การเลือกตั้งนายกเล็ก และสมาชิกสภาเทศบาลที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป แน่นอนมีทั้งผู้ผิดหวังเพราะแพ้พ่ายและสมหวังเนื่องจากได้รับชัยชนะ
แต่ข้อสังเกตหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็คือ บรรดาแชมป์เก่า หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิม พลาดท่าตกเก้าอี้ไปจำนวนไม่น้อย
และหนึ่งในนั้นคือ พิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ ที่วันนี้กลายเป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี และอดีตผู้สมัครนายกเล็ก หมายเลข 2
ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ ต้องถือได้ว่ายิ่งกว่าพลิกล็อก เพราะ พิทักษ์ มีคะแนนตามหลังคู่แข่งมากกว่า 2,000 คะแนน ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ที่เรียกได้ว่าหนักหนาสาหัสสำหรับการเลือกตั้งระดับนี้ และผู้สมัครเป็นถึงอดีตนายก 4 สมัย
"ทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ ผมขอขอบคุณ และขอบคุณทุกกำลังใจจากพี่น้องชาวเมืองปัตตานีทุกท่านที่มอบให้พวกเรา...ทีมรักปัตตานี" พิทักษ์ ขอบคุณประชาชนตามธรรมเนียม ก่อนจะตั้งคำถามกับตัวเองถึงผลคะแนนที่ออกมาแบบไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเอง
"สำหรับคะแนนเสียงที่ได้มา ก็ไม่คาดคิดว่าผลจะออกมาเป็นอย่างนี้ เพราะจริงๆ ก็ได้ทำงานมาตลอด ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชนไว้มากมาย แล้วก็ทำครบทุกเรื่อง ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สาธารณูปโภคทั้งหลาย รวมถึงระบบการกำจัดขยะ แล้วก็ระบบน้ำประปา"
"ก็มีคำถามอยู่ในความคิดเหมือนกันว่า สิ่งที่ได้ทำมามันยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์หรืออย่างไร" อดีตนายกเล็กหมาดๆ กล่าว
พิทักษ์ บอกอีกว่า กำลังประเมินอยู่ว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นแบบนี้ เป็นเพราะสาเหตุอะไร วันนี้ก็ไม่กล้าบอกตรงๆ ชัดๆ ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
ในฐานะคนทำงานก็ยังอดเป็นห่วงไม่ได้กับสิ่งที่ทำค้างไว้ และเกรงจะไม่มีการสานต่อ
"เรื่องที่กังวลอยู่ ก็จะเป็นระบบการศึกษา การป้องกันน้ำท่วมรอบอาวปัตตานี เรื่องขยะ และเรื่องระบบน้ำเสีย" พิทักษ์ ระบุ
"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่สอบถามประชาชนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ได้ข้อมูลบางส่วนว่า การเปลี่ยนแปลงตัวนายกเล็กหนนี้เกิดจากหลายปัจจัย มีทั้งชาวบ้านที่อยากเห็นสิ่งใหม่ๆ เบื่อของเก่า แม้ไม่ได้ชอบคนใหม่ แต่ก็เบื่อของเก่า ที่สำคัญโค้งสุดท้ายยังมีข้อมูลบางอย่างที่ออกมาทางโซเชียลมีเดีย และทำให้ชาวบ้านตัดสินใจ ส่งผลให้คะแนนทิ้งห่าง
สำหรับผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานีอย่างเป็นทางการ ผู้ชนะได้แก่ นายนิอันนุวา สุไลมาน ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้ 11,114 คะแนน ส่วน นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ ผู้สมัครหมายเลขร์ 2 แชมป์เก่า 4 สมัย ได้ 8,916 คะแนน
@@ "ว่าที่นายกเล็กเบตง" ขึ้นรถแห่ขอบคุณทุกคะแนน
ที่ อ.เบตง จ.ยะลา นายสกุล เล็งลัคน์กุล หรือ "โกตุ้น" ผู้สมัครที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ในศึกเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองเบตง ได้นำลูกทีมพร้อมทีมงานขึ้นรถแห่ไปทั่วเขตเทศบาล โดยบางช่วงก็ลงเดินเพื่อขอบคุณประชาชนที่มอบความไว้ใจลงคะแนนให้ ทำให้ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 จำนวน 4,177 คะแนน และยังสามารถนำลูกทีมผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลเมืองเบตงเข้าสภาได้อีก 9 คน
โกตุ้น กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคะแนนที่มอบให้ และเลือกตนเข้าไปพัฒนาเมืองเบตง เรื่องที่ต้องเร่งทำคือ ต้องทำตามนโยบายของทีมที่ได้พูดไว้กับพี่น้องประชาชน คือ สร้างคน สร้างงาน สร้างเมือง และจะทำให้รวดเร็วที่สุด
@@ เลือกตั้งเทศบาล สัญญาณเติบโตของ "นิว โหวตเตอร์"
การเลือกตั้งเทศบาลมีทั้งหมด 3 ระดับ คือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร เป็นการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ และผลที่ออกมาก็คล้ายๆ กับที่ชายแดนใต้ คือ มีปรากฏการณ์พลิกโผเกิดขึ้น แชมป์เก่าหลายๆ สมัยที่เคยผูกขาด ต้องพลาดตกสวรรค์
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองภาพรวมผลการเลือกตั้งนายกเล็กว่า จะเรียกว่า "พลิกล็อก" ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะผลการเลือกตั้งที่ออกมาไม่ใช่ลักษณะที่ว่า "หน้าเก่าไป หน้าใหม่มา" ทั้งหมด แต่เป็น "หน้าใหม่" ที่แตกตัวมาจากกลุ่มการเมืองท้องถิ่นเก่า และหากมองให้ดีปัจจัยสำคัญที่แยกออกมาแล้วชนะ เพราะร่วมมือกับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่มาสนับสนุน โดยมีภาพลักษณ์เป็นคนหนุ่มสาว ไม่ได้ขายเฉพาะนโยบายเหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ
จากการไล่ดูผลการเลือกตั้งเทศบาลหลายจังหวัด พบว่ากลุ่มคนที่มาเป็น "แบ็คอัพ" หรือ "กองหนุน" หรือแม้แต่ "ออกหน้าเอง" ในบางพิ้นที่ เป็นผู้ประกอบการรุ่น 3 และ 4 เป็นคนทำงานหอการค้าจังหวัด และสมาคมต่างๆ ในพื้นที่ เป็นการผนึกกำลังคนรุ่นใหม่เพื่อเอาชนะทีมเก่า เนื่องจากข้อเสนอเชิงนโยบายรวมถึงไอเดียที่ตอบโจทย์มากว่า ฉะนั้นกลุ่มเก่าที่ยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้ จะเป็นกลุ่มเก่ามีการปรับตัวใหม่ให้เข้ากับกลุ่มคนใหม่ๆ มากขึ้น ดังนั้นหากมองภาพรวมยังเป็นเพียง "เหล้าใหม่ในขวดเก่า"
ขณะที่ รศ.ดร.วีรศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการปกครองท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ผลการเลือกตั้งนายกเล็กทำให้เห็นว่า "โหวตเตอร์" (Voter) เป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้บรรยากาศหลายพื้นที่เปลี่ยนไป สะท้อนจากผู้สมัครหน้าเก่าที่ไม่คิดว่าจะพลาด แต่ก็พลาด มีเพียงครึ่งหรือมากกว่าครึ่งเล็กน้อย คือประมาณร้อยละ 60 เท่านั้นที่ยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้ แต่อีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์แพ้อย่างน่าตกใจ ฉะนั้นสนามเลือกตั้งเทศบาลไม่ใช่สนามผูกขาดอย่างที่หลายคนเข้าใจอีกต่อไป
ที่สำคัญ การเลือกตั้งเทศบาลที่เป็นเขตเล็ก กลุ่มนิวโหวตเตอร์ หรือผู้ที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ได้ถูกสกัดเหมือนรอบ อบจ. ฉะนั้นใครที่ทำงานการเมืองแบบเดิม ไม่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ก็มีโอกาสพ่ายแพ้
ยกตัวอย่าง นายณรงค์พร ณ พัทลุง หรือ "ปลัดแป้น" อดีตปลัดจังหวัดสงขลา และอดีตนายอำเภอหาดใหญ่ ได้อันดับ 2 จากการเลือกตั้งเทศบาลนครหาดใหญ่ เอาชนะแชมป์เก่าอย่าง นายไพร พัฒโน ไปอย่างขาดลอย แม้จะไม่สามารถเข้าวินเป็นที่ 1 ได้ แต่คะแนนก็ดีมาก เพราะปลัดแป้นชูจุดเด่นด้านอาหาร ประกาศว่าจะทำให้สตรีทฟู้ดและร้านอาหารของหาดใหญ่ได้รับรางวัลมิชลินสตาร์ ซึ่งถือเป็นนโยบายแปลกใหม่ เป็นรูปธรรม และประชาชนเฟ้นหา ไม่ใช่การหาเสียงด้วยนโยบายแบบเดิมๆ
กล่าวเฉพาะการเลือกตั้งนายกเล็กที่ชายแดนใต้ ยังมีประเด็นที่พูดกันมากเกี่ยวกับการใช้เงิน มีรายงานจากหลายพื้นที่ว่าราคาสูงถึงหลักหัวละหลายพันบาท และยังมองเห็นความเคลื่อนไหวของบรรดานักธุรกิจ ผู้รับเหมา จับมือหรืออยู่เบื้องหลังผู้สมัครหลายๆ คน เรียกได้ว่าเป็นยุคที่นักธุรกิจออกมาเล่นเอง ซึ่งเฉพาะประเด็นนักธุรกิจ สอดคล้องกับข้อมูลของ ดร.สติธร ที่มองโยงไปถึงคนรุ่นใหม่ในแวดวงธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการรุ่นที่ 3 หรือ 4 ของตระกูล ที่กระโดดเข้าไปเล่นสนามเทศบาล ทำให้มีทุนในการหาเสียงและพลิกเอาชนะได้ในหลายพื้นที่