“รอมฎอน” เผยตัวเลขจริงงบดับไฟใต้ปี 68 ไม่ใช่แค่ 5 พันกว่าล้าน แต่เจอโผล่ในอีก 38 แผนงาน รวม 25,480 ล้าน แถมแอบตั้งงบ “คณะผู้แทนพิเศษ” ทั้งที่ยกเลิกไปแล้ว เสนอบันได 5 ขั้น ออกแบบแผนบูรณาการสันติภาพ “ลดปืน-เพิ่มปาก” ด้าน “วรวิทย์ บารู” จากประชาชาติ แนะเทงบพัฒนา ฟื้นปัตตานี “ศูนย์กลางต่อเรือ” เปิดข้อมูลบวกชายแดนใต้คนจนลดลง
นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ตอนหนึ่งว่า งบประมาณจังหวัดชายแดนภาคใต้คนมักจะเข้าใจว่าให้ไปดูที่ “แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ปีนี้ 5,782 ล้านบาท
ถ้าดูรายละเอียดย้อนหลังกลับไป ตั้งแต่มีแผนบูรณาการตั้งแต่ปี 60 ก็ดูเหมือนจะมีสัญญาณเชิงบวก คือลดลงเรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้วยังเหมือนเดิม คือมันยังมีรายการอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งไปเจอใน 38 แผนงาน 111 หน่วยงาน ที่เป็นหน่วยงานรับงบประมาณ รวมๆ แล้วเป็นเงิน 25,480 ล้านบาท อันนี้คืออย่างน้อยที่เจอ
งบประมาณที่สังคมไทยสูญเสียไปกับ 22 ปีของไฟใต้ในการประคองสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ 5.64 แสนล้านบาท ในแผนบูรณาการดับไฟใต้ จะแบ่งเป็นด้านการพัฒนา ด้านความมั่นคง และด้านการบริหารจัดการ ดูงบการพัฒนามากกว่า 52% แต่เมื่อดูเนื้อในแผน หน่วยงานที่ตั้งงบประมาณ กรมโยธาธิการมาอันดับ 1 งบ 1,522.7 ล้านบาท ตามมาด้วย กอ.รมน. 1,330.9 ล้านบาท แก้ปัญหาทางการเมืองอย่างไร ใช้การก่อสร้าง ใช้กรมโยธาฯเป็นหลัก อันนี้คือประเด็นที่หนึ่ง
ประเด็นที่ 2 งบประมาณของการพูดคุยสันติภาพมีแค่ 0.3% เท่านั้น และที่สำคัญก็จะเห็นว่า การพูดคุยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน. ซึ่งการพูดคุยจริงๆ ก็ไม่ได้ใช้งบมาก แต่เป็นงานที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาก ถ้าการพูดคุยไปสู่การบรรลุผลของข้อตกลงสันติภาพ ผลของมันจะมีผลกระทบมากในทางสังคมและจะมีผลต่อเนื่อง แต่ลองคิดดูว่าถ้าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทหารแล้ว วิธีคิดการมองการให้ความสำคัญของการพูดคุยอยู่แค่ระดับไหน
นี่ยังไม่นับงบงานข่าวกรองของ กอ.รมน.อีก 735 ล้านบาท ซึ่งงบข่าวกรองของ กอ.รมน.มากกว่าของสำนักข่าวกรองแห่งชาติด้วยซ้ำ
และอีกประเด็นคือเจอรายการปลุกผีการดำเนินการตามมาตรา 21 น่าจะเป็นของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ ตั้งมา 15 ล้านบาท โดยมาตรการนี้คือการพยายามให้คนเข้าสู่โครงการเพื่อฝึกอบรมแลกกับการไม่ดำเนินคดี ซึ่งตลอด 15 ปีที่ผ่านมา มีคนเข้าโครงการนี้แค่ 12 คนเท่านั้น จริงๆ แล้วไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แต่ยังกล้าตั้งมาอีก
@@ พบแอบตั้งงบ “คณะผู้แทนพิเศษ” ทั้งที่ยกเลิกไปแล้ว
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นของ กอ.รมน. ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบด้านความมั่นคงชื่ออาจจะดูดี แต่เนื้อใน 3,489 ล้านบาท เรื่องกำลังพลและการดำเนินงาน อันนี้คือเบี้ยเลี้ยง ซึ่งซุกเอาไว้ข้างนอก กลายเป็นว่า กอ.รมน.มีงบประมาณเยอะที่สุด คำของบประมาณของหน่วยงานนี้ 7,000 กว่าล้านบาท โดย 6,391.26 ล้านบาท ใช้ในภารกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
พูดแบบนี้ ถ้า กอ.รมน.สำคัญแล้วเรากำลังจะยุติปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมายความว่า กอ.รมน.มีภาวะพึ่งพาภัยคุกคามและวิกฤตการณ์ ซึ่งไม่อย่างนั้นก็จะไม่ได้งบประมาณขนาดนี้ ทำให้เห็นว่า กอ.รมน.ขอรับงบมากที่สุด บอกได้ว่าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้แนวคิดอิทธิพลและแนวทางที่ครอบงำด้วยวิธีคิดแบบทหารใช่หรือไม่ และก็มีแนวโน้มที่จะล้มเหลวด้วย
“ที่ซ้ำร้ายหนักกว่านั้น ไอ้ที่เรียกว่าคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ที่เดิมตั้งโดยคำสั่ง คสช.และมาตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกฯในช่วงปี 64 และก็ยุติบทบาทไปนานแล้ว ยังตั้งมาอีก รวมทั้งที่ปรึกษา รวมกันแล้วประมาณ 7 ล้านกว่าบาท ไม่แน่ใจว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่รับผิดชอบรู้หรือเปล่าว่า มันมีปรสิตของ คสช.แอบขอใช้งบประมาณอยู่ และก็อ้างถึงภารกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย”
@@ เลิกงบบูรณาการ เปลี่ยนเป็น “แผนบูรณาการสันติภาพ”
นายรอมฎอน เสนอว่า ถ้าจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบจริงจัง มีเจตจำนงทางการเมือง สิ่งที่จะกระทำต่องบประมาณควรคิดใหม่ และข้อเสนอของตนคือ รื้อแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอายุมา 9 ปีงบประมาณแล้ว
แต่การจะคิดเรื่องแผนงบประมาณใหม่ ต้องคิดนึกย้อนไปหลายทาง ตนเสนอบันได 5 ขั้นเพื่อปลดพันธนาการของ คสช. ของคณะรัฐประหารเผด็จการ แล้วเปิดทางไปสู่การจุดพลุเพื่อสร้างสันติภาพ คือ
1.ทบทวน 2 ทศวรรษโจทย์ให้ชัด
2.กำหนดทิศทางใหญ่ ลดปืน-เพิ่มปาก ถ่ายภารกิจทหาร กองทัพ ไปสู่หน่วยงานพลเรือน
3.ปลดพันธนาการ คสช. ปรับรื้อแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง
4.เปลี่ยนแกนของกลไกอำนาจรัฐ ให้กระบวนการสันติภาพเป็นแกนกลาง ส่วนมิติต่างๆ เป็นองค์ประกอบ
5.ออกแบบงบประมาณใหม่ คือ แผนบูรณาการสันติภาพ
เป้าหมายคือความปลอดภัยต่อทุกฝ่าย ทุกมิติ และต้องบรรลุข้อตกลงสันติภาพให้ได้ในปี 2570
“ส่วนการจะสร้างสันติภาพในชายแดนใต้อย่างจริงจังต้องย้อนกลับไปถอนฟืนจากไฟ คือ ปรับโครงสร้างงานข่าวกรอง ปฏิรูปโครงสร้างยุทธศาตร์ ยกเลิกกฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก ยกเลิกด่านตรวจที่มีอยู่ 2,300 กว่าด่านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งงบศึกษาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ลดงบประมาณและปรับงานของ กอ.รมน.ให้น้อยลง”
“จากนั้นก็มาที่จุดไฟแห่งความหวัง คือ นายกรัฐมนตรีแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการสร้างสันติภาพ ปรับการพูดคุยและการเจรจาเป็นงานยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และปรับปรุงชุดกฎหมายด้านความมั่นคง เสนอให้ปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย รับฟังเสียงของทุกภูมิภาคเกี่ยวกับชายแดนใต้ ถ่ายโอนงบประมาณพัฒนาเศรษฐกิจไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”
@@ เหตุรุนแรงลด งบลดตาม
ผศ.วรวิทย์ บารู สส.ปัตตานี เขต 1 พรรคประชาชาติ เป็น สส.อีกรายหนึ่งที่อภิปรายเกี่ยวกับงบดับไฟใต้ โดยระบุตอนหนึ่งว่า การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีงบประมาณ 5,781.9 ล้านบาท โดยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเหตุการณ์ความรุนแรงก็ลดลง
ถ้าเปรียบเทียบกับปี 2560 ลดลง 80 เปอร์เซนต์ จึงไปเชื่อมโยงกับงบประมาณในโครงการต่างๆ ที่ได้ลดลงตามสถานการณ์ของเหตุการณ์ด้วย นั่นก็คือในโครงการอำนวยความยุติธรรม และการเยียวยา ลดลงค่อนข้างเยอะ 60 กว่าเปอร์เซนต์จาก 15,000 กว่าล้านบาท เหลือเพียงแค่ 5,000 ล้าน
“ตรงนี้เราสามารถการยืนยันว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ลดลง ถ้าเทียบกับปี 60 ลดลง 80 เปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้นจำนวนเม็ดเงินที่ลดลงตรงนี้ เราน่าจะนำไปใช้เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่มีการขัดแย้งไปสู่การพัฒนาและสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นแก่พี่น้องประชาชน”
@@ แนะทุ่มพัฒนาศูนย์กลางสัตว์น้ำ - อู่ซ่อม/ต่อเรือ
“เส้นเลือดใหญ่เศรษฐกิจของปัตตานี ยะลา นราธิวาสนั้น ก็คือการประมง โดยเฉพาะประมงที่ปัตตานี ท่านภูมิธรรม (นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์) ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีแนวคิดที่จะให้ปัตตานีเป็นตลาดกลางสินค้าสัตว์น้ำ และให้เป็นสถานที่ฟื้นฟูเรื่องของคานเรือ อู่ซ่อมและสร้างเรือ ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เรามีองค์ความรู้ที่มากมายเกินกว่าพวกที่อยู่ข้างๆ กับประเทศเรา อย่างเช่นมาเลเซีย หรือ อินโดนิเซีย คนเหล่านี้ต้องมาซ่อม มาอาศัยที่ของเรา”
ผศ.วรวิทย์ อภิปรายอีกว่า ขณะนี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อที่จะแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 เพื่อเป็นนิมิตหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับคืนสู่สภาวะที่ดีเหมือนเดิม ซึ่งมีความเชื่อมโยงหลายอย่างที่ปัตตานี
“ถ้าหากว่าตลาดกลางสินค้าสัตว์น้ำได้เกิดขึ้น ก็จะมีเรือจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา แต่ขณะนี้เรือที่มีอยู่เป็นพันลำก็เหลือไม่เกิน 300 ลำ ผมได้คุยกับชาวประมง เขาบอกว่าถ้าหากว่าแนวคิดของรัฐบาลที่จะทำให้ปัตตานีเป็นศูนย์กลาง ก็สามารถที่จะเชิญชวนเรือจากสงขลา นครศรีธรรมราช ลงมา 500 -700 ลำได้”
“ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การขุดลอกร่องน้ำ ซึ่งทางกรมเจ้าท่าได้ขอมาหลายปี เพราะว่า สภาพของแม่น้ำปัตตานีที่มีร่องน้ำเพียงแค่ 4 เมตร มันไม่สามารถที่จะสวนทางกันได้ ทำให้โอกาสต่างๆ น้อยลง เรือเกิดความเสียหาย คนที่เราอยากจะเชิญเข้ามา เขาก็ไม่อยากจะมา ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ รวมทั้งท่าเรือประมงที่สร้างเสร็จแล้วตั้งไว้เฉยๆ ไม่ได้รับการใช้ เพราะว่าเกิดกรณีของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ก็เช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่อยากจะให้ผู้นำประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ไปดู เพื่อไปสู่การเปลี่ยนพื้นที่ที่มีความขัดแย้งนี้ไปสู่เป้าหมายของการพัฒนา”
@@ นิมิตหมายดี อัตราส่วนคนยากจนลดลง
สส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ อภิปรายด้วยว่า หากดูตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 55 ถึงปี 65 เปอร์เซนต์ของประชาชนที่ยากจนเปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่นใน จ.ปัตตานี ปี 55 สัดส่วนคนจนอยู่ที่ 46.80 เปอร์เซนต์ ในขณะที่ปี 65 สัดส่วนคนจนเหลือ 24.23 เปอร์เซนต์
ส่วน จ.ยะลา เดิม 21 เปอร์เซนต์ ก็เหลือ 11 เปอร์เซนต์ นราธิวาส จาก 42 เปอร์เซนต์ เหลือ 19 เปอร์เซนต์ ก็ยังสูงอยู่ถ้าเทียบกับระดับประเทศ ทั่วราชอาณาจักร จะมีอยู่เพียงแค่ 5.45 เปอร์เซนต์ แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ถ้าหากว่าเราเปลี่ยนแปลงพื้นที่ขัดแย้งด้วยการระดมโครงการใหญ่เข้าไป ก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาจากภาพเดิมๆ