ยังคงเพิ่มยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่หยุด สำหรับกลุ่มนักศึกษาที่เดินทางกลับจากประเทศซาอุดิอาระเบีย และถูกส่งเข้ากักตัวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ล่าสุดในการแถลงข่าวประจำวันของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันพุธที่ 3 มิ.ย.63 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นนักศึกษาเพศชาย อายุ 26 ปี เดินทางจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ลงเครื่องบินที่กัวลาลัมเปอร์ จากนั้นเดินทางต่อเข้าประเทศไทยโดยรถบัส ผ่านทางด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 25 พ.ค.
ผลตรวจร่างกายครั้งแรก ไม่พบเชื้อ จากนั้นถูกส่งเข้าพักในสถานที่กักกันของรัฐ หรือ State Quarantine จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดภูมิลำเนา ปรากฏว่าการตรวจครั้งที่2 เมื่อวันที่ 31 พ.ค. พบเชื้อ แต่ไม่มีอาการป่วย ขณะนี้นักศึกษาวัย 26 ปี ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ปัตตานี
ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน คือเมื่อวันอังคารที่ 2 มิ.ย. ศบค.ได้รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้น 1 ราย ก็เป็นนักศึกษาที่เดินทางกลับจากประเทศซาอุดิอาระเบียเช่นกัน เป็นชายวัย 32 ปี เข้าประเทศทางด่านปาดังเบซาร์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. และเข้าพักใน State Quarantine จ.สงขลา ผลตรวจเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ไม่พบเชื้อ จากนั้นเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ด้วยอาการไข้ 37.5 องศาเซลเซียส มีน้ำมูก ต่อมาผลตรวจวันที่ 31 พ.ค. พบเชื้อ จึงถูกส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.สงขลา
นักศึกษาที่กลับจากซาอุดิอาระเบียกลุ่มนี้ กลับมาพร้อมกันทั้งหมด 39 คน (จริงๆ มากกว่านี้ แต่ถูกตรวจพบว่ามีไข้ก่อนขึ้นเครื่อง จึงถูกกักที่ประเทศต้นทาง) โดยในจำนวน 39 คน พบติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 9 คน คิดเป็น 23.08% และผู้ป่วยยืนยันทั้ง 9 คน มีภูมิลำเนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 6 คน แยกเป็นนราธิวาส 3 คน ปัตตานี 2 คน และยะลา 1 คน (อ่านประกอบ : นราธิวาสอ่วม! นักศึกษากลับจากซาอุฯติดโควิดต่อเนื่องรายที่ 3)
ผู้ติดเชื้อในกลุ่มนักศึกษาไทยที่กลับจากซาอุดิอาระเบีย ทำให้ยอดรวมผู้ป่วยยืนยันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นทุกจังหวัด ได้แก่ นราธิวาส 43 ราย ปัตตานี 93 ราย และยะลา 133 ราย ขณะที่ จ.สงขลา 132 ราย
ข้อมูลจาก ศบค.ยังระบุอีกว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยห้วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 50 ราย เป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศและกักกันตัวใน State Quarantine จำนวนถึง 46 ราย ส่วนที่เหลือ 4 รายติดเชื้อในประเทศ (สัมผัสผู้ใกล้ชิด 1 ราย ไปในสถานที่ชุมชน 3 ราย) ขณะที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 9
แต่การพบผู้ติดเชื้อน้อย หรือไม่พบเลยในบางพื้นที่ ไม่ได้แปลว่าไม่มีผู้ติดเชื้อ ประกอบกับการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติ ทำงานนอกบ้านมากขึ้น จึงมีโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อได้มากขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องคุมเข้ม และประชาชนต้องป้องกันตนเอง เพราะมิฉะนั้นอาจนำเชื้อกลับไปแพร่ให้กับคนในครอบครัวได้