ท่ามกลางกระแสตื่นกลัวโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของมาเลเซีย ปรากฏว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข "ดับไฟใต้" ยังคงเดินหน้าต่อไป
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ครั้งที่ 2 ที่มาเลเซีย ระบุว่า คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ได้มีการพูดคุยครั้งที่ 2 กับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเชีย ระหว่างวันที่ 2-3 มี.ค.63 โดยมี ตันสรี อับดุลราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก
สำหรับบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มีการพูดคุยในเรื่องการประสานงานและการบริหารจัดการกระบวนการพูดคุย รวมทั้งได้ริเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อ "ประเด็นสารัตถะ" ในการสร้างสันติสุขและการลดความรุนแรง เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อกระบวนการพูดคุยฯ ซึ่งการพูดคุยประเด็นสารัตถะจะต้องอาศัยเวลา ความต่อเนื่อง และแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน
เอกสารข่าว ยังระบุในตอนท้ายว่า คณะพูดคุยฯจะยึดมั่นแนวทางสันติวิธี และใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทั้งสองฝ่ายจะพูดคุยรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ในโอกาสต่อไป
มีรายงานเพิ่มเติมว่า คณะพูดคุยที่เป็นตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น มากัน 7 คนเท่าเดิม นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หรือ "นายหีพนี มะเร๊ะ" ซึ่งตามประวัติเป็นชาว ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา เคยเป็นครูสอนศาสนาในพื้นที่ เป็นเจ้าของปอเนาะ และอิหม่ามประจำมัสยิดใน ต.อาซ่อง ปัจจุบันอายุ 53 ปี มีหมายจับคดีความมั่นคงเมื่อปี 47
มีรายงานว่า บรรยากาศการพูดคุยแม้จะเป็นไปด้วยดี แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่ยอมคุยลงลึกในประเด็นสารัตถะ คือแนวทางการลดความรุนแรงและการสร้างสันติสุข เช่น การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน แต่มุ่งหารือเรื่องการส่งตัวแทนเข้ามาทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อร่วมประชุมและรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างๆ โดยได้รับการงดเว้นไม่ถูกดำเนินคดีตามหมายจับเป็นการชั่วคราว หรือที่เรียกว่า immunity (อิมมิวนิตี้)
จากบรรยากาศการพูดคุยที่เน้นความสำคัญกันคนละประเด็น ทำให้คณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยเตรียมใช้กลไก "คณะทำงานเทคนิค" หรือ คณะพุดคุยฯชุดเล็ก มากขึ้น เพื่อหารือประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันให้ตกผลึกเสียก่อน จึงจะนัดคณะพูดคุยชุดใหญ่มาเคาะรอบสุดท้าย เพื่อทำข้อตกลงเป็นเรื่องๆ ไป แล้วตั้งคณะทำงาน หรืออนุกรรมการฯ สานงานต่อในเรื่องนั้นๆ
ส่วนความไม่แน่นอนทางการเมืองของมาเลเซีย ซึ่งเพิ่งมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจาก ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด เป็น ตันสรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน นั้น เบื้องต้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุย โดย ตันสรี อับดุลราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯ ให้คำมั่นว่ากระบวนการพูดคุยดับไฟใต้จะเดินหน้าต่อไป และจะนำความคืบหน้าเข้ารายงานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซียด้วย
---------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"พล.อ.วัลลภ" นำทีมเปิดโต๊ะพุดคุยตัวแทนบีอาร์เอ็นที่มาเลย์
คณะพูดคุยฯ ออกแถลงการณ์ร่วมถก "บีอาร์เอ็น"
เปิดตัว "อุสตาซหีพนี" หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายบีอาร์เอ็น
เปิดเส้นทางโต๊ะพูดคุยสันติสุขรอบใหม่ ใครเป็นใครในคณะ BRN