"ความยากจน" คือภาพชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ติดตรึงยาวนานยิ่งกว่าสถานการณ์ความไม่สงบเสียอีก
ที่ผ่านมาสื่อมวลชนหลายแขนง รวมทั้ง "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ได้ลงพื้นที่เพื่อสะท้อนปัญหาความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่ง ฯ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานมีครอบครัวที่เรียกได้ว่ามีรายได้น้อยยิ่งกว่าน้อย จนยิ่งกว่าจน กระจายอยู่ทั่วพื้นที่
ขณะที่หน่วยงานภาครัฐเองก็ออกสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยอาศัยข้อมูลส่วนหนึ่งจากสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน อย่างเมื่อปลายเดือน ส.ค.63 ที่ผ่านมา พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้นำทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และกำลังพลจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 ลงพื้นที่บ้านเจาะกลาดี หมู่ 8 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา เพื่อเยี่ยมประชาชนที่มีฐานะยากจน และมีสมาชิกในครอบครัวนับสิบชีวิต โดยมี นายซัยนุงอาบีดี ยะผา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ให้การต้อนรับ
จุดแรก เลขาธิการ ศอ.บต.ไปเยี่ยมครอบครัว นายอิบรอเฮง ตาเละ อายุ 43 ปี โดยนายอิบรอเฮงมีอาชีพรับจ้างทั่วไป มีรายได้วันละ 150-200 บาท แต่มีสมาชิกในครอบครัวกว่า 10 คน ตั้งแต่ภรรยาวัย 37 ปีที่กำลังตั้งท้อง 7 เดือน ลูกสาว ลูกชาย อายุตั้งแต่ 15 ปีไปจนถึง 1 ปี 11 เดือน และยังมีหลานมาอาศัยอยู่ด้วย ทั้งที่สภาพบ้านของนายอิบรอเฮง กว้างแค่ 3 เมตร และยาว 8 เมตรเท่านั้น เวลาฝนตก หลังคารั่ว ต้องหามุมหลบฝน
อิบรอเฮง เล่าว่า ครอบครัวของตนเป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องหลายคน พอลูกบางคนแต่งงานไปมีลูก ก็ขอมาอยู่กระท่อมหลังนี้ซึ่งเป็นของเพื่อนบ้านที่ไปทำงานมาเลเซีย อยู่ไปนานๆ ลูกและหลานก็เยอะขึ้นทุกวัน จึงตัดสินใจขอซื้อกระท่อม เจ้าของก็สงสารจึงยอมขายในราคา 2 หมื่นกว่าบาท ตนก็ผ่อนจ่ายมาตลอด แม้จะได้กระท่อมมา แต่ชีวิตก็ลำบาก กระทั่งนักข่าวของศูนย์ข่าวอิศรามาคุยและขอข้อมูลไป จากนั้นก็มีหน่วยราชการมาเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือ ทำให้รู้สึกดีใจมาก
"เบื้องต้นเลขาธิการ ศอ.บต.ได้มอบเงินช่วยเหลือ และจะช่วยในระยะยาวด้วย สำหรับเงินก็จะให้ภรรยาที่กำลังจะคลอดลูกอีกคน และเป็นทุนการศึกษาลูกๆ ต้องขอขอบคุณเลขาธิการ ศอ.บต.ที่เห็นความสำคัญของครอบครัวผม เงินที่ได้มาอีกส่วนหนึ่งก็จะเก็บไว้ซื้อข้าวสาร จากที่ผ่านมาซื้อกินวันละกิโลฯ เพราะเงินไม่มี คราวนี้ก็จะซื้อมาเก็บไว้กินยามอด" อิบรอเฮง เผยความรู้สึก
และว่าสิ่งที่อยากให้ช่วยเหลือมากที่สุดตอนนี้ คือบ้านทุกตารางนิ้วรั่วหมดเลย ช่วงฝนตกต้องหนีฝนทุกวัน ตั้งใจว่าถ้ามีเงินสัก 1 หมื่นบาท จะนำไปซื้อเสา ปูน และอิฐ มาทำให้พอหลบฝนได้
จุดที่ 2 ที่เลขาธิการ ศอ.บต.ไปเยี่ยม เป็นบ้านของ นายต่วนฮูเซ็น ดอเลาะ โดยบ้านหลังเล็กๆ มีสมาชิกอยู่รวมกันถึง 3 ครอบครัว 12 ชีวิต ทั้งคนโตและเด็กเล็ก ทั้ง 3 ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างกรีดยาง มีรายได้รวมกันไม่เกิน 200 บาท เพราะยางพาราราคาถูก ค่าจ้างกรีดก็ถูกตาม
ช่วงที่เลขาธิการ ศอ.บต.ลงไปเยี่ยม ปรากฏว่าบ้านผุพังพอดี ต้องมีสมาชิกบางครอบครัวออกไปนอนเต็นท์ บางวันฝนตกก็ต้องทนเปียกฝน
ต่วนฮูเซ็น เล่าว่า เดิมพวกตนมีกัน 3 พี่น้อง เป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่ตาย ทิ้งสมบัติให้เราคือบ้านที่เราอยู่หลังนี้ แต่ต่อมาพวกเราทั้ง 3 พี่น้องต่างมีครอบครัว จึงทำให้บ้านที่เราเคยอยู่มาตั้งแต่เล็กๆ คับแคบลง แถมผุพัง รั่วหมด
"ดีใจมากที่เลขาธิการ ศอ.บต. ลงมาเยี่ยม และให้ความช่วยเหลือ ถือเป็นกำลังใจที่ดีมากของชาวบ้าน" ต่วนฮูเซ็น กล่าว
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า ตัวเลขของคนสามจังหวัด ทั้งยะลา 8 อำเภอ ปัตตานี 12 อำเภอ และนราธิวาส 13 อำเภอ มีประชากร 2 ล้านคน ปีก่อนมีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย คือรายได้ปีหนึ่งไม่เกินแสน เดือนหนึ่งไม่เกิน 8,200 บาท พบว่ามีคนมาลงทะเบียนเป็นตัวเลขกลมๆ กว่า 320,000 คน นี่คือตัวเลขคนจน ตอนนี้มีคนกลับมาจากมาเลเซียเพราะหนีภัยโควิด-19 อีกประมาณ 30,000 คน รายได้ไม่มี ฉะนั้นรัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อย่างสุดความสามารถ
"เราต้องให้ทั้งกำลังใจ และให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นก่อน ส่วนในระยะยาวก็ต้องเร่งสร้างงานสร้างอาชีพ" เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว
-------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"ยายแมะเอียด"กับเงิน 3 บาท และหลานยอดกตัญญู
ลูกชายอัมพฤกษ์-ลูกสาวตกงาน ผู้เฒ่ากัดฟันดูแล 8 ชีวิต
ธารน้ำใจยุคโควิด...เปลี่ยนโศกนาฏกรรมชีวิตพ่อเลี้ยงเดี่ยวลูก 5