ปรากฏการณ์ “ด้อมการเมือง” ของพรรคส้ม เปิดปฏิบัติการไล่ล่าบรรดา ส.ว.ที่ไม่ยอมโหวตสนับสนุนคุณพิธา รวมถึงตามถล่ม กกต.ที่ถูกมองว่าเตะตัดขาว่าที่นายกฯของคนรุ่นใหม่ ลุกลามไปถึงคนในครอบครัว และธุรกิจของคนเหล่านั้น ทำให้ประเด็น “ทัวร์ลง” หรือที่เรียกกันในทางวิชาการว่า Cancel Culture ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง
โดยเฉพาะในแง่ของความเหมาะควร ขอบเขตของการรณรงค์ต่อต้าน ตลอดจนผลร้ายที่กำลังเกิดตามมา
แต่ปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรม “พาทัวร์ไปลง” ไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับปัจเจกชน หรือคู่ขัดแย้ง ตลอดจนครอบครัวของพวกเขาเท่านั้น แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือ อารมณ์ทางการเมืองที่ถูกปลุกเร้าจากโซเชียลมีเดียที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของผู้คนซึ่งเสพติดอยู่กับสื่อสังคมออนไลน์เกือบจะตลอดเวลาตั้งแต่ลืมตื่น
อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร อธิบายแง่มุมเหล่านี้เอาไว้อย่างน่าสนใจและน่ากังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การเมืองไทย ณ ปัจจุบัน
ด้อมการเมือง : เมื่อผู้ล่ากำลังถูกไล่ล่า
ทันทีที่ผลการโหวตนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามความคาดหมาย และคุณพิธาไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจากการโหวตครั้งแรก ความร้อนแรงบนโซเชียลมีเดียที่คุกรุ่นตลอดหลายวันที่ผ่านมาเริ่มกลายเป็นความเผ็ดร้อน รุนแรง ด้วยถ้อยคำสารพันที่จะสรรหามาแสดงออก
เพราะผลที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปดังใจของกองฝ่ายกองเชียร์คุณพิธา แม้ว่าคุณพิธาเองจะยอมรับในผลการโหวตแล้วก็ตาม จนนำไปสู่การโจมตีทั้งกลุ่ม ส.ว.ส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นชอบและงดออกเสียง ตลอดจนโจมตีการทำงานของ กกต.ที่อาจทำให้คุณพิธาขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่มีการสดุดี ส.ว. ส่วนหนึ่งที่โหวตเห็นชอบให้กับคุณพิธา
@@ อารมณ์ทางการเมืองกับความผิดหวัง
ภาพของ ส.ว. ชุดปัจจุบันที่ถูกสร้างภาพให้เป็นผู้ร้ายมาตั้งแต่ต้น และการทำงานของ กกต.ที่ดูเหมือนจะขัดอกขัดใจกองเชียร์และขัดผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองของพรรคการเมือง ส่งผลให้โลกโซเชียลฯร้อนระอุและถึงจุดแตกหักในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จนถึงขั้นแฟนคลับพรรคก้าวไกลมีการนำข้อมูลกิจการของ ส.ว. หรือคนในครอบครัว ส.ว.ที่ลงคะแนนไม่เห็นชอบและงดออกเสียง มาแขวนเพื่อโจมตีและแบนธุรกิจ
บางรายถึงกับระบุพิกัดให้ขนทัวร์ไปลง อาทิ ธุรกิจปั๊มนํ้ามัน คลินิกของลูก ส.ว. ร้านอาหาร ตลาด โรงพยาบาลสัตว์ ร้านขายรองเท้า ทีมฟุตบอล เป็นต้น โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้มีที่ยืนในสังคม ขณะบางส่วนได้นำข้อมูลเงินเดือน และค่าสวัสดิการต่างๆ ของ ส.ว.มาเปิดเผย
แม้แต่ ส.ว.บางรายที่เดินทางไปต่างประเทศ ก็ยังโดนโจมตีด้วย
นอกจากนี้ธุรกิจในครอบครัวของ 5 กกต.ก็ยังถูกขุดขึ้นมาแขวนล่อเป้า รวมทั้ง นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่ลุกขึ้นอภิปรายนายพิธา และประกาศขวางการแก้ไขมาตรา 112 อย่างดุเดือดเมื่อวันลงคะแนน ก็ถูกขุดประวัติของครอบครัวมาถล่มเช่นเดียวกัน (อ้างอิง 1)
การแสดงออกทางการเมืองบนโลกโซเชียลฯ ด้วยอารมณ์ขุ่นมัวและโกรธแค้น จึงสามารถนำไปสู่ภาวะ "สูญเสียความยับยั้งชั่งใจบนโลกออนไลน์" (Online disinhibition effect) อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ทำให้เกิดการแสดงออกที่เกินความพอดี และมีการโจมตีตัวบุคคลที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท หรือนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอ ร์ซึ่งมักจบที่การฟ้องร้องดำเนินคดีห รือถูกปรับดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วนับไม่ถ้วน
การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Online bullying) ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งรูปแบบใหม่ที่มากับโลกอินเทอร์เน็ตและเป็นสิ่งที่คนปกติทั่วไปไม่พึงปรารถนา
@@ พฤติกรรม “ด้อมการเมือง”
การแสดงออกทางการเมืองของเหล่าบรรดาแฟนคลับทางการเมือง ที่ถูกเรียกกันในระยะหลังว่า “ด้อมการเมือง” ซึ่งมักติดตามกิจกรรมทางการเมืองและตัวนักการเมืองบางคนที่ทำตัวเหมือน “นักการเมืองแบบเซเลบริตี้” (Celebrity Politics) อย่างใกล้ชิด นักการเมืองประเภทนี้มีบุคลิกสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่ออารมณ์คนติดตามได้ดี มีภาพลักษณ์ที่ดี คำพูดคมๆ การสร้างตัวตนที่สะท้อนถึงการเป็นคนร่วมสมัย เอาใจคนรุ่นใหม่และต่อต้านกระแสสังคมโดยรวม (อ้างอิง 2)
นักการเมืองเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นนักแสดงทางการเมืองจนกลายเป็นนักการเมืองที่มีความ ”แตกต่าง” จากนักการเมืองในอดีตจนได้ใจคนบางกลุ่ม ทำให้ด้อมการเมืองบางคนถึงกับอุทิศทั้งชีวิตเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองของเซเลบการเมืองบางคนได้อย่างหมดหัวใจ และถึงขั้นฟูมฟายรํ่าไห้ตีอกชกตัวด้วยความผิดหวังอย่างรุนแรงเมื่อผลโหวตคุณพิธาไม่ผ่านในรอบแรก
พฤติกรรมที่แสดงออกของด้อมการเมืองเหล่านี้จึงมีความเป็นไปได้ที่เกิดจากการผูกติดอารมณ์ทางการเมืองของตัวเองเข้ากับอารมณ์ที่ชื่นชมความเป็นเซเลบของนักการเมือง จนต้องแสดงออกถึงความรู้สึกและอารมณ์เดือดดาลจากความผิดหวังของผลทางการเมืองที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วการแสดงออกเหล่านี้เป็นธรรมชาติของคอการเมืองที่เกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งในโลก และผู้คนสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกถึง ความชอบ ความไม่ชอบ ความสงสัยหรือตั้งคำถามได้บนโซเชียลมีเดียอย่างแทบไม่มีข้อจำกัด
แต่การใช้โซเชียลมีเดียโจมตีบุคคลและลามปามไปถึงครอบครัวและบุพการีของบางคน จนไปถึงธุรกิจของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับตนเองนั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ หรือประชาธิปไตยแบบบ้านเราก็ตาม
เพราะการบังคับให้คนอื่นเชื่อหรือศรัทธาในอุดมการณ์ทางการเมืองในแบบที่ตัวเองเชื่อ และบังคับให้ผู้อื่นกระทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ รวมทั้งไล่ล่าผู้ที่ตนเองเห็นว่าเป็นศัตรูทางการเมืองนั้น เป็นพฤติกรรมที่ก็มิได้ต่างจากระบอบเผด็จการที่มักถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากตัวเองที่มักอ้างตนเองอยู่เสมอว่าเป็นประชาธิปไตยที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับพวกเผด็จการตลอดมา
นอกจากนี้พฤติกรรมดังกล่าวยังเป็นข้อบ่งชี้ถึงระดับความมีอารยะของผู้ใช้โซเชียลมีเดียของประเทศไทยได้ในระดับหนึ่งด้วย
@@ ควํ่าบาตรออนไลน์ วิชามารที่สังคมรังเกียจ
วัฒนธรรมการควํ่าบาตรออนไลน์ (Cancel culture) เป็นพฤติกรรมที่มาพร้อมๆ กับโซเชียลมีเดีย จากการฉวยโอกาสของคนบางคนในการใช้ศักยภาพของโซเชียลมีเดียโจมตีเพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามหรือบุคคลที่ตัวเองไม่ชอบ ทั้งบุคคลทั่วไปและบุคคลทางการเมือง เพื่อสนองต่อความผิดหวังและความไม่พอใจของพวกตัวเอง
ผลพวงทางการเมืองจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ทำให้บุคคลทางการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการโหวตก็ดี หรือบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ดี ล้วนเป็นเป็นเป้าหมายให้ด้อมการเมืองถล่มทั้งสิ้น
การควํ่าบาตรออนไลน์ต่อ ส.ว. หรือ กกต.จึงไม่ต่างจากการรุมประชาทัณฑ์โดยศาลเตี้ยที่ไม่มีผู้ตัดสิน ไม่มีขอบเขตของโทษหนักเบาหรือกระบวนการทางกฎหมายใดๆ รองรับ จากผู้ที่แสดงออกที่มีตัวตนและไม่ปรากฏตัวตน ซึ่งบางส่วนอ้างว่าเพื่อไม่ให้บุคคลเหล่านี้มีที่ยืนในสังคม เพียงเพราะไม่เข้าข้างตัวเองหรือทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ตัวเองคาดหวัง
วัฒนธรรมการรุมควํ่าบาตรออนไลน์จึงเป็นภัยต่อผู้คนที่ผู้โจมตีเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นการคุกคามและข่มขู่โดยใช้โลกไซเบอร์เป็นเครื่องมือ
การควํ่าบาตรออนไลน์นอกจากจะสร้างความเสื่อมเสียต่อผู้ถูกกระทำในวงกว้างแล้ว ยังลุกลามถึงขั้นทำลายอาชีพ ทำลายชื่อเสียง จิตใจ รวมถึง ทำลายชีวิตของผู้คนในที่สุดอย่างไม่เป็นธรรม โดยผู้ถูกโจมตีไม่มีโอกาสได้แก้ตัวหรือชี้แจง
การควํ่าบาตรออนไลน์ จึงเป็นมะเร็งร้ายของสังคมที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่มีอารยะอีกต่อไป เพราะพฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมเลวร้ายที่ควรถูกประณามมากกว่าการได้รับเสียงเชียร์หรือชื่นชมใดๆ
@@ การระบาดของอารมณ์ทางการเมือง
“โซเชียลมีเดีย” เป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้คนมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง เพราะโซเชียลมีเดียมักนำคอนเทนต์ที่เร้าอารมณ์เข้ามากวนใจผู้ใช้งานอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทางการเมืองและการโจมตีตัวบุคคลทางการเมือง มักดึงดูดความสนใจและสร้างอารมณ์ร่วมแก่ผู้คนตลอดมาทุกยุคสมัย
นักเทคโนโลยีและนักจิตวิทยาทางเทคโนโลยีมักมีคำถามอยู่เสมอว่า “โซเชียลมีเดีย” สามารถเป็นพาหะทางอารมณ์เหมือนกับพาหะอื่นๆ ที่สามารถแพร่เชื้อในโลกแห่งความจริงได้หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวได้ถูกไขโดยนักวิจัยจาก Facebook และมหาวิทยาลัย Cornell โดยนักวิจัยได้ร่วมกันทำการทดลองลดจำนวนของข้อมูลในทางลบ (Negative content) สำหรับผู้ใช้ Facebook บางกลุ่ม และลดจำนวนข้อมูลในทางบวก (Positive content) ของผู้ใช้ Facebook อีกกลุ่มหนึ่งบน News Feed ของ Facebook และทดสอบว่าการลดจำนวนข้อมูลเหล่านี้จะมีผลให้ผู้รับข้อมูลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการแสดงออกในทางบวกหรือทางลบต่อการโพสต์บน Facebook หรือไม่
OO ผู้วิจัยพบว่า เมื่อมีการลดการปลุกเร้าอารมณ์ทั้งทางบวกและทางลบของข้อมูลบน News Feed ของผู้ใช้ Facebook จะทำให้จำนวนคำโดยรวมที่ผู้ใช้โพสต์บน Facebook ลดลง ซึ่งหมายความว่าหากมีการปลุกเร้าทางอารมณ์ผ่านข้อมูลไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบก็ตาม จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ใช้ Facebook มีการโพสต์ข้อความมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อลดการปลุกเร้าทางอารมณ์ลง จำนวนคำของการโพสต์จะลดลง
OO ผู้วิจัยพบว่าเมื่อทำให้จำนวนข้อความทางบวกบน News Feed ของ Facebook ลดลง จำนวนเปอร์เซ็นต์ของข้อความในทางบวกบน Status update จะลดลง แต่จำนวนเปอร์เซ็นต์ของข้อความในทางลบกลับเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันเมื่อทำให้จำนวนข้อความในทางลบบน News Feed ลดลง จำนวนเปอร์เซ็นต์ของข้อความในทางลบบน Status update จะลดลงด้วย แต่จำนวนเปอร์เซ็นต์ของข้อความในทางบวกกลับเพิ่มขึ้น
การทดลองครั้งนี้พอจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า การแพร่กระจายทางอารมณ์จากการเสพข้อมูลบนโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นได้จริ และสามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วโดยการทำหน้าที่อย่างแข็งขันของอัลกอริทึมบนโซเชียลมีเดีย เพราะอัลกอริทึมสามารถควบคุม กำกับ คัดเลือกและส่งอารมณ์ทางบวกหรืออารมณ์ทางลบให้กับผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้ตลอดเวลา ดังนั้นการสร้างอารมณ์ร่วมบนโลกของโซเชียลมีเดียจึงเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมใดก็ตาม
การแสดงออกถึงอารมณ์ ความเครียด ขุ่นเคือง โกรธแค้น และผิดหวังทางการเมืองที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างมากมายหลังจากทราบผลการโหวตนายกรัฐมนตรี จึงสามารถระบาดได้อย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบต่างๆ นานา ทั้งด้วยการไล่ล่า ด่าทอ ให้ร้ายและพาดพิงถึงบุคคลอื่นในทางที่จะสร้างความเสื่อมเสียต่อบุคคลเหล่านั้นอย่างกว้างขวางดังปรากฏเป็นข่าวอยู่ทั่วไป
@@ ชีวิตทางการเมืองที่สุดขั้ว
ถึงวันนี้ยังไม่มีหลักฃฐานใดพิสูจน์ได้ว่า โซเชียลมีเดียคือต้นเหตุสำคัญในการทำให้เกิดการแบ่งข้างทางการเมืองมากน้อยเพียงใด เพราะการแบ่งข้างทางการเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งโซเชียลมีเดียยังไม่ถูกสร้างขึ้น แต่น่าเชื่อว่าโซเชียลมีเดียเป็นอาจเครื่องมือที่ช่วยเปิดทาง (Enable) ให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายง่ายขึ้น และทำให้มองเห็นตัวตนทางการเมืองของแต่ละกลุ่มชัดเจนขึ้น
การแบ่งขั้วของผู้คนโดยถือความเป็น “เขา” และความเป็น “เรา” ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลทางการเมืองของแต่ละคนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในทุกยุคสมัย และเป็นผลผลิตของการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทั้งในโลกแห่งความจริงและโซเชียลมีเดีย
นอกจากนี้พฤติกรรมที่แสดงออกโดยทั่วไปของผู้คนที่มักพบเป็นประจำคือ ชื่นชมต่อความเห็นทางการเมืองในกลุ่มก้อนของพวกเดียวกัน แต่ด้อยค่าความเห็นของกลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามเสมอ และเมื่อใดก็ตามที่การแสดงออกทางการเมืองของแต่ละฝ่ายปรากฏบนโซเชียลมีเดีย ความร้อนแรงจากการกระตุ้นด้วยเนื้อหาทางการเมืองจึงเกิดขึ้นและแพร่กระจายไปยังกลุ่มก้อนผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ใกล้ชิด (Strong ties) รวมทั้งคนรู้จักอื่นๆ ที่มีการเชื่อมต่อกันนอกวงเพื่อนสนิท (Weak ties) อย่างรวดเร็ว
ผลการศึกษาพบว่าการเกิดขั้วทางการเมืองจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งเริ่มรู้สึกและปฏิบัติต่อคนที่มีความเห็นทางการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับตนต่างออกไป และเพิ่มระดับ ความไม่ชอบ (Antipathy) ต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองมากขึ้น นักจิตวิทยามักเรียกการแบ่งขั้วทางการเมืองในลักษณะนี้ว่า การแบ่งขั้วทางอารมณ์ (Affective polarization) ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างขั้วหรือการต้องการเอาชนะกันในทางการเมืองอาจจะนำไปสู่อารมณ์ตึงเครียด เกิดการโต้ตอบจนกลายเป็นสงครามข้อมูลบนโลกโซเชียลฯ และอาจลุกลามกลายเป็นความรุนแรงได้เช่นกัน
ผลการศึกษาอีกชุดหนึ่งพบว่าคนในฝั่งการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกันมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ จะมองว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็น “พวกผู้ร้าย” เสมอ และที่น่าตกใจคือพบทัศนคติทางการเมืองที่เห็นว่าประเทศจะดีขึ้นถ้าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองตายไปเสียจากโลกนี้ (ผลการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา)
แนวความคิดเรื่องความรุนแรงและความเกลียดชังทางการเมืองเหล่านี้จึงมีโอกาสสร้างแรงกระตุ้นที่สามารถนำไปสู่ความรุนแรงในโลกแห่งความจริงไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางการเมืองแบบใดก็ตาม
@@ ด้อมการเมือง : ประโยชน์หรือหอกข้างแคร่
โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบใหม่ที่ง่าย ไม่ต้องลงทุนสูง สื่อสารได้รวดเร็วในแบบ Real time จนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองประสบความสำเร็จในหลายโอกาส ตั้งแต่การเชิญชวนคนเข้ามามีส่วนร่วม การเปลี่ยนใจผู้คนให้เลือกพรรคตัวเอง หรือแม้แต่ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม และสามารถสร้างคะแนนนิยมได้อย่างท่วมท้น
อย่างไรก็ตาม โซเชียลมีเดียคือพื้นที่ของ “ความไม่แน่นอน” ยากที่จะพยากรณ์ผลลัพธ์ และสามารถนำไปสู่ความแปรปรวน (Turbulence) ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง
ดังนั้นพรรคการเมืองที่ใช้นโยบาย Digital politics จึงมักต้องเผชิญความกดดันจากกองเชียร์ที่มักจะสร้าง “แรงกระเพื่อม” ที่อาจทำให้เกิดแรงกดดันต่อกลุ่มการเมืองได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลอย่างน้อยที่สุด 2 ประการ คือ
- การเล่นกับโซเชียลมีเดียเหมือนกับการเล่นกับอารมณ์ของคนหมู่มากซึ่งพร้อมที่จะนำเผือกร้อนมาโยนให้เป็นภาระในการแก้ปัญหาให้พรรคการเมืองอยู่ตลอดเวลา เป็น “มือที่มองไม่เห็น” และควบคุมไม่ได้ ซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนหรือทำลายทางการเมืองได้เสมอ
- นอกจากนี้การเล่นกับโซเชียลมีเดียคือการต้องเข้าไปเล่นกับข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองที่สามารถสร้างปัญหาให้กับพรรคการเมืองได้เช่นกัน
การที่ด้อมการเมืองออกอาการฟาดงวงฟาดงาไปยัง ส.ว. และ กกต.และครอบครัว ผ่านโซเชียลมีเดีย ย่อมไม่เกิดผลดีใดๆ เลย เพราะเป็นเสมือนการสร้างความปั่นป่วนและสร้างภาพลบจาก “มือที่มองไม่เห็น” ต่อพรรคการเมืองที่มีความคาดหวังว่าจะเข้ามาบริหารบ้านเมือง
เพราะพฤติกรรม ไล่ล่า ข่มขู่ ทำลายล้างธุรกิจของครอบครัวและธุรกิจของ ส.ว.และ กกต. หลังจากทราบผลการโหวตนายกรัฐมนตรี ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนที่จะมีการโหวตครั้งที่ 2 แทนที่จะเป็นผลดีต่อพรรคก้าวไกลและคุณพิธา แต่พฤติกรรมดังกล่าวกลับทำลายโอกาสในการได้รับไมตรีจาก ส.ว.และซํ้าเติมต่อภาพลักษณ์ของคุณพิธาและพรรคก้าวไกลเพียงเพราะความต้องการสนองอารมณ์ขุ่นเคืองของด้อมการเมืองเอง
ด้อมการเมืองจึงเป็นทั้งมือไม้ของพรรคการเมืองในช่วงเวลาหนึ่ง และสามารถกลายเป็นเครื่องมือที่ย้อนกลับมาทำลายพรรคการเมืองนั้นในอีกสถานการณ์หนึ่งได้ตลอดเวลา
และกรรมที่เกิดจากการไล่ล่าผู้อื่นจากอารมณ์ขุ่นเคืองทางการเมืองกำลังกลับมาสนองต่อผู้ล่าด้วยการเอาคืนของกลุ่ม ส.ว.ผู้ถูกล่าอยู่เช่นกัน
————————————
อ้างอิง
1. https://www.naewna.com/politic/743768
2. https://thestatestimes.com/post/2023071435
3. https://www.isranews.org/article/isranews-article/117498-isranews-144.html ความเห็นการเมืองคอนเทนต์แสลงใจในโลกไซเบอร์
4. https://www.isranews.org/article/isranews-article/118894-punsak.html ตั้งสติก่อนเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม
5. https://www.isranews.org/article/isranews-article/93202-social-3.html โซเชียลมีเดีย : จากแหล่งรวมเพื่อนสู่แหล่งรวมความเกลียดชัง
6.https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/118756-populistengagement.html ดิสรัปฯเลือกตั้งไทย จาก “ประชานิยม” สู่ “Engagement”