ทิศทางของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อมอยู่ในมือ “คนรุ่นใหม่” ที่จะร่วมขีดเขียนอนาคตร่วมกัน…
จุดแข็งของดินแดนแห่งนี้คือการมีอัตลักษณ์และภาษาของตนเอง ที่สำคัญคือผู้คนที่นั่น รวมทั้งเด็กและเยาวชนล้วนมีความภาคภูมิใจกับความเป็นมลายู
เหตุนี้เอง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. จึงสนับสนุนกิจกรรมมากมาย หลากหลายเพื่อรักษาสิ่งดีๆ เอาไว้
อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้จับมือกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ จัดอบรมการเขียนและการนำเสนอคำสุนทรพจน์ภาษามลายู เพื่อให้เยาวชนได้อนุรักษ์ “ภาษาถิ่น” ซึ่งเป็น “ภาษาแม่” ของตน ให้คงอยู่คู่กับพื้นที่นี้ไปตราบนานเท่านาน
กิจกรรมจัดขึ้นที่ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายนิพนธ์ ชายใหญ่ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานเปิด “กิจกรรมอบรมการเขียนและการนำเสนอคำสุนทรพจน์ภาษามลายู” โดยกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจัดขึ้น
ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และสมาคมศิษย์เก่าไทย-อินโดนีเซีย
วัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะภาษามลายูในการสื่อสาร โดยใช้กิจกรรมอบรมการเขียนและการนำเสนอคำสุนทรพจน์ภาษามลายูเป็นตัวจุดประกาย มุ่งเน้นการสื่อสารภาพลักษณ์เชิงบวกของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความเชื่อมโยงกับโลกมลายู ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม (Cross-Cultural Understanding) แก่เยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนในพื้นที่ จำนวน 45 คน
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ศอ.บต. ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจ รวมถึงการรับรู้ที่ถูกต้องระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน จึงได้จัดให้มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้เรียนภาษาและวัฒนธรรมมลายูในสถาบันการศึกษาไทย “กิจกรรมอบรมการเขียนและการนำเสนอคำสุนทรพจน์ภาษามลายู”
“เรามุ่งหวังให้เหล่า ‘ต้นกล้า’ กลุ่มนี้เป็นต้นไม้ใหญ่ที่ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองในอนาคต อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมส่วนรวม ศอ.บต.หวังเพียงเห็นเยาวชนชายแดนใต้มีจิตสำนึกที่ดี รู้จักหน้าที่ของตน มุ่งมั่นพัฒนาตนเองเพื่ออนาคตที่ดี และร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาบ้านเกิด เพื่อสักวันหนึ่งสันติสุขจะกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
ทั้งนี้ รูปแบบของการจัดกิจกรรม กำหนดเป็น 2 ห้วงเวลา โดยครั้งที่ 1 กำหนดจัดระหว่างวันที่ 28–30 มิ.ย.67 ครั้งที่ 2 กำหนดจัดในห้วงเดือน ส.ค.67 ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรมสอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการรายปี พ.ศ. 2567 ของ ศอ.บต. ว่าด้วยการพัฒนาเสริมความมั่งคงเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ร่วมกันในวิถีวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ระบุอยู่ในกลยุทธ์ที่ 5 คือการเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็ง
@@ หนุนโครงการอียู ชวนเยาวชนตระหนักรู้สู้ “โลกร้อน”
อีกหนึ่งโครงการที่เกี่ยวกับเยาวชนชายแดนใต้ และ ศอ.บต.ให้การสนับสนุนเช่นกัน คือ โครงการที่ Save the Children Thailand ร่วมกับมูลนิธิภาคใต้สีเขียว และแทรชฮีโร่ปัตตานี จัดกิจกรรม CINTALAM ณ หาดวาสุกรี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เพื่อส่งความรักต่อธรรมชาติของโลกใบนี้ โดยการเสริมสร้างพลังให้เยาวชนเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ในการทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และรู้ลึกถึงต้นตอปัญหาในความเปลี่ยนแปลง
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป หรือ อียู เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อภาวะโลกร้อน การรักษาและช่วยดูแลโลกให้มีความยั่งยืน โดยมี นายรอมดอน หะยีอาแว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นประธานเปิดกิจกรรม และมีเยาวชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมอย่างคับคั่ง
นายรอมดอน กล่าวว่า ศอ.บต.ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญในการรณรงค์แก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ประสานงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ พร้อมสร้างจิตสำนึกในการลดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากสามารถทำได้จากตัวเราเอง เพื่อช่วยโลกและช่วยเรา
ในห้วงที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีเกี่ยวกับผู้แสวงบุญ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เสียชีวิตกว่า 1,000 คน เนื่องจากอากาศร้อนจัด ส่วนประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หิมะละลายอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเกิดดินถล่มและน้ำท่วมหนัก
“ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้ประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2566 และประสบภัยแล้งอย่างหนักในปีนี้ ส่งผลให้ผลไม่ส่งออก อย่างเช่นทุเรียน ไม่ผลิดอกออกผล ซึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น” ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ระบุ
สำหรับโครงการ CINTALAM จัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับตัว และศักยภาพในการบรรเทาผลกระทบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมและเยาวชนที่หลากหลาย ในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ โดยคำนึงถึงมิติทางเพศสภาพเป็นสำคัญด้วย