"เหมือนได้ชีวิตใหม่ น้ำตาไหลเมื่อถึงฝั่งไทย บ้านเราดีที่สุด มีผัก ปลา ของกินสมบูรณ์ ไม่คิดกลับไปแล้ว ทำงานรับจ้างบ้านเราดีกว่า ได้อยู่กับลูกๆ อบอุ่น"
เป็นเสียงของ "ปาตีเมาะ" หรือ อ้อย นาคา วัย 50 ปี ชาวบ้านหมู่ 8 ต.ตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่บอกเล่าความรู้สึกของตนเองหลังจากเพิ่งข้ามไปทำงานในมาเลเซียได้เพียง 3 เดือน ก็ต้องดิ้นรนกลับบ้าน เพราะเจอสถานการณ์โควิด-19
"ปาตีเมาะ" ไปเป็นลูกมือในร้านต้มยำกุ้งเล็กๆ ในรัฐกลันตัน มีเพื่อนสนิทอีกคนคือ "ฟารีดา" เป็นกุ๊ก ทั้งสองคนเช่าบ้านอยู่ด้วยกันเดือนละ 3,000 บาท เธอเพิ่งไปทำงานเมื่อเดือน ม.ค. ทำงานได้ 2 เดือนกว่าๆ โควิด-19 ก็ระบาดในมาเลเซีย จากนั้นรัฐบาลสั่งปิดประเทศ ปิดร้านอาหาร ร้านต้มยำกุ้งที่เธอทำงานก็ถูกสั่งปิด เธอกับเพื่อนต้องอยู่แต่ในห้องเช่า ออกจากห้องเฉพาะไปซื้ออาหารที่ร้านชำข้างๆ ที่พัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่มาเลเซียกวดขันอย่างหนัก เงินที่มีอยู่ก็เริ่มร่อยหรอลง
"มีคนมาเลย์ที่มีฐานะแถวนั้นเขาให้ไปช่วยอาบน้ำคนแก่ในบ้านเขา ได้ค่าจ้างมาครั้งละ 20 ริงกิต (ประมาณเกือบๆ 200 บาท) ก็เก็บสะสมไว้จนได้ค่ารถบัสกลับ คนละ 150 ริงกิต รวมสองคนกับเพื่อนเป็น 300 ริงกิต เราต้มไข่กินกันทุกวัน ร้องไห้กันทุกวัน ไม่คิดว่าชีวิตจะเป็นแบบนี้ เจ้าของบ้านเช่าก็ไม่ปรานี เก็บค่าเช่าเต็ม" ปาตีเมาะ เล่าสถานการณ์ในช่วงที่ถูกกดดันจากทุกทาง
แต่การจะเดินทางกลับแผ่นดินเกิดในช่วงที่มีการปิดประเทศ ปิดด่านทั้งสองฝั่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย แต่แรงผลักดันเดียวที่ทำให้ต้องสู้ก็คือ...ลูก
"คิดแต่ว่าทำอย่างไรจะได้กลับบ้านมาหาลูก กระทั่งเพื่อนหารถบัสกลับได้ ตอนนั้นมาจ๊อบพาสปอร์ตก็ไม่ได้ เหมือนคนผิดกฎหมาย บางคนที่พาสปอร์ตหมดอายุหลายปี ถูกเก็บเงินค่ารสบัสเป็นพันริงกิต (หลักหมื่นบาท) พวกเก็บเงินหน้าเลือดมาก เราออกจากบ้านเช่าเมื่อ 22 เม.ย. เขาพาขึ้นรถไปที่เคแอล (กัวลาลัมเปอร์) ไปรวมตัวกันอยู่ที่ห้องที่เขาเช่าไว้ แยกชายหญิง อยู่รวมกัน 12 คน นอนขดกัน จนวันที่ 28 เม.ย. เขาพาขึ้นรถบัสมา 3 คัน คันละ 20 คน ให้ลงฝั่งตรงข้ามด่านสุไหงโกลก แล้วให้เราเอาตัวรอดเอง มีเจ้าหน้าที่กงสุลไปดักเพื่อไม่ให้หนี ดักได้ 8 คนรวมพวกเรา นอกนั้นหนีไปทั้งทางเรือกับทางบก"
การอยู่ในความดูแลของกงสุลทำให้ "ปาตีเมาะ" เข้าสู่กระบวนการกักตัวสังเกตอาการ และทำให้เธอได้รู้จัก local quarantine ที่เป็นการบริหารจัดการโดยท้องถิ่นจริงๆ ของ อบต.ตะลุโบะ
"กงสุลเช่าโรงแรมให้นอนหนึ่งคืน บอกว่าต้องถูกกักตัวที่นั่น 14 วัน แต่เราขอไปกักตัวใกล้บ้าน เช้ามืดวันที่ 29 เม.ย.พวกเราออกทางหลังโรงแรม นั่งมอเตอร์ไซค์แล้วจะไปนั่งเรือต่อ มีทหารไทยมาช่วย บอกว่าทหารไทยไม่หลอกลวง ปลอดภัยแน่นอน มีรถมารับไปส่งที่กงสุลไทยที่สุไหงโกลก จ่ายเงิน 800 บาท และมาส่งที่สนามกีฬา อบจ.ปัตตานี ทาง อบต.ตะลุโบะ ก็ไปรับมาเข้ากักตัวเมื่อเย็นวันที่ 29 เม.ย."
"เจ้าหน้าที่ดูแลดีมาก จิตใจเราดีขึ้นมากๆ โล่งอก ไม่คิดกลับไปทำงานที่นั่นอีกแล้ว แม้ตอนนี้ไม่มีเงินเลย หางานทำในบ้านเราดีกว่า ใช้จ่ายอย่างพอเพียง ประหยัดก็อยู่ได้ ลูกๆ บอกว่าไม่ต้องกลับไปแล้ว จะได้อยู่กับลูก"
"ปาตีเมาะ" เป็นมูอัลลัฟ (ผู้เข้ารับอิสลาม) มาเกือบ 20 ปี มีลูก 4 คน ลูกๆ แต่งงานไปแล้ว 2 คน อีก 2 คนยังอยู่กับเธอ แม้เธอเลิกกับสามีมากว่าสิบปี แต่ยังคงยืนหยัดอยู่ในอิสลาม
"เชื่อว่าอัลลอฮ์ช่วยเหลือให้ได้กลับมาบ้านอย่างปลอดภัย" เธอกล่าวด้วยศรัทธา
ผู้ที่ใช้บริการสถานที่กักตัวในระดับท้องถิ่น หรือ local quarantine ของ อบต.ตะลุโบะ อีก 2 คน คือ โมฮามัดยาตี ดาโอ๊ะ และ กะลีมอ เวาะเยาะ ซึ่งเป็นมารดา ทั้งคู่เข้ามาพักที่ศูนย์แห่งนี้เมื่อวันที่ 21 เม.ย. เนื่องจากเดินทางไปทำธุระที่ จ.นราธิวาส เมื่อกลับมาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว โดยทั้งคู่แยกกักคนละอาคาร
โมฮามัดยาตีบอก ว่า ศูนย์นี้สะอาด ที่พักสบาย เจ้าหน้าที่ดูแลดีมาก ทั้งเรื่องสุขภาพ อาหารการกิน และอื่นๆ ได้เพื่อนใหม่หลายคนที่เข้ามากักตัวด้วยกัน เขาและแม่พักครบ 14 วันแล้ว และออกจากศูนย์เมื่อวันที่ 6 พ.ค. โดยก่อนกลับทาง อบต.ตะลุโบะได้มอบถุงยังชีพ หน้ากากผ้า และเจลล้างมือเพื่อให้นำไปใช้ในช่วงที่อยู่บ้านอย่างเคร่งครัดอีก 14 วันด้วย
ด้านเจ้าของสถานที่ คือ อบต.ตะลุโบะ ที่มี นายอับดุลฮาลิม อีซอ นายกอบต.ดูแลอยู่นั้น ได้เตรียมความพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง มีอาคารห้องประชุมสำหรับผู้ชาย ส่วนผู้หญิงใช้ห้องเรียนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จัดข้าวของเครื่องใช้สำหรับอำนวยความสะดวกครบครัน
"เราลุ้นกันทุกวันว่าจะมีคนในตำบลเราติดโควิดหรือเปล่า ถ้ามีทาง อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) จะแจ้งมาจากสนามกีฬากลางให้ไปรับตัว บางวันมาเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่เตรียมรับมืออย่างเต็มที่ พร้อมตลอด เรามี อสม.ประจำ 2 คน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 คน ชรบ. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจะผลัดกันมาเข้าเวรดูแลตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน"
"เรารู้ว่าคนที่มาที่นี่คิดถึงบ้าน จึงจัดสถานที่ให้เหมือนหรือดีกว่ากักตัวอยู่บ้าน มีโทรทัศน์จอยักษ์ พัดลมส่วนตัว ที่นอน หมอน มุ้ง หลายคนบอกว่าสบายกว่าที่บ้าน เดือนถือศีลอดก็มีอาหารละศีลอดและอาหารช่วงก่อนเช้า สามารถรับได้เต็มที่ 30 คน หากมีมากกว่านั้น ก็ได้ขอใช้สถานที่ของโรงเรียนชุมชนบ้านตะลุโบะสำรองไว้แล้ว" นายก อบต.ตะลุโบะ กล่าว
เขายังบอกอีกว่า แม้มีงบประมาณเรื่องอาหารค่อนข้างจำกัด แต่ในเดือนถือศีลอดก็พี่น้องประชาชนนำอาหารและเครื่องดื่มมาบริจาคให้เจ้าหน้าที่และคนที่ถูกกักตัวให้ได้รับประทานโดยทั่วถึงกัน ส่วนศูนย์กักตัวแห่งนี้จะมีไปถึงเมื่อไหร่ยังบอกไม่ได้ ต้องรอรัฐบาลประกาศยกเลิก จะอีกกี่เดือนก็ต้องดูแลจัดการกันต่อไป
อีกหนึ่งฝ่ายที่มีส่วนรับผิดชอบอย่างแข็งขัน คือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นายหวันมูฮัมมัดรุสดี เจะอาแว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุขภาพตำบลตะลุโบะ บอกว่า ศูนย์กักตัวแต่ละศูนย์มีบริบทต่างกัน เงื่อนไขคือเครือข่ายให้ความร่วมมือแค่ไหน เราต้องแก้ปัญหาในแต่ละวันให้สมบูรณ์ ทุกอบต.ทำกันเต็มที่ เจ้าหน้าที่ทำงานกันไม่มีวันหยุด สลับเวรกันไป เครียดบ้าง แต่คนจะมาช่วงไหนต้องเตรียมพร้อมเสมอ
"ทุกวันจะมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาประจำ 2 คน ดูเรื่องการพยาบาล อาการไข้ วัดไข้ จ่ายยาเบื้องต้นหากมีอาการ ประเมินภาวะจิตเบื้องต้นด้วยแบบสอบถาม ให้เขามีความสุขเหมือนอยู่ที่บ้าน สอนให้วัดไข้เป็น มีปรอทวัดไข้ส่วนตัว ต้องส่งผลเช้า เที่ยง เย็น เฝ้าระวังไม่ให้มีอาการ มีกลุ่มไลน์เฉพาะบอกกล่าวกันได้ตลอดเวลา 2 ชั่วโมง"
ปัญหาหลักๆ ที่พบคือการถูกตั้งคำถามด้วยความไม่เข้าใจ...
"บางคนที่มาจากภูเก็ตบอกว่ากักตัวมาแล้ว 14 วัน ทำไมต้องมากักตัวอีก ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าในการเดินทางอาจมีการติดเชื้อมาได้ และเป็นมาตรการของผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีที่ต้องกักตัวทุกคนที่มาจากภูเก็ตที่เป็นพื้นที่เสี่ยง และจังหวัดอื่นๆ ที่เข้ามายังปัตตานี ศูนย์นี้มีคนทั้งที่มาจากมาเลเซีย ภูเก็ตและจังหวัดอื่นๆ" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุขภาพตำบลตะลุโบะ กล่าว
เขายังฝากถึงประชาชนทั่วไปให้ตระหนักว่า การอยู่บ้านคือดีที่สุด หากไม่มีเหตุจำเป็น ไม่ต้องออกไปไหน การล้างมือบ่อยๆ เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ต้องยอมรับและปรับตัวปรับใจ ให้เป็นภาวะปกติที่ต้องใส่หน้ากากและล้างมือ แล้วจะป้องกันโควิดได้
ด้วยเหตุปัจจัยการมีศูนย์กักกันสังเกตอาการในระดับท้องถิ่นที่มีคุณภาพเช่นนี้ ซึ่งต้องขยายต่อไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ผนวกกับความมีวินัยของผู้คน...เชื่อว่าประเทศไทยจะผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน!