การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ประจำวันที่ 17 มิ.ย.64 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ยื่นกระทู้สดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยถามเกี่ยวกับเรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่
นายกมลศักดิ์ ถามกระทู้สดตอนหนึ่งว่า ข่าวโควิดกลบข่าวความไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นความเดือนร้อนของพี่น้องในพื้นที่ ล่าสุดมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ค.64 เวลาประมาณตอนเช้า ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ นำตัวประชาชน 2 คนในพื้นที่บ้านตันหยง ต.สุวารี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ในฐานะผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการปาระเบิดใส่ฐานปฏิบัติการหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ที่บ้านปราลี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 26 เม.ย.64 โดยพาบุคคลทั้งสองไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลรือเสาะ ก่อนที่จะเข้าไปสู่กระบวนการซักถาม
ปรากฎว่า บุคคลทั้งสองสภาพร่างกายปกติทุกอย่าง หลังจากนั้นจึงพาไปที่ศูนย์ซักถาม กรมทหารพรานที่ 46 เขาตันหยง จ.นราธิวาส หลังครบ 7 วัน เท่าที่ทราบบุคคลทั้งสองให้การปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ซึ่งครบ 7 วันในวันที่ 3 มิ.ย.64 บุคคลทั้งสองได้รับการปล่อยตัว
@@ อ้างหลังปล่อยตัวจิตหลอน - เปิดคลิปย้ำ “ตัวจริง”
แต่ปรากฎว่ามีผู้ถูกปล่อยตัว 1 ราย คือ นายตอเล๊ะ ยะ กลับมาถึงบ้านมีอาการหวาดผวา จิตหลอน หวาดกลัว ไม่ปกติเหมือนก่อนที่จะถูกควบคุมตัว หลังจากเกิดเหตุการณ์จนถึงทุกวันนี้ที่ตนได้ไปเยี่ยม ก็มีอาการซึมเศร้า พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง
อยากคำถามให้ท่านรัฐมนตรีตอบว่า กรณีบุคคลถูกควบคุมตัว 7 วันอย่างกรณีนี้ แล้วถูกปล่อยตัวออกมาแล้วและมีอาการลักษณะอย่างนี้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการควบคุมตัว ถามว่าใครจะรับผิดชอบ
จากนั้น นายกมลศักดิ์ ได้เปิดคลิปเกี่ยวกับอาการของ นายตอเล๊ะ ยะ ตามที่กล่าวไปแล้ว พร้อมยืนยันว่า บุคคลในคลิปคือ นายตอเล๊ะ ยะ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวจริง และตอนนี้มีการตอบโต้ในสื่อโซเชียลฯ กลายเป็นข้อเท็จจริงสองด้านในพื้นที่ พร้อมถามต่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นผลในทางปฏิบัติ
@@ แฉเลิก พ.ร.ก. แต่ยังใช้อำนาจศรีธนญชัย
นายกมลศักดิ์ ถามกระทู้สดอีกตอนหนึ่งว่า ในเรื่องของตัวเลขของความรุนแรงที่ลดลงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนงบประมาณที่ลดลงตามที่สภาได้พิจารณาไปก่อนหน้านี้ แต่ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายโดยใช้ดุลยพินิจแบบลุแก่อำนาจ เป็นห่วงว่าเงื่อนไขใหม่กำลังจะก่อขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในอำเภอที่ถูกประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้ว คือ ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก อ.สุคีริน และ อ.ศรีสาคร ของ จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ทราบหรือไม่ว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหมือนไม่มีความหมายเลย เพราะในพื้นที่ที่มีการยกเลิก ยังสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 30 วัน หลังจากที่ครบ 7 วันตามกฎอัยการศึกแล้ว
หลายพื้นที่ยังใช้กฎหมายแบบศรีธนญชัย เพราะเวลาเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ที่ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นำตัวบุคคลต้องสงสัยไปควบคุมตามกฎอัยการศึก 7 วันแล้ว เจ้าหน้าที่ชอบแอบอ้างว่า แม้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว แต่มีการประชุมวางแผนในพื้นที่อื่นที่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงใช้ดุลยพินิจเพื่อให้มีอำนาจในการควบคุมตัว 30 วัน
จึงอยากเรียนถามว่า สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ อยากให้ท่านชี้แจงผ่านไปถึงผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้ฟังว่า กรณีพื้นที่ที่ได้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว ยังสามารถใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นเวลา 30 วันได้หรือไม่อย่างไร
@@ รมช.กห. แจงตั้งทีมสอบแล้ว อ้างจิตหลอน “คนละคน”
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตอบกระทู้ถามสดแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ สิ่งสำคัญที่สุดคือการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ยึดหลักกฎหมายและยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ
ในส่วนของศูนย์ซักถาม เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงตามกฎหมาย โดยหน่วยที่รับผิดชอบได้ยึดถือระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีขั้นตอนการปฏิบัติ โดยก่อนจะเชิญตัวผู้ต้องสงสัยมาซักถาม ต้องแจ้งให้ญาติ ผู้นำทางศาสนาทราบก่อน ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตำรวจก็ต้องลงบันทึกประจำวันไว้ในท้องที่ มีการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อให้เห็นอิริยาบถของผู้ถูกซักถาม ยกเว้นห้องนอน ห้องสุขา ทุกขั้นตอนมีการบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวเป็นหลักฐาน ครอบครัวสามารถเข้ามาดูได้ หากมีข้อสงสัยเกิดขึ้น
กรณีที่ นายกมลศักดิ์ สอบถามนั้น เมื่อผู้ต้องสงสัยถูกเชิญมาซักถามแล้วพบว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง จึงได้ปล่อยตัวไปเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.64 ก่อนปล่อยตัวมีการตรวจร่างกายจากแพทย์และโรงพยาบาลรือเสาะ ซึ่งผลปกติ พร้อมกับลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.รือเสาะ ได้ชี้แจงการปฏิบัติให้กับญาติทราบ ซึ่งญาติก็เข้าใจ
แต่เมื่อมีคลิปผู้ที่คลุ้มคลั่งออกมา ทางหน่วยได้ตั้งคณะกรรมการและได้ไปสอบถามผู้ที่ถูกเชิญตัวที่บอกว่า มีลักษณะทางจิตและมีการเผยแพร่ในคลิปทางโซเชียลมีเดีย ในขั้นต้นที่คณะกรรมการไปสอบถามบุคคลดังกล่าว ได้ข้อมูลว่า คนที่อยู่ในคลิปไม่ใช่ตนเอง ตรงนี้ต้องให้ทางคณะกรรมการลงไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่า ตามที่ ส.ส.ได้กล่าวนั้นเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่อย่างไร หากมีการดำเนินการแล้วพบว่า มีลักษณะอาการตามที่ ส.ส.กล่าว ก็จะต้องมีการพิสูจน์และดำเนินการเยียวยาตามระเบียบที่กำหนดไว้
@@ สั่งหน่วยในพื้นที่ตรวจสอบซ้ำ ถ้าจริงพร้อมเยียวยา
ส่วนมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานั้น พล.อ.ชัยชาญ ตอบว่า ได้มีการกำกับดูแลกันทุกระดับ ทั้งหน่วยที่เป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยซักถาม การปฏิบัติของหน่วยซักถามทั้งหมดได้ถูกบันทึกไว้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ผู้ใดที่กระทำความผิด ผู้ใดที่ไปข่มขู่หรือไปทำร้ายจิตใจผู้ที่เข้ามาให้ข้อมูล จะต้องถูกลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา ตรงนี้ถือว่าเป็นมาตรการที่กำหนดให้ทุกหน่วยได้ยึดถือปฏิบัติ และได้กำชับให้ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
“ย้ำอีกทีว่า ข้อมูลที่สมาชิกได้ให้ต่อสภานี้ ส่วนหนึ่งหน่วยได้ลงไปในพื้นที่เช่นเดียวกัน และได้รับทราบข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง และก็จะสั่งการให้ทางหน่วยนั้นไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะมีมาตรการในการดำเนินการเยียวยาอย่างไร”
@@คาถาใช้ กม.พิเศษ "เหมาะสม-ระวัง-เท่าที่จำเป็น"
พล.อ.ชัยชาญ กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ว่า ในพื้นที่ยังมีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งเป็นขบวนการที่มีความเชื่อมโยงกัน การใช้กฎหมายปกติไม่สามารถบังคับและดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ไม่สามารถระงับเหตุที่เกิดขึ้นและจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมายได้ ที่ผ่านมาหน่วยงานในพื้นที่ได้เน้นย้ำในการใช้กฎหมายความมั่นคง ต้องระมัดระวังให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นๆ เลือกใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่เป็นหลัก
ที่สำคัญคือว่า ได้เน้นและมีการอบรมเจ้าหน้าที่ทุกนายที่จะลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้เข้าใจและรู้เรื่องด้านสิทธิมนุษยชน มีการตรวจสอบการดำเนินการและเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับความเสียหายได้ร้องทุกข์ เรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
ในเรื่องของการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่นั้น มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จนถึงปัจจุบันรวม 11 อำเภอ รวมทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยในเดือนนี้ได้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ อ.กาบัง จ.ยะลา
ส่วนในเรื่องความต่อเนื่องกันระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย ช่วงที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนั้น เพื่อประโยชน์ในกระบวนการสืบสวนนำไปสู่การจับกุมนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตรงนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในพื้นที่ ที่จะพิจารณาการใช้กฎหมายในแต่ละกฎหมายให้เหมาะสม อย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย