ข้อถกเถียงเรื่องการสมควรยุบหรือไม่ยุบหน่วยงาน กอ.รมน. ยังคงเป็นประเด็นอยู่อย่างต่อเนื่อง
แต่ข้อพิจารณาที่รอบด้านและรอบคอบ จำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจที่มาขององค์กรแห่งนี้ในประเทศไทย กับระบบโครงสร้างงานความมั่นคงภายใน ว่าในโลกสากล หรือประเทศอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในงานด้านนี้ เขาดำเนินการกันอย่างไร
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อธิบายเรื่องนี้เอาไว้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน พร้อมข้อเสนอที่น่าสนใจ และย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องไฟเขียวให้นำร่างกฎหมายแก้ไขหรือยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เข้าไปพิจารณาถกเถียงกันต่อในสภา
โดยข้อเท็จจริง 7 ข้อเกี่ยวกับ กอ.รมน. ทั้งความเป็นมา และอนาคตที่ควรเป็นไป พล.ท.ภราดร อธิบายเอาไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
1. ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์จากสงครามเย็นในอดีต ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารในขณะนั้นนำไปเป็นมูลเหตุออกกฎหมายการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ฯ (พ.ศ.2495) เพื่อเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายทหารเข้าไปมีอำนาจหน้าที่บทบาทเป็นเจ้าภาพหลักในงานรักษาความมั่นคงภายในผ่านองค์กร กอ.รมน.
จนกระทั่งปี พ.ศ.2543 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ทำให้ทหารหมดบทบาทงานรักษาความมั่นคงภายในไป
2.ต่อมาในปี พ.ศ.2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจ มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทิ้งทวนออกกฎหมาย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.รมน.) ซึ่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย (จำนวนเสียงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่เข้าประชุมลงมติ ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง) แต่ก็ดันทุรังบังคับใช้กันมาได้จนถึงปัจจุบัน
ใน พ.ร.บ.นี้กำหนดให้มี กอ.รมน.เป็นหน่วยงานราชการรูปแบบเฉพาะขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดให้นายกฯ เป็น ผอ.รมน., ผบ.ทบ.เป็นรอง ผอ.รมน. และ เสธ.ทบ.เป็นเลขาธิการ กอ.รมน. ถือเป็นการนำฝ่ายทหารกลับมามีอำนาจหน้าที่บทบาทเป็นเจ้าภาพหลักในงานการรักษาความมั่นคงภายในอีกครั้งนั่นเอง
3.กฎหมายการรักษาความมั่นคงภายใน ถือเป็นกฎหมายตามแบบสากลที่มีบังคับใช้ในประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้วถ้วนหน้า ตัวแบบกฎหมายเป็นการให้อำนาจในการบูรณาการอำนาจหน้าที่ บุคลากร (พลเรือน ตำรวจ ทหาร) อาวุธยุทโธปกรณ์ และทรัพยากรอื่นๆ ในงานด้านความมั่นคง รวมทั้งการตั้งหน่วยงานพิเศษ หรือ “ศูนย์เฉพาะกิจ” ขึ้นมาเป็นเจ้าภาพตามความจำเป็นเพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามเดิมหรือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ อาทิ การก่อการร้ายสากล อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การฟอกเงิน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี โรคอุบัติใหม่ เป็นต้น
และจะกำหนดให้ฝ่ายพลเรือนและตำรวจเป็นผู้มีบทบาทเป็นเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบขับเคลื่อน แต่ของประเทศไทยกลับไปกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.รมน.ให้ฝ่ายทหารเป็นผู้มีบทบาทเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งไม่เป็นไปตามแบบสากลที่ปฏิบัติกัน
4.กฎหมายการรักษาความมั่นคงภายใน ถือเป็นเครื่องมือเติมเต็มให้กับหน่วยงานรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งฝ่ายพลเรือนและตำรวจต้องเป็นเจ้าภาพหลักตามอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของตนโดยตรงอยู่แล้ว และมีเครื่องมือนี้มาเสริมใช้บูรณาการการแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในให้บังเกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง
ขณะเดียวกันถ้าเกิดการเผชิญหน้ารับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ยังไม่อาจกำหนดได้ว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลก็สามารถใช้อำนาจของกฎหมายดังกล่าวจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ หรือ “ศูนย์เฉพาะกิจ” ขึ้นมารับมือเฉพาะหน้าไปก่อนได้ทันที และเมื่อสถานการณ์ความมั่นคงภายในนั้นคลี่คลายลง ก็มาพิจารณาภายหลังว่าจะมอบภารกิจนี้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานความมั่นคงเดิมใด หรืออาจจำเป็นต้องตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ขึ้นมารับผิดชอบ ก็พิจารณาตกลงใจดำเนินการกันต่อไป
5.งบประมาณสิบปีกว่า 1 แสนล้านบาทของ กอ.รมน.ได้สร้างผลงานการรักษาความมั่นคงภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คุ้มค่าหรือไม่
6.ผลการเลือกตั้ง สส.ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ปีกพรรคก้าวไกลรวมกับพรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะ มี สส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เหตุเพราะประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายที่หาเสียงไว้ว่า จะปฏิรูปกองทัพ สร้างทหารอาชีพ ยุบกอ.รมน. แต่มามีการ “เสียสัตย์” เกิดเป็นรัฐบาลข้ามขั้ว จึงมีการไม่รักษาสัญญาประชาคมเกิดขึ้น
7.บทสรุปจากข้อเท็จจริงข้างต้น การออกกฎหมายมายุบ กอ.รมน.ถือว่าเป็นเหตุเป็นผล ภารกิจการรักษาความมั่นคงภายใน หัวใจสำคัญต้องมอบให้พลเรือนและตำรวจเป็นเจ้าภาพผู้รับผิดชอบหลักตามหลักสากล โดยมีกฎหมายการรักษาความมั่นคงภายในเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานเหล่านั้น เพื่อมีอำนาจหน้าที่ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนทางทหาร ต้องถอยจากการเป็นเจ้าภาพหลักของภารกิจการรักษาความมั่นคงภายใน ไปมีบทบาทตามการปฏิรูปกองทัพ เป็นทหารอาชีพ เป็นเจ้าภาพหลักรับผิดชอบภารกิจการป้องกันประเทศ