สั่งปิด "มัรกัสสุไหงโก-ลก" ใช้เป็นที่กักกันกลุ่มเสี่ยงโยง "มัรกัสยะลา" ด้านมัสยิดกลางยะลาประกาศงดละหมาดวันศุกร์อีกสัปดาห์ ส่วนที่สงขลาเปิดโรงพยาบาลสนามในค่ายรัตนพล รับผู้ป่วยกลุ่มแรก 60 ราย
วันพฤหัสบดีที่ 24 มิ.ย.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และ จ.สงขลา ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ "คลัสเตอร์มัรกัส" ที่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ไม่ได้มีเฉพาะมัรกัสยะลาเท่านั้น
นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และกำลัง 3 ฝ่าย เข้าตรวจคัดกรองผู้ที่อยู่ภายในมัรกัสสุไหงโก-ลก จำนวน 30 คน หลังพบว่า ผู้ที่เดินทางมาจากมัรกัสยะลา เข้าไปพักอาศัยและปฏิบัติศาสนกิจที่มัรกัสสุไหงโก-ลก ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย นายอำเภอจึงเสนอให้ศูนย์บริหารการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จ.นราธิวาส ปิดสถานที่ ห้ามบุคคลเข้า-ออก พร้อมเปิดเป็นสถานกักกันกลุ่มเสี่ยงในมัรกัสสุไหงโก-ลก
ภายในสถานกักกันแห่งนี้จะมีการตรวจสุขภาพของผู้เข้ากักกัน พร้อมจัดอาหารให้รับประทานครบทั้ง 3 มื้อ และมีการตรวจสุขภาพทุกวัน โดยมีกำลัง 3 ฝ่ายเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมพื้นที่ โดยไม่อนุญาตให้มีการเดินทางเข้า-ออกมัรกัสสุไหงโก-ลกทุกกรณีตลอดระยะเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. ถึง 7 ก.ค.64
สำหรับ อ.สุไหงโก-ลก มีผู้ที่เดินทางกลับมาจากมัรกัสยะลา จำนวน 7 ราย ในจำนวนนี้มี 6 รายได้เข้ารายงานตัวกับสาธารณสุขอำเภอสุไหงโก-ลก และเข้ากักตัว รวมทั้ง swab หาเชื้อโควิด-19 พบว่า ติดเชื้อ จำนวน 4 รายและรายล่าสุดเมื่อได้รับแจ้งว่า มีบุคคลที่เดินทางจากมัรกัสยะลาเข้ามาอยู่ที่มัรกัสสุไหงโก-ลกอีก 1 ราย จึงนำตัวไป swab ผลออกมาพบว่า ติดเชื้อโควิด-19 จึงได้เสนอ ศบค.นราธิวาส สั่งปิดมัรกัส พร้อมเปิดเป็นสถานกักกันชั่วคราวทันที
นายรุ่งเรือง กล่าวว่า ถึงแม้จะพบบุคคลที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก แต่ยังมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เนื่องจากบาบอ (ผู้นำศาสนา) ผู้ดูแลมัรกัสสุไหงโก-ลก ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนแนวทางการสอบสวนโรคได้มอบหมายให้ทีมงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอฯ ดำเนินการซักประวัติและติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายนี้แล้ว
ด้านนายอับดุลราหมาน อิบราฮิม บาบอมัรกัสสุไหงโก-ลก กล่าวว่า ยินดีให้ความร่วมมือในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งทุกข้อปฏิบัติพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่
@@ มัสยิดกลางยะลา ประกาศงดละหมาดวันศุกร์อีกสัปดาห์
ที่ จ.ยะลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ณ วันพฤหัสบดีที่ 24 มิ.ย.64 มากถึง 119 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายอายุ 69 ปี ชาว ต.สเตง อ.เมืองยะลา โดยผู้ตายมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและความดัน จากสถานการณ์ดังกล่าว ยังคงทำให้ จ.ยะลาเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
เหตุนี้เองทางมัสยิดกลางจังหวัดยะลาจึงมีประกาศของดการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดอีก 1 สัปดาห์ โดยอิหม่ามฮัจญี นิมิง นิมูดอ และคณะกรรมการมัสยิด ได้แจ้งให้สัปบุรุษทราบ เพื่อขอความร่วมมือให้ปฏิบัติดังนี้
1.วันศุกร์ที่ 25 มิ.ย.64 งดละหมาดวันศุกร์
2.งดรับหรือไม่รับบริการแก่คณะหนึ่งคณะใดที่จะมารวมกลุ่มทางศาสนา (ดะวะห์) และทั่วๆไปที่มัสยิดกลาง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
@@ นายกเทศบาลธารน้ำทิพย์มอบถุงยังชีพ 2 หมู่บ้าน
ที่ อ.เบตง จ.ยะลา หลังจากทาง ศบค.ยะลา ได้ประกาศปิดหมู่บ้านในพื้นที่ ต.ธารน้ำทิพย์ ประกอบด้วย หมู่ 2 บ้านบาแตตูแง (กลุ่มบ้านโตะดือราเฮง) และ หมู่ 3 บ้านกาแป๊ะซาลัง ห้ามผู้ใดเข้า-ออก ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.64 จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย จากกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7 ราย เป็นคลัสเตอร์จากมัสกัสยะลา ซึ่งทางคณะกรรมการหมู่บ้าน ร่วมกับ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) อส. (อาสารักษาดินแดน) ได้สับเปลี่ยนกันเข้าเวรยามดูแลตลอด 24 ชั่วโมงนั้น
ล่าสุด นายมะอูโซะ สาลัง นายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ พร้อมคณะผู้บริหาร ได้นำข้าวกล่องฮาลาล พร้อมถุงยังชีพ ไปมอบให้ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการถูกล็อกดาวน์
@@ สงขลาเปิด "รพ.สนาม" ในค่ายรัตนพล
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สงขลา ทำให้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นไม่หยุด ล่าสุดทางจังหวัดได้เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ภายในกองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการปรับให้เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงของ จ.สงขลา
สำหรับโรงพยาบาลสนามภายในค่ายรัตนพล ได้ใช้อาคารกองร้อยกองบังคับการกรมพัฒนาที่ 4 ซึ่งเดิมเป็นสถานที่ปฏิบัติงานและโรงนอนของทหารประจำการ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการปรับให้เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราวอยู่แล้ว สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้จำนวน 107 เตียง แบ่งแยกชาย-หญิง
โดยในวันพฤหัสบดีที่ 24 มิ.ย. มีการรับผู้ป่วยกลุ่มแรกเข้ารับการรักษา จำนวน 60 ราย เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย แต่มีความจำเป็นต้องให้เข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลสนาม เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาด นอกจากนี้ได้แบ่งพื้นที่ห้องทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ พื้นที่เก็บวัสดุ และเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไว้อย่างรัดกุมอีกด้วย
@@ โควิดยะลาสะสมทะลุพันอีกจังหวัด
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา ประจำวันพฤหัสบดีที่ 24 มิ.ย.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 115 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,540 ราย รักษาหายแล้ว 541 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 5 ราย
ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 69 ราย โรงพยาบาลสนามหนึ่ง 76 ราย โรงพยาบาลสนามสอง 74 ราย โรงพยาบาลสนามสี่ 257 ราย โรงพยาบาลสนามที่ห้า 261 ราย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี 39 ราย โรงพยาบาลโคกโพธิ์ 20 ราย โรงพยาบาลหนองจิก 3 ราย โรงพยาบาลยะรัง 20 ราย โรงพยาบาลยะหริ่ง 12 ราย โรงพยาบาลไม้แก่น 22 ราย โรงพยาบาลมายอ 6 ราย โรงพยาบาลแม่ลาน 1 ราย โรงพยาบาลปะนาเระ 2 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 31 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 94 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 5 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 570 ราย, อ.หนองจิก 247 ราย, อ.โคกโพธิ์ 45 ราย, อ.ยะหริ่ง 230 ราย, อ.สายบุรี 78 ราย, อ.ไม้แก่น 56 ราย, อ.แม่ลาน 21 ราย, อ.ยะรัง 128 ราย, อ.ปะนาเระ 51 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 10 ราย, อ.มายอ 50 ราย และอ.กะพ้อ 43 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 119 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 1,111 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 638 ราย รักษาหายแล้ว 465 ราย มีผู้เสียรายใหม่ 1 ราย เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 8 ราย อยู่ระหว่างรอผล 3,108 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 638 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 147 ราย โรงพยาบาลเบตง 103 ราย โรงพยาบาลรามัน 27 ราย โรงพยาบาลยะหา 78 ราย โรงพยาบาลกรงปินัง 1 ราย โรงพยาบาลบันนังสตา 25 ราย โรงพยาบาลสนามยะลา 245 ราย และโรงพยาบาลสนามเบตง 12 ราย
ส่วนจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 360 ราย, อ.กรงปินัง 119 ราย, อ.เบตง 136 ราย, อ.รามัน 73 ราย, อ.บันนังสตา 170 ราย, อ.กาบัง 23 ราย อ.ธารโต 128 ราย และ อ.ยะหา 102 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 87 ราย ในพื้นที่ อ.บาเจาะ 15 ราย อ.สุไหงปาดี 6 ราย อ.จะแนะ 19 ราย อ.เมือง 3 ราย อ.แว้ง 3 ราย อ.ยี่งอ 3 ราย อ.ระแงะ 14 ราย อ.สุไหงโก-ลก 1 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 23 ราย มีผู้ป่วยสะสม 1,745 ราย รักษาหายสะสม 1,206 ราย เสียชีวิตสะสม 4 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 608 ราย, อ.ระแงะ 99 ราย, อ.รือเสาะ 66 ราย, อ.บาเจาะ 190 ราย, อ.จะแนะ 103 ราย, อ.ยี่งอ 54 ราย, อ.ตากใบ 404 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 25 ราย, อ.สุไหงปาดี 59 ราย, อ.ศรีสาคร 40 ราย, อ.แว้ง 49 ราย, อ.สุคิริน 14 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 33 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 360 ราย แยกเป็นกลุ่มผู้สัมผัสในเรือนจำ 144 ราย กลุ่มผู้สัมผัสเชื้อในพื้นที่ 93 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 104 ราย กลุ่มรอบสอบสวนโรค 5 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงโรงเรียนสอนศาสนายะลา/ปัตตานี 14 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 4,303 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 4,280 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,725 ราย รักษาหายแล้ว 2,562 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 16 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 775 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 1,262 ราย, อ.เมืองสงขลา 703 ราย, อ.จะนะ 338 ราย, อ.สะเดา 272 ราย, สทิงพระ 163 ราย, อ.บางกล่ำ 134 ราย, อ.เทพา 134 ราย, อ.สิงหนคร 121 ราย, อ.รัตภูมิ 42 ราย, อ.สะบ้าย้อย 37 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 21 ราย, อ. อ.นาหม่อม 24 ราย, อ.ระโนด 41 ราย, อ.นาทวี 18 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 7 ราย, อ.ควนเนียง 3 ราย เป็นกรณีเรือนจำ รวม 931 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 29 รายและจากต่างประเทศ 23 ราย