โครงการ “โคบาลชายแดนใต้” งบกว่า 1,566 ล้าน ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” เกาะติดมาไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์นั้น วันนี้เดินทางมาสู่ปัญหาใหม่แล้ว
นั่นก็คือ “โค” ที่เคยถูกชาวบ้านร้องเรียนว่า “ไม่ตรงปก” เริ่มทยอยป่วย และอาการหนักใกล้ตาย
สรุปปัญหาของโครงการโคบาลชายแดนใต้ เท่าที่ “ทีมข่าว” เคยนำเสนอและรวบรวมเอาไว้ มีดังนี้
1.โคไม่ตรงปก เป็นข้อร้องเรียนสำคัญที่สุดจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคหลายกลุ่มในจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นโครงการนำร่องช่วงแรกของ “โคบาลชายแดนใต้”
“โคไม่ตรงปก” คือ น้ำหนักไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ 160 กิโลกรัมขึ้นไป โดยโคที่ได้รับจริง บางส่วน เกษตรกรอ้างว่าผอมแห้งแรงน้อย เห็นซี่โครง ก้นเล็ก ไม่อวบอ้วนตามน้ำหนักที่อ้าง ไม่สมราคาตัวละ 17,000 บาท
2.ไม่ไดัรับบัตรประจำตัวสัตว์ หมายถึงไม่ได้รับทันทีที่ได้รับโค ทำให้ไม่ทราบว่าโคผ่านการฉีดวัคซีนมาหรือยัง ป่วยเป็นโรคอะไรหรือไม่ มีประวัติอย่างไร
3.โคบางส่วนมีอาการป่วย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเสี่ยงระบาด กลายเป็นโรคระบาดสัตว์ในพื้นที่
4.โคอ่อน คาดว่าอายุไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ ทำให้ผสมพันธุ์ไม่ได้ ต้องเสียเงินขุนอีกจำนวนมาก และต้องรอเวลากว่าจะติดลูก (ยิ่งช้ายิ่งเปลือง) ทำให้ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป ซึ่งเป็นเงินกู้จาก “กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร” สุดท้ายผู้รับภาระคือเกษตรกร
5.กลุ่มเกษตรกรที่จังหวัดสตูล ได้รับโคล่วงหน้าเป็นปี แต่สุดท้ายไม่ได้เข้าร่วมโครงการ จึงเหมือนเสียเงินเปล่า เลี้ยงฟรี และมีคำถามว่าเหตุใดเอกชนผู้ประกอบการจึงกล้าส่งโคให้ เหมือนรู้ล่วงหน้าว่าจะได้รับเลือกเป็นคู่สัญญากับเกษตรกร
6.สาเหตุที่กลุ่มเกษตรกรไม่ได้ร่วมโครงการ เพราะที่ดินที่ใช้สร้างคอกกลาง หรือแปลงอาหารโค อยู่ในเขตป่าสงวน หรืออุทยานแห่งชาติ ไม่ใช่บนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ผิดเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งมีปัญหาหลายกลุ่ม หลายพื้นที่
7.เอกชนที่เป็นคู่สัญญามีเพียงรายเดียว แต่ต้องส่งโคนับหมื่นตัว คำถามคือเอกชนมีโคมากขนาดนั้นจริงหรือไม่
8.มีการตั้งคำถามถึง “ที่มาของโค” ว่าเป็น “โคไทย” ทั้งหมดหรือเปล่า (นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตั้งคำถาม)
จากสภาพปัญหาที่พบ ปัญหาหนักสุดยังคงเป็น “โคไม่ตรงปก” ซึ่งเอกชนผู้ประกอบการรับว่าจะเปลี่ยนตัวโคให้ แต่ยังล่าช้า ทั้งกระบวนการรับโคกลับไป และส่งโคตัวใหม่กลับมา
ล่าสุดปัญหาบานปลาย เพราะโคเริ่มป่วยและใกล้ตาย หากปล่อยให้โคตาย จะเป็นการ “ตายเอง” ไม่ใช่ “เชือดทิ้ง” แบบครั้งก่อน ทำให้คนมุสลิมบริโภคไม่ได้ ต้องนำไปแจกจ่ายใหัคนพุทธ
@@ ป่วย-ท้องป่อง-ไม่ตั้งท้อง ยิ่งเลี้ยงยิ่งจน
มะนาเซ มะลี ประธานกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคทาชิมะ บ้านบูวะห์ หมู่ 3 ตำบลกระเสาะ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เล่าว่า ไม่กี่วันก่อน มีโคในโครงการอีก 1 ตัว ล้มแล้วลุกไม่ขึ้น พยายามยกขึ้น แต่ก็ไม่ขึ้น ได้พยายามปรึกษาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ แต่ก็ช่วยไม่ไหว ก่อนหน้านี้โคเคยล้ม จนได้รับคำแนะนำให้เชือดไป 2 ตัวแล้ว และยังไม่ได้รับโคชดเชย ต่อมามีโคล้มอีก 1 ตัว เป็นตัวที่ 3
สภาพโคที่ล้ม คือ ไม่กินอาหาร ท้องป่อง นอนนิ่งทั้งวัน ทางสมาชิกกลุ่มเกษตรกรก็ดูแลอย่างเต็มที่ และได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ว่า จะผ่าพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุที่โคป่วย
มะนาเซ บอกด้วยว่า กลุ่มผู้เลี้ยงโคของตน เหลือโค 48 ตัว ส่วนใหญ่ไม่ตรงปก จึงอยากทราบว่าผู้ประกอบการ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. จะรับผิดชอบอย่างไร เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มทุกวัน รวมๆ แล้ว ทั้งค่ากิน ค่าหญ้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ หมดไปถึง 69,300 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของโคทั้ง 48 ตัว ยังไม่มีตัวไหนตั้งท้อง
@@ สัญญาหรู สวนทางสภาพโค?
เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกสารสัญญาซื้อขายโคในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” กำหนดคุณลักษณะของ “โคเนื้อเพศเมีย” ในโครงการอย่างชัดเจน มีเงื่อนไขรวม 10 ข้อ
เช่น เป็นโคเนื้อเพศเมีย พันธุ์พื้นเมือง หรือลูกผสมพื้นเมือง, มีอายุระหว่าง 1-3 ปี ตรวจสอบจากฟันแท้ไม่เกิน 2 คู่, น้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 160 กิโลกรัม, มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งพิการ, มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ บัตรประจำตัวสัตว์, ได้รับการขึ้นทะเบียนสัตว์ตามระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติของกรมปศุสัตว์ ในวันส่งมอบ เป็นต้น
ประเด็นที่กลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มร้องเรียนก็คือ วันที่รับมอบโค ไม่ได้รับ “บัตรประจำตัวสัตว์” และไม่มี “เครื่่องชั่งน้ำหนักโค” ที่หน้าฟาร์ม จึงไม่สามารถตรวจสอบที่มาของโค, ประวัติการฉีดวัคซีน และน้ำหนักโคที่แท้จริงได้ ทั้งยังถูกกดดันให้เซ็นรับโคไปก่อน ค่อยว่ากัน ซึ่งเกษตรกรไม่มีใครกล้าปฏิเสธ เพราะหากทำตัวมีปัญหา จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่อีกเลย ทำให้ทุกคนต้องจำยอม
@@ อายุโคเท่ากันเป๊ะ น้ำหนักใกล้กันหมด!
กลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่ม ไม่ได้รับ “บัตรประจำตัวสัตว์” ซึ่งเป็นบัตรที่จะบอกที่มาของโค ทั้งแหล่งที่เกิด สายพันธุ์ อายุ ประวัติการป่วย ประวัติการรับวัคซีน ผลการตรวจร่างกาย และการเคลื่อนย้ายขนส่ง
แต่กลุ่มเกษตรกรได้รับเอกสารรวมๆ ในสัญญาซื้อขาย ที่ระบุถึงอายุโค และน้ำหนัก
เมื่อไล่ดูเอกสาร จะพบว่าโคทุกตัวระบุอายุเท่ากันหมด คือ 2 ปี และมีน้ำหนักไล่เลี่ยกันมาก คือ 160-165 กิโลกรัม แต่ส่วนใหญ่น้ำหนักจะ 162 กิโลกรัมเท่าๆ กัน
ประเด็นนี้แม้แต่ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ก็มองว่าเป็นพิรุธหรือไม่ มีการชั่งน้ำหนักจริงหรือเปล่า เหตุใดเมื่อลงไปตรวจสอบภายหลังที่ฟาร์มของเกษตรกร น้ำหนักโคจึงสวิงมาก กล่าวคือ โคบางตัวน้ำหนัก 98 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งโคไม่น่าจะผอมลงได้มากมายขนาดนี้
@@ เปิดเงื่อนไขเปลี่ยนโค
เงื่อนไขตามเอกสารสัญญาซื้อขาย ข้อ 9 ถือว่าน่าสนใจ ระบุว่า ผู้ขายต้องรับประกันความเสียหาย นับตั้งแต่วันที่ผู้ซื้อได้รับมอบโคไว้แล้ว ดังนี้
ข้อ 9.1 กรณีโคบาดเจ็บ พิการหรือตาย ผู้ขายต้องรับประกันความชำรุดบกพร่องเป็นเวลา 30 วัน เนื่องจากการขนส่ง หรือตายด้วยโรคอื่นๆ โดยผู้ขายจะต้องดำเนินการเปลี่ยนโคตัวใหม่ที่มีคุณสมบัติไม่ต่ำกว่าเดิม ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ผู้ซื้อแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขายทราบโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น
9.2.กรณีที่โคป่วย ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบรักษาจนกว่าโคจะหายเป็นปกติ และหากโคตาย ผู้ขายจะเปลี่ยนโคตัวใหม่ที่มีคุณสมบัติไม่ต่ำกว่าเดิมภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ผู้ซื้อแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขายทราบโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น
นี่คือเงื่อนไขในสัญญา ซึ่งยังสรุปไม่ได้ว่าเอกชนผิดสัญญาหรือไม่ เพราะน่าจะยังอยู่ในกรอบเวลาการเปลี่ยนโค 60 วัน
แต่ปัญหาคือ ระยะเวลารับประกันที่ระบุไว้ 30 วันนั้น นับจากเมื่อใดแน่ วันที่โคตายเกินกรอบเวลา 30 วันหลังส่งมอบแล้วหรือยัง และการตายเกิดจากความชำรุดบกพร่องจากการขนส่ง หรือตายด้วยโรคอะไรหรือไม่ หากไม่ใช่ จะสามารถเปลี่ยนตัวโคได้หรือไม่
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป