ย่านเศรษฐกิจกลางเมืองปัตตานีน้ำลดแล้ว เทศบาลเร่งฉีดน้ำล้างถนนพร้อมกลับสู่ภาวะปกติ ด้าน "ประธานฯชวน หลีกภัย" เยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัย ต.ปะกาฮารัง ขณะที่คณะครูโรงเรียนบ้านดอนรัก อ.หนองจิก ทำข้าวกล่องแจกครอบครัวเด็กบ้านน้ำท่วมสูง ด้านรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยลงพื้นที่ถี่ยิบ สั่งเร่งรัดจ่ายเงินเยียวยา ปภ.สรุปภาพรวมเหลือพื้นที่อุทกภัย 5 อำเภอสุดท้าย
วันที่ 14 ม.ค.64 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปัตตานี โดยเฉพาะพื้นที่ย่านการค้าและเศรษฐกิจในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ระดับน้ำได้ลดจนแห้งกลับสู่ภาวะปกติ ถนนทุกสายสามารถเปิดการจราจรได้แล้ว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองปัตตานี ได้เร่งฉีดทำความสะอาดถนน เก็บขยะ ล้างคราบโคลน ส่วนสถานที่ราชการ บ้านเรือน และย่านการค้าสำคัญ หลังน้ำลดลงก็ได้มีเจ้าหน้าที่และประชาชนออกมาทำความสะอาดอาคารและบ้านเรือนกัน
นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ได้สั่งการให้กองสาธารณสุขฯและฝ่ายป้องกันฯ เข้าดำเนินการเก็บกวาดล้างถนนทันที เพื่อคืนพื้นทีให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้รถใช้ถนนต่อไป พร้อมออกปฏิบัติงานฉีดล้างทรายที่บริเวณถนนพิพิธ ถนนปรีดา ถนนฤดี ถนนสายบุรี และถนนเดชา
ด้านนางอรอุมา มณีกุ ชาวบ้าน อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ดีใจที่น้ำในเมืองลดแล้ว ถนนเริ่มใช้การเป็นปกติ เราเองก็สามารถล้างบ้านทำความสะอาด ส่วนรอบใหม่ที่ทราบมาว่า จะมีน้ำอีกถ้ามีฝน ก็ถือแค่ดวง ก็ขออย่าให้ มีฝนอีกเลยแค่นี้ ก็พอแล้วสงสาร ทุกคนสงสารตัวเอง
"แต่ที่เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ คือการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนเยอะมาก น้ำใจจากประชาชนช่วยประชาชน มีการเข้าไปช่วย เข้าไปแจกของ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมกันเยอะมาก ก็ดีใจที่ทุกคนมีความสามัคคีพร้อมใจช่วยทุกคน เต็มที่ทุกกลุ่มทุกคนเลย" นางอรอุมา กล่าว
@@ "ประธานฯชวน หลีกภัย" เยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัย ต.ปะกาฮารัง
วันเดียวกันนี้ ( 14 ม.ค.64) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พร้อมกับนายอันวาร์ สาและ รองเลขาฯพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เนื่องจาก ต.ปะกาฮารัง ถือเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมหนักที่สุดและเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำปัตตานี ทำให้ทั้งตำบลกว่า 3,000 ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่สูง 2-3 เมตร เป็นเวลาข้ามปี จากนั้นจึงเดินทางต่อไปมอบสิ่งของให้กับผู้ประสบภัยที่บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านกือยา และที่มัสยิดยือโม๊ะ ซึ่งเป็นจุดที่มีน้ำท่วมสูงและเป็นเส้นทางการเดินทางด้วยเรือของชาวบ้านในการเข้าหมู่บ้าน โดยนายชวนได้เดินลุยน้ำพบปะกับประชาชน
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ทางสภาพผู้แทนราษฎร ได้งดการประชุม 2 สัปดาห์ เนื่องจากมีปัญหาความรุนแรงของโควิด 19 ประกอบกับมีฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นมา จากการสอบถามชาวบ้านก็บอกว่า นี้เป็นระลอกที่ 3 แล้ว ก็ถือว่าลำบาก เท่าที่ติดตามก็ถือว่าทางหน่วยราชการทำงานได้ดีมาก จึงถือโอกาสมาเยี่ยมและให้กำลังใจพี่น้องประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ทุกระดับในการทำงานช่วยเหลือประชาชน
"ในพื้นที่นี้เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ทางตนก็ได้พูดคุยกับทางผู้แทนราษฎร เพื่อจัดทำโครงการในการไขปัญหา เช่น จะให้ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้ามาศึกษา ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการศึกษาโครงสร้างทั้งหมด ว่าจะทำอะไรก่อนหลังมีแม่น้ำกี่สายเหมือนที่ตรัง ก็ทำมาหลายปีแล้วก็ดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถที่จะป้องกันได้ 100เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ดีขึ้นโดยลำดับ" ประธานรัฐสภา กล่าว
สำหรับพื้นที่ ต.ตะลุโบะ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จำนวน 5 หมู่บ้าน บางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังสูงอยู่ ส่วนพื้นที่ ต.ปะกาฮะรัง ในหมู่บ้านระดับน้ำยังคงสูง 1 – 2 เมตร คาดว่า ยังคงต้องใช้เวลาอีก 2 – 3 วัน สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จะคลี่คลาย
@@ครู รร.บ้านดอนรัก ทำข้าวกล่องแจกครอบครัวเด็กบ้านน้ำท่วมสูง
ขณะที่โรงเรียนบ้านดอนรัก ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทางนางเพียงเพ็ญ แผ้วสะอาด ผอ.โรงเรียนบ้านดอนรักและคณะครูได้ร่วมระดมทุนทำข้าวกล่อง เพื่อนำไปแจกกับครอบครัวของเด็กโรงเรียนบ้านดอนรักที่ ขณะนี้ครอบครัวและเด็กนักเรียนหลายร้อยครัวเรือน ในพื้นที่หมู่บ้านดอนรัก ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างหนัก จนบางหลังไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ต้องอยู่ภายในบ้านอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบหนัก เป็นพื้นที่ที่หน่วยงานของรัฐยังไม่เข้า ทำให้ ผอ.โรงเรียนบ้านดอนรัก และคณะครู จึงได้ระดมทุนทำข้าวกล่องมาช่วยเหลือชาวบ้าน
นางเพียงเพ็ญ แผ้วสะอาด ผอ.โรงเรียนบ้านดอนรัก กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมได้ลดลงไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงมีอีกหลายหมู่บ้าน ใน อ.หนองจิก ที่ได้รับผลกระทบอยู่ ทั้งที่ยังไม่ได้รับถุงยังชีพ จึงอยากขอความอนุเคราะห์จากพี่น้องประชาชนผู้ใจบุญร่วมสมทบทุนในการทำข้าวกล่องและถุงยังชีพ เพื่อนำไปช่วยเหลือชาวบ้านและครอบครัวเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ด้วย
@@สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ พระราชทานถุงยังชีพผู้ประสบภัยยะลา
วันนี้ (14 มค.64) ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอรามัน จ.ยะลา สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒ วรขัติยราชนรี โปรดเกล้าฯ ให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำถุงยังชีพพระราชทาน เครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 500 ชุด มอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.ยะลา โดยมีนายสุกิจ พัฒนพงษ์ นายอำเภอรามันเป็นประธานเชิญมอบในพิธี และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ร่วมมอบถุงยังชีพพระราชทาน เครื่องอุปโภคบริโภคในครั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและ สร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ประสบอุทกภัยในเบื้องตัน ทั้งนี้มีประชาชนและผู้นำชุมชนที่เดินทางมารับมอบ ถุงยังชีพพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคในครั้งนี้ ทุกคนต่างรู้สึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ในความห่วงใยต่อพสกนิกรเป็นลันพ้น
@@ นิพนธ์ ลงพื้นที่ยะลา เร่งรัดจ่ายเงินเยียวยา-ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม
วันที่ 14 ม.ค.64 ที่อาคารเอนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 บ้านยุโป อ.เมือง จ.ยะลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมนายภูริพงศ์ พงษ์สุวรรณศิริ และคณะเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและพบปะประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพของมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ จำนวน 500 ชุด เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น โดยรับฟังการรายงานสถานการณ์และการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จากนายวรเชษฐ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ต่อจากนั้นนายนิพนธ์ รมช.มหาดไทย พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยใน ต.ลำพะยา หมู่ที่ 4 อ.เมือง จ.ยะลา พร้อมกับแจกถุงยังชีพให้กับประชาชนผู้ประสบความเดือดร้อน จำนวน 500 ชุด เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชน
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนได้ติดตามรายงานทุกวันและทราบว่าทุกคนทำงานอย่างหนัก จึงตั้งใจมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและด้วยความห่วงใยประชาชนที่ประสบภัย ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมการสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ จ.ยะลา ได้เริ่มคลี่คลายลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองยะลา และ อ.เบตง รวม 6 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,562 ครัวเรือน ขณะนี้ได้ดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด
นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง สำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเพื่อเร่งรัดการเงินเยียวยาผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯและการฟื้นฟูหลังน้ำลดให้กลับสู่ภาวะปกติ พร้อมทั้งจ่ายเงินชดเชยเยียวยากรณีเสียชีวิต บ้านพักอาศัยเสียหาย พื้นที่เกษตรและเครื่องมือประกอบอาชีพเสียหาย ฯลฯ อย่างเต็มที่ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ทีมทำความสะอาด รวมทั้งความปลอดภัยจากน้ำ จากไฟ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อจัดสรรงบประมาณในการเยียวยา ช่วยเหลือประชนและฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคได้ทันที
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่ารัฐบาลดูแลประชาชนผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย โดยไม่ทอดทิ้งใครแน่นอน รวมทั้งขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกพื้นที่ตามกำลังของตนเอง เพื่อให้เราก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
@@ชาวอัยเยอร์เวง ตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
นายอารี หนูชูสุข ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง กล่าวว่า ชาวอัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ได้ร่วมกันตั้งศูนย์รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หลังประสบปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ สร้างความเสียหายหลายครัวเรือน โดยสามารถบริจาคได้ที่ บริเวณสามแยก บ้าน ก.ม.29 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งรายการสิ่งของที่จำเป็นเบื้องต้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย นอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคแล้ว ยังคงต้องการน้ำดื่ม ไฟฉาย พร้อมถ่านไฟฉาย เทียนไขและไฟแช็ค ยากันยุง ของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้หญิง เช่น ผ้าอนามัย ผ้าออมสำเร็จรูปเด็ก กระดาษชำระ และยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาแก้น้ำกัดเท้า ยาแก้ปวด
ในวันนี้ยังคงมีพี่น้องประชาชนเริ่มทยอยนำเสื้อผ้า น้ำดื่ม อาหารแห้งที่จำเป็น รวมถึงเงินบริจาค มามอบให้กับทางศูนย์ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา จึงขอเชิญชวนพ่อค้า ประชาชน บริษัท ห้างร้าน ร่วมบริจาคทรัพย์สิ่งของ ข้าวสาร อาหารแห้ง ตั้งแต่บัดนี้จนถึง วันที่ 16 ม.ค.64 สำหรับสิ่งของทั้งหมดจะถูกทยอยนำขึ้นรถบรรทุกจัดส่งไปในพื้นที่ถึงมือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องต่อไป
@@ปภ.สรุปภาพรวมเหลือพื้นที่อุทกภัย 5 อำเภอสุดท้าย
รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) วันที่ 14 ม.ค.64 สถานการณ์น้ำท่วมระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่ รวม 2 จังหวัด รวม 5 อำเภอ 32 ตำบล 91 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบรวม 11,642 ครัวเรือน แยกเป็น
จ.ยะลา ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองยะลา และ อ.เบตง รวม 6 ตำบล 7 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 1,562 ครัวเรือน
จ.ปัตตานี ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองปัตตานี อ.หนองจิก และ อ.ยะรัง รวม 26 ตำบล 84 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 10,080 หมู่บ้าน
ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยทั้ง 2 จังหวัด ระดับน้ำลดลง ส่วนในวันนี้ จ.นราธิวาสสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติและมีการปิดใช้งานจุดอพยพหมดแล้ว
ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันน้ำไหลหลากและดินสไลด์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ตั้งแต่ 4 - 14 ม.ค. สะสมมีทั้งหมด 32 อำเภอ 193 ตำบล 1,047 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 68,315 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 4 ราย (ยะลา 2 ราย สงขลา 1 ราย ปัตตานี 1 ราย) ผู้บาดเจ็บรวมทั้งหมด 3 ราย (สงขลา 2 ราย ปัตตานี 1 ราย)