เป็นที่น่าสังเกตว่า “รัฐบาลเศรษฐา 1” เดินหน้าขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไป ทั้งๆ ที่เคยประกาศเอาไว้ว่าจะยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทันที ถ้าเข้ามามีอำนาจเป็นรัฐบาล
การขยายเวลา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ครั้งนี้ เป็นการต่ออายุครั้งที่ 73 แล้ว ตั้งแต่วันประกาศใช้ครั้งแรก เมื่อเดือน ก.ค.2548 เท่ากับว่าดินแดนแห่งนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินมานานกว่า 18 ปี โดยมีการต่ออายุขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายทุกๆ 3 เดือน มาถึง 72 ครั้ง
หลายคนเรียกว่า “ฉุกเฉินถาวร” ไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องแก้ไขให้เรียบร้อยอย่างเร่งด่วนอีกต่อไป
บางคนที่เป็นแฟนคลับพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ หรือแม้แต่พรรคก้าวไกล ฝ่ายค้าน อาจจะรู้สึกผิดหวัง เสียใจ เนื่องจากพรรคการเมืองเหล่านี้เคยหาเสียงเอาไว้อย่างหนักแน่นว่า จะยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษทั้งหมดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แถมด้วยการยุบ กอ.รมน. และ ศอ.บต. องค์กรพิเศษดับไฟใต้ที่ทำภารกิจนี้มาหลายรัฐบาล แต่ไฟใต้ก็ไม่ดับมอดเสียที โดยหากยังไม่ยุบ ก็จะปรับภารกิจใหม่แบบยกเครื่อง
แต่เมื่อเริ่มตั้งรัฐบาล เริ่มทำงาน และมีอำนาจเต็มในฐานะฝ่ายบริหาร นอกจากรัฐบาลจะไม่เลิกกฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับแล้ว ยังขยายเวลา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ต่อไปอีก 1 เดือนด้วย
จริงๆ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล เพราะที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นประธาน ได้มีมติต่ออายุขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอาไว้ก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันที่ 28 ส.ค.66 ก่อนที่ “รัฐบาลลุงตู่” จะพ้นหน้าที่ไป และส่งมติ กบฉ.ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
รัฐบาลเศรษฐา 1 จึงไม่มีทางเลือกอื่นใด หากจะไม่ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปตามที่ กบฉ.เสนอ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เนื่องจากจะเกิด “สุญญากาศทางกฎหมาย” เพราะพื้นที่ที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว รวม 10 อำเภอ (ต่ออายุครั้งนี้ เพิ่มเป็น 11 อำเภอ) จะมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาบังคับใช้แทน ซึ่งต้องมีการทำประกาศกำหนด “พื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” เสียก่อน ไม่ได้สลับมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ได้ตามอัตโนมัติทันที
เหตุนี้เอง รัฐบาลจึงขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แค่ 1 เดือน ไม่ใช่ 3 เดือนเหมือนกับที่ต่ออายุมา 72 ครั้งที่ผ่านมา
ฉะนั้นจึงน่าเชื่อว่า “มีสัญญาณดี” ในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันยังบังคับใช้อยู่ 22 อำเภอจากทั้งหมด 33 อำเภอ
แต่ดินแดนแห่งนี้จะหลุดพ้นจากกฎหมายพิเศษแบบ 100% เลยหรือไม่ ต้องตอบว่า “ยาก” เพราะแม้แต่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเคยหาเสียงไว้ว่าจะยกเลิกกฎหมายพิเศษทั้งหมดในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็ยังให้สัมภาษณ์ล่าสุดยอมรับทำนองว่า อาจจะต้องเปลี่ยนจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน ซึ่งก็คือ “กฎหมายพิเศษ” เช่นกัน แต่มีดีกรีอ่อนกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้นเอง
อนึ่ง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเขตปกครองระดับอำเภอทั้งสิ้น 33 อำเภอ แบ่งเป็น จ.ปัตตานี 12 อำเภอ จ.นราธิวาส 13 อำเภอ และ จ.ยะลา 8 อำเภอ ที่ผ่านมามีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทดแทนไปแล้ว 11 อำเภอ ประกอบด้วย
จ.นราธิวาส 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน
จ.ปัตตานี 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ยะหริ่ง อ.มายอ อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ อ.แม่ลาน (อำเภอแรกที่ยกเลิกในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
จ.ยะลา 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เบตง และ อ.กาบัง
แต่การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในรูปแบบทยอยยกเลิกเป็นรายอำเภอเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงหลายรายมองว่า ไม่ได้ช่วยคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษเพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนมากกว่ากฎหมายปกติทั่วไป
เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังมีกฎหมายพิเศษฉบับอื่นรองรับการปฏิบัติหน้าที่อยู่ โดยเฉพาะ “กฎอัยการศึก” ที่ไม่ได้ยกเลิกและยังมีการ “กั๊ก” ไม่เลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในบางอำเภอที่ฝ่ายความมั่นคงมีค่ายทหารและเปิดเป็น “ศูนย์ซักถาม” หรือ “ศูนย์ควบคุมตัว” ที่ไม่ใช่ห้องขัง ซึ่งถูกมองว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิผู้ถูกควบคุมตัว