วันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.67 แม้เป็นวันหยุดราชการ แต่กลุ่มป่วนใต้ไม่ได้หยุดปฏิบัติการ และกำลังพลในพื้นที่ความมั่่นคงก็ต้องทำงานไม่เว้นวันหยุดด้วยเช่นกัน
กำลังพลกองร้อยทหารพรานที่ 4105 (ร้อย ทพ.4105) หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ออกลาดตระเวนเดินเท้า รักษาความปลอดภัยพื้นที่รับผิดชอบ ที่บ้านคอลอกาเอ หมู่ 5 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ถูกคนร้ายซุ่มยิง ทำให้ อาสาสม้ัครทหารพราน (อส.ทพ.) เปลี่ยน ศิริสุข เสียชีวิต
ทหารพรานรายนี้ แม้จะเป็น “อาสาสมัครทหารพราน” หรือ อส.ทพ. แต่อายุไม่ใช่น้อยๆ แล้ว เพราะอยู่ในวัย 44 ปี เป็นหัวหน้าครอบครัว ความสูญเสียจึงกระทบกับหลายชีวิต
25 พ.ย.มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และมีพิธีอัญเชิญพวงมาลาพระราชทาน ที่วัดสุวรรณากร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ท่ามกลางบรรยากาศโศกเศร้า
@@ บันนังสตา...พื้นที่ killing zone
ประเด็น “ซุ่มยิงทหารพราน” นับว่าน่าสนใจ และเป็นปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องจับตาอย่างมาก เนื่องจากระยะหลังมีข่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ว่าคนร้ายใช้ยุทธวิธี “ซุ่มยิง” เพื่อปลิดชีพกำลังพลชุดลาดตระเวน โดยหลีกเลี่ยงการปะทะ ซึ่งอาจเกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่ายมากกว่า คล้ายยุทธวิธี “ใบไม้ร่วง” ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์นิยมใช้ในอดีต
จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ซุ่มยิงและซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นมาแล้วหลายสิบเหตุการณ์ แต่มีถึง 9 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และมี 5 เหตุการณ์ที่เกิดในตำบลบาเจาะ ตำบลที่เพิ่งเกิดเหตุยิง อส.ทพ.เปลี่ยน ศิริสุข จนเสียชีวิตรายล่าสุดนี้
ที่สำคัญ เหตุการณ์ในลักษณะ “ซุ่มยิง - ลอบยิง” ก็เกิดบ่อยครั้งอย่างมีนัยสำคัญ
@@ แฉฝึก “กลุ่มหน้าขาว” ลอบกัดเจ้าหน้าที่
อดีตนายทหารระดับสูงของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ยอมรับว่า ระยะหลังคนร้ายหันมาใช้วิธี “ซุ่มยิงเจ้าหน้าที่” มากขึ้ัน เหตุผลก็คือ
- หลีกเลี่ยงการปะทะ เพราะหากมีการปะทะ และเกิดการสูญเสีย หรือได้รับบาดเจ็บ ฝ่ายคนร้ายจะถูกเปิดเผยตัวตนทันที และผู้เกี่ยวข้องมีโอกาสถูกจับกุมทั้งเครือข่าย เพราะฝ่ายความมั่นคงมีข้อมูลหลักฐานที่เชื่อมโยงจากนิติวิทยาศาสตร์ครบสมบูรณ์ พร้อมต่อจิ๊กซอว์
- การซุ่มยิง เป็นการชิงความได้เปรียบ เป็นวิธีการ “ลอบกัด - ลอบทำร้าย” หวังความสูญเสียของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียว โดยที่ฝ่ายตนไม่สูญเสีย แม้จะก่อความสูญเสียไม่มาก แต่ฝ่ายคนร้ายมีแต่ได้กับได้
- กลุ่มผู้ก่อเหตุซุ่มยิง ส่วนใหญ่ใช้ “นักรบรุ่นใหม่” และใช้ “กลุ่มหน้าขาว” หมายถึงพวกที่ยังไม่มีหมายจับในคดีความมั่นคง ไม่มีประวัติคดีอาญา ทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนป้องกันยาก และเมื่อใช้วิธีซุ่มยิง ก่อเหตุแล้วหนี ไม่มีการปะทะ ก็จะทำให้ “กลุ่มหน้าขาว” เหล่านี้ ไม่ถูกเปิดโปงตัวตนได้อีกนาน พูดง่ายๆ คือใช้งานได้นานกว่า
- พื้นที่บางตำบล บางอำเภอ เป็นป่าเขา มีเส้นทางขึ้นเนิน ทางโค้ง สลับซับซ้อน ภูมิประเทศเหมาะสมกับปฏิบัติการซุ่มยิง
โดยเฉพาะพื้นที่ ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งมีจุดที่เรียกว่าเป็น killing zone เยอะมาก เช่น ทางโค้งบนเนินเขาที่มีป่ายางพารารกทึบ เป็นต้น
ส่วนการฝึก “พลซุ่มยิง” ก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยมีการฝึกกันในพื้นที่ เพราะศักยภาพของกองกำลังกลุ่มนี้ ไม่ได้ถึงขั้นเป็น “สไนเปอร์” แต่เป็นกลุ่มที่ “ยิงหวังผลระยะไกล” ได้เท่านั้น เป็นการยิงแบบไม่ระบุตัวตน แค่ยิงฝ่ายรัฐได้เป็นพอ อาจจะยิงใส่ยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ที่แล่นผ่านจุดเสี่ยง ถ้าโดนใครก็ถือว่าแจ็กพ็อต นี่คือรูปแบบการก่อเหตุ
@@ “บันนังสตา” พื้นที่จัดตั้ง “ฮารีเมา - เสือภูเขา”
พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า พื้นที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา เป็นพื้นที่ที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นมีความพร้อม มีการวางกำลังหลักเอาไว้ตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ
กำลังหลักที่จัดตั้งเอาไว้ เรียกว่า “ทหารภูเขา” หรือ “เสือภูเขา” ภาษามลายูเรียกว่า “ฮารีเมา” หรือหน่วยรบพิเศษ อยู่ที่บันนังสตา ฉะนั้นพื้นที่นี้ไม่ได้มีแค่อาร์เคเค หรือกองกำลังประจำถิ่น ที่เป็นนักรบจรยุทธ์เท่านั้น แต่ยังมี “ฮารีเมา” ที่มีความสามารถเรื่องซุ่มยิงด้วย