ไม่แน่ใจว่าท่านนายกฯเศรษฐา รับทราบปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขดับไฟใต้แล้วหรือยัง
ฟังจากที่ท่านไปกล่าวสุนทรพจน์งาน “ดินเนอร์ทอล์ค” ฉลองหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจครบ 44 ปี เมื่อค่ำวันศุกร์ 23 ก.พ.67 ท่านพูดถึงปัญหาภาคใต้เล็กน้อย แต่ไม่ได้แตะเรื่องนี้ แสดงว่าอาจจะยังไม่ทราบ
เพราะท่านพูดแต่เรื่องที่ท่านจะลงพื้นที่วันที่ 27-29 ก.พ.นี้ ในแนวๆ สร้างโอกาส ขจัดความขัดแย้ง มองในมิติเศรษฐกิจมิติเดียวเท่านั้น ว่าหากเศรษฐกิจดี ทุกอย่างจะดีตาม ถ้าประชาชนท้องอิ่ม มีเงินในกระเป๋า จะกลบเสียงปืนเสียงระเบิดให้เงียบได้ทั้งหมด
ต่อมาวันเสาร์ท่านไปพบอดีตนายกฯทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ก็ไม่ได้มีพูดเรื่องภาคใต้ และน่าจะไม่มีนักข่าวถามท่านด้วย
ตอนนี้สถานการณ์ภาคใต้เดินมาถึงจุดล่อแหลมสำคัญ คณะพูดคุยฯของรัฐบาลที่ท่านนายกฯเซ็นตั้งขึ้นใหม่ นำโดย ท่านฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. ได้ไปเห็นชอบแผนสันติสุข ที่ชื่อว่า “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ JCPP หลังพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่กัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.
ท่านฉัตรชัย เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ที่ท่านนายกฯเศรษฐาภาคภูมิใจ เพราะเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯที่เป็นพลเรือนคนแรก ตั้งแต่มีการพูดคุยแบบ “เปิดเผย บนโต๊ะ” เมื่อปี 2556 เป็นต้นมา ไม่ใช่คุยกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ แอบไปเจอกันในตะวันออกกลางเหมือนก่อนหน้านั้น
ตั้งแต่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ต่อเนื่องถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 รัฐบาล และรัฐบาลนายกฯเศรษฐา เรามีหัวหน้าคณะพูดคุยฯมาแล้ว 4 คน คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร, พล.อ.อักษรา เกิดผล, พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ และ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ
ทุกคนล้วนมียศทหารนำหน้า เป็นทหารในกองทัพบ้าง อกหักจากกองทัพแล้วโยกไป สมช.บ้าง คาบเกี่ยวกันทั้งในราชการบ้าง นอกราชการบ้าง
หลังเลือกตั้งมีการเรียกร้องให้ใช้ “พลเรือน” เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ และรีบๆ คุยให้จบๆ กันไปเสียที จะได้พัฒนาพื้นที่ พัฒนาการท่องเที่ยวตามศักยภาพของชายแดนใต้ ในฐานะเป็นประตูบานใหม่ของไทยที่เปิดสู่โลกมุสลิม โลกฮาลาล
และท่านนายกฯเศรษฐาก็ทำสำเร็จ ด้วยการตั้งท่านฉัตรชัย บางชวด เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนที่ 5
แต่งานแรกของท่านฉัตรชัย ก็มีปัญหาเสียแล้ว นั่นก็คือการไปตอบรับแผน JCPP ร่วมกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
จริงๆ เรื่องนี้แทบไม่เป็นข่าว และเกือบจะไม่มีใครให้ความสนใจ กระทั่งจู่ๆ มีสื่อไทยพีบีเอสไปสัมภาษณ์บุคคลที่อ้างว่าเป็น “แกนนำบีอาร์เอ็น” แล้วก็นำผลการพูดคุยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.มาเปิดเผย ตามด้วยเผยแพร่เอกสาร JCPP
สาระสำคัญมี 3 ส่วน คือ ยุติความรุนแรง หรือหยุดยิง, ทำกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง
ส่วนที่เป็นสาระสำคัญ 3 ข้อนี้ เป็นข่าวมาหลายครั้งแล้ว แต่ที่เพิ่งเป็นข่าวหนนี้ก็คือ เงื่อนไขแรกที่ว่าฝ่ายรัฐบาลไทยต้องทำอะไร และฝ่ายบีอาร์เอ็นต้องทำอะไร เพื่อสร้างความมั่นใจร่วมกัน จากนั้นก็จะนำไปสู่สาระสำคัญ 3 เรื่อง กำหนดเป็นไทม์ไลน์ และแนวทางการปฏิบัติในรายละเอียดเอาไว้ในเอกสาร ซึ่งจะต้องตกลงกันในแต่ละข้อต่อไป
สว.และผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่ได้เห็นเนื้อหา ได้พากันแสดงความกังวล เพราะออกแนว “เสียเปรียบโจร” (ขออภัยต้องใช้คำตรงๆ ที่เขาใช้กัน แต่ภาษานักสันติภาพห้ามเรียกโจร ต้องเรียกว่า “ผู้เห็นต่างจากรัฐ” แม้จะใช้วิธีการเหมือนโจร ก็ต้องเรียกแบบนี้)
โดยเฉพาะที่มีการสรุปสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำ ประกอบด้วย “4 ไม่ 3 ลด 4 ยอม” คือ ไม่ปิดล้อม ไม่ตรวจดีเอ็นเอ ไม่จับกุม ไม่ติดประกาศหมายจับ, ลดลาดตระเวน ลดจุดตรวจ ลดพื้นที่ พ.ร.ก., และยอมให้บีอาร์เอ็นเปิดเผยตัว ยอมให้เข้าเมือง ยอมให้จัดเวทีประชุม และยอมปล่อยนักโทษคดีความมั่นคง-ปลดหมายจับ
ขณะที่ บีอาร์เอ็นทำ 4 อย่าง คือ ไม่ก่อเหตุ ไม่ขนย้ายอาวุธและระเบิด ไม่ยุ่งยุปลุกปั่น และไม่ทำผิดกฎหมาย
ผู้รู้หลายท่านมองตรงกันว่า ประเด็นเหล่านี้อ่อนไหวอย่างยิ่ง และฝ่ายรัฐบาลไทยเสียเปรียบ โดยเฉพาะการยอมให้แกนนำบีอาร์เอ็นเข้ามาจัดเวทีประชุม (เพื่อแสวงหาทางออกทางการเมือง และรับฟังความเห็นสาธารณะ ตามแผน JCPP) เนื่องจากฝ่ายเราต้องงดเว้นการบังคับใช้ “หมายจับ” ชั่วคราว แถมต้องคุ้มครองคุ้มกันคนเหล่านี้ไม่ให้เกิดอันตรายขณะเข้ามาจัดกิจกรรมด้วย
ต่อมาทางคณะพูดคุยฯ ออกมาชี้แจงเบื้องต้น สรุปได้ว่า JCPP ไม่ใช่ข้อตกลงสันติภาพ และยังไม่ได้ตกลงอะไรกัน เป็นแค่ “แผนเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพ” ฉะนั้นอะไรที่ยังเห็นไม่ตรงกัน ก็จะปฏิบัติไม่ได้
และที่สำคัญ ไม่มีทางที่แผนนี้จะนำไปสู่การแยกดินแดน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายตกลงกันจะปฏิบัติตามกรอบรัฐธรรมนูญไทย และฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ไม่ได้แสดงเจตนาเรื่อง “รัฐเอกราช”
ทั้งยังบอกว่าผู้รู้บางท่านและสื่อบางแขนง (เนชั่น, ศูนย์ข่าวอิศรา) เสนอข่าวบิดเบือน เนื่องจากประเด็นปล่อยนักโทษ-ปลดหมายจับ ไม่มีในแผน JCPP
แต่ภายหลังมีการตรวจสอบเอกสาร JCPP กลับมีระบุเรื่องนี้ในไทม์ไลน์ที่จะทำต่อไป เพียงแค่ไม่ใช่เงื่อนไขเบื้องต้นที่ต้องทำก่อนเดินหน้าแผนเท่านั้น (เลยไม่รู้ว่าใครบิดเบือน)
ความเคลื่อนไหวที่ฮือฮาที่สุดมาจาก อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงที่ได้รับการยอมรับสูงมากในวงการ อาจารย์ตั้งคำถามแหลมคมหลายประการ ซึ่งยังไม่มีคำตอบจากคณะพูดคุยฯ
1.คำชี้แจงที่ว่ากระบวนการนี้จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คำตอบเชิงยุทธศาสตร์ เพราะจริงๆ เราต้องดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่คณะพูดคุยฯต้องตอบให้ได้ว่า จะพูดคุยแบบไหน วิธีใด ภายใต้ยุทธศาสตร์อะไร ที่จะทำให้ปัญหายุติ ซึ่งตามแผน JCPP ยังมองไม่เห็น นอกจาก “ยอม”
2.ท่าทีของคณะพูดคุยฯของรัฐบาล ยอมบีอาร์เอ็นมากเกินไปหรือไม่ หรือใช้กลยุทธ์ “ยอมเขา เพื่อให้เขายอมเรา” ซึ่งในทางรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เสียรู้ เสียท่ามาเยอะแล้ว เพราะสุดท้ายจะกลายเป็น “ยอมจำนน”
3.โต๊ะเจรจาคือ “สนามรบ” อีกรูปแบบหนึ่ง และบีอาร์เอ็นแสดงให้เห็นว่าเขาเดิน 2 ขาพร้อมกัน คือด้านหนึ่งก็ก่อเหตุรุนแรงกดดัน อีกด้านหนึ่งก็เจรจา ฉะนั้นคณะพูดคุยเจรจาฯของรัฐบาล จะโง่กว่าคู่เจรจาไม่ได้ (อาจารย์ใช้คำนี้จริงๆ)
4.เงื่อนไขของบีอาร์เอ็นที่ให้หยุดก่อเหตุรุนแรง ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะฝ่ายบีอาร์เอ็นคุมกองกำลังไม่ได้ทั้งหมด และไม่มีกองกำลังติดอาวุธทั่วโลกที่ไหนทำได้ แต่ความรุนแรงจะลดลงไปเอง เมื่อฝ่ายรัฐเอาชนะทางการเมืองได้ (แต่คำถามก็จะย้อนกลับไปข้อแรก คือยุทธศาสตร์จะเอาชนะคืออะไร มีหรือยัง)
(ผมขออธิบายเสริมตรงนี้ว่า บีอาร์เอ็นดำรงสถานะเป็น “องค์กรลับ” มานานถึง 20 ปี ทำให้เซลล์กองกำลังในพื้นที่ แตกตัวด้วยตัวเองไปมากมาย บางส่วนกลายเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเกือบจะอิสระ จนปัจจุบันฝ่ายที่เป็น “องค์กรนำ” ในขบวนการบีอาร์เอ็น ก็คุมกองกำลังทั้งหมดไม่ได้จริงๆ ถือเป็นจุดอ่อนในตัวเองของการเป็นองค์กรลับ)
5.คณะพูดคุยฯของรัฐบาล ไม่มีความจำเป็นต้องไปรับประกันแทนบีอาร์เอ็นว่าเขาจะไม่แยกดินแดน เพราะเป็นเรื่องที่บีอาร์เอ็นต้องพูดให้ชัดเจน ไม่ใช่เราไปพูดแทน
และถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไทยจะประกาศชัดๆ ในนามรัฐบาลว่า ขบวนการที่ก่อเหตุรุนแรงทุกประเภท ทำให้คนเจ็บตายหลายหมื่นคน ไม่เว้นแม้แต่ พระ ครู (เฉพาะครูกว่า 100 ศพ) คนชรา ผู้หญิงตั้งครรภ์ คนแก่ เด็ก ฯลฯ ระเบิด-เผาแม้กระทั่งโรงเรียน ฆ่าคนบริสุทธิ์ไม่มีทางสู้ที่เปิดร้านขายของชำตามหมู่บ้าน วางกับระเบิดในสวนยางพารา ทำให้คนเข้าไปกรีดยาง ประกอบสัมมาชีพต้องขาขาด รวมๆ แล้ว 30-40 ขา ทำให้ 30-40 ชีวิต ต้องกลายเป็นคนพิการ บางส่วนล้มหายตายจากนั้น
ทั้งหมดนี้ หรือเกือบทั้งหมด ล้วนเป็นการกระทำของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักรบบีอาร์เอ็น” (เมื่อประกาศแล้ว ทางบีอาร์เอ็นอ้างว่าไม่ใช่ ไม่ตรงความจริงในเหตุการณ์ไหน ก็อธิบายมา)
เรื่องนี้ผมเห็นด้วยกับ อาจารย์สุรชาติ เพราะเมื่อจะเริ่มต้นคุยกัน ก็ต้องเริ่มจากภาพความจริงของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นสร้างภาพ โฆษณาชวนเชื่อต่อชาวโลกว่าเป็นองค์กรนักต่อสู้เพื่อชาวปาตานี เหมือนที่ไปรับเงื่อนไข “เจนีวา คอล” เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ทำร้ายเด็ก แต่ไม่ยอมพูดถึงความเลวร้ายที่ก่อมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ว่าทำเด็กตาย บาดเจ็บ ไม่มีโรงเรียนไปเรียนหนังสือมากี่สิบ กี่ร้อย กี่พันคนแล้ว
แต่ในขณะเดียวกันพื้นที่ที่มีปัญหานี้ ก็มีการเลือกตั้งทุกระดับเหมือนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ผู้แทนราษฎร หรือ สส.ของพื้นที่นี้ ซึ่งเป็นมุสลิม เคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็เคยเป็น และยังมี สส.มุสลิมเป็นประธานสภา หรือ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” มาแล้วถึง 2 ครั้ง ปัจจุบันก็ดำรงตำแหน่งอยู่
แต่เรื่องแบบนี้ฝ่ายบีอาร์เอ็น และผู้สนับสนุนไม่เคยหยิบมาพูดบ้างเลย
ช่วงที่มีข่าวทำประชามติจำลอง เพื่อแยกดินแดน ตอนต้นรัฐบาล (ใช้ศัพท์หรูหราว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเอง หรือ Self Determination) ผมเคยอธิบายไปหลายช่องทางว่าสิ่งที่บีอาร์เอ็นทำมาตลอด สรุปง่ายๆ เป็นบันได 5 ขั้นไปสู่เป้าหมาย ได้แบบนี้
1.ก่อเหตุรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อยั่วยุให้เกิดการปะทะกันเองของกลุ่มคน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เข้าเงื่อนไข “การขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ” หรือ Armed conflict เปิดทางให้ยูเอ็น หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซง : เหตุการณ์กรือเซะ เผาวัด ฆ่าพระ ฯลฯ เป็นตัวอย่างของความพยายาม
2.เร่งสื่อสารกับสังคมโลกว่า ดินแดนปัตตานี หรือ “ปาตานี” เป็นดินแดนอาณานิคมของรัฐไทย ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม (อ้างสนธิสัญญา แองโกล-สยาม ที่ทำกับอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2452)
3.อีกด้านหนึ่งก็แต่งตัวพร้อมเจรจา เป็นกองกำลังเพื่อมนุษยธรรม ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดนที่ถูกกดขี่ ด้วยการไปรับเงื่อนไข “เจนีวา คอล” (เป็นการลงนามรับเงื่อนไขฝ่ายเดียว)
4.หากองค์กรระหว่างประเทศยื่นมือเข้ามา ก็จะนำไปสู่การเจรจา เพื่อขอใช้สิทธิกำหนดใจตนเอง หรือ Self Determination ซึ่งก็คือการขอทำประชามติเพื่อแยกดินแดน อันเป็นสิทธิที่มีรับรองในกฎบัตรสหประชาชาติ สำหรับดินแดนอาณานิคม (บีอาร์เอ็นจึงอ้างมาตลอดว่า ปัตตานีเป็นดินแดนอาณานิคมของไทย และเรียกไทยว่า “นักล่าอาณานิคมสยาม”)
5.หากข้อ 4 เป็นไปไม่ได้ ก็ใช้ความได้เปรียบบนโต๊ะเจรจา ขอสิทธิปกครองตนเอง และกลุ่มองค์กรนำที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศ ก็จะอาศัยช่องทางของโต๊ะเจรจา เข้ามาจัดกิจกรรมรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ ซึ่งก็คือการโฆษณาชวนเชื่อและหาเสียงไปในตัวนั่นเอง
อีกด้านหนึ่งก็เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษ ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ปลดหมายจับ ก็จะซื้อใจคนกลุ่มนี้และครอบครัว เครือญาติอีกมหาศาล
สุดท้ายแม้แยกดินแดนไม่สำเร็จ แต่ได้ปกครองตนเอง เป็นเขตปกครองพิเศษ พวกแกนนำบีอาร์เอ็นก็จะเข้ามาเป็น “ผู้นำ” หรือ “ผู้ปกครองกลุ่มใหม่” ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง หลังจากกดปุ่มอยู่นอกประเทศ สร้างเหตุรุนแรงทำร้ายผู้คน เศรษฐกิจ สังคม ย่อยยับมานานกว่า 20 ปี
ส่วนแนวคิด “รัฐเอกราช” จะเดินต่ออีกหรือไม่ เมื่อถึงเวลานั้น คงอยู่กับกำมือพวกเขาเท่านั้น ว่าจะเอาหรือจะหยุด
ฝากถึงท่านนายกฯเศรษฐา ควรให้ความสำคัญกับปัญหาให้ถูกต้องตามลำดับ และช่วยจริงจังกับงานด้านความมั่นคงเสียที เพราะป่านนี้ยังไม่มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ทั้งๆ ที่เราต้องเผชิญเรื่องล่อแหลมถึงขั้นเสี่ยงเสียดินแดน!