ผมคิดว่าไม่ควรต่ออายุ-ขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแบบครอบคลุมทั้งประเทศต่อไปอีก 1 เดือน เพราะสถานการณ์โรคระบาดไม่ได้ฉุกเฉินในระดับสูงสุดแล้ว จึงควรใช้กฎหมายที่มีดีกรีอ่อนกว่า หรือตรงกับสถานการณ์มากกว่าแทน
ผมประเมินว่าสถานการณ์นับจากนี้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ก็เอาอยู่ และกฎหมายฉบับนี้ก็เพิ่งได้รับการปรับปรุงและประกาศใช้เมื่อปี 58 ในยุครัฐบาล คสช.ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันกับปัจจุบัน
ไล่ดูเนื้อหา 60 มาตราของ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เห็นได้ชัดว่ามาตรการหลักๆ ที่ใช้ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ล้วนมาจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เกือบทั้งสิ้น เช่น กักกันตัวกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สัมผัสโรค (มาตรา 34) ห้ามเข้าหรือออกจากสถานที่หรือยานพาหนะ (มาตรา 34-35) สั่งปิดตลาด สถานที่ชุมชน โรงมหรสพ โรงเรียน (มาตรา 35) มาตรการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ และการตั้งด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (มาตรา 39-40)
นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการโรคติดต่อตั้งแต่ระดับชาติ ระดับจังหวัด และกทม. (มาตรา 11, 20 และ 26) ซึ่งถูกวางโครงสร้างการทำงานตามหลักการกระจายอำนาจ คือให้แต่ละจังหวัดสามารถกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ของตนเองได้ เพื่อความยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องบังคับเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ (ผลด้านหนึ่งทำให้เศรษฐกิจบางส่วนสามารถขับเคลื่อนไปได้ ไม่ต้องหยุดนิ่งหรือถูกแช่แข็งเหมือนกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแบบครอบคลุมทั้งประเทศ)
อำนาจที่ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯไม่มีในสถานการณ์ป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา มีเพียง "เคอร์ฟิว" กับ "ปิดน่านฟ้า" เท่านั้น ซึ่งในส่วนของการปิดน่านฟ้าเป็นอำนาจของสำนักงานการบินพลเรือนฯ ตาม พ.ร.บ.เดินอากาศฯ สุดท้ายจึงเหลือเพียง "เคอร์ฟิว" ที่กลายเป็นข้ออ้างในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่จริงๆ แล้วยังสามารถใช้กฎหมายที่มีดีกรีการลิดรอนสิทธิ์อ่อนกว่าทดแทนได้ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (มาตรา 18) ซึ่งก็ให้อำนาจสั่งห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนดเหมือนกัน รวมไปถึงการตั้งด่านปิดการคมนาคมด้วย ส่วนมาตรการห้ามชุมนุมมั่วสุม ก็น่าจะปรับใช้จาก พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ได้เหมือนกัน
ผมเองไม่ได้เกลียดกลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือมองว่าเป็นกฎหมายเผด็จการ และยังเห็นด้วยกับการประกาศใช้ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดยังควบคุมไม่ได้ แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้วก็ควรยกเลิก เพราะหากสถานการณ์กลับมาฉุกเฉินอีก ก็ประกาศใหม่ได้ หรือประกาศใช้เฉพาะบางพื้นที่ก็ได้ ไม่ผิดกติกาใดๆ
เหลียวไปดูที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วเกือบ 15 ปีเต็ม ตั้งแต่เดือน ก.ค.48 เป็นต้นมา โดยประกาศคลุมทุกอำเภอในพื้นที่รวม 33 อำเภอ ช่วงปีหลังๆ มีการลดพื้นที่ลงตามลำดับ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้วราวๆ 5 อำเภอ คงเหลืออีก 28 อำเภอ (อ่านประกอบ : ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯครบ 14 ปี! สถิติไฟใต้ดูดีแต่ยังไม่สงบ)
นี่คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สามารถจำกัดพื้นที่การใช้ลงได้ตามสถานการณ์และความจำเป็น แม้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในระดับปฏิบัติจะมองว่าการทยอยลดพื้นที่ทีละ 1-2 อำเภอ ไม่ทำให้เห็นความแตกต่าง และไม่ได้ช่วยลดแรงกดดันจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก็ตาม เพราะเจ้าหน้าที่มักใช้อำนาจครอบคลุมทุกอำเภอเหมือนเช่นเดิม แต่วิธีที่เหมาะกว่าและน่าจะเห็นผลกว่าก็คือยกเลิกการใช้ไปก่อนทั้งหมดเพื่อประเมินสถานการณ์ แล้วค่อยเลือกประกาศใหม่หากสถานการณ์กลับมาฉุกเฉินฯอีก แต่ควรประกาศแบบจำกัดเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาเท่านั้น
และเมื่อเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้ว ก็ใช่ว่าฝ่ายความมั่นคงจะปลดเขี้ยวเล็บ ไม่มีเครื่องมืออะไรเหลือเลย เพราะแท้ที่จริงแล้วก็มีการนำ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เข้าไปประกาศซ้อนเพื่อทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทุกอำเภอ
ย้อนกลับมาที่ประเด็นการป้องกันโควิด-19 สาเหตุที่ต้องทำความชัดเจนในเรื่องนี้ ก็เพราะหากฝืนใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯต่อไปด้วยเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักมากพอ จะกลายเป็นความเสี่ยงต่อสถานการณ์มากกว่า เนื่องจากมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดกระแสตีกลับ ต้องไม่ลืมว่าพวกที่รอสร้างกระแสก็มีอยู่แล้ว อีกทั้งคนจำนวนไม่น้อยก็เครียดกับความเดือดร้อนมากกว่ากลัวไวรัส ประกอบกับประชาชนทั่วไปถูกจำกัดสิทธิ์นานๆ ย่อมอึดอัด สุดท้ายอาจกลายเป็นผลร้าย กระทบต่อผลงานดีๆ ที่รัฐบาลได้ทำมาตลอด ยิ่งในบางบริบทนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปใช้คาบเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง ก็จะยิ่งถูกขยายความถึงเจตนาไม่บริสุทธิ์
การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แบบยืดเยื้อยาวนาน จนชาวบ้านรู้สึกไม่ฉุกเฉิน ดูตัวอย่างและสรุปบทเรียนได้จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะยิ่งใช้ชาวบ้านดูจะยิ่งให้ความร่วมมือกับรัฐน้อยลง
ฉะนั้นแนวทางสำคัญที่สุดในระยะยาวที่จะแก้ไขปัญหาโรคระบาด จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย แต่คือการทำให้ประชาชนตระหนักรู้และขอความร่วมมือให้ควบคุมดูแลกันเอง เพราะเมื่อกิจการต่างๆ ทยอยเปิด ไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่จะตรวจตราไหว แถมยังอาจเป็นช่องทางการทุจริต
ต้องไม่ลืมว่าการป้องกันโรคระบาดนั้น ถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือเสียแล้ว ทุกอย่างที่ทำมาก็จะพังทลาย อาจเกิดกรณีพยายามฝ่าฝืนท้าทายมาตรการเพราะโกรธรัฐบาล แน่นอนว่าเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมา กลุ่มต้านรัฐบาลก็ไม่ได้โทษใคร นอกจากโทษรัฐบาลเหมือนเดิม ฉะนั้นการบริหารความรู้สึกจึงสำคัญไม่แพ้มาตรการอื่นๆ
ปัญหานี้ไม่ได้สุ่มเสี่ยงเฉพาะการเฝ้าระวังโควิด-19 แต่ #ไฟใต้ก็เช่นกัน
-------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : พ.ร.ก. (ไม่) ฉุกเฉิน