ท่ามกลางข้อถกเถียงว่าควรยุบหรือไม่ควรยุบ กอ.รมน.
“ทีมข่าวอิศรา” คาดการณ์แนวโน้มขององค์กร “แมวเก้าชีวิต” แห่งนี้เอาไว้ 3 แนวทาง คือ
1.ถูกยุบ - เป็นไปได้ยาก
2.ปรับการทำงาน แต่ไม่เปลี่ยนโครงสร้างองค์กร - เป็นไปได้สูง ตามนโยบายรัฐบาลเศรษฐา
3.ปรับโครงสร้างใหม่ เป็นกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ในโมเดล Homeland Security หรือ กองอำนวยการพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังและทรัพยากร - มีบางฝ่ายเสนอ
แต่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ได้เสนอแนวทางการปฏิรูป กอ.รมน. เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังถกเถียงกันอยู่อย่างหน้าดำคร่ำเครียด แต่ไม่เห็นด้วยกับโมเดล Homeland Security
ข้อเสนอของอาจารย์สุรชาติ มีทั้งหมด 12 ข้อ
1.การปฏิรูป กอ.รมน. ต้องคิดคู่ขนานกับปัญหา 2 ภาคส่วน คือ การปฏิรูประบบงานความมั่นคงของประเทศ และการปฏิรูปกองทัพ
2.การปฏิรูปอาจต้องตอบคำถามในเบื้องต้นถึงการจัดบทบาทและภารกิจองค์การความมั่นคงของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับบทบาทของสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ซึ่งดำเนินภารกิจผ่านสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นอีกหน่วยงานที่ต้องการการปฏิรูปอย่างมาก
3.ประเด็นสำคัญเฉพาะหน้าคือ การพิจารณาถึงสถานะขององค์กรในโครงสร้างความมั่นคงของประเทศ และควรเป็นการพิจารณาภาพรวม แบบไม่แยกส่วน
4.การปฏิรูปจะต้องไม่เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การจัดตั้งกระทรวงใหม่ เช่น ข้อเสนอในการจัดตั้ง “กระทรวงความมั่นคงภายใน” หรือในแบบของ “Department of Homeland Security” ของสหรัฐอเมริกา
5.การจัดตั้งกระทรวงความมั่นคงภายใน อาจเป็นภาระด้านงบประมาณ และอาจไม่มีความจำเป็นเช่นในแบบของสหรัฐ เนื่องจากรัฐบาลอเมริกันไม่มีส่วนงานความมั่นคงภายในเช่นในแบบไทย การจัดตั้งดังกล่าวอาจนำไปสู่ความซ้ำซ้อนของภารกิจ และเป็นปัญหาอีกแบบในอนาคต มากกว่าจะช่วยแก้ปัญหา
6.การปฏิรูปเฉพาะในส่วนของ กอ.รมน. นั้น ต้องตอบคำถามในเรื่องของ “บทบาทและภารกิจ” ในอนาคตให้ชัดเจน
7.การลดบทบาทบางส่วนเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับลดงบประมาณของ กอ.รมน. เป็นความจำเป็นสำหรับบริบททางการเมืองปัจจุบัน
8.การปรับลดภารกิจทางการเมืองบางประการเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ และต้องทำให้เกิดความชัดเจน อันจะช่วยลดความหวาดระแวงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมยุคปัจจุบัน
9.การจัดระดับและกำหนดสถานะขององค์กรมีนัยสำคัญว่า จะยังคงให้นายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน. ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากนายกฯ เป็นประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติอยู่แล้ว และ กอ.รมน. ไม่ใช่องค์กรนโยบายในระดับชาติ จึงไม่มีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นประธาน
10.การขยายองค์กรทั้งในส่วนของงบประมาณและบุคคลากร ตลอดจนความซ้ำซ้อนของภารกิจ ควรต้องนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศปัจจุบัน
11.ปัญหาบทบาทของ กอ.รมน.ในภาคใต้มีความจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาในกรอบของความสัมพันธ์ระหว่าง กอ.รมน., ศอ. บต., กองทัพภาคที่ 4 กับหน่วยงานความมั่นคงทั้งในส่วนของพลเรือน ตำรวจ และทหาร ตลอดรวมถึงกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
12.รัฐบาล กระทรวงกลาโหม และกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก อาจใช้โอกาสนี้เป็นจังหวะในการสร้างกรอบคิดในการปฏิรูปกองทัพ โดยมีประเด็น กอ.รมน.เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และคิดต่อไปถึงการปฏิรูประบบงานความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูป สมช.
อาจารย์สุรชาติ เสนอทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ควรพิจารณาในภาพกว้าง แทนการยึดติดอยู่กับการพิจารณาถึงปัญหา กอ.รมน. แบบเป็นเอกเทศ เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานความมั่นคงทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะในส่วนของฝ่ายทหารเท่านั้น!