เห็นโฉมหน้า “ครม.เศรษฐา 1” แล้ว คุณผู้อ่านคงคิดไม่ต่างจากผม
1.ความจำเป็นทางการเมือง ทำให้รัฐบาลผสมไม่สามารถจัดตัวรัฐมนตรีได้ตามความรู้ความสามารถ และเนื้องานที่รับผิดชอบ เรียกว่าไม่มี put the right on the right job หรืออาจจะพูดได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นการ put the wrong man on the right job หนำซ้ำบางคนยังอาจถึงขั้น …on the wrong job เลยด้วยซ้ำ
2.การแบ่งกระทรวงยังเน้นเรื่องผลประโยชน์ เม็ดเงินงบประมาณ อำนาจหน้าที่ที่ส่งผลต่อคะแนนนิยม และการเลือกตั้งครั้งต่อไป รวมถึงการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ตลอดจนการมุ่งเน้นเรื่องชื่อเสียง หน้าตา มีการแบ่งเกรดกระทรวงตามคุณลักษณะนี้ ไม่ใช่แบ่งตามสภาพเนื้องาน
3.รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเดินหน้าเต็มสูบ มุ่งนโยบายประชานิยม หวังสร้างความนิยมให้ประชาชนให้ได้ แต่เป็นประชานิยมแบบเก่า คือเน้นเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ราคาน้ำมัน ราคาแก๊ส ราคาเชื้อเพลิง ราคาสินค้า ด้วยการ “ลดราคาให้แบบเฉพาะหน้า” แต่ไม่ได้ปรับแก้หรือรื้อโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคและประชาชนอย่างยั่งยืน
ดูจากนโยบายที่จะทำทันทีในการประชุม ครม.นัดแรก คือ ลดค่าไฟฟ้า และลดราคาน้ำมันดีเซล หรือแผนการเตรียมแจกเงินครั้งมโหฬาร 10,000 บาทก่อนสงกรานต์ปีหน้า รวมทั้งขึ้นค่าแรงแบบกระชากคะแนนนิยม
ทิศทางการดำเนินนโยบายแบบนี้ ชัดเจนว่าจะมุ่งเน้น “ประชานิยม” เป็นหลัก มีทั้ง “แจกตรงๆ” และบริหารจัดการเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ทั้งค่าไฟ ราคาน้ำมัน
แต่สังเกตดีๆ จะเห็นว่าเป็นแค่การบริหารตัวเลข ลดภาษี หรือนำเงินตรงโน้นมาแปะตรงนี้ ผลก็คือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะสั้น และจะสร้างคะแนนนิยมในช่วงต้นของการเข้าเป็นรัฐบาล คล้ายๆ กับว่าเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา ก็เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นทันที ทั้งที่จริงๆ แล้วประชาชนได้รับแค่ “เศษเงิน”
สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ การแก้ปัญหาแบบนี้ คือการแก้แบบเฉพาะหน้า ไม่ใช่การแก้ที่โครงสร้าง สมมติอีก 3 เดือนข้างหน้าเกิดวิกฤติราคาพลังงานจากปัจจัยภายนอกประเทศ ราคาก็จะกลับมาแพงมหาโหดเหมือนเดิม
ต้องเข้าใจว่าประชาชนไม่ได้โง่ที่จะไม่รู้ว่า มีปัจจัยภายนอกอะไรบ้างที่กระทบกับราคาพลังงาน แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการคือการคิดคำนวณราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
ยกตัวอย่าง นโยบายแรกที่จะทำของรัฐบาลคุณเศรษฐา คือลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหน้าปั๊ม แต่กลับไม่มีการพูดถึงโครงสร้างราคาที่มีการวิจารณ์กันมานานว่า เอาเปรียบประชาชน
หลายเรื่องยังไม่มีคำตอบว่าทำไมต้องทำแบบนั้น เช่น การอ้างอิงราคาจากสิงคโปร์, ตัวเลขราคาน้ำมันดิบซึ่งถูกมาก แต่พอเป็นน้ำมันสำเร็จรูปหน้าปั๊มกลับแพงมาก ทั้งๆ ที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันด้วย หรือแม้แต่ความลักลั่นของราคาที่ปรับขึ้นกับปรับลด ขึ้นทีละ 60 สตางค์ แต่ลดทีละ 30 สตางค์ ราคาน้ำมันโลกลดนานแล้ว แต่ทำไมราคาน้ำมันบ้านเราไม่ลด ฯลฯ
หรือเรื่องค่าไฟฟ้า ยังไม่มีการพูดถึงการรื้อสัมปทานโรงไฟฟ้า การที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบต้นทุนปริมาณไฟฟ้าส่วนเกิน เพราะแจกสัมปทานให้ผลิตมากเกินไป จนเสี่ยบางคนผงาดขึ้นเป็นเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศ
นี่คือความต่างระหว่างการกำหนดนโยบายประชานิยมที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า กับการรื้อโครงสร้างที่แก้ปัญหาได้ระยะยาว ซึ่งพรรคก้าวไกลหาเสียงเอาไว้ แต่กลับไม่ได้พิสูจน์ฝีมือว่าทำได้จริงหรือไม่
ส่วนรัฐบาลเพื่อไทย คาดการณ์ได้เลยว่าทำไม่ได้ เพราะนายทุนพลังงานซึ่งเกี่ยวข้องทั้งราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้า มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้
4.การเมืองแบบนี้ ดูจะไม่ใช่ความต้องการของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความรู้ หรือรู้เท่าทันการเมือง เพราะเป็นการเมืองแบบเอื้อกลุ่มทุน ประชาชนเป็นได้แค่ลูกจ้าง
ยกตัวอย่าง เรามักได้ยินนักการเมืองพูดเสมอว่าต้องส่งเสริมให้นักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุน แล้วรัฐบาลก็จะมีนโยบายลด แลก แจก แถม ยกเว้นภาษี หรืออะไรก็ตามที่สนับสนุนให้เกิดการผูกขาดตลาด หรือทุนใหญ่ครอบครองตลาด
อย่างการเปิดร้านสะดวกซื้อ หากคิดแบบเก่าก็จะบอกว่า ให้ทุนใหญ่เปิดร้านเยอะๆ ยิ่งดี ประชาชนจะได้มีงานทำ เป็นลูกจ้างร้านสะดวกซื้อ โดยไม่ได้สนใจว่าการปล่อยให้ “ทุนใหญ่” ขยายร้านอย่างเสรีโดยไม่มีกติกาปกป้อง “รายเล็ก” ทำให้เกิดการเอาเปรียบและทำลายธุรกิจรากหญ้าทุกรูปแบบ
แต่การคิดใหม่ หรือความต้องการของคนรุ่นใหม่ คือ เรียนจบมาแล้วไม่ใช่เป็นได้แค่ลูกจ้าง แต่ต้องเป็นเจ้าของกิจการได้ และแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมได้ด้วย หากมีจุดเด่นมากพอที่จะดึงลูกค้า แม้จะเป็นรายเล็กก็ตาม
การเมืองแบบใหม่จึงมุ่งล้มทุนผูกขาด แล้วเปิดโอกาสให้ “คนตัวเล็ก” หรือ “ประชาชนทั่วไป” ทำการผลิตหรือ “นวัตกรรม” ที่มีพื้นที่และมีตลาดให้ตัวเองสามารถเป็นผู้ประกอบการและยืนอยู่ได้ โดยไม่ถูกทุนใหญ่เอาเปรียบ หรือทุ่มตลาดจนรายเล็กล้มหายตายจากไปหมด
การเมืองแบบใหม่จึงพูดเรื่องสิทธิ เรื่องประชาธิปไตย เรื่องเศรษฐกิจเสรีที่แข่งขันอย่างเท่าเทียมจริงๆ และต้องมีพื้นที่สร้างนวัตกรรม เพราะคนรุ่นใหม่หากินเองได้ ใช้โซเชียลมีเดียสร้างรายได้ เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ สร้างนวัตกรรมเองได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกจ้างทุนใหญ่ไปตลอด
5.การเมือง 2 รูปแบบ 2 แนวคิดนี้ จะปะทะกันแรงขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะเดิมพันสูงที่สุดว่าใครจะอยู่ใครจะไป
“เพื่อไทย” เป็นตัวแทนฝ่ายประชานิยม ซึ่งกำลังถูกมองว่าเป็น “ยาขม” ไม่ใช่ “ยาหอม” เป็นเหมือนลูกกวาด ขนมหวานที่อร่อยดี แต่กินมากแล้วทำลายสุขภาพ ทำให้ร่างกายทั้งร่าง (ประเทศ) เจ็บป่วย อ่อนแอ แข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้
“ก้าวไกล” เป็นตัวแทนฝ่ายอุดมการณ์ใหม่ ซึ่งกำลังถูกมองว่าเป็น “ของจริง” สร้างความยั่งยืนได้มากกว่าประชานิยม เป็น “ยาหอม” ที่ปลุกร่างกายจากความมึนงงใกล้สลบให้ฟื้นขึ้นมา แต่กลับไม่ได้ทดลองทำงานหรือขับเคลื่อนนโยบายของตน
ผมเองไม่ได้สนับสนุนพรรคก้าวไกล และไม่ได้เชื่อว่าสิ่งที่พรรคเขาเสนอจะสามารถทำได้ทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่า เจตจำนงที่ชัดเจนทางการเมือง มันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยก็ได้พยายาม
เห็นได้ชัดจาก “กองทัพ” ที่พยายามปรับตัวอย่างมากเมื่อผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.ประกาศออกมา (ก้าวไกลชนะ) มีประชุมเรื่องลดจำนวนนายพล เรื่องแนวทางการยกเลิกเกณฑ์ทหาร และปฏิรูปตัวเองด้านโน้นด้านนี้แทบทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ก้าวไกลเข้าไปรื้อโครงสร้างของกองทัพทั้งหมด นี่คือตัวอย่าง
แม้ผลมันจะไม่ได้เกิดขึ้นแบบอุดมคติทันที แต่การเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดแน่ และได้เกิดขึ้นแล้ว
แต่เจตจำนงแบบนี้หาไม่ได้เลยจาก 11 พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไทย!
และสภาพการณ์แบบนี้จะเกิดหนักขึ้น รุนแรงขึ้น เมื่อเราได้เห็นปรากฏการณ์ของคุณทักษิณ และแผนปรองดองแห่งชาติที่กำลังจะตามมา เป็นการปรองดองของชนชั้นนำและกลุ่มทุนใหญ่ที่ครอบครองประเทศอยู่เดิม
ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงก็คือสตัฟฟ์ประเทศเอาไว้แบบนี้ และสกัดก้าวไกลไม่ให้เข้ามามีอำนาจนั่นเอง!
-----------------
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้นำเสนอในคอลัมน์โหมโรง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 4 ก.ย.2566 ด้วย