"การทำงานที่มีผู้บริหารองค์กรให้ความสำคัญกับครอบครัว ทำให้เราทำงานได้แบบฟรีสไตล์ ทำงานอย่างไรให้จัดการได้ สำคัญคือไม่ทิ้งครอบครัว เมื่ออาสาสมัครจะมีครอบครัว ไปแต่งงาน ไม่มีการห้าม คุณต้องไปทำหน้าที่ผู้นำครอบครัว เมื่อคุณนำครอบครัวเข้มแข็ง คุณค่อยกลับมาทำงานอาสา"
สีตีคอรีเยาะ มองว่า เราไม่ได้ถูกกดขี่อะไรเลย ยิ่งเราทำงานในองค์กรที่มีแต่ผู้ชายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มีผู้หญิง 2 คน เราไม่ได้รับการกดขี่ใดๆ เราได้รับการให้เกียรติ ยิ่งในอิสลามไม่ได้กดขี่ผู้หญิง คุยกันด้วยเหตุผลมากกว่า ผู้หญิงบ้านเราสามารถพูด คิด แสดงความคิดเห็นและทำได้ทุกอย่าง หากแต่ต้องอยู่ต้องดูกาลเทศะ และอยู่ในขอบเขตของศาสนาว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน"
"ขอขอบคุณทุกๆ ความห่วงใยและทุกๆ กำลังใจที่มอบให้กับพวกเรา" เธอกล่าวทิ้งท้าย