เข้าสู่ไตรมาสุดท้ายของปี 2567 การเมืองท้องถิ่นกำลังจะมีการขยับครั้งใหญ่
นั่นก็คือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. หรือ ส.อบจ. กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ และต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน คือ ไม่เกินวันที่ 3 ก.พ.68
ล่าสุด กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.68 พร้อมกันทั่วประเทศ
แต่มีนายก อบจ.ชิงลาออกก่อนครบวาระ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่แยกต่างหาก นัยว่าเพื่อหนีกระแสการเมืองระดับประเทศ พูดตรงๆ คือ “หนีกระแสสีส้ม” และยังเป็นการเล่นเกมเตะตัดขา ไม่ให้คู่แข่งเตรียมตัวได้ทัน
ที่ผ่านมามีนายก อบจ.ลาออก และเลือกตั้งใหม่ไปแล้ว 14 จังหวัด เฉพาะเดือน พ.ย.จะเลือกอีก 6 จังหวัด รวมเป็น 20 จังหวัด ข่าวแว่วว่ายังมีนายก อบจ.เตรียมลาออกก่อนครบวาระ 20 ธ.ค.อีกหลายคน
หลายพื้นที่พี่น้องประชาชนไม่ค่อยพอใจที่มีนายก อบจ.ลาออก เพราะต้องจัดเลือกตั้ง 2 ครั้ง สิ้นเปลืองงบประมาณ แต่นายก อบจ.หลายคนก็ห่วงอนาคตตัวเองมากกว่าอนาคตพื้นที่ จึงลาออกแบบไม่สนกระแสใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็อาศัยความได้เปรียบ ชนะเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่อีกครั้ง
บางจังหวัดลงสมัครคนเดียวแบบไม่มีคู่แข่งเสียด้วยซ้ำ!
ยังดีที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีนายก อบจ. ลาออกก่อนครบวาระ แม้แต่ เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานี ที่มีข่าวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับตัวเขาเมื่อไม่นานมานี้
นั่นคือข่าวถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเรื่องการนำรถของทางราชการไปใช้ส่วนตัว
อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ชี้มูล “นายกเศรษฐ์” ปมนำรถราชการใช้ส่วนตัว-จัดทัวร์ท่องเที่ยว!
อ่านประกอบ : คนใกล้ชิด “นายกเศรษฐ์” แจงข่าวถูก ป.ป.ช.ชี้มูล “แค่เข้าใจผิด”
หลายคนจึงคาดการณ์ว่า นายกเศรษฐ์ อาจจะหลบกระแส เว้นวรรค ไม่ลงชิงตำแหน่งนายก อบจ.อีกรอบ จากที่นั่งต่อเนื่องมาแล้วถึง 4 สมัย แล้วส่งทายาทลงสมัครแทน หรือหากตัวเองจะลุ้นต่อ ก็น่าจะชิงลาออก เพื่อฉวยชิงความได้เปรียบทางการเมือง
แต่ นายกเศรษฐ ก็ไม่ทำ แถมยังยืนยันกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า จะลงสู้ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ต่อไปตามวาระปกติ ส่วนเรื่องข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ตนเคลียร์ไปหมดแล้ว
“เรื่องข้อกล่าวหา เป็นความเข้าใจผิด ทาง ป.ป.ช.ได้รับข้อมูลกล่าวหาด้านเดียวจากคนที่เป็นปฏิปักษ์ และแทบจะไม่ได้ทำงานอยู่ที่ อบจ.ปัตตานีเลย ปัจจุบันก็ไม่ได้อยู่ แต่กลับทำเรื่องร้องเรียนไปโดยไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริง”
“นายกได้ส่งเอกสารหลักฐานชี้แจง และแจ้งพยานบุคคลเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช. รวมถึงทางจังหวัดในฐานะผู้บังคับบัญชา ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และ ก.อบจ. (คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด) เชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม”
“ประกอบกับที่ผ่านมาไม่ได้มีการสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ฉะนั้นเรื่องคดีก็สู้กันต่อไป ส่วนเรื่องคุณสมบัติของการเลือกตั้ง ผมก็ยังสามารถลงสมัครได้ และประชาชนยังต้องการ ก็เลยตัดสินใจว่าจะลงสมัครอีกครั้งในรอบหน้า เป็นสมัยที่ 5” เป็นคำยืนยันจากนายกเศรษฐ์
@@ ต่อยอดงานสุขภาพ “เด็กเกิดใหม่ - คนวัยเกษียณ”
การดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ต่อเนื่องมาถึง 4 สมัย บางสมัยก็ยาวกว่า 4 ปี จึงไม่น่าจะมีความท้าทายใดๆ สำหรับการบริหารท้องถิ่นระดับ อบจ.อีกแล้ว
หลายคนยังเชื่อว่า ด้วยศักยภาพระดับ “บ้านใหญ่” ของนายกเศรษฐ์ เขาน่าจะขยับไปเล่นการเมืองระดับชาติเลยด้วยซ้ำ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความใกล้ชิดกับพรรคประชาชาติอยู่เช่นกัน
แต่ นายกเศรษฐ์ ยังยืนยันทำงานในระดับ อบจ.ต่อไป นอกจากเหตุผลเรื่องความผูกพันกับพี่น้องปัตตานีแล้ว เขายังมีงานด้าน “พัฒนาคุณภาพชีวิต” ที่ต้องการสานต่อ โดยเฉพาะเด็ก ทั้งเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน เยาวชน และคนวัยเกษียณ วัยชรา
“สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้เน้นหนักเรื่องของการดูแลคุณภาพชีวิตให้ประชาชน และเรื่องคุณภาพของสังคม เช่น เรารับโอน รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) มา 130 แห่ง ทำให้เห็นปัญหาเรื่องสุขภาพเด็ก เรื่องวัคซีน และเห็นปัญหาสุขภาพของคนมีอายุ ทั้งเบาหวาน ความดัน รวมไปถึงผู้ป่วยติดเตียง”
การถ่ายโอน รพ.สพ.ให้กับ อบจ. เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 ต.ค.64 นับถึงวันนี้ก็ราวๆ 3 ปีเต็มแล้ว
ท้องถิ่นหลายแห่งที่รับโอนงานมาจากหน่วยราชการส่วนกลาง พบปัญหาหลากหลาย โดยเฉพาะการโอนแต่ภารกิจ ไม่โอนคนและบุคลากร หรือโอนทั้งภารกิจ และบุคลากร แต่ไม่โอนงบให้ กลายเป็นภาระที่ท้องถิ่นต้องแบกรับ
แต่สำหรับ อบจ.ปัตตานี นายกเศรษฐ์ มองเรื่องนี้เป็นโอกาส เพราะให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของพี่น้องประชาชน
“ยุทธศาสตร์งานด้านอื่น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้ง อบจ.และหน่วยราชการต่างๆ ได้ทำไปเยอะแล้ว เราจะเห็นว่าความต้องการของชาวบ้านเริ่มลดลงแล้ว เพราะเริ่มจะสะดวกสบายเรื่องการคมนาคมขนส่ง สามารถนำผลผลิตในพื้นที่ออกสู่ท้องตลาดได้มากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และหนักขึ้นเรื่อยๆ คือ เรื่องของสุขภาพ และเรื่องของการศึกษา” นายกเศรษฐ์ อธิบาย
พื้นที่ชายแดนใต้นับเป็น “พื้นที่พิเศษ” แตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ เพราะท้องถิ่นอื่นจะเผชิญปัญหาหนักจากภาวะ “สังคมผู้สูงอายุ” คือคนแก่มาก เด็กมีน้อย โดยเฉพาะเด็กเกิดใหม่ เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำ
แต่ดินแดนปลายด้ามขวาน ซึ่งมีพี่น้องประชาชนนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ยังเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนวัยเด็กมาก และคนชราก็มากด้วย รวมถึงผู้ป่วยติดเตียงก็มีไม่น้อย
วิธีการที่ใช้รับมือปัญหาสองด้าน โดยเฉพาะฝั่งผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ก็คือ การใชัเงินกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่เปิดโอกาสให้ อบจ.ทำภารกิจฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ จึงสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนหนึ่ง สมทบกับเงินงบประมาณของ อบจ. เพื่อดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง โดยเน้นงาน “ฟื้นฟูสมรรถภาพ” และสนับสนุน “เครื่องช่วยกายอุปกรณ์”
“อบจ.เราจึงมีงบไปดูแลคนชราและผู้ป่วยติดเตียง ไม่ใช่แค่ไปเยี่ยมเหมือนเก่า แต่ไปฟื้นฟูสรรถภาพ งานตรงนี้ถือว่าสำคัญ และนายกก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง จึงอยากสานต่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่”
@@ ค้นหาเด็ก 1.2 หมื่นคน หายจากระบบการศึกษา
อีกเรื่องที่ นายกเศรษฐ์ มองเห็นปัญหา ซึ่งเชื่อมโยงกับความมั่นคงด้วย ก็คือเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา
“ตัวเลขถือว่าน่าตกใจ เราพบว่ามีเด็กหายไปจากระบบประมาณ 18,000 คน ไปอยู่ตรงไหน เราก็มีการสำรวจแล้วก็เจอประมาณ 6,000 คน รู้แล้วว่าเขาอยู่ตรงไหน แล้วเด็กเหล่านี้ที่ทำให้เขาอยู่นอกระบบด้วยปัจจัยเรื่องของเศรษฐกิจ พ่อแม่ยากจน บางทีเป็นปัญหาของสังคม ซึ่งเขาต้องไปดูผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ พ่อแม่ต้องออกไปทำมาหากิน ทำให้ลูก..แทนที่จะได้ไปเรียน แต่ต้องมาเฝ้าดูแลปู่ย่าตายายที่นอนติดเตียงอยู่ทีบ้าน”
นายกเศรษฐ์ บอกว่า เด็ก 6,000 คนนี้ เราหาเจอแล้ว แต่ยังมีที่ยังหาไม่เจออีก 12,000 คน จึงต้องการสานต่องานให้ประสบความสำเร็จ
อีกหนึ่งปัญหาที่หากไม่ได้ลงไปคลุกกับงานจริงๆ ก็คงจะไม่ได้รับรู้ ก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับสายตาของเด็ก
“เรามีการคัดกรอง 1,000 คน เจอเด็กที่มีปัญหาทางสายตา 236 คน เราก็ต้องตัดแว่นสายตาให้เด็กเหล่านี้ และนี่คือกลุ่มเสี่ยงที่จะตกหล่นจากระบบการศึกษา ปัญหาใหม่ๆ ที่พบเหล่านี้ทำให้ผมสนใจ ก็เลยอยากทำต่อให้ชัดเจน”
@@ กระจายอำนาจ...อย่าแค่ลมปากหาเสียง
ส่วนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ นายกเศรษฐ์ บอกว่า มีความสัมพันธ์กับมิติของความมั่นคง ในฐานะที่เป็นหนึ่งในองค์กรที่รับผิดชอบงานพัฒนา ก็ทราบดีว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะทำให้การพัฒนาหยุดชะงักลง
“ระยะหลังสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เราก็ต้องเร่งการฟื้นฟู เร่งพัฒนา เราต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมาเราหยุดชะงักไป เชื่อว่าทุกองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ ถ้ามีงบประมาณจะขับเคลื่อนไปได้เร็ว” นายก อบจ.ปัตตานี ระบุ
วงจรปัญหาที่เป็นอุปสรรคการทำงานของท้องถิ่น ซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด ยังหนีไม่พ้นเรื่องงบประมาณ ซึ่งตลอดเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านยัง รัฐบาลกลางยังไม่เคยกระจายงบให้ท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจได้เลย รัฐบาลปัจจุบันก็เช่นกัน ทั้งๆ ที่ความสำคัญของท้องถิ่นถูกพิสูจน์แล้ว โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ประเทศเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด “โควิด-19”
วงจรปัญหาเดิมๆ นี้ทำให้ นายกเศรษฐ์ ฝากทิ้งท้ายไปถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลและรัฐสภา
“ทุกคนยอมรับเรื่องของการกระจายอำนาจ อีกทั้งทุกพรรคการเมืองก็ไม่ได้ปฏิเสธการกระจายอำนาจ แล้วก็ชูประเด็นกระจายอำนาจเป็นนโยบายหาเสียง ในคณะรัฐมนตรี ก็คือระดับหัวหน้าพรรคที่ชูประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจ ลูกพรรคซึ่งอยู่ในสภาก็เป็น สส.ที่สนับสนุนนโยบายและสนับสนุนการกระจายอำนาจ”
“แต่ทำไมกฎหมายกระจายอำนาจออกมาแล้ว มีแผน มีหลักเกณฑ์การกระจายอำนาจ มีคณะกรรมการกระจายอำนาจ มีนายกฯเป็นประธาน ถามว่ามันติดตรงไหน ทำไมถึงกระจายงบ กระจายคนยากเหลือเกิน”
อย่าให้คำตอบอยู่ในสายลม...