เหตุระเบิดหลายจุดใน จ.ยะลา ส่งท้ายปี 64 แม้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ความเชื่อมั่นว่า "ไฟใต้ใกล้ดับ" ลดน้อยลงไป
ช่วงใกล้สิ้นปี มีการประเมินสถานการณ์จากฝ่ายความมั่นคงว่า ไฟใต้ปี 65 ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะ...
- กำลังคนของฝ่ายก่อความไม่สงบอยู่ในช่วงตกต่ำ และเกือบทุกครั้งที่ก่อเหตุ ฝ่ายความมั่นคงรู้ตัวและสามารถดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายได้เกือบทุกครั้ง
- แกนนำหลักๆ ของฝ่ายเคลื่อนไหวถูกพิสูจน์ทราบได้หมด และหลายคนถูกจับตาใกล้ชิด
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการประกาศเป้าหมายของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบ "แผนดับไฟใต้" โดยจะยุติเหตุรุนแรงให้ได้ภายในปี 2570
แต่เหตุรุนแรงในค่ำคืนส่งท้ายปี แถมยังมีการปล่อย "เฟกนิวส์" เรื่องจำนวนจุดเกิดเหตุที่มากเกินจริง สะท้อนว่ากลุ่มก่อความไม่สงบก็ยังมีศักยภาพ แม้จะลดน้อยถอยลงกว่าช่วงหลายปีก่อน แต่ก็มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตน
ฟังเสียงจากในพื้นที่จึงไม่ค่อยเชื่อมั่นนักว่า ไฟใต้จะดับได้จริงในปี 2570 ที่สำคัญรัฐบาลชุดนี้ ผู้กำหนดนโยบายในขณะนี้ จะอยู่ในตำแหน่งและมีอำนาจจนถึงวันนั้นหรือเปล่า ยังน่าสงสัย
อดีตนายทหารผู้มีประสบการณ์ในภาคใต้และร่วมอยู่ในกระบวนการเจรจาสันติภาพตั้งแต่ยุคโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) อย่าง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ก็มีมุมมองสอดคล้องไปในทางเดียวกัน โดยย้ำว่า ไฟใต้จะดับจริงหรือไม่ อย่าไปดูที่ตัวเลขสถิติความรุนแรง เพราะแม้ในแง่ปริมาณจะลดลงเรื่อยๆ แต่ในแง่ความรู้สึกของพี่น้องประชาชนน่าจะสำคัญกว่า
"สถานการณ์ไฟใต้จะดีขึ้นหรือเลวลงอย่าไปดูที่สถิติ อย่าไปดูว่าปะทะกี่ครั้ง เพราะนั่นเป็นกับดัก สถานการณ์จะดีขึ้นจริงหรือไม่ ต้องถามความรู้สึกพี่น้องประชาชนว่า รู้สึกปลอดภัยมากขึ้นหรือเปล่า ประชาชนปรับตัวเข้ากับสภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร" พล.อ.อกนิษฐ์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 (เตรียมทหารรุ่น 12) ของนายกฯด้วย กล่าว
อดีตนายพลที่สร้างชื่อจากภารกิจภาคใต้ บอกอีกว่า รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพื่อเป็นช่องทางที่สามารถจับปัญหาไฟใต้ได้อย่างแท้จริง นอกเหนือจากการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือที่เรียกว่า "เหตุรุนแรงเป็น 0" เพราะการพูดคุยเจรจาจะทำให้ปัญหาจบได้อย่างยั่งยืน
แต่การจะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยให้ประสบความสำเร็จ คณะพูดคุยของรัฐบาลไทยจะต้องมีเสถียรภาพมากกว่านี้
"การแต่งตั้งตัวบุคคลเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยของเราไม่ควรเปลี่ยนบ่อย หรือให้เป็นโดยตำแหน่ง (ปัจจุบันตั้งอดีตเลขาธิการ สมช.ไปดำรงตำแหน่ง) เพราะจะทำให้การพูดคุยไม่ต่อเนื่อง เราดูฝ่ายโน้นคนที่มาพูดคุยเป็นคนเดิม แต่ของเราเปลี่ยนมากี่คนแล้ว" พล.อ.อกนิษฐ์ ตั้งคำถาม
อดีตนายทหารที่เชี่ยวชาญงานภาคใต้ ที่มีประสบการณ์ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพในยุคโจรจีนคอมมิวนิสต์ หรือ จคม. กระทั่งจบปัญหา ปิดฉากการสู้รบระหว่างรัฐบาลมาเลเซียกับ จคม.อย่างสมบูรณ์ได้เมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ย้ำว่า กุญแจสำคัญที่จะทำให้การพูดคุยประสบความสำเร็จ คือ "ความไว้เนื้อเชื่อใจ"
"ต้องไม่ลืมว่าการพูดคุยหรือเจรจาจะประสบความสำเร็จได้ มันต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจ ฉะนั้นการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยบ่อยๆ หรือเปลี่ยนโดยตำแหน่ง ตามตำแหน่ง ย่อมไม่เป็นผลดี"
พล.อ.อกนิษฐ์ ยังบอกด้วยว่า ความสำเร็จที่แท้จริงของกระบวนการพูดคุยที่สรุปบทเรียนตรงกันเกือบจะทั่วโลก ก็คือ การมีช่องทางที่เรียกว่า Track 2 ให้พูดคุยกันระหว่างคู่ขัดแย้ง โดยไม่จำเป็นต้องมี "คนกลาง"
"ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่โต๊ะพูดคุยหลัก เพราะเป็นโต๊ะพูดคุยแบบทางการ แต่เราต้องมีช่องทาง Track 2 ให้พูดคุยกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง
"จากประสบการณ์เมื่อครั้ง จคม. เราเป็นสักขีพยาน แล้วให้เขาคุยกันเอง ตอนแก้ปัญหา พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ก็ไม่มีคนกลาง เราคุยกันเอง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน เหมือนคนในครอบครัว ทุกคนเป็นคนไทย เพียงแต่ศาสนาต่าง ภาษาต่าง ฉะนั้นเราพูดคุยกันเองได้ใน Track 2 โดยไม่ต้องมีคนกลาง" พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว
การออกมาจุดประเด็นนี้ในช่วงที่กำลังจะมีการนัดพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบใหม่ระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ภายในเดือน ม.ค.65 หลังจากหยุดยาวช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับว่าน่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะหากการพูดคุยโต๊ะใหญ่มีความคืบหน้าช้า เสียงเรียกร้องต้องการที่จะให้มีการพูดคุย Track 2 ย่อมดังขึ้น แม้แต่กับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐเองก็ตาม