ชายแดนใต้ยังไม่คลายวิกฤติโควิด ศบค.ยะลา ตีกรอบเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ต่อเวลางดพระสงฆ์ สามเณร ออกบิณฑบาตถึงสิ้นเดือน ขณะที่ปัตตานีเปิดตลาดสดเทศบาลวันแรกชื่นมื่น คัดกรองเข้ม ส่วนเทศบาลโคกโพธิ์จัดระเบียบตลาดนัดป้องกันโรคระบาด ด้านโรงพยาบาลนราธิวาสฯ ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้า
วันพุธที่ 19 พ.ค.64 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา ยังคงมีผู้คิดเชื้อรายใหม่ปรากฎในทุกจังหวัด
จ.ปัตตานี ณ เวลา 15.00 น. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมขยับเพิ่มเป็น 285 ราย รักษาหายแล้ว 220 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 10 ราย โรงพยาบาลสนามหนึ่ง 12 ราย โรงพยาบาลสนามสอง 32 ราย โรงพยาบาลสนามสาม 4 ราย โรงพยาบาลโคกโพธิ์ 1 ราย โรงพยาบาลหนองจิก 1 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาแอดมิท 4 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 140 ราย, อ.หนองจิก 76 ราย, อ.โคกโพธิ์ 4 ราย, อ.ยะหริ่ง 24 ราย, อ.สายบุรี 8 ราย, อ.ไม้แก่น 1 ราย, อ.แม่ลาน 1 ราย, อ.ยะรัง 10 ราย, อ.ปะนาเระ 12 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 3 ราย และ อ.มายอ 5 ราย ส่วน อ.กะพ้อ เป็นอำเภอเดียวที่ยังไม่พบผู้ป่วย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 186 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 85 ราย รักษาหายแล้ว 98 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย รอผลตรวจยืนยันอีก 1,113 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 53 ราย, อ.กรงปินัง 41 ราย, อ.เบตง 15 ราย, อ.รามัน 61 ราย, อ.บันนังสตา 12 ราย และ อ.กาบัง 4 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 85 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลยะลา 44 ราย โรงพยาบาลเบตง 1 ราย และโรงพยาบาลสนาม 40 ราย
จ.นราธิวาส พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11 ราย ในพื้นที่ อ.ตากใบ 9 ราย และ อ.สุไหงปาดี 2 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อสะสม 654 ราย รักษาหายแล้ว 554 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 431 ราย, อ.ระแงะ 17 ราย, อ.รือเสาะ 26 ราย, อ.บาเจาะ 14 ราย, อ.จะแนะ 12 ราย, อ.ยี่งอ 5 ราย, อ.ตากใบ 105 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 7 ราย, อ.สุไหงปาดี 12 ราย, อ.ศรีสาคร 7 ราย อ.แว้ง 14 ราย, อ.สุคิริน 2 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 46 ราย แยกเป็นกลุ่มสถานบันเทิง 5 ราย กลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 19 ราย กลุ่มรอสอบสวนโรค 6 ราย และกลุ่มค้นหาเชิงรุกในโรงงาน 16 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 1,099 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 1,087 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 12 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 359 ราย รักษาหายแล้ว 735 ราย เสียชีวิตสะสม 5 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 1,072 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 730 ราย, อ.เมืองสงขลา 157 ราย, อ.บางกล่ำ 21 ราย, อ.นาหม่อม 15 ราย, อ.จะนะ 85 ราย, อ.รัตภูมิ 15 ราย, อ.สะเดา 7 ราย, อ.สิงหนคร 10 ราย, อ.เทพา 5 ราย, อ.ระโนด 8 ราย, อ.สะบ้าย้อย 5 ราย, อ.นาทวี 5 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 6 ราย, อ.สทิงพระ 1 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 3 ราย, อ.ควนเนียง 1 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 13 ราย และจากต่างประเทศ 12 ราย
@@ศบค.ยะลา ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุด
วันเดียวกัน จังหวัดยะลามีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ 60/2564 เรื่องดำเนินการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 23) กำหนดมาตรการที่เข้มงวดและเร่งด่วน ได้แก่
1.การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ ให้จังหวัดยะลาเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
2.กำหนดมาตรการควบคุมพื้นที่จำเป็นเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจรรม ให้เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด มีผลบังคับใช้จนถึง 31 พ.ค.64 ได้แก่ การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านน้ำชา กาแฟ เปิดได้ไม่เกิน 22.00 น. และให้ปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด, ห้ามการบริโภคสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านจำหน่ายอาหาร, ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต เปิดได้ตั้งแต่เวลา 04.00-22.00 น.
3.แนวทางการปฏิบัติของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาสามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรมหรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากได้ โดยพิจารณาตามความจำเป็น และดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
4.การป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค เช่น การลักลอบเข้าเมือง การเปิดบ่อนการพนัน ให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดและกวดขัน หากพบการกระทำผิดให้บังคับใช้กฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาด และหากมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง จะดำเนินการทางวินัยและอาญาโดยเด็ดขาด
5.การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนพิจารณาลดการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากร สลับวันทำงาน เพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องไปจนถึง 31 พ.ค.64
โดยข้อกำหนดและมาตรการทั้งหมดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.64 เป็นต้นไปจนกว่างจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
@@ ต่อเวลางดพระ-เณรบิณฑบาตถึงสิ้นเดือน
นอกจากนี้ ยังขยายระยะเวลามาตรการเร่งด่วนในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจ การจัดกิจกรรม การประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเดิมมีผลตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. ถึง 18 พ.ค.64 ขยายเพิ่มถึงสิ้นเดือน พ.ค. โดยให้ปฏิบัติดังนี้
1.ให้พระภิกษุ สามเณร งดการออกบิณฑบาตในทุกพื้นที่
2. ให้พระภิกษุ สามเณร งดกิจกรรมหรือการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่มีประชาชนเข้าร่วมเกิน 20 คน กรณีมีการจัดงานศพ สามารถดำเนินการได้ และให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้เจ้าภาพแจ้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำและควบคุมการปฏิบัติ
3. ให้พระภิกษุ สามเณร งดการเดินทางออกนอกพื้นที่ กรณีมีความจำเป็นต้องไปประกอบศาสนกิจนอกพื้นที่ เมื่อกลับเข้าวัดต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
4. ให้พระภิกษุ สามเณร และผู้ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ และลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรม
@@ ศปก.อ.เบตง เร่งชวนคนลงทะเบียนรับวัคซีน
ที่ห้องประชุม สวท.เบตง จ.ยะลา นายปราโมช นิติธรรมโชติ ปลัดอาวุโสอำเภอเบตงในฐานะประธานคณะทำงานการประชาสัมพันธ์ “วาระวัคซีนเบตง” ได้ประชุมร่วมกับ นายสุทธิพงศ์ สาครินทร์ ผอ.สวท.เบตง, ร.ต.ต อุดม ลักษณะ นายกสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดยะลา พร้อมเจ้าหน้าที่ สวท.เบตง และประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองเบตง
ที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานประชาสัมพันธ์ “วาระวัคซีนเบตง” เพื่อประชาสัมพันธ์การเตรียมความพร้อมและรณรงค์ให้ประชาชนได้ลงทะเบียนจองวัคซีนโควิด-19 ในทุกกลุ่มเป้าหมาย จึงต้องประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อวิทยุ สื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ ผ่านจอ LED ขนาดใหญ่ และรถกระจายเสียงเทศบาลเมืองเบตง รวมทั้งการใช้สื่อบุคคลในการเดินเคาะประตูบ้าน เชิญชวนประชาชนลงทะเบียนจองวัคซีน
@@ เปิดตลาดสดปัตตานีวันแรก คัดกรองเข้ม
บรรยากาศที่บริเวณตลาดเทศวิวัฒน์ 1 อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นวันแรกที่ได้เปิดให้พ่อค้าแม่ค้าขายของได้ตามปกติ โดยพ่อค้าแม่ค้าทุกคนที่มาขายของจะต้องแขวนบัตรยืนยันว่าผ่านการตรวจโควิด-19 มาแล้ว โดยต้องแขวนบัตรตลอดทั้งเวลาเข้า-ออกตลาด และเวลาขายของอยู่ในตลาด เพื่อเป็นการคัดกรองอย่างเข้มงวด รวมทั้งใส่หน้ากากอนามัย และล้างมืออีกด้วย
นางพาตีเมาะ แม่ค้าขายของในตลาดเทศวิวัฒน์ กล่าวว่า วันนี้ดีใจมากที่ได้มาขายของหลังจากปิดตลาดไป ซึ่งวันนี้มี ผอ.กองสาธารณสุขฯ เจ้าหน้าที่ และเทศกิจเดินให้กำลังใจแม่ค้าและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า แม้วันนี้จะมีคนออกมาจับจ่ายซื้อของที่ตลาดเทศวิวัฒน์ไม่มาก แต่ก็เชื่อว่าวันอื่นๆ จะดีกว่านี้ เพราะบางคนยังไม่รู้ว่าทางจังหวัดอนุญาตให้เปิดตลาดขายของได้เป็นปกติแล้ว
"ขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันปฏิบัติตามมาตราการ จนทำให้เราสามารถเปิดขายของได้ปกติ พวกเราทุกคนแขวนบัตรของตัวเองตลอด เพื่อที่จะได้แสดงให้ลูกค้าที่มาซื้อของ ได้เห็นถึงความปลอดภัย เมื่อมาซื้อของที่นี่”
นางอรชุน ยูโซ๊ะ ลูกค้ามาซื้อของในตลาดเทศวิวัฒน์ กล่าวว่า วันนี้มาซื้อผัก ซื้อของสด เพื่อเอาไปฝากให้แม่ทำแกงกินรายอ 6 วันพรุ่งนี้ ก็รู้สึกสบายใจที่เข้ามาในตลาดแล้วทุกคนทำตามมาตราการ รวมทั้งเราเองก็อุ่นใจที่มาซื้อของ อาจเป็นวันแรกของการเปิดขายของด้วย
@@ นายกเล็กโคกโพธิ์ จัดระเบียบตลาดนัดป้องกันโควิด
ขณะที่บริเวณตลาดเทศบาลโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี นายยืน กาญจนจันทร์ นายกเทศบาลตำบลโคกโพธิ์ นำคณะผู้บริหารเทศบาล พร้อมสมาชิกสภาเทศบาล และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ หมู่ 7 หมู่ 4 รวมทั้ง ผอ.สาธารณสุขเทศบาลโคกโพธิ์ ร่วมกันหารือ เพื่อวางมาตรการในการเปิดตลาดนัดโคกโพธิ์ในวันเสาร์ทีจะถึงนี้ ก่อนลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ และขอความร่วมมือกับพ่อค้าแม่ค้าและพี่น้องประชาชนให้ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19
นายยืน กล่าวว่า มาตรการที่กำหนด คือเปิดให้เข้า-ออกตลาดเพียงทางเดียว ปิดช่องทางอื่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่คัดกรองทุกคนที่จะเข้า-ออกตลาดได้ 100% พร้อมกับให้ทุกคนส่วมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือ ทั้งจะมีการล้างตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจให้พี่น้องในพื้นที่อีกด้วย
นางโฉม ดอเลาะ ชาว อ.โคกโพธิ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ทุกคนต่างเดือดร้อนจากการปิดตลาด พ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถขายของได้ ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ต้องซื้อของตามร้านทั่วไป ราคาก็สูงขึ้น หากได้เปิดตลาดเชื่อว่าชาวบ้านทุกคนพร้อมปฏิบัติตามมาตรการที่ทางเทศบาลกำหนด เพื่อความปลอดภัย
@@โรงพยาบาลนราฯ ฉีดวัคซีนเข็ม 2 จนท.ด่านหน้า
ส่วนที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้มีผู้ที่เดินทางมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (ซิโนแวค) เข็มที่ 2 เป็นจำนวนมาก อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทหาร โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
นางสาวคอทรีหม๊ะ หะยีอารุณ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเข็มแรกไม่ได้มีผลข้างเคียงใดๆ เกิดขึ้น และอยากฝากไปถึงพี่น้องทุกคนว่า ในหลักศาสนาอิสลาม หากเป็นการป้องกันหรือการรักษาโรค ก็สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนนั้นถือเป็นการป้องกันที่ดี เพื่อไม่ให้เป็นพาหะนำโรค และอยากเชิญชวนทุกคนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19ให้ได้มากที่สุด