เหตุลอบยิง โดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างรณรงค์หาเสียง คือเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นภาพจริงอย่างถึงแก่นของการเมืองสหรัฐ
ผู้นำค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกยุคปัจจุบัน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ และนักวิชาการด้านความมั่นชื่อดัง เขียนบทความเปิดมุมมองประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
@@ ซ้ายสุด VS ขวาสุด ปัญหาการเมืองอเมริกันปัจจุบัน
ในขณะที่โลกกำลังจับตาเฝ้าดูการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาที่จะเกิดในเดือนพฤศจิกายน แต่แล้วสิ่งที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น …
อดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ที่อยู่ในระหว่างการหาเสียง ถูกลอบยิง แต่กระสุนเฉียดใบหูของเขา และมือปืนถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
การลอบสังหารครั้งนี้จะมีส่วนอย่างสำคัญต่อผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และผลต่อตัวการเมืองอเมริกันเองในอนาคต ดังนั้น ข้อสังเกตต่อไปนี้เป็นการนำเสนอเพื่อการทำความเข้าใจกับ “กระแสการเมือง” ที่กำลังเกิดในบริบทของการเมืองอเมริกัน ดังนี้
1) เรากำลังเห็นการปะทะของ “กระแสสุดโต่ง” ระหว่างเสรีนิยม vs อนุรักษ์นิยมในการเมืองอเมริกันยุคหลังทรัมป์ (หมายถึงหลังการขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ในปี 2016)
2) อนุรักษ์นิยมชุดนี้ ไม่ใช่ “อนุรักษ์นิยมกระแสหลัก” ในแบบเดิมของสังคมตะวันตก แต่เป็นอนุรักษ์นิยมที่เป็น “ขวาจัดยุคศตวรรษที่ 21” หรือเป็น “ประชานิยมปีกขวา” คู่ขนานกับกระแสขวาจัดในการเมืองยุโรป (ไม่ใช่ “ประชานิยม” ที่หมายถึง นโยบายแจกเงินแบบไทย)
3) การขยายตัวของกระแสขวาจัดในสังคมอเมริกันเกิดก่อนยุคทรัมป์ ซึ่งเกิดจากปัญหาสังคมเศรษฐกิจอเมริกัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 2016 และอาจทำให้ทรัมป์ชนะอีกครั้งในการเลือกตั้ง 2024
4) กระแสขวาจัดชุดนี้ยังมีพลังสำคัญ และไปบรรจบกับพลังขวาอื่นๆ ในสังคมอเมริกัน เช่น กลุ่มนิยมผิวขาว (White Supremacy) กลุ่มนีโอนาซี (Neo-Nazi)
5) กลุ่มนี้ไม่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีทัศนะในการต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านมุสลิม ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ และต่อต้านชนชั้นนำ เป็นทิศทางทางหลัก (ดังปรากฏในคำพูดหรือคำหาเสียงของทรัมป์)
6) การมาของกระแสประชานิยมปีกขวา ทำให้เกิดการตอบโต้ของกลุ่มเสรีนิยม ที่รู้สึกว่าพลังของพวกเขากำลังอ่อนแรงลง
7) การขยับตัวของกลุ่มเสรีนิยมมีลักษณะ “เอียงซ้าย” ไปสู่ความสุดโต่งมากขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากชัยชนะของทรัมป์ในปี 2016 และขนานกับการขยายตัวกลุ่มขวาในการเมืองอเมริกัน
8) กระแสฝ่ายขวาจัดที่มาพร้อมกับแนวโน้มชัยชนะของทรัมป์ในปี 2024 ก็ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ปีกเสรีนิยมบางส่วนขยับไปทางซ้ายมากขึ้น เช่น กลุ่ม ANTIFA (กลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์) ซึ่งแต่เดิมไม่ใช่กลุ่มนิยมความรุนแรง ปัจจุบันกลายเป็น “กลุ่มสุดโต่ง” อีกแบบ
9) ความขัดแย้งทางความคิดชุดนี้ทับซ้อนอยู่กับปัญหาสิทธิตามรัฐธรรมนูญอเมริกันในการครอบครองอาวุธปืน และมีโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะเอียงไปสู่การใช้อาวุธมากขึ้น เช่น กลุ่มประชานิยมปีกขวาที่ติดอาวุธ และกลุ่มต่อต้านที่ก็ติดอาวุธเช่นเดียวกัน
10) การติดอาวุธของกลุ่มการเมืองในสังคมอเมริกันไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่เคยเกิดมาแล้ว เช่น ในยุคสงครามเย็น และอาจนำไปสู่ “พฤติกรรมสุดโต่ง” ของทั้ง 2 ฝ่ายในแบบก่อการร้ายมากขึ้น
11) ความขัดแย้งชุดนี้ทับซ้อนกับปัญหาความขัดแย้งเรื่องสีผิว โดยเฉพาะปัญหาคนผิวดำ ที่ปีกเสรีนิยมมีทิศทางในการสนับสนุนขบวนการแบบ Black Lives Matters และกลุ่มขวาจัดมีทิศทางต่อต้าน และทำให้สังคมมีความเห็นต่างมากขึ้น
12) การถูกยิงน่าจะเป็น “ปัจจัยความเห็นใจ” ที่ช่วยให้ทรัมป์ชนะ และกระตุ้นให้ฝ่ายสนับสนุนเขาออกมาลงเสียง ซึ่งจะยิ่งทำให้โอกาสชนะของไบเดนดูจะลดลงเรื่อยๆ และทั้งยังมีเสียงเรียกร้องให้เขาถอนตัวออกจากการแข่งขันอีกด้วย
จากสภาวะของการเมืองอเมริกันข้างต้น สิ่งที่จะเป็นผลกระทบจากการลอบสังหารครั้งนี้ ได้แก่
13) การปะทะระหว่าง ซ้ายสุด vs ขวาสุด (ซ้ายสุด- ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ หรือสังคมนิยม แต่เป็นเสรีนิยมสุดโต่ง และขวาสุด- ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมแบบเดิมที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่เป็นอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง)
14) ภาวะเช่นนี้ทำให้สังคมอเมริกันแตกแยกมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
15) การลอบยิงกำลังเปลี่ยนทิศทางการแข่งขัน เปลี่ยนบริบทของการเมืองอเมริกันในอนาคต โดยเฉพาะชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งปัจจุบัน
16) การลอบยิงมีผลกระทบสำคัญกับภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน
17) อาจเกิดการเลียนแบบจากการลอบสังหารประธานาธิบดีสโลวัคในเดือนพฤษภาคม ถึงสหรัฐในปัจจุบัน เป็นประเด็นที่น่ากังวลในการเมืองยุคปัจจุบัน