จากกรณีมีชื่อ พล.ต.ต.นรินทร์ บูสะมัญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี อยู่ในโผแต่งตั้งโยกย้ายนอกวาระ โดยถูกย้ายระนาบไปอยู่ในตำแหน่งผู้บังคับการกฎหมายและคดี ภาค 9 (ผบก.กมค.ภ.9) ทำให้เจ้าตัวรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และออกมาแสดงท่าทีต่อสาธารณะ
ในวงการตำรวจอาจจะมองได้ว่านี่คือการ “ดับเครื่องชน” รูปแบบหนึ่ง แม้จะเป็นแบบซอฟต์ๆ ก็ตาม
เจ้าตัวให้สัมภาษณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ โดยประเมินว่าสาเหตุที่ถูกโยกย้ายน่าจะมาจากการที่ไปมีความเห็นแย้งกับผู้บังคับบัญชาในเรื่องการออกหมายจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง รวมถึงเรื่องการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ถึงกรณีเยาวชนชายนับหมื่นคน รวมตัวชุมนุมแต่งกายด้วยชุดมลายู ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 4 พ.ค.65 ซึ่งมีการรายงานว่า การชี้แจงของ พล.ต.ต.นรินทร์ ไม่เป็นไปตามนโยบาย
ข่าวเกี่ยวกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีที่ออกมา ได้รับความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมคนชายแดนใต้และสังคมตำรวจไม่น้อย “ทีมข่าวอิศรา” จึงนัดพูดคุยกับ พล.ต.ต.นรินทร์ อีกครั้ง เพื่อให้อธิบายชัดๆ ถึงการทำงานในพื้นที่ และการถูกโยกย้ายที่เจ้าตัวมองว่าไม่เป็นธรรม
@@ ทำไมถึงออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้?
ผมได้เข้าทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2532 เป็นเวลากว่า 33 ปี ไม่เคยออกนอกพื้นที่เลย และอยู่โรงพักมาโดยตลอด จนกระทั่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ได้เพียง 1 ปี 3 เดือน ก็มีคำสั่งโยกย้ายนอกวาระ
มีข้อสังเกตว่าการโยกย้ายนอกวาระ ต้องเป็นผู้ที่ถูกตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงจะถูกย้ายกรณีนี้ แต่มีเพียงผมที่ถูกย้ายในตำแหน่งระนาบเดียวกัน แต่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ เลย และตำแหน่งที่ผมไปอยู่เป็นตำแหน่งที่ไม่ได้สัมผัสประชาชน (ผู้บังคับการกฎหมายและคดี ภาค 9) จึงสงสัยว่า เกิดความบกพร่องในเรื่องอะไร เพราะมาดูเรื่องของการจัดการพื้นที่ ตัวเลขของการจัดการคดียาเสพติด เมื่อปี 65 ที่ผ่านมา ก็ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ทุกเดือน ในเรื่องอื่นก็ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น
@@ เมื่อไม่ได้บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว คิดว่าสาเหตุที่ถูกโยกย้ายมาจากเรื่องอะไร?
น่าจะเป็นการโต้แย้งกับผู้บังคับบัญชาในเรื่องของข้อกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นปัญหา 2 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องการชุมนุมแต่งกายด้วยชุดมลายูที่ อ.สายบุรี ซึ่งเรื่องนี้ผมได้มีการแถลงกับคณะกรรมาธิการทหารไปแล้ว กับอีกเรื่องคือคดีความมั่นคงที่เกิดล่าสุด ที่มีการก่อเหตุป่วนหลายๆ จุด และมีการจับผู้ต้องสงสัยหลายคน ระหว่างที่ทำคดีมันเป็นช่วงที่มีการพิจารณาโยกย้าย เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.65 พอดี ในช่วงนั้นคดีนี้ ผมมีการวางแผนการสอบสวนเอาไว้แล้ว แต่ก็มีผู้บังคับบัญชาระดับภาคเข้ามาควบคุม และให้มีการดำเนินการออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมด และมีแนวนโยบายว่าจะต้องมีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด ผมหนักใจในเรื่องนี้มาก
@@ ทำไมถึงหนักใจ...
การสั่งฟ้องในคดีนี้ จะสั่งฟ้องก็ได้ แต่ผมเชื่อว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องแน่นอน เพราะผมมีการทำวิจัยร่วมกับทางอัยการในการวิเคราะห์คดีความมั่นคง วิเคราะห์คำพิพากษา ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ทำให้เราเข้าใจแนวคิดของทางอัยการกับศาล และผมก็ทำคดีในแนวนี้มาตั้งแต่ ปี 2547 ทำให้คิดรูปแบบในกระบวนการสอบสวนที่รัดกุมขึ้น และสามารถตอบชาวบ้านได้ว่า มีความผิดจริง
แต่เมื่อดูคดีที่เป็นปัญหา และผู้บังคับบัญชามีนโยบายให้ฟ้อง ผมคิดว่าค่อนข้างมีปัญหาอย่างมาก และเชื่อว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องแน่นอน และถ้าผมสั่งฟ้องตามที่ผู้บังคับบัญชาให้สั่งฟ้อง ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผมจะตอบชาวบ้านได้อย่างไร เพราะมีผู้ต้องหาทั้งหมด 12 คน ผมไม่อยากพูดว่าเป็นคดีอะไร แต่คดีนี้สามารถสั่งฟ้องได้แค่บางคนเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก และอาจจะถูกฟ้องกลับ ที่สำคัญอาจจะเป็นการสร้างประเด็นเงื่อนไขในพื้นที่ได้ แต่ถ้าผมสั่งไม่ฟ้อง ผู้บังคับบัญชาอาจจะตำหนิ แต่ก็คิดว่าน่าจะชี้แจงในหลักการด้านกฎหมายแก่ผู้บังคับบัญชาได้ เลยดำเนินการสั่งไม่ฟ้อง
@@ เกิดอะไรขึ้นหลังไม่สั่งฟ้องตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา?
วันที่ 15 ธ.ค.65 มีการพิจารณาโผโยกย้าย แล้วผู้บังคับบัญชาทราบว่าผมทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องไป ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมาก และมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สนองนโยบาย ตรงนี้ผมเข้าใจดีและพร้อมที่จะชี้แจงต่อผู้บังคับบัญชา แต่ก็ไม่มีการเรียกผมไปชี้แจง จนโผโยกย้ายออกมามีรายชื่อผมถูกย้ายไปเป็นผู้บังคับการกฎหมายและคดี ภาค 9 ซึ่งก็พอทราบว่าเกิดจากการไม่ได้สนองนโยบายใน 2 เรื่องนี้
@@ ผลทางคดีจากการไม่สั่งฟ้องเป็นอย่างไร?
วันที่ 29 ธ.ค.65 ทางพนักงานอัยการก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาและได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดแล้ว ฉะนั้นเรื่องนี้การตัดสินใจของผมก็เป็นแนวคิดเดียวกันกับอัยการว่า การสั่งฟ้องบางคดีมันไม่เกิดประโยชน์ ถ้าศาลยกฟ้องในภายหลัง ย่อมทำให้นิ่งที่เราดำเนินการไปทั้งหมดเสียหาย ไม่สามารถทำอะไรได้เลย (เมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง จะยื่นฟ้องในคดีเดิมอีกไม่ได้)
แต่ถ้าเราสั่งไม่ฟ้อง เราสามารถดำเนินการใหม่ได้ และยังสืบสวนสอบสวนคดีต่อได้ ขณะเดียวกันทางราชการก็ไม่ต้องจ่ายชดใช้เยียวยากับจำเลยหรือผู้ต้องหาที่ถูกควบคุม แล้วสุดท้ายศาลยกฟ้อง เป็นการเซฟ (ประหยัด) เงินของทางราชการจำนวนมหาศาลเหมือนกัน ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากว่าไม่ยึดแนวทางการสอบสวนที่รัดกุม และผู้บังคับบัญชายังคิดอยู่อย่างนี้ กระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้น่าจะไปไม่รอด จะแย่มาก
@@ หลังจากนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อไป?
ผมได้ไปยื่นเรื่องให้กับทางคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีหน้าที่ศึกษากระบวนการทำงานของตำรวจ เรื่องนี้ควรให้คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นองค์กรส่วนกลางตรวจสอบข้อเท็จจริง และอยากจะรู้ว่า ระหว่างผมกับแนวคิดในกระบวนการยุติธรรม กับแนวทางของผู้บังคับบัญชา ใครถูกใครผิด และจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป
ผมพร้อมที่จะพิสูจน์ตนเอง พร้อมที่จะว่าไปตามความจริง ถ้ามีความผิดก็น้อมรับทุกกรณี เช่นเดียวกันกับการยื่นร้องขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมาธิการการทหารอีกครั้งหนึ่งว่า ผู้ที่ได้ร่วมชี้แจงในวันนั้น มีใครที่ชี้แจงให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดีบ้าง จะได้ทราบกันเลยว่าความจริงเป็นอย่างไรทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งความจริงตรงนี้มีผลต่อการโยกย้ายไหม มันคงมีผลในระยะยาวมากกว่า แต่ตอนนี้จะถูกย้ายหรือไม่ถูกย้าย มันก็เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาแล้ว ถ้าถูกย้ายก็จะอุทธรณ์ตามขั้นตอนกฎหมาย และมีการเยียวยา
ที่จริงแล้วการเยียวยาของผม ในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ ผมจะได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ตามกฎหมายใหม่ (พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่ การทำหน้าที่ในพื้นที่พิเศษเสี่ยงอันตราย จะนับระยะเวลาการครองยศหรือครองตำแหน่งเพื่อเลื่อนลำดับเป็นกรณีพิเศษ) ก็คือได้ขึ้นรองผู้บัญชาการโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ฉะนั้นการเยียวก็ไม่ได้มีผลอะไรมากมาย และไม่รู้ว่าจะมีการเยียวยาตอนไหน ซึ่งผมเชื่อว่าสาเหตุก็มาจาก 2 เรื่องนี้
@@ อยากฝากอะไรทิ้งท้ายถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง?
ผมอยู่ในพื้นที่กว่า 30 ปี ไม่เคยสร้างเงื่อนไข ผมชอบงานในกระบวนการยุติธรรม ถ้าทำเรื่องนี้ให้ถูกต้องจริงๆ ก็สามารถชี้แจงให้กับผู้บังคับบัญชาได้ และชี้แจงต่อชาวบ้านได้ การโต้แย้งเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามองว่าเป็นเรื่องของขัดแย้งเมื่อไหร่ ความเสียหายก็เกิดขึ้น