เปิดมาตรการเข้มมหาดไทย คุมเปิดด่านรับคนไทยกลับบ้านแบบ "จำกัดจำนวน" ดีเดย์ 18 เม.ย.นี้ ป้องกันล้นศูนย์กักกัน
มาตรการรองรับการเปิดด่านชายแดน 23 ด่านใน 21 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.63 เพื่อรับคนไทยที่ตกค้างในประเทศเพื่อนบ้านกลับประเทศนั้น กระทรวงมหาดไทยได้มีมาตรการจำกัดจำนวนคนไทยที่จะเดินทางผ่านด่านพรมแดนทุกช่องทาง เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยให้ผ่านได้วันละ 100 คนต่อ 1 ช่องทางเท่านั้น เพื่อไมให้กระทบกับมาตรการกักกัน 14 วันเพื่อสังเกตอาการ หรือ quarantine เนื่องจากทุกคนที่ผ่านแดนเข้ามาต้องเข้ากระบวนการกักกัน หากอนุญาตให้เดินทางมากเกินไป อาจไม่มีสถานที่กักกันมากพอเพื่อรองรับ
ก่อนเดินทางข้ามแดน ทางกระทรวงการต่างประเทศโดยสถานทูตและสถานกงสุลประเทศต้นทาง จะต้องรายงานชื่อผู้เดินทางผ่านด่านพรมแดนต่างๆ มายังกระทรวงมหาดไทยก่อนล่วงหน้าเป็นเวลา 48 ชั่วโมง เมื่อถึงเวลาข้ามแดน ผู้เดินทางจะต้องมีใบรับรองแพทย์ fit to travel และใบรับรองจากสถานทูตหรือสถานกงสุลมาแสดง จากนั้นจะส่งไปกักตัวยังจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาต่อไป
ส่วนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเปิดด่านพรมแดน 5 ช่องทาง คือ ด่านวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล, ด่านตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล, ด่านสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา, ด่านเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และด่านสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยทั้ง 5 ด่านนี้ จำกัดผู้เดินทางเพียงวันละ 350 เท่านั้น (ตัวเลขรวมทั้ง 5 ด่าน) โดยด่านสะเดา กับด่านสุไหงโกลก เปิดรับคนไทยด่านละ 100 คนต่อวัน ส่วนอีก 3 ด่านที่เหลือ รับด่านละ 50 คน
เฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งมีพี่น้องมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ ยังมีการเตรียมการเพื่อรองรับประชาชนที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดด้วย โดยปีนี้จะมีการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ในวันที่ 23 เม.ย.ที่จะถึงนี้
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ก่อนถึงเดือนรอมฏอนช่วงไม่กี่วันนี้ น่าจะมีพี่น้องชาวปัตตานีเดินทางกลับจากมาเลเซียผ่านมาทางด่านเกาะหม้อแกง อ.เทพา จ.สงขลา และด่าน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จำนวนมาก ซึ่งจะมีการคัดกรองเบื้องต้นอย่างเข้มข้น หากใครเข้าข่ายต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 จะมีการส่งตัวไปยังศูนย์กักตัวทั้ง 125 แห่งตามแต่ละท้องที่ ซึ่งรองรับได้จำนวน 2,000 กว่าคน ปัจจุบันมีผู้เข้าพัก (กักตัว) แล้ว 900 กว่าคน
ขณะที่ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค ที่ 4 กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสภาพทางสังคมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อและต้องเฝ้าระวังเป็นจำนวนมาก เหตุนี้ทางหน่วยงานภาครัฐและฝ่ายความมั่นคงจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยางเข้มงวด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของพี่น้องประชาชนในพื้นที่พอสมควร แต่ก็ขอให้ทุกคนเข้าใจและร่วมมือกัน
ด้าน นายอิสมาแอ ดอเลาะ ลูกจ้างร้านต้มยำกุ้ง (ร้านอาหารไทยในมาลเซีย) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นผู้ตกค้าง ยังไม่ได้เดินทางกลับบ้านช่วงปิดประเทศ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อกำหนดเรื่องใบรับรองแพทย์ fit to travel สำหรับคนไทยในมาเลเซียที่ต้องการกลับบ้าน เพราะต้องมีค่าใช้จ่าย 60-70 ริงกิต (ประมาณ 600 บาท)
"เงินจะซื้ออาหารกินยังไม่มี แล้วจะมีค่าใบรับรองแพทย์ได้อย่างไร ที่สำคัญการเดินทางไปยังสถานพยาบาลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมาเลเซียมีมาตรการควบคุมการเดินทางที่เข้มงวด จึงขอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการนี้ด้วย" นายอิสมาแอ กล่าว
------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
แรงงานต้มยำเจอมาตรการรัฐ มึนโดนสกัดเข้าประเทศ ต้องนอนริมถนน
3,000 ลูกจ้างร้านต้มยำตกค้างในมาเลย์ วอนรัฐช่วย-อยากกลับบ้าน
ปิดด่านยาว...แรงงานต้มยำนับแสนกระอัก มท.2 เร่งหาทางช่วย
มท.2 ระดมสมองช่วยแรงงานต้มยำกุ้ง จ่อแจกเงินยังชีพ
จ่อเปิด 5 ด่านชายแดนใต้รับ 350 คนไทย/วัน เปิด 67 ศูนย์รอกักกัน