จากกรณีที่มีกระแสวิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันการณ์ จนทำให้มีผู้ประสบภัยตกค้างและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงวันสองวันแรกของเหตุการณ์ บางส่วนมีการโจมตีการบริหารงานของรัฐบาล จนทำให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาตอบโต้ว่าเป็นการ “ปั่นกระแสโซเชียลฯของคนที่อยู่ที่บ้าน ไม่ได้ลงพื้นที่จริง” นั้น
วันที่ 30 พ.ย.67 “ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามไปยัง “เครือข่ายจิตอาสาในพื้นที่ชายแดนใต้” ซึ่งมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ และชมรม ตลอดจนมูลนิธิต่างๆ ขอทราบปัญหาการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทักภัย ว่ามีปัญหาจริงๆ ตามที่มีกระแสวิจารณ์ตามสื่อสังคมออนไลน์ หรือเป็นแค่การ “ปั่นข่าวโจมตีรัฐบาล” ตามที่รองนายกฯภูมิธรรม บอกเอาไว้
แหล่งข่าวซึ่งเป็น “จิตอาสาในพื้นที่” บอกว่า เรื่องจริงจากในพื้นที่ตรงตามที่เป็นข่าวในสื่อโซเชียลฯทุกประการ และถามความรู้สึกของคนที่เป็น “จิตอาสา” ทุกคนบอกตรงกันว่า ข่าวที่ออกไป ยังน้อยกว่าความจริงที่เกิดเสียอีก
@@ 5 ปัญหาเสียงด่าระงม คลี่ปมช่วยน้ำท่วมช้าไม่ได้ปั่น
ปัญหาที่เครือข่าย “จิตอาสา” พบและเป็นสาเหตุให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือล่าช้า จนกลายเป็นเสียงวิจารณ์ มีดังนี้
1. “จิตอาสา” มีแต่แรง กำลังคน และกำลังใจ แต่ไม่มีอุปกรณ์พร้อมเหมือนหน่วยงานรัฐ เช่น ปภ. หรือทหาร โดยเฉพาะเรือ และรถยกสูง หรือรถหกล้อ สิบล้อ จึงไม่สามารถเข้าพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนได้เต็มที่
แต่ปรากฏว่าในวันแรกๆ ของเหตุการณ์ กลับแทบไม่พบเรือ หรือรถบรรทุกของทางราชการออกช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หลายพื้นที่ใช้เวลาหลายวันกว่าความช่วยเหลือจะเข้าถึง
ยกตัวอย่าง เคสร้องขอความช่วยเหลือประชาชนในชุมชน “หน้าถ้ำ” อ.เมืองยะลา พื้นที่นี้เริ่มมีน้ำท่วมวันที่ 26 พ.ย. มีการแจ้งหน่วยงานรัฐช่วงเช้าของวันที่ 27 พ.ย. แต่กว่าจะได้รับความช่วยเหลือ คือช่วงค่ำของวันที่ 29 พ.ย. ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 30 พ.ย. ซึ่งประชาชนในชุมชนก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงได้รับความช่วยเหลือล่าช้าขนาดนี้
2.ประสบการณ์จาก “จิตอาสา” เมื่อรับเคสร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากพี่น้องประชาชน
- โทรแจ้งสายด่วน 1880 ของ ศอ.บต. ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่รับเคสไป แต่เมื่อรับไปแล้ว ประชาชนแจ้งกลับมาที่จิตอาสาว่า ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ จิตอาสาจึงโทรกลับไปสอบถาม
- เจ้าหน้าที่สายด่วนแจ้งว่า ตามขั้นตอน เวลารับเคส ต้องแจ้งไปยังศูนย์บัญชาการของจังหวัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน
- จากนั้น “จิตอาสา” จึงเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งสายด่วน 1880 เพราะถึงอย่างไรก็ต้องส่งต่อเคสให้จังหวัดอยู่ดี จึงโทรแจ้งศูนย์บัญชาการระดับจังหวัดโดยตรง
- เมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนกลุ่มเดิมก็แจ้งกลับมาว่า ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออยู่ดี
- จิตอาสาจึงสอบถามไปยังศูนย์บัญชาการระดับจังหวัด ได้รับแจ้งว่า ได้ส่งต่อข้อมูลเคสร้องเรียนไปยังอำเภอของผู้ร้องเรียนแล้ว
- จิตอาสาจึงสอบถามไปยังนายอำเภอตามที่ทางจังหวัดแจ้ง นายอำเภอบอกว่า ได้ส่งต่อเคสไปที่เทศบาล หรือ อบต.แล้ว
- จิตอาสาจึงสอบถามไปยังเทศบาล และ อบต. ได้ข้อมูลว่า รับแจ้งจากนายอำเภอมาจริง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งงบประมาณและอุปกรณ์ จึงต้องช่วยตามมีตามเกิด หลายเทศบาล หลาย อบต.ไม่มีเรือยนต์ ไม่สามารถฝ่ากระแสน้ำเข้าพื้นที่ได้
3.ห้วงเวลา 2-3 วันแรกที่น้ำท่วมหนัก มีเสียงถามกันระงมว่า เรือหายไปไหนหมด รถยกสูง รถบรรทุกเพื่ออพยพผู้ประสบภัย หายไปไหนหมด คือมีแต่คนร้องขอความช่วยเหลือเยอะมาก แต่แทบไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าพื้นที่ไปช่วยเลย
**แต่เมื่อสอบถามไปยังหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ได้รับคำตอบสองแบบ คือ
หนึ่ง ทำเต็มที่แล้ว
สอง หน่วยงานรัฐเองก็โดนน้ำท่วม แทบเอาตัวไม่รอด ชาวบ้านคงต้องช่วยตัวเองก่อน (เป็นคำตอบจากโฆษกหน่วยทหารหน่วยหนึ่งในพื้นที่)
4.จิตอาสาลงความเห็นร่วมกันว่า หน่วยงานรัฐทำงานแบบ “รูทีน” จึงไม่เท่าทันกับสถานการณ์พิเศษ ซึ่งปีนี้ ฝนตกหนักและต่อเนื่อง น้ำมาก น้ำเชี่ยว และท่วมเร็วมาก ทำให้การช่วยเหลือไม่ทันท่วงที
- หน่วยงานรัฐไม่มีศูนย์ประสานงานกลางระดับสามจังหวัดในภาพรวม
- ไม่มีการตั้งหน่วยเคลื่อนที่ เพื่อไปรับมือจุดที่มีสถานการณ์รุนแรง เรียงตามลำดับความสำคัญ
- ไม่มีการบูรณาการ “คน-งบ-อุปกรณ์” เพื่อระดมความช่วยเหลือตามความสำคัญ และความรุนแรงของปัญหา
- การทำงานของแต่ละหน่วยมีลักษณะต่างคนต่างทำ เน้นแจกของ ถ่ายรูป
- ไม่มีผู้มีอำนาจเต็มสั่งดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ
5.จิตอาสาจากนอกพื้นที่ที่ลงไปช่วยประชาชน โดยเฉพาะ “จิตอาสาเซเลบ” บางส่วนมุ่งทำคอนเทนต์ แต่ไม่ได้ประสานกับฝ่ายรัฐ และไม่มีการแจ้งคนในพื้นที่ ทำให้เข้าพื้นที่ไม่ถูก หลงทาง ล่าช้า และไม่ทราบว่าควรไปที่ไหนก่อน-หลัง คือไปตามที่รับแจ้ง และเคสที่เดือดร้อนเข้ามาถึงตนเท่านั้น ทำให้การช่วยเหลือสะเปะสะปะ แม้จะมีความตั้่งใจดีก็ตาม
@@ ทหารก็ไม่รอด! เปิดภาพค่ายน้ำทะลัก ต้นเหตุช่วยชาวบ้านช้า?
สำหรับหน่วยทหารที่มีภาพถูกน้ำท่วมจริงๆ จนเป็นสาเหตุให้ นายทหารระดับ “โฆษกใหญ่ของหน่วย” หลุดปากออกมาว่า “ทหารยังเอาตัวไม่รอด ชาวบ้านต้องช่วยตัวเองก่อน” ในวันแรกๆ ที่เกิดอุทกภัยใหญ่ภาคใต้นั้น ประกอบด้วย
- กรมทหารพรานที่ 41 ตั้งอยู่ที่ค่ายวังพญา อ.รามัน จ.ยะลา ถูกน้ำท่วมจริง
- ค่ายสิรินธร ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นที่ตั้งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
แม้จะอยู่ปัตตานี แต่จุดที่ตั้งค่าย อยู่ติดกับ อ.เมืองยะลา จึงโดนน้ำท่วม
แต่ปริมาณน้ำไม่ได้สูงถึงระดับมิดหลังคา หรือท่วมมิดรถยีเอ็มซี (รถบรรทุกทหาร) จนออกช่วยเหลือประชาชนไม่ได้ และหน่วยทหารยังมีอีกหลายหน่วย แต่วันแรกๆ ขยับออกมาช่วยเหลือช้า ทำให้โดนเสียงวิจารณ์ แต่วันหลังๆ เริ่มดีขึ้น หลังจาก “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่และ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก ลงมาสั่งการเอง
จากข้อมูลการช่วยเหลือของหน่วยทหารในพื้นที่ จะเห็นว่ามีทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจที่ขึ้นต้นด้วยเลข 4 ของกองทัพภาคที่ 4 สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อีกหลายหน่วย ยกเว้นกรมทหารพรานที่ 41 ซึ่งถูกน้ำท่วมจริงๆ เท่านั้น แต่วันแรกๆ กลับมีกำลังพลออกมาช่วยประชาชนน้อย จนเกิดเสียงวิจารณ์
@@ “ทวี” งดภารกิจเชียงราย ฝ่ามวลน้ำ – ปรุงอาหาร ลุยแจกถึงบ้านผู้ประสบภัย
วันเสาร์ที่ 30 พ.ย.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ยกเลิกภารกิจที่จังหวัดเชียงรายตามที่วางแผนไว้เดิม หลังการประชุม ครม.สัญจร โดยบินด่วนลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบอุทกภัยอย่างหนัก
พ.ต.อ.ทวี ใช้กลไกของกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่ และ สส.ของพรรคประชาชาติที่มีถึง 7 คน จาก 13 เขตเลือกตั้ง รวมถึงอดีตผู้สมัคร สส.ของพรรค แม้จะสอบตก แต่ก็ยังทำงานให้พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเครือข่ายของพรรคประชาชาติ และประชาชนจิตอาสา กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ ซึ่งทำงานร่วมกับ “เครือเนชั่น” และ “ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา” ด้วย
จุดแรก พ.ต.อ.ทวี ไปที่มณฑลทหารบกที่ 42 (ค่ายเสนาณรงค์) ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นำโดย พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 และนายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที เบื้องต้นได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นการด่วน ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมอาจจะมีการย้ายผู้ต้องขังในเรือนจำที่ได้รับผลกระทบด้วย
จุดที่ 2 พ.ต.อ.ทวี เดินทางไป จ.ยะลา เพื่อมอบอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนตามจุดต่างๆ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย บรรเทาภัยน้ำท่วม กระทรวงยุติธรรม, มูลนิธิตุ้ยบ๋วยเต็งเนี่ยง ศาลเจ้าแม่ทับทิมยะลา, วัดพุทธภูมิ พระอารามหลวง, ศูนย์เยาวชน จังหวัดยะลา, ศูนย์ช่วยเหลือฯ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว รวมทั้ง มัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา ซึ่งจัดตั้งเป็นศูนย์อพยพฯ
โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ หรือ “นายกอ๋า” นายกเทศมนตรีนครยะลา, นายสุไลมาน บือแนปีแน สส.ยะลา พรรคประชาชาติ ให้การต้อนรับ และเดินทางลงพื้นที่ด้วยกัน เพื่อให้กำลังใจพี่น้องประชาชน มีการร่วมประกอบอาหารใน “โรงครัวเคลื่อนที่” ที่ตั้งขึ้น เพื่อแจกจ่ายพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยด้วย
สำหรับอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง มีประชาชนได้รับผลกระทบแล้วกว่า 322,000 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 9 ราย โดยภาครัฐมีศูนย์บัญชาการอยู่ทั้งหมดใน 16 อำเภอ มีศูนย์อพยพ 72 แห่ง มีสรรพกำลังจิตอาสา และทหาร เข้าช่วยเหลือประชาชนจัดไว้เบื้องต้นจำนวน 76 กองร้อย
อนึ่ง คณะที่ลงพื้นที่พร้อมกับ พ.ต.อ.ทวี ประกอบด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม, พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ, นายรวิศ สอดส่อง หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะ สส.พรรคประชาชาติ ประกอบด้วย นายซูการ์โน มะทา เลขาธิการพรรคประชาชาติ และ สส. ยะลา, นายอับดุลอายี สาแม็ง สส.ยะลา
@@ “ยะลา-ตานี” เตรียมรับ! เขื่อนบางลางปล่อยน้ำลดเสี่ยง-ท่วมนานกว่าเดิม
เมื่อเวลาเวลา 16.00 น.ของวันที่ 30 พ.ย.67 มติที่ประชุมหน่วยรับผิดชอบเขื่อนบางลาง จ.ยะลา พิจารณาเห็นควรให้เขื่อนบางลางปล่อยการระบายน้ำ เนื่องจากเขื่อนบางลางงดการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.67 เป็นต้นมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทุกภัย
แต่ปัจจุบันระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อนได้ คณะทำงานฯ จึงเห็นควรให้มีการเริ่มระบายน้ำ ดังนี้
วันที่ 1 ธ.ค.67 เวลา 01.00 น. ระบายน้ำ 12 ล้าน ลบ.ม.(138.89 ลบ.ม./วินาที)
วันที่ 1 ธ.ค.67 เวลา 12.00 น. ระบายน้ำ 14 ล้าน ลบ.ม.(162.04 ลบ.ม./วินาที)
วันที่ 2 ธ.ค.67 เวลา 00.00 น. ระบายน้ำ 16 ล้าน ลบ.ม. (185.18 ลบ.ม./วินาที)
ทั้งนี้ ให้เขื่อนบางลางควบคุมการระบายน้ำที่ สถานี X.40A ไม่เกิน 1400 ลบ.มต่อวินาที ซึ่งไม่ส่งผลกระทบกับการเพิ่มระดับน้ำด้านท้ายน้ำ เพียงแต่จะทำให้ระยะเวลาการท่วมยาวนานมากขึ้น และให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานีได้รับทราบและเตรียมความพร้อมในทุกมิติ