ยังคงมีการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” ที่กำลังขับเคลื่อน JCPP หรือ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม”
เพราะการเดินหน้าแผน JCPP มีความเห็นในมุมที่แตกต่างจาก “ผู้รู้” และ “กูรู” ด้านความมั่นคงหลายคน ซึ่งทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเคยผ่านงานภาคใต้มาแล้วทั้งสิ้น
ขณะที่ตัวคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย ก็ยืนยันว่ากระบวนการนี้จะไม่นำไปสู่การเสียเปรียบ หรือเสียดินแดน และแสดงเจตนาเดินหน้าต่อไป เพราะมั่นใจว่าจะสร้างสันติสุขได้ที่ปลายทาง
แต่การ “มองต่างมุม” ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง…
ล่าสุดมาจากเบอร์ใหญ่อย่าง พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย คนที่ 2 ในยุคที่มีการเปิดโต๊ะพูดคุยแบบ “เปิดเผย - เป็นทางการ”
พล.อ.อักษรา ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แสดงความเห็นเป็นเอกสาร ขึ้นหัวว่า “การพูดคุยสันติสุข ในมุมมองของ พลเอก อักษรา เกิดผล สมาชิกวุฒิสภา และอดีตหัวหน้าคณะพูดคุยฯ”
สาเหตุที่ทำเป็นเอกสาร นัยว่าเพื่อป้องกันไม่ให้การนำไปสื่อสารต่อแบบผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ข้อเขียนของ พล.อ.อักษรา ระบุว่า “ในความเห็นของผม การใช้ Agenda เป็นประเด็นในการพูดคุยกับขบวนการก่อการร้ายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกลุ่มก่อการร้ายจะใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุข้อตกลงในการเจรจาทุกเรื่อง นับเป็นความอ่อนด้อยของทีมเจรจาที่ไปลอกเลียนแบบวิธีการทูตทั่วไป และนำมาใช้เจรจากับกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งผมยืนยันว่าไม่ได้ผล
หากต้องการให้การพูดคุยบรรลุผลสำเร็จ ต้องใช้ Area Approach แทนการใช้ Agenda แบบที่ผมเคยพยายามทำ โดยการกำหนดเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" ที่ประชาชนได้ประโยชน์เต็มๆ เป็นประเด็นในการพูดคุย ทั้งนี้ เพื่อให้การรุกคืบของพื้นที่ปลอดภัยขยายวงไปทั่วจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้รัฐบาลมีอำนาจรัฐเหนือโจร และสามารถเร่งงานมวลชนเพื่อจำกัดแนวร่วมในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้งานข่าวกรองมีประสิทธิภาพ ทำให้รัฐบาลสามารถกวาดล้างอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายได้ ด้วยการจำกัดเสรี ลดขีดความสามารถ ตัดการสนับสนุนและแนวร่วมกลุ่มก่อการร้ายอย่างได้ผลในพื้นที่ปลอดภัยนั้นๆ
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจน กรณีประเทศอิสราเอลในฉนวนกาซาที่ไม่มีการใช้ Agenda เจรจากับกลุ่มฮามาส เพราะยิ่งจะทำให้กลุ่มฮามาสใช้ความรุนแรง จับตัวประกันเพื่อต่อรองการเจรจา แต่กองทัพอิสราเอลใช้การรุกคืบสร้างพื้นที่ปลอดภัยขยายวงขึ้นไปทางเหนือของฉนวนกาซา และประกาศให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องอพยพลงมาทางใต้ด้านติดกับประเทศอียิปต์ เพื่อตัดการสนับสนุนกลุ่มฮามาส
ดังนั้น ข้อสรุปของผมคือการพูดคุยกับกลุ่มก่อการร้ายต้องใช้ Area มากกว่า Agenda โดยตกลงให้ใด้พื้นที่ปลอดภัยก่อน เพราะสิ่งที่คณะพูดคุยฯ ชุดปัจจุบันไปตกลงใน Agenda ที่เป็นหลักการ 3 ข้อ แต่ยังไม่รู้ว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร และน่าเสียดายที่รัฐบาลยังสนับสนุนแนวคิดนี้ว่าเป็นความสำเร็จของการพูดคุยฯ ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้วยังเกิดความรุนแรงต่อเนื่องทุกครั้งที่มีการพูดคุยฯ”
เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.อักษรา ลงวันที่ในเอกสารที่เผยแพร่เอาไว้ว่า เขียนและเสนอตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จึงเป็นการแสดงความเห็นตั้งแต่ก่อนที่ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา และสื่อกระแสหลักอื่นๆ จะนำเสนอเรื่่องนี้จนเป็นข่าวและข้อถกเถียงขยายวงกว้างในสังคม