การเปิดโต๊ะพูดคุยกับ "ผู้แทนบีอาร์เอ็น" ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ม.ค.63 ถือเป็นการนับหนึ่งของกระบวนการสันติภาพอีกครั้งกับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐตัวจริงเสียงจริงในนาม "กลุ่มบีอาร์เอ็น"
เพราะ อุสตาซฮีฟนี หรือ อุสตาซหีพนี มะเร็ะ ที่ใช้ชื่อในมาเลเซียว่า Mr.Anas Abdulrahman ถือเป็น "ตัวจริง" คนหนึ่งที่แม้แต่ผู้ที่เคยผ่านงานชายแดนใต้ และไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ ยังยอมรับว่า "ใช่" และ "ถูกตัว"
ย้อนดูประวัติ นอกเหนือจากที่ "ทีมข่าวอิศรา" เคยนำเสนอไปแล้ว (อ่านประกอบ : เปิดตัว "อุสตาซหีพนี" หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายบีอาร์เอ็น) เขายังเคยมีรางวัลนำจับสูงถึง 2 ล้านบาท เรียกว่าอยู่ในลำดับต้นๆ ของแกนนำผู้ก่อเหตุรุนแรง และมากกว่า นายดูนเลาะ แวมะนอ ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้นำบีอาร์เอ็นคนปัจจุบันเสียอีก (รางวัลนำจับถูกยกเลิกทั้งหมดในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์)
คณะบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็น "ผู้แทนบีอาร์เอ็น" ที่ร่วมโต๊ะกับคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย ที่นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ นั้น มีด้วยกัน 7 คน และได้รับการยืนยันสถานะว่ามาจากขบวนการบีอาร์เอ็นทั้งหมด ไม่มีสมาชิกหรือแกนนำกลุ่ม "มารา ปาตานี" ที่ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลชุดที่แล้ว (คณะพูดคุยฯชุด พล.อ.อักษรา เกิดผล และ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์) รวมอยู่ด้วยเลย
ข้อมูลผู้ร่วมโต๊ะพูดคุย 7 คนที่รายงานโดยหน่วยงานความมั่นคงต่างหน่วย แม้จะยังแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ตัวบุคคลน่าจะไม่ผิด โดยข้อมูลชุดแรก ประกอบด้วย
1. Mr.Anas Abdulrahmah หรือ อุสตาซหีพนี มะเร๊ะ
2. Mr.Abdul Karim Khalid หรือนายรอมลี แบเลาะ
3. Mr.Chey Muda Cheteh หรือ นายเจ๊ะมูดอ เจ๊ะเต๊ะ
4. Mr.Abdul Aziz Kbal
5. Mr.Muhamad Symsu
6. Mr.Khalli Abdullah
7. Mr.Hanif Abdul Majid หรือ นายมูหมัดคานาฟี ดอเลาะ
ข้อมูลชุดที่ 2 ใกล้เคียงกับชุดแรก แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว...
1. Mr.Anas Abdulrahmah หรือ Paksu Hipni คือ นายหีพนี มะเร๊ะ หัวหน้าคณะ
2. Utz. Hanafi หรือ อุสตาซฮานาฟี หรือ นายมูหมัดคานาฟี ดอเลาะ หรืออิหม่ามบันนังสตา
3. Acan Wahid หรือ อาจารย์วาเหะ หรือ นายวาเหะ หะยีอาแซ
4. Utz. Abdul Raman Palawi หรือ อุสตาซอับดุลเราะห์มาน ปาลาวี หรือ อุสตาซแม ปาลาวี คาดว่าเป็นคนเดียวกับที่ใช้นามแฝงว่า Khalid Abdullah
5. Chik Muda Chekteh หรือ นายเจ๊ะมูดอ เจ๊ะเต๊ะ หรือ นายเจ๊ะมูดอ มะรือสะ จากสวีเดน
6. Utz. Murad หรือ อุสตาซมูระ สาวอ หรือ นายอำหมัดมูริส ลาเต๊ะ คาดว่าเป็นคนเดียวกับที่ใช้นามแฝงว่า Abdul Aziz Jabal
7. Utz. Mat Bong หรือ อุสตาซมะบง หรือ Mat Zainon หรือ มะ ไซนุง หรือ อุสตาซมะ คาดว่าเป็นคนเดียวกับที่ใช้นามแฝงว่า Muhamad Syamsu
ข้อมูลหลายชุดมีสาเหตุมาจากการใช้นามแฝง และการที่บีอาร์เอ็นมีสถานะเป็น "องค์กรลับ" ฉะนั้นข้อมูลจึงต้องถูกนำมาพิสูจน์ทราบ
นอกจากนั้น บีอาร์เอ็นยังออกแถลงการณ์ความยาว 1 หน้ากระดาษ แปลเป็นภาษาไทยแบบสรุปสาระสำคัญได้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยได้ผ่านกระบวนการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหาจุดร่วมในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจุดยืนร่วมกันคือการแก้ปัญหาผ่านวิถีทางทางการเมือง ซึ่งก็คือกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้ใช้เวลาหลายปีในการจัดทํา "กรอบการพูดคุย" หรือ Framework และจัดทํา "กติกาของการทํางานร่วมกัน" หรือ Terms of References หรือ TOR เป็นกรอบและกติกาในการพูดคุย
หลักการสําคัญคือความจริงใจและความซื่อสัตย์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสง่างาม มีศักดิ์ศรี ให้เกียรติกัน และมุ่งสร้างความยั่งยืน
การประชุมร่วมกันเมื่อวันจันทร์ที่ 20 ม.ค.63 ถือเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ครั้งแรกระหว่าง 2 ฝ่าย โดยมี ตันสรี อับดุลราฮิม โมฮัมหมัด นอร์ (อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของมาเลเซีย) ทําหน้าที่เป็นผู้อํานวยความสะดวก มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ร่วมกันที่ให้สานต่อมาตรการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะกับการพูดคุยที่ได้ตกลงกันมาก่อนหน้าน้ี
โดยที่ประชุมมีข้อตกลงร่วมกัน คือ
1. การพูดคุยระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย เป็นผลของการทําข้อตกลงร่วมกัน 2 ฝ่ายที่สอดคล้องกับสาระในกรอบการพูดคุยและ TOR ที่ได้ทํากันไปแล้ว
2. ทั้งสองฝ่ายจะยึดมั่นกับกรอบการพูดคุย และ TOR เป็นหลักการพื้นฐานเบื้องต้นของการพูดคุยอย่างเป็นทางการ
3. ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันให้มาเลเซียเป็นผู้อํานวยความสะดวก
และ 4. กระบวนการพูดคุยครั้งนี้มีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศร่วมด้วย
ขณะเดียวกัน Mr.Anas Abdulrahman หรือ นายหีพนี มะเร๊ะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้แถลงผ่านโทรทัศน์ช่อง Astro Awani ระบุว่า กระบวนการพูดคุยระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยได้ผ่านการวางแผนที่เป็นระบบ และมีรายละเอียดมากมายที่ผ่านการสร้างความเชื่อมั่นมาก่อนหน้านี้ แม้สังคมทั่วไปจะไม่ได้รับรู้ว่า บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยขับเคลื่อนและแสวงหาทางออกของความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เคยหยุดก็ตาม แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วทั้ง 2 ฝ่ายได้วางกรอบการ พูดคุยฯ และจัดทํากติกาของการทํางานร่วมกันเพื่อหาจุดร่วมและหาทางออกของปัญหา เพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง จึงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ทุกกลุ่ม
นายหีพนี ย้ำว่า บีอาร์เอ็นจะไม่เพียงแต่นําปัญหาของกลุ่มเดียวมาพูดคุย แต่จะนําปัญหาและความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มมาหารือกันบนโต๊ะพูดคุยต่อไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวเปิดตัวเป็นคณะพูดคุยฯของตัวแทนบีอาร์เอ็น กลับไม่ได้รับการยอมรับจากภาคประชาสังคมบางส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง สิทธิในการกำหนดใจตนเอง หรือ Right to Self Determination อย่างกลุ่ม The Patani ที่นิยามตัวเองว่าเป็นกลุ่มปฏิบัติการทางการเมือง โดยมีการออกแถลงการณ์ตั้งข้อสงสัยว่า ตัวแทนบีอาร์เอ็นที่ร่วมโต๊ะพูดคุยจะยังคงรักษาเจตจำนงสูงสุดในการเจรจาทางการเมือง ด้วยการเรียกร้องให้คืนสิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคตตนเองให้กับชาวปาตานีอยู่หรือไม่ เพราะเรื่่องนี้ไม่ได้ถูกรับรองให้เป็นวาระแห่งชาติโดยกระบวนการทางรัฐสภา ทั้งยังเห็นว่ากระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นยังไม่ได้เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้กับประชาชนชาวปาตานีเจ้าของชะตากรรมอย่างแท้จริง
จากความเคลื่อนไหวทั้งหมดตลอดเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการเปิดโต๊ะพูดคุยฯรอบใหม่กับบีอาร์เอ็น มีข่าวว่า พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย ได้นัดให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก ในวันศุกร์ที่ 31 ม.ค.63 ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล
เนื้อหาสาระจะเป็นอย่างไร...ต้องอดใจรอรับฟัง!
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : คณะผู้แทนบีอาร์เอ็น นั่งเรียงกัน 7 คน (ทางซ้ายมือของภาพ)
อ่านประกอบ :