สิ่งดีๆ ที่ชายแดนใต้มีมากมาย...
ไม่ใช่แค่บ้านสวย เมืองงาม สถานที่ท่องเที่ยวแบบ unseen เท่านั้น แต่ผู้คนก็ยังมีความสามารถ หน่วยงานรัฐก็พยายามทำสิ่งดีๆ เพื่อบริการประชาชน
อย่างเช่น โรงพยาบาลปัตตานี เปิดห้องผ่าตัด ODS&MIS ที่ทันสมัย ผ่าตัดวันเดียวกลับบ้านได้ พร้อมรางวัลศัลยแพทย์ดีเด่นของ “หมอโชติ วงศ์โขนง” เตรียมพร้อมห้องผ่าตัดเพื่อคนอ้วนให้มีสุขภาพดีปลายเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้
นายแพทย์โชติ วงศ์โขนง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลปัตตานี ดูแลงาน ODS & MIS และงานวิจัยของโรงพยาบาลปัตตานี บอกเล่าถึงความรู้สึกกับรางวัลที่ได้รับ
"ในปี 2563 ได้รับรางวัลศัลยแพทย์ดีเด่นของสมาคมแพทย์ทั่วไปในพระบรมราชูปถัมภ์ จากการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะแบ่งเป็นภาคเหนือ กลาง ใต้ รางวัลพิเศษคือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีนี้มีการมอบรางวัลเป็นปีที่ 8 เป็นผลมาจากความเสียสละ ทุ่มเทกับคนไข้ กับการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เปิดศูนย์ส่องกล้อง มีเคสเยอะมาก”
รางวัลที่ได้เพิ่มเติมในปีนี้ คือ รางวัล ODS & MIS International Forum
“ในแต่ละปีจะมีการส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมาก ODS คือ การผ่าตัดวันเดียวกลับบ้านได้ ส่วน MIS คือการผ่าตัดแผลเล็ก โดยปี 2565 ส่งผลงานจากการเก็บข้อมูลคนไข้ที่มาส่องกล้องลำไส้ใหญ่ จัดประเมินความเร่งด่วนในการส่องกล้อง เนื่องจากมีคนไข้เยอะ ทั้งส่วนที่มาคัดกรอง ช่วงอายุ 50-70 ปี มีการตรวจอุจจาระ ถ้ามีผลเลือดในอุจจาระเป็นบวก ก็จะมาส่องกล้อง”
“ส่วนอีกกลุ่มที่มีอาการผิดปกติ ถ่ายเป็นมูกเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย หรือสงสัยจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำให้คนไข้สองกลุ่มมารวมกันเยอะเป็นคอขวด ตรวจไม่ทัน หมอและเครื่องมือไม่พอ จึงคิดลำดับความเร่งด่วน ใครควรส่องก่อนและหลัง เอาข้อมูลจากปี 2563-2564 มาทำเป็นสมการ เพื่อดูว่าคนไหนมีความเสี่ยงสูงกว่า ก็จะให้มาตรวจก่อน ทำเป็นแอปพลิเคชั่นนำเสนอผลงานในที่ประชุม จึงได้รางวัลชนะเลิศ" หมอโชติ เล่าที่มาที่ไปของรางวัลแห่งเกียรติยศ
แพทย์แห่งดินแดนปลายสุดด้ามขวานไทย บอกว่า ผลงานนี้จะประยุกต์ใช้ในการคัดกรองมะเร็งในปี 2565 โดยการทดสอบดูความแม่นยำในเกณฑ์ที่รับได้ ก็จะนำเสนอไปใช้ระดับประเทศต่อไป
ส่วนที่มาของแรงบันดาลใจในการทุ่มเทกับการส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นเพราะโรคนี้เป็นปัญหาต้นๆ ของคนไทยเลยทีเดียว
“ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีคนเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นถึง 2.4 เท่า การที่สามารถเจอคนไข้ในระยะเริ่มต้น เช่น เจอติ่งเนื้อ ยังไม่เป็นมะเร็ง ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ 5-10 ปีจะเป็นแน่ หากเจอก็ตัดออก เป็นการป้องกันไปในตัว”
“อีกกลุ่มหนึ่งเป็นแล้ว เพิ่งเจอ ไม่ลุกลาม สามารถให้การรักษา ให้ผลดี ทำให้คนไข้มีขีวิตอยู่ได้อีกนาน การคัดกรองทำให้พบผู้ป่วยที่มีรอยโรคเริ่มต้น หรือพบว่าเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้นได้เร็วขึ้น มีผลต่อคุณภาพชีวิต งบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ลดลง”
“ส่วนความรู้สึกที่ได้รับรางวัลนั้น รางวัลเป็นสิ่งที่บอกว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติงาน จริงๆ แล้วเราไม่ได้ทำงานคนเดียว มีทีมงาน พยาบาล ผู้ร่วมงานทั้งหมด เป็นรางวัลของโรงพยาบาลปัตตานี ของเจ้าหน้าที่ที่ทุ่มเทปฏิบัติงาน เป็นความภาคภูมิใจว่าเราได้ทุ่มเท และได้ผลตอบแทน เป็นกำลังใจให้ทำงานต่อไปข้างหน้าได้"
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มาจากอาหารการกิน เช่น มีสารก่อมะเร็ง อาหารย่าง ทานผักน้อย การเจอผู้ป่วยมากขึ้นด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ถือเป็นเรื่องดี เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติ มีการรณรงค์คัดกรองกันอย่างกว้างขวาง เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
"คำว่าคัดกรองคือ คัดกรองในผู้ที่มีความเสี่ยง อายุ 50-70 ปี แม้ไม่มีอาการก็มีความเสี่ยงด้วยอายุ ใช้การตรวจจากเม็ดเลือดแดงที่ซ่อนเร้นอยู่ ทำได้ง่าย ตามเป้าหมายคือ 10% ของประชากรกลุ่มเสี่ยง ประมาณ 2,000 รายต่อปี ส่วนคนที่ตรวจแล้วเจอ ก็ส่งมาส่องกล้อง แม้ผลลบก็ควรตรวจซ้ำปีละครั้ง หรือปีเว้นปี ส่วนคนที่มีอาการถ่ายเป็นเลือด ถ่ายดำ ท้องผูกสลับท้องเสีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้อายุไม่ถึง 50 ปีก็ควรตรวจ”
“ถือว่าเป็นปัญหาอันดับ 1-2 ของโรงพยาบาลปัตตานี พบเจอผู้ป่วยรายใหม่เรื่อยๆ มีแนวโน้มอายุน้อยลง เจออายุ 30 ต้นๆ มาจากปัจจัยอาหาร พฤติกรรมในการบริโภค การขับถ่าย ส่วนการเป็นริดสีดวงกับมะเร็งลำไส้ใหญเป็นคนละส่วนกัน ริดสีดวงเกิดจากหลอดเลือดบริเวณปากทวารหนักโป่งพอง มีปัญหาการขับถ่าย ท้องผูกเรื้อรัง ไม่ต้องกังวล หากกังวลก็ควรพบแพทย์"
ส่วนการให้บริการของศูนย์ส่องกล้อง หมอโชติ บอกว่า พยายามพัฒนาศูนย์ส่องกล้องด้วยการเพิ่มจำนวนกล้องส่องลำไส้ใหญ่ให้มากขึ้น พัฒนาเรื่องความครอบคลุมทั่วถึงของการส่องกล้อง และการให้บริการตรวจอุจจาระเพื่อหาผู้ป่วยโรคนี้ให้ได้ 10% ของกลุ่มเสี่ยง
“การทำแอปพลิเคชั่นนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการคัดกรองให้กว้างขวาง พยายามให้คนไข้คัดกรองได้ด้วยตนเอง สามารถกรอกข้อมูลได้ รู้ประวัติตัวเอง คัดกรองแล้วมีความเสี่ยงจะมีข้อแนะนำให้ว่าควรมาส่องกล้อง หรือมาพบแพทย์ หรือควรทำอย่างไร หากสามารถนำไปใช้ในวงกว้าง จะทำให้คัดกรองคนไข้ได้มากกว่าเป้าหมายแน่นอน”
การส่องกล้องนี้สามารถใช้ตามสิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรค บางกรณีที่ต้องนอนห้องพิเศษก็เสียค่าใช้จ่ายค่าห้องเท่านั้น เรามีบริการส่องกล้องวันเดียวกลับ คือมาโรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือด เอกซเรย์ พยาบาลแนะนำ รับยากลับบ้าน วันรุ่งขึ้นมาส่องกล้อง สังเกตอาการ และในการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ ใช้กล้องส่องเข้าไปทำการผ่าตัดได้เลย มีแพทย์เฉพาะทางส่องกล้องโดยเฉพาะ 2 คน เพื่อรองรับและให้บริการ"
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้โรงพยาบาลปัตตานีพัฒนาให้บริการผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบส่องกล้องไปได้ไกล รองรับคนไข้ได้จำนวนเยอะมาก มีบริการส่องกล้องวันเดียวกลับเต็มรูปแบบ และผ่าตัดไส้เลื่อน ต้อกระจก ถุงน้ำดี ได้อย่างรวดเร็วด้วย
สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องโรคอ้วน นายแพทย์โชติ บอกว่า รงพยาบาลปัตตานีมีการผ่าตัดแบบส่องกล้องให้กระเพาะเล็กลง ผอมลง มีแพทย์เฉพาะทาง ตอนนี้มีคิวผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง
“ใครที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว สามารถมาปรึกษาได้ มีเทคโนโลยี สถานที่พร้อม ปรับปรุงเป็นห้องผ่าตัดทันสมัยจำนวน 4 ห้อง สามารถรองรับคนไข้ได้ เครื่องมือส่องกล้องพร้อม และกำลังจะมีการส่องกล้องทางเดินอาหารคลื่นความถี่สูงเป็นที่แรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการวินิจฉัยทางเดินอาหาร ส่องกล้องไปอัลตราซาวด์ โดยในส่วนนี้พร้อมบริการในเดือน พ.ย.”
การทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งที่เป็นงานบริการประชาชน หมอโชติ บอกว่าต้องใช้หัวใจและความรับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นสำคัญ
“ทำงานในพื้นที่นี้ ทำที่โรงพยาบาลปัตตานีมาสิบกว่าปี ต้องมีความอยากทำและความอดทนเพื่อคนที่นี่เป็นเรื่องสำคัญ พัฒนาจากจุดที่อยู่ให้ต่อยอดไปได้ โดยมีทรัพยากรบุคคลและต้นแบบที่ดี เช่น นายแพทย์รุซตา สาและ ผอโรงพยาบาลปัตตานีคนปัจจุบัน ที่ทุ่มเทในการทำงานมาโดยตลอด ผมยึดเป็นแบบอย่างที่ดี และแพทย์รุ่นใหม่ควรศึกษาเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” หมอโชติ กล่าว
หากจะสรุปปิดท้ายด้วยวลียอดนิยมในช่วงนี้ว่า “ต้องใช้ใจบันดาลแรง” ก็คงไม่ผิดความจริงนัก!