มีประเด็นที่กลายเป็นคำถาม และฝ่ายความมั่นคงก็ยังหาคำตอบได้ไม่ชัดเจน จากเหตุการณ์ร้ายที่ฮาลา-บาลา
เพราะแม้แต่รองเลขาธิการ สมช. ฉัตรชัย บางชวด ก็ยอมรับทำนองว่าต้องควานหาคำตอบกันต่อไป
ทีมข่าวจึงพยายามเสาะหาข้อมูลจากผู้รู้ และคนในพื้นที่ เพื่อนำมาประกอบต่อเป็นจิ๊กซอว์ในอีกด้านหนึ่ง
ประเด็นแรก ใครคือผู้ก่อเหตุปล้นปืนลูกซอง 10 กระบอกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ
- ล่าสุดเริ่มมีการพูดถึงกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เคลื่อนไหวในอำเภอรอบๆ อำเภอแว้ง ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา คือ อ.สุไหงปาดี กับ สุไหงโก-ลก
- อดีตนายทหารระดับสูงที่เคยรับราชการในพื้นที่ และรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้อย่างต่อเนื่องหลายปี ให้ข้อมูลว่า ทีมที่ก่อเหตุเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง มีระดับหัว หรือแกนนำจำนวน 3-5 คน ส่วนที่เหลือใช้วิธีประกอบกำลังจากแนวร่วมหรือนักรบที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ที่ไปก่อเหตุ
โดยกลุ่มที่เป็นแกนนำระดับหัว จะเป็นคนวางแผน และจัดหาอุปกรณ์ในการปฏิบัติการ ส่วนกำลังที่เหลือ ซึ่งเป็นแนวร่วมหรือนักรบในพื้นที่เป้าหมาย จะถูกเรียกมารวมทีมกัน
ฉะนั้นทีมระดับแกนนำจะมีความเชี่ยวชาญในการก่อเหตุลักษณะนี้ มีการซักซ้อม ตระเตรียมยุทโธปกรณ์ และวางแผนมาก่อนเป็นอย่างดี จึงเข้าปฏิบัติการ
โปรดสังเกต การใช้ระเบิดเปิดตู้เซฟ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่จู่ๆ ก็ทดลองทำได้ หากไม่มีประสบการณ์ หรือเคยผ่านการฝึกฝน
ประเด็นที่ 2 เป้าหมายต้องการอะไรกันแน่
- มีการตั้งข้อสังเกตว่า คนร้ายต้องการอาวุธปืน หรือต้องการสร้างข่าว
ข้อมูลที่ทราบกันดีในหมู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงชายแดนใต้ คือ ทำไมกลุ่มคนร้ายต้องก่อเหตุปล้นอาวุธปืนลูกซองของทางราชการ แม้จะทำได้ง่าย เพราะแทบไม่มีการต่อสู้ขัดขืน แต่คนร้ายย่อมไม่ได้ปล้นเพื่อนำอาวุธปืนลูกซองไปต่อสู้กับทหารหลัก ทหารพราน หรือ อส.ในพื้นที่เป็นแน่ เพราะปืนลูกซองไม่มีอานุภาพมากพอที่จะต่อสู้ยิงปะทะกับอาวุธปืนประจำกายของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีทั้งเอ็ม 16 อาก้า และ M4 (เอ็มโฟร์) ได้
อีกทั้งการปิดล้อมยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่แทบทุกครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายกองกำลังติดอาวุธจะใช้อาวุธปืนสงคราม หรืออาวุธปืนพก แทบไม่มีคนร้ายใช้อาวุธปืนลูกซองยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เลย จึงน่าคิดว่าคนร้ายปฏิบัติการปล้นครั้งนี้เพื่ออะไร ต้องการปืนเอาไปใช้จริง หรือแค่สร้างข่าว
- น้ำหนักการสร้างข่าว มีค่อนข้างมาก เนื่องจากเลือกก่อเหตุวันประกาศโผทหาร ซึ่งมีการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 และเพิ่งเปลี่ยนรัฐบาลได้ไม่นาน
ประเด็นที่ 3 จำนวนปืนที่เก็บไว้ในสำนักงาน และจำนวนปืนที่สูญหาย
- ต้องเคลียร์ให้ชัดเจน เพราะมีข้อสงสัยจากบางฝ่ายเหมือนกันว่า จำนวนอาวุธปืนที่เก็บไว้ ถือว่ามาก ทั้งๆ ที่ในอดีต ปืนของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเคยถูกปล้นคราวเดียวถึง 33 กระบอก (อุทยานแห่งชาติบางลาง ปี 2545) ทำให้มีมาตรการลดจำนวนปืนที่เก็บรักษาในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อป้องกันปืนถูกโจรกรรม ตามยุทธศาสตร์ของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนที่ว่า “ปืนของรัฐคือปืนของเรา”
ที่สำคัญ เมื่อนำเรื่องจำนวนอาวุธปืน มาวิเคราะห์ร่วมกับห้วงเวลาที่ก่อเหตุ ทำให้เหตุการณ์นี้มีร่องรอยความน่าสงสัยค่อนข้างมาก ว่ามีมูลเหตุจูงใจจากเรื่องใดแน่!?!