ระหว่างวันที่ 19-21 ก.ย.67 ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ศปป.5 กอ.รมน. นำโดย พ.อ.สุทธิพงษ์ พืชมงคล จัดกิจกรรม “สื่อมวลชนสัมพันธ์” พาสื่อส่วนกลางลงพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของ “หน่วยปฏิบัติ”
โดยหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ไปศึกษาดูงาน และพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารองค์กร คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
งานสำคัญของ ศอ.บต. นอกจากรับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาแล้ว ยังมีงาน “เยียวยา” ผู้ได้รับผลกระทบจากไฟใต้ ซึ่งเป็นงานสำคัญอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ได้รับบาดแผลจากความรุนแรง
ปัจจุบัน งานเยียวยาได้พัฒนาไปมาก โดย ศอ.บต.ได้ดำเนินการใน 2 มิติ คือ
หนึ่ง ปรับปรุงพัฒนาข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบให้มีความทันสมัย เป็นปัจจุบัน และรวบรวมย้อนหลังไปถึงผู้ที่เคยได้รับการเยียวยาไปแล้ว ให้มีกระบวนการกลับไปเยี่ยมเยียนสารทุกข์สุขดิบ แม้บางส่วนจะมีภูมิลำเนาอยู่นอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะมีการจัดทีมผู้เชี่ยวชาญเดินสายเยี่ยม
สอง การเยียวยาต้องครอบคลุม ตั้งแต่ “เยียวยาบุคคล” ซึ่งได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยไม่เลือกฝ่าย, “เยียวยาทรัพย์สินที่เสียหาย” ทั้งทรัพย์สินของบุคคล และตัวทรัพย์ที่ตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง เช่น อาคาร บ้านเรือน ร้านค้า
นอกจากนั้นยังมุ่งเยียวยาจิตใจ เพื่อเข้าถึงภาวะจิตใจของผู้สูญเสีย เช่น การให้ไปประกอบพิธีฮัจย์สำหรับพี่น้องมุสลิม หรือ ไปสักการะสังเวชนียสถานของพี่น้องชาวพุทธ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นบาดแผล ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
และสุดท้ายคือการฟื้นฟูชีวิต โดยเฉพาะการสร้างอาชีพ เพื่อให้กลับมายืนในสังคม ดูแลครอบครัวได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. ย้ำว่า หลักการเยียวยา คือ “ครบถ้วน เป็นธรรม ทั่วถึง” ซึ่ง ศอ.บต.ได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และชัดเจนมาโดยตลอด เพราะเป็นหัวใจสำคัญในยุทธ์ศาสตร์การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้
“การเยียวยานั้นไม่ใช่แค่การช่วยเหลือหรือชดเชยความเสียหายหรือความเดือดร้อนทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่มากกว่านั้นคือต้องสามารถเข้าถึงจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ที่สำคัญการเยียวยาต้องครบถ้วน เป็นธรรม ทั่วถึง”
“ถามว่าครบถ้วนอย่างไร อย่างน้อยควรที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม, เป็นธรรม หมายถึงไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ถ้าได้รับผลกระทบ ต้องมีสิทธิ์ มีโอกาสได้รับการเยียวยา, และทั่วถึงหมายถึงว่าใครที่ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐทั้งสิ้น”
“และคำว่าทั่วถึงนั้น หมายถึงเขาสามารถกลับมามีชีวิตได้ปกติสุข รวมถึงการให้ ความสำคัญกับครอบครัวและทายาท” เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว
ยังมีประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันอย่างมาก ว่าจำเป็นต้องเยียวยาครอบครัวหรือทายาทของฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งเสียชีวิตจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่หรือไม่ เพราะบางฝ่ายเห็นว่าไม่ควรเยียวยา เนื่องจากผู้ก่อเหตุรุนแรงถือว่ากระทำผิดกฎหมาย แต่ฝ่ายนักสิทธิมนุษยชนกลับมองว่า สมควรเยียวยา เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขอีกต่อไป
เรื่องนี้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ บอกว่า คำตอบคือ หลักการเยียวยา “ครบถ้วน เป็นธรรม ทั่วถึง” โดยในส่วนของกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐ ก็ต้องดูแล ไม่ทอดทิ้ง แต่การเยียวยาอาจไม่ใช่รูปของตัวเงิน แต่เป็นรูปแบบอื่น เช่น ดูแลจิตใจ หรือสร้างโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น
“ศอ.บต.ก็พยายามประสานทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียชีวิตเคสไหน ก็พยายามจะประสานกับทายาท เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดี สร้างความเข้าใจ จนรู้สึกว่าตัวเองไม่ถูกทอดทิ้ง รัฐไม่ดูแล อารมณ์เหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้น”
“ที่สำคัญการเยียวยาต้องต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าได้รับผลกระทบวันนี้ แล้วรัฐเข้าไปช่วย เอาของไปให้ เอาเงินทองไปให้แล้วเลิกจากกัน แบบนี้ไม่ได้ ไม่ใช่การเยียวยา เราต้องมีกิจกรรมอื่นทำร่วมกัน เราต้องเข้าไปสร้างอาชีพ ให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ตอนนี้เราก็บูรณาการร่วมกับกับหน่วยในพื้นที่ ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อยู่”
เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวด้วยว่า ได้จัดทำร่างระเบียบการเยียวยา โดยทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งรับผิดชอบงานเยียวยา จ่ายค่าชดเชยเช่นกัน เพื่อให้อยู่ในกรอบเดียวกัน จะได้ลดการใช้ดุลยพินิจที่ไม่จำเป็น หรือการตีความ
อย่างเช่นในอดีตที่ต้องมีเจ้าหน้าที่ลงนามรับรองร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และปกครอง จึงจะจ่ายเยียวยา รูปแบบนี้หลายกรณีทำให้เกิดปัญหาและข้อโต้แย้ง ศอ.บต.จึงพยายามออกระเบียบเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจให้มากที่สุด
สำหรับแนวทางการฟื้นฟูภายหลังการเยียวยา พ.ต.ท.วรรณพงษ์ บอกว่า จะเน้นการสร้างอาชีพ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดีขึ้นมาก ทาง ศอ.บต.และหน่วยงานต่างๆ ก็พยายามเร่งรัดและเพิ่มช่องทางในการขยายศักยภาพทางเศรษฐกิจ
“ยกตัวอย่างเรื่องการท่องเที่ยว สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเอาแค่จังหวัดนราธิวาสจังหวัดเดียวก็ได้ นราธิวาสมีทุกอย่างที่จังหวัดอื่นในภาคอื่นไม่มี ลองไปดูนราธิวาสมีสนามบิน มีสถานีรถไฟ มีภูเขา มีทะเล มีพระตำหนัก มีชายแดน มีมหาวิทยาลัย มีศาลเจ้า มีวัด มัสยิด ฉะนั้นกุญแจสำคัญจึงอยู่ที่การสร้างศักยภาพและเตรียมคนเพื่อรองรับการสร้างงาน” เลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
--------------------------