สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดยะลา รับเรื่องตรวจสอบกรณีมีการแฉข้อมูลกล่าวหาเรื่อง “อมเบี้ยเลี้ยง อส.” ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.ยะลา แล้ว
ประเด็น “อมเบี้ยเลี้ยง” กำลังพลที่ปฏิบัติราชการสนามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง คราวนี้เป็นคิวของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือ อส. สังกัดกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่ จ.ยะลา
ผู้ที่ออกมาเปิดข้อมูลเรื่องนี้ คือ ภาคประชาสังคมอย่าง “ชมรม STRONG ต้านทุจริต” ได้โพสต์ภาพและข้อความในหัวข้อ “งาบ..ค่าเสบียง อส.แดนใต้” โดยนำเสนอข้อมูลสรุปว่า อส.ใน อ.กรงปินัง และ อ.ธารโต จ.ยะลา จะต้องได้รับ “ค่าเสบียงสนาม” คนละประมาณ 365 บาทต่อเดือน แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลากลับได้รับเป็นข้าวสาร น้ำหนัก 5 กิโลกรัมแทน ซึ่งเป็นข้าวแข็ง นอกจากนั้นก็ยังได้น้ำมันพืช 1 ขวด ปลากระป๋อง 3 กระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 ห่อ ทั้งหมดนี้คำนวณราคาได้ประมาณ 270 บาท ยอดเงินที่ควรได้รับหายไปราวๆ 90 บาทต่อคน รวมๆ แล้วเป็นเงินหลายหมื่นบาทต่อเดือน สำหรับ อส.ที่ปฏิบัติการในอำเภอหนึ่งๆ
เมื่อข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าได้รับความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ชายแดนใต้ ซึ่งความคิดเห็นส่วนใหญ่ระบุทำนองว่าเป็นเรื่องจริง และเกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปลายด้ามขวาน
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบเรื่องนี้ กระทั่งได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า อส.ชายแดนใต้จำนวนมากไม่ได้รับ “ค่าเสบียงสนาม” ในรูปของ “ตัวเงิน” ตามสิทธิที่พึงได้ แต่กลับได้รับเป็น “ถุงยังชีพ” แทน โดยภายในถุงยังชีพ มีสิ่งของและสภาพคล้ายที่ใช้แจกให้กับผู้ประสบภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม
สิ่งของภายในถุงก็มีข้าวสาร และอาหารแห้งต่างๆ ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นเงินออกมาแล้วต่ำกว่า “ยอดเงินเสบียงสนาม” ตามสิทธิที่ควรได้รับ
นายปิยะวัฒน์ คุระพูล ผู้อำนวยการกลุ่มประสานการป้องกันการทุจริตภาค 9 กล่าวว่า เรื่องนี้ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ยะลา รับทราบแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วน จ.ปัตตานี กับนราธิวาส อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และรอผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากยะลา เพราะยังไม่มีข้อมูลร้องเรียนโดยตรง
ขณะที่ นายนพพร บุญโชติตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า เบื้องต้นทราบเรื่องและได้รับเรื่องร้องเรียนมาเรียบร้อย จึงได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวน ตรวจสอบและหาข้อมูลก่อน รวมทั้งวางแผนลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
@@ เจาะรายรับ อส. เงินเดือนเท่าไหร่ โดนอมส่วนไหน?
สำหรับรายรับของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือ สมาชิก อส. ตามเอกสารบัญชีค่าตอบแทนและเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย ตามที่ “ทีมข่าวอิศรา” ได้รับมา สามารถแยกได้เป็น 4 ก้อนดังนี้
ก้อนแรก - ค่าตอบแทนและเงินเพิ่มการครองชีพ เรียกรวมๆ ว่า “เงินเดือน” ซึ่งจะได้รับผ่านบัญชีธนาคารทุกเดือน จ่ายตรงไปที่ตัว อส.
โดยสมาชิก อส.แต่ละคนได้รับไม่เท่ากัน ขึ้นกับลำดับขั้นการเป็น อส.ของตน ซึ่งมีอยู่ 33 ขั้น และความต่างของอัตราค่าตอบแทน ขยับทีละ “ครึ่งขั้น” จึงมีทั้งหมด 66 ขั้น เริ่มจากขั้นที่ 1 ได้รับค่าตอบแทน 4,870 บาทต่อเดือน, ขั้นที่ 1.5 ได้รับค่าตอบแทน 4,980 บาทต่อเดือน และขยับขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่ 33 ได้รับค่าตอบแทน 16,790 บาทต่อเดือน
ส่วนเงินเพิ่มการครองชีพ จะได้รับตามลำดับขั้น ไม่เท่ากัน แต่เมื่อนำไปทบกับเงินเดือน จะทำให้รายรับขั้นต่ำของ อส. อยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน และสูงขึ้นไปตามลำดับขั้นที่สูงขึ้น
เริ่มจากสมาชิก อส.ขั้นที่ 1 ค่าตอบแทน 4,870 บาท จะได้รับเงินเพิ่มการครองชีพ 5,130 บาท ทำให้ค่าตอบแทนรวมรับจริงอยู่ที่ 10,000 บาท
สมาชิก อส.ขั้นที่ 1.5 ได้ค่าตอบแทน 4,980 บาท เงินเพิ่มการครองชีพ 5,020 บาท รวมรับ 10,000 บาท, สมาชิก อส.ขั้นที่ 2 ค่าตอบแทน 5,100 บาท เงินเพิ่มการครองชีพ 4,900 บาท รวมรับ 10,000 บาท ไล่ลำดับกันไป (ดูตามตาราง)
โดยสมาชิก อส.ขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 13 จะมีรายรับเฉพาะส่วนนี้ ต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท ส่วนขั้นที่ 13.5 ขึ้นไปจนถึงขั้นที่ 33 จะมีรายรับเกิน 10,000 บาทต่อเดือน สูงสุดขั้นที่ 33 มีรายรับรวม 16,790 บาท แต่สมาชิก อส.ตั้งแต่ขั้นที่ 26 ถึง 33 จะได้รับเฉพาะค่าตอบแทน ไม่มีเงินเพิ่มการครองชีพ โดยจะมีค่าตอบแทนตั้งแต่ 13,310 บาท เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 16,790 บาท
เข้าใจว่ายอดเงินค่าตอบแทนของ อส.ตั้งแต่ขั้นที่ 26 ขึ้นไป เมื่อนำไปรวมกับเบี้ยเสี่ยงภัย และเสบียงสนามแล้ว จะเกิน 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีการจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพให้
อนึ่ง การจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพ เพื่อสมทบกับค่าตอบแทน เพื่อให้รายรับต่อเดือนเกิน 10,000 บาทนั้น เป็นรูปแบบการจ่ายที่ใช้กับทหารเกณฑ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งในส่วนของทหารเกณฑ์เรียกว่า “เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว” หรือ เงิน พชค.
อ่านประกอบ : ค่าเหนื่อยพลทหารเมืองไทย รับจริงเท่าไหร่ ช่องทางไหนถูกหัก?
ก้อนที่ 2 ค่าเบี้ยเลี้ยงสนาม สมาชิก อส.จะได้รับในอัตราวันละ 200 บาทต่อคน แต่ใน 1 เดือนจะได้รับ 25 วัน รวมเป็นเงิน 5,000 บาทต่อคน ได้รับเท่ากันทุกคน
ก้อนที่ 3 ค่าเสบียงสนาม ได้รับในอัตราวันละ 15 บาทต่อคน โดยใน 1 เดือนจะได้รับ 25 วันเช่นกัน รวมเป็นเงิน 375 บาทต่อเดือน
ฉะนั้นเงินก้อนที่ 2 และ 3 ถือเป็นเงินเพิ่มจากการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสมาชิก อส.ควรได้รับเท่ากันทุกคน เดือนละ 5,375 บาท แต่กลับมีปัญหาไม่ได้รับในรูปตัวเงินในส่วนของ “ค่าเสบียงสนาม” แต่ได้รับเป็น “ถุงยังชีพ” ซึ่งน่าจะมีมูลค่าต่ำกว่า 375 บาทต่อถุงแทน
นอกจากนั้นยังพบปัญหาถูกหักเบี้ยเลี้ยงสนาม กรณีถูกเรียกไปฝึกทบทวน ตามจำนวนวันที่ต้องไปฝึกด้วย ทำให้ยอดเงินที่ได้รับไม่ครบตามตัวเลขที่ควรจะได้
ก้อนที่ 4 เบี้ยเสี่ยงภัย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “พ.ส.ร.” หรือ “เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ” ซึ่งเป็นเงินเพิ่มสำหรับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองที่ปฏิบัติราชการสนามในพื้นที่การรบ หรือพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
สำหรับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับคนละ 2,500 บาท แต่ผู้ปฏิบัติงานจริงอาจไม่ได้รับเงิน พ.ส.ร.ทุกคน ขึ้นอยู่กับอัตราที่บรรจุว่าอยู่ในกรอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ซึ่งมีงบประมาณอุดหนุนในส่วนนี้ด้วยหรือไม่
โดยเรื่องเงิน พ.ส.ร.ก็เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและร้องเรียนกันมากอีกประการหนึ่ง
สรุปแล้วสมาชิก อส.แต่ละคน จะมีรายรับต่ำสุดอยู่ที่ 15,375 บาท ซึ่งหมายถึง อส.ขั้นที่ 1 โดยแยกเป็น
- ค่าตอบแทน บวกเงินเพิ่มการครองชีพ รวม 10,000 บาท
- ค่าเบี้ยเลี้ยงสนาม 5,000 บาท
- ค่าเสบียงสนาม 375 บาท
- ไม่ได้รับเงิน พ.ส.ร. หรือเบี้ยเสี่ยงภัย
สำหรับสมาชิก อส.ที่มีขั้นสูงๆ ก็จะได้รับเงินก้อนแรกมากกว่า 10,000 บาท และบางคนอาจได้รับเงิน พ.ส.ร. หรือเบี้ยเสี่ยงภัยด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่า อส.บางคน มีรายรับรวม 24,665 บาทต่อเดือน (คำนวณจาก ค่าตอบแทนสูงสุด ขั้นที่ 33 เป็นเงิน 16,790 บาท บวกค่าเบี้ยเลี้ยงสนาม 5,000 บาท ค่าเสบียงสนาม 375 บาท และเงิน พ.ส.ร. 2,500 บาท กรณีที่ไม่ถูกหักอะไรเลย)
@@ อส.ครวญโดนหักยุบยิบ ไม่เคยรับเต็มจำนวน
“ทีมข่าวอิศรา” สอบถามสมาชิก อส.ชายแดนใต้ ปรากฏว่าทุกคนที่ยอมให้สัมภาษณ์ ยืนยันว่าถูกหักเงินรายรับส่วนต่างๆ จริง ทั้งตามที่เป็นข่าว และนอกเหนือจากที่เป็นข่าวก็ยังโดนหัก แถมยังตั้งคำถามว่า ไม่รู้เงินเหล่านั้นไหลไปเข้ากระเป๋าใคร
เจ้าหน้าที่ อส.รายหนึ่งในพื้นที่ จ.ยะลา กล่าวว่า ที่มีการโพสต์ข้อมูลในโซเซียลมีเดีย เป็นเรื่องจริงตามนั้นเลย แบบนี้เรียกว่าทุจริตหรือไม่ ตนไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ คือ ค่าเสบียงสนามของ อส.ถูกแปลงเป็น “ถุงยังชีพ” จริงๆ
สมาชิก อส.ประจำอำเภอเมืองยะลา กล่าวว่า ค่าเสบียงสนาม ตนไม่เคยได้รับเลย และจากที่คุยกับเพื่อน อส.ด้วยกัน ทั้งยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ก็โดนกันทุกพื้นที่ แต่ไม่มีใครอยากพูด เพราะกลัวโดนเล่นงาน
“อย่างตัวผมเอง เงินค่าเสบียงสนามไม่เคยได้เลย ขณะที่เพื่อนๆ อส.บางคนก็จะได้มาเป็นถุงยังชีพ ข้าวสาร 5 กิโลฯ ข้าวที่ได้มา เวลาหุงแล้วจะแข็งมาก น้ำมัน 1 ขวด ปลากระป๋อง 3 กระป๋อง มาม่า 2 ห่อ ลองเอาราคาของมาคำนวณเอง ประมาณ 270 บาทต่อถุงเท่านั้น แล้วเงินที่เหลือไปอยู่ที่ไหน”
@@ โดนเรียกฝึกทบทวน เจอหักเบี้ยเลี้ยงสนามซ้ำอีก
อส.ในพื้นที่ปัตตานีรายหนึ่ง เล่าว่า อส.แต่ละคน แต่ละพื้นที่ จะถูกส่งไปฝึกทบทวน เมื่อถูกเรียกไปฝึก จะถูกหักเบี้ยเลี้ยงสนามด้วย การฝึกทบทวนประจำปีจะมีตั้งแต่ 5 วัน 10 วัน 15 วัน 20 วัน ไปจนถึง 45 วัน ใครที่ถูกเรียกไปฝึกทบทวนประจำปี ก็จะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงสนามตามจำนวนวันที่ไปฝึก
“เงินที่ถูกหักช่วงไปฝึก จะหักจากยอด 5,000 บาทที่เป็นเบี้ยเลี้ยงสนาม ทุกคนจะรู้ล่วงหน้าว่าต้องไปฝึก เพราะหน่วยจะประกาศล่วงหน้า ถ้าต้องไปฝึกภายในเดือนนี้ เขาก็จะหักเงินจากเดือนนั้นทันที เขาอ้างว่าที่หน่วยฝึกมีอาหารเลี้ยงแล้วจึงมาหักส่วนเบี้ยเลี้ยงไป แต่ในหลักความจริง งบฝึกก็มีปกติ แยกต่างหากอยู่แล้ว แต่หัวหน้าหน่วยนำเหตุผลว่ามีอาหารเลี้ยงอยู่แล้วมาอ้าง และจ่ายเฉพาะยอดที่เหลือหลังจากหักจำนวนวันที่ไปฝีกทบทวน แล้วจึงโอนเข้าบัญชี” อส.ปัตตานี กล่าว
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า การจ่ายเงินเดือนให้กับสมาชิก อส. ส่วนที่โอนเข้าบัญชีทุกสิ้นเดือนเหมือนข้าราชการทั่วไป ประกอบด้วย ยอดเงินในส่วนของ “ค่าตอบแทน กับ เงินเพิ่มการครองชีพ” เท่านั้น ส่วนเบี้ยเลี้ยงสนาม เดือนละ 5,000 บาท บางอำเภอจะโอนเข้าบัญชีพร้อมเงินเดือน บางอำเภอจะโอนกลางเดือน ไม่ได้โอนพร้อมกัน จึงสามารถหักเบี้ยเลี้ยงสนามล่วงหน้าได้ และอาจเป็นหน่วยในระดับพื้นที่ที่หักเงินส่วนนี้เอาไว้เอง
เช่นเดียวกับ “ค่าเสบียงสนาม” ที่จ่ายแยกจากเงินเดือน มีทั้งจ่ายในรูปของตัวเงิน และถุงยังชีพ ส่วนเงิน พ.ส.ร. หรือที่เรียกกันว่า “เบี้ยเสี่ยงภัย” บางคนแม้ได้รับสิทธิ แต่ก็ค้างจ่าย 3-6 เดือนก็ยังมี
อส.ปัตตานีรายเดิม ยังบอกด้วยว่า “ในส่วนของค่าเสบียงสนาม อัตราที่ควรได้รับคือ 15 บาทต่อวันต่อคน เดือนหนึ่ง 25 วัน คิดเป็นเงิน 375 บาท บางพื้นที่ก็ได้รับเงินจริงๆ ไม่ได้แจกเป็นถุงยังชีพ แต่ก็ได้รับเงินไม่ครบ บางคนได้ 200 บาท หรือ 250 บาทก็มี ถามว่าเงินส่วนต่างที่เหลือหายไปไหน เรื่องแค่นี้ยังโกงกัน แล้วความสงบจะเกิดได้อย่างไรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
@@ เก็บความช้ำไว้ในใจ หวั่นเสียอาชีพ-ไม่คุ้มจ่ายใต้โต๊ะ
เป็นที่น่าสังเกตว่า สมาชิก อส.ที่ยอมให้สัมภาษณ์ทุกคน ไม่ขอเปิดเผยชื่อ นามสกุล หรือแม้แต่ชื่อย่อ และไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ
เหตุผลที่ทุกคนบอกตรงกัน คือกลัวความผิด ทั้งผิดวินัยที่ให้ข่าวกับสื่อมวลชน และกลัวถูกกลั่นแกล้ง ถูกเล่นงาน จนต้องสูญเสียอาชีพ ถูกออกจากการเป็น อส.
“ทุกคนเลือกที่จะเงียบ โวยไปก็เท่านั้น เพราะอาจทำให้ตกงาน เดี๋ยวนี้งานหายาก แถมจะเข้ามาเป็น อส.ได้ ทุกคนรู้ว่าไม่ได้เข้ามาฟรี ต้องมีเส้นสาย หลายคนต้องมีจ่ายใต้โต๊ะ อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ แล้วจะโวยไปทำไม” อส.รายหนึ่งตั้งคำถาม
ขณะที่ อส.อีกราย บอกตรงกันว่า “ข่าวที่ออกมาทำให้ อส.ด้วยกันมานั่งคุย ทำไมโดนหักไม่เท่ากัน แปลว่าไม่หักก็ได้ใช่หรือไม่ เพราะมีบางพื้นที่ไม่ถูกหัก แต่ที่หักไปแล้ว เงินไปไหนอยู่ที่ใคร เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดมานานแล้ว แต่ไม่มีใครกล้าพูด เพราะพูดไปสุดท้ายก็จะโดนเล่นงานกลับ หลายคนเลือกที่จะเงียบ ส่วนคนที่ออกมาร้องเรียน เขาคงเดือดร้อนมากจนทนไม่ไหว”
“ทุกคนรู้ดีว่าการพูดความจริงจะทำให้เราตาย วงการนี้ใช่เลย รอดูเดี๋ยวเขาก็จะตามหาคนร้องเรียนจนเจอ ทั้งที่เป็นเรื่องจริง แล้วคนที่ร้องก็จะถูกย้อนมาเล่นงาน”
นับเป็นความจริงที่น่าเศร้าของกำลังพลปลายด้ามขวาน ในเครื่องแบบสมาชิกอาสารักษาดินแดน สังกัดกระทรวงมหาดไทย!