"...สิ่งหนึ่งที่คนกลุ่มนี้มักหยิบยกมากล่าวอ้างอยู่แทบทุกโอกาสจนกลายเป็นยาสามัญของพวกเขาคือคำว่า การแบ่งแยกชนชั้น ความไม่เท่าเทียมและการเหยียดผิว(Racism) นอกจากนี้การแสดงความเห็นใดๆบนโซเชียลมีเดียของคนบางคนกลับถูกทัวร์ลงอย่างหนัก หากเป็นความเห็นที่ไม่ตรงกับความเห็นของกลุ่มคนดังกล่าว…"
ในช่วงเวลาราวสิบปีที่ผ่านมา สื่อมวลชน นักวิชาการ นักจิตวิทยา นักเขียน นักกฎหมาย ฯลฯ ในฝั่งตะวันตก มีข้อสังเกตที่สอดคล้องกันว่า พฤติกรรมของคนส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งในสังคม อเมริกัน ยุโรปและออสเตรเลีย
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนบางกลุ่มทำให้คนทั่วไปรู้สึกได้เช่นกันว่าความผิดปกติกำลังเกิดขึ้นกับคนรอบตัวพวกเขาทั้งในหมู่ เพื่อนฝูง ญาติและครอบครัว ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกไซเบอร์ พฤติกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้ไม่ว่าจะเกิดจากการที่ผู้คนเข้าไปใช้เวลาติดตามข้อมูลข่าวสารในโลกไซเบอร์มากจนเกินไปหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับการเข้ามามีบทบาทของโซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันของผู้คนและมีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงกิจกรรมต่างๆเป็นสำคัญ
สิ่งหนึ่งที่คนกลุ่มนี้มักหยิบยกมากล่าวอ้างอยู่แทบทุกโอกาสจนกลายเป็นยาสามัญของพวกเขาคือคำว่า การแบ่งแยกชนชั้น ความไม่เท่าเทียมและการเหยียดผิว(Racism) นอกจากนี้การแสดงความเห็นใดๆบนโซเชียลมีเดียของคนบางคนกลับถูกทัวร์ลงอย่างหนัก หากเป็นความเห็นที่ไม่ตรงกับความเห็นของกลุ่มคนดังกล่าว
จากการศึกษาของนักการศึกษาของสหรัฐอเมริกาต่อการใช้คำว่าการ เหยียดผิว ของ สำนักข่าว นิวยอร์คไทม์ ระหว่างปี 1980 ถึง 2018 พบว่า ในช่วงปี 1980 ถึง 2014 มีบทความราว 300 – 600 บทความต่อปี ที่กล่าวถึงคำว่า การเหยียดผิว โดยมีการกล่าวถึงคำว่า การเหยียดผิวมากที่สุดในช่วงปี 1990 และน้อยที่สุดในปี 2010
อย่างไรก็ตามบทความที่กล่าวถึงการเหยียดผิวเริ่มพุ่งสูงขึ้น ในปี 2015 มีบทความมากถึง 800 ชิ้นที่พูดถึงการเหยียดผิว นับว่าเป็นช่วงที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1980 หลังจากนั้นเพียงปีเดียวพบว่า ในปี 2016 บทความที่พูดถึงการเหยียดผิวพุ่งสูงขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 1,400 บทความ ปี 2017 เพิ่มเป็น 2,000 บทความและในปี 2018 เพิ่มเป็น 2,400 บทความ
การประท้วง ยึดวอลสตรีต (Occupy Wall Street)
การที่สื่อของสหรัฐอเมริกามีการนำเสนอบทความที่มีคำว่า การเหยียดผิว จำนวนมากผิดปกติอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับการประท้วง ยึดวอลสตรีต (Occupy Wall Street) ที่เริ่มต้นจากกลุ่มผู้ประท้วงเล็กๆ ที่มารวมตัวกันหลวมๆในสวนสาธารณะซุคคอตติ(Zuccotti) ไม่ไกลจากตลาดหุ้นวอลสตรีต ย่านการเงินสำคัญของแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ก ตั้งแต่เดือน ส.ค.2011 ภายใต้การนำของกลุ่มเอ็นจีโอต่อต้านลัทธิบริโภคนิยม 'Adbusters' ซึ่งชูแคมเปญ Occupy Wall Street ประกาศยึดวอลสตรีต
การประท้วง ยึดวอลสตรีต กลายเป็นประเด็นโดนใจชาวอเมริกันและ ดึงดูดให้ผู้ประท้วงนับพันคนออกเดินขบวนไปตามท้องถนนใจกลางนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2011 เพื่อต่อต้านความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ประณามความโลภของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ รวมไปถึงสกัดกั้นกลุ่มอิทธิพลวอลสตรีต ที่คอยชักใยนักการเมือง
การประท้วงลักษณะเดียวกันได้ลุกลามไปยังเมืองใหญ่ต่างๆทั่วโลก ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และฮ่องกง ในขณะที่การประท้วงในสหรัฐเองก็มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้น ในที่สุดการประท้วงก็ต้องยุติลงด้วยความล้มเหลว แม้ว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ และสร้างภาษาทางการเมือง รวมทั้งสร้างเครื่องมือให้กับขบวนการเรื่องความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ทั่วโลก แต่ในทางปฏิบัติ การยึดวอลสตรีต กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
เมื่อการประท้วงกลายพันธุ์
การประท้วง ยึดวอลสตรีต แม้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่แรงเหวี่ยงของการประท้วงกลับเบี่ยงเบนไปสู่เรื่อง การเหยียดผิวและความไม่เท่าเทียม จากการโฆษณาชวนเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งและกลายเป็นการสร้างภาษาทางการเมืองชุดใหม่ที่ขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ประท้วงเดิม รวมทั้งสื่อต่างๆได้นำเสนอเรื่องราวของการเหยียดผิวมากขึ้นอย่างหนาตา จนทำให้อเมริกากลายเป็นพื้นที่แห่งการเหยียดสีผิวและความไม่เท่าเทียมที่เข้มข้นขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากนี้การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันผิวสี วัย 46 ปี ที่เสียชีวิตระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ที่เมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อ 25 พ.ค.2563 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้การเหยียดผิวและประเด็นความไม่เท่าเทียมขยายวงมากยิ่งขึ้น การประท้วงและการเรียกร้องต่างๆ เกิดขึ้นเกือบตลอดเวลา รวมทั้งมีการหยิบยกสิ่งรอบตัวที่ไม่เคยเรียกว่าการเหยียดผิวมาก่อนมาขยายความว่าเป็นการเหยียดผิวได้อย่างเหลือเชื่อ
ดังนั้นไม่ว่า เรื่องเล็ก เรื่องใหญ่จึงถูกจับโยงเข้ากับประเด็นการแบ่งแยกสีผิวและความไม่เท่าเทียมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในขณะเดียวกัน คำว่า การแบ่งแยกชนชั้นและการเหยียดผิวที่ถูกนำมาใช้มากอย่างพร่ำเพรื่อได้กลายเป็นแรงสะท้อนมุมกลับกลายเป็นว่าคนผิวขาวกลับเป็นผู้ถูกเหยียดผิวเสียเอง
อิทธิพลของการใช้ภาษาที่ถูกเพาะเชื้อในคนกลุ่มหนึ่งได้ลามจากสหรัฐอเมริกาไปถึงยุโรปและออสเตรเลียและเป็นไปได้ที่อิทธิพลของการใช้ภาษาเรื่อง ความไม่เท่าเทียมและการแบ่งแยกชนชั้น ที่เกิดเพิ่มขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งพฤติกรรมบางอย่างอาจขยายวงเข้ามาสู่เมืองไทยด้วยไม่มากก็น้อย
บางคนจึงอาจพบประสบการณ์ที่ ลูก หลานหรือเพื่อนฝูง หยิบจับความธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวันของคนไทยมา ตำหนิ ดูหมิ่น วิจารณ์ ทั้งด้วยภาษาและกิริยามารยาททั้งๆที่ไม่เคยปรากฏพฤติกรรมเหล่านี้มาก่อน เด็กและวัยรุ่นจำนวนหนึ่งแสดงออกด้วยการประท้วงทั้งตามสถานที่ต่างๆและบนโลกออนไลน์ด้วยความคึกคะนองและภาคภูมิใจที่ได้ปลดปล่อยสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าถูกจำกัดไว้ด้วยอำนาจบางอย่างและคงมีจำนวนไม่น้อยที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมเพราะ ถูกชักนำและบอกต่อๆกันมาผ่านโซเชียลมีเดีย
ศัตรูของคนเหล่านี้คือใคร
หากไม่นับศัตรูระหว่างประเทศแล้ว ศัตรูหลักของคนกลุ่มนี้คือ ขนบธรรมเนียม ประเพณี (Tradition) ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม(Culture) และสังคม ที่พวกเขาอยู่อาศัยร่วมกับคนอื่นๆนั่นเองและเสาหลักเหล่านี้กำลังถูกทำลายลงด้วยคนกลุ่มนี้โดยแทบไม่มีใครรู้ตัวและถ้าไม่มโนจนเกินไปอาจจะพูดได้ว่าพวกเขาต้องการปฏิวัติวัฒนธรรมและกำลังนำพาสังคมเข้าไปอยู่ในโลdอุดมคติ(Utopia)ที่พวกเขาวาดไว้
พวกเขาเป็นใคร
คนกลุ่มนี้มักเรียกตัวเองว่าพวก ก้าวหน้า มุ่งไปข้างหน้า หรือ เดินไปข้างหน้า(Progressive) ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งชื่อกลุ่มและการทำกิจกรรมของพวกเขาทั้งกิจกรรมทั่วไปและกิจกรรมทางการเมือง นอกจากนี้ยังพบเห็นมีการใช้ชื่อเรียกอื่นๆด้วย เช่น พวกที่อุทิศตัวเพื่อการทำความดี(Do-Gooder) พวกต่อต้านอภิสิทธิ์ชนผิวขาว หรือบางครั้งอาจเรียกตัวเองว่า โวค (Woke) (อ้างอิง 2) ซึ่งหมายถึงผู้ตื่นรู้ในเรื่องความไม่เป็นธรรมและความไม่เท่าเทียมในสังคมหรือพวกตาสว่างทางสังคม ซึ่งเจตนาเดิมคือทำโลกนี้ให้ดีขึ้นและสร้างความยุติธรรมให้กับโลก
ในสังคมอเมริกันมักพบเห็นการแสดงออกถึงพฤติกรรมของคนเหล่านี้ในทุกขั้วการเมืองรวมทั้งผู้ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง พวกเขามีทั้งคนหนุ่มสาวและคนสูงอายุ มาจากฝ่ายที่เรียกกันว่า เสรีนิยม อนุรักษ์นิยม อิสระ และมาจากทุกเชื้อชาติและทุกศาสนาและมีภูมิหลังที่หลากหลาย
คนเหล่านี้แฝงตัวอยู่ในกลุ่มคนหลายอาชีพ เช่น โรงเรียนมัธยม วิทยาลัย มหาวิทยาลัย บริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจสื่อ อุตสาหกรรมภาพยนต์ฮอลลีวู้ด รัฐบาลกลาง(Federal Government) และวงการกีฬาอาชีพ เป็นต้น
ลักษณะเด่นที่พวกเขาแสดงออก
พฤติกรรมที่เห็นเด่นชัดสำหรับคนกลุ่มนี้ได้แก่ ความกระตือรือร้น เป็นพิเศษในเรื่อง ความไม่เท่าเทียม การแบ่งแยกชนชั้น การเหยียดผิว และการเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม ดังนั้นหนึ่งในคาถาของพวกเขาที่มักท่องอยู่ตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมจนกลายเป็น ค่าตั้งต้น(Default)เสมอ คือ การสร้างความเท่าเทียม เชิดชูความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการตีแผ่เรื่องราวเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในยุคปัจจุบัน รวมทั้งขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีตขึ้นมาตีแผ่ด้วย
แนวคิดการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับคนบางกลุ่มซึ่งเกิดขึ้นมานานนับร้อยปีถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีหากพวกเขากระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝงและทำเพื่อส่วนรวมมากกว่าการตอบสนองความปรารถนาของกลุ่มตัวเองเพียงอย่างเดียวจนล้ำเส้นกลายเป็นการเรียกร้องแบบสุดโต่งและเป็นพฤติกรรมที่ดูแปลกแยกจากพฤติกรรมปกติของผู้คนในสังคม
พวกเขาต้องการอะไร
จากการศึกษาของผู้เขียน(ตามอ้างอิง 1 ) พบว่า พวกเขาต้องการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัว สิ่งแรกที่เขาต้องการคือต้องการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความเห็นของผู้คน ซึ่งหมายถึงการปิดปากผู้เห็นต่างด้วยเสียงของกลุ่มก้อนของพวกเขาผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อไม่ให้มีใครส่งเสียงดังกว่าพวกเขา
พวกเขาต้องการควบคุม “ภาษา” ที่ใช้ ซึ่งจะนำไปสู่การควบคุมทุกสิ่งอย่างในชีวิตของคนทั่วไปและหากการศึกษาของผู้เขียนไม่ได้ขยายความจนเกินความจริงก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงต่ออนาคตของประเทศที่ถูกแทรกซึมด้วยวัฒนธรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆที่ยังด้อยประสบการณ์ต่อโลก เพราะเครื่องมือที่พวกเขาใช้คือ “ภาษา” ที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กีฬา ดนตรี การศึกษา เรื่องตลก หรือแม้กระทั่งการเมือง ผ่านโซเชียลมีเดียหรือสื่ออื่นๆที่มีการจัดตั้งขึ้นหรือเป็นเครือข่ายแนวร่วม
การทำทุกอย่างเพื่อโน้มน้าวให้คนเชื่อในสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นไม่ใช่สิ่งอื่นใดเลยนอกจากความต้องการ “อำนาจ” เท่านั้นและมีความเป็นไปได้ไม่มากก็น้อยที่พวกเขานำแนวคิดนี้ไปเชื่อมโยงกับอำนาจทางการเมืองซึ่งเป็นบันไดขั้นสุดท้ายเพื่อสานต่ออุดมการณ์ในโลกยูโทเปียให้สำเร็จ นักเขียนบางคนถึงกับเรียกผู้นิยมแนวคิดเหล่านี้ว่าพวก มีอาการทางจิต(Psychotic) (อ้างอิง 1 หน้า xii)
สิ่งที่น่ากังวลต่อพ่อ แม่และผู้ปกครองคือ การยัดเยียดภาษาทางการเมืองที่บิดเบือนความจริงผ่านโซเชียลมีเดียแก่เด็กเล็กและเยาวชน ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กได้รับข้อมูลที่เกินความสามารถที่เด็กจะประมวลผลหรือแยกแยะได้เองแล้ว ยังส่งผลต่อการแสดงออกของเด็กในเชิงจินตนาการที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นการใช้ความได้เปรียบของโซเชียลมีเดียล้างสมองเด็กด้วยภาษาทางการเมืองนั่นเอง
ฌอน ปาคเกอร์ (Sean Parker ) หนึ่งในผู้ลงทุนในยุคแรกๆของ เฟซบุ๊ก เคยกล่าวด้วยความเป็นห่วงต่อการได้รับข้อมูลข่าวสารของเด็กผ่านโซเชียลมีเดียเอาไว้ว่า 'พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่า โซเชียลมีเดียกำลังทำอะไรกับสมองเด็กๆของเรา' (God only knows what it’s doing to our children’s brains)
คว่ำบาตรออนไลน์ วิชามารที่ทรงพลัง
วัฒนธรรมการคว่ำบาตรออนไลน์ (Cancel culture) เป็นหนึ่งในพฤติกรรมเด่นชัดที่พวกเขาแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดีย ต่อใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของพวกเขาหรือรู้ทันพวกเขา วัฒนธรรมคว่ำบาตรผ่านโซเชียลมีเดียจึงเป็นเครื่องมือที่คนเหล่านี้ใช้ ปิดปากผู้เห็นต่างหรือผู้ที่กระทำตนอยู่ฝ่ายตรงข้ามและผู้ที่ต่อต้านพวกเขา
แม้ว่าการแสดงออกบางกรณีจะเป็นแค่การชื่นชมคนบางคนหรือแม้แต่การนำเสนอข้อมูลความจริงเชิงวิชาการเพื่อการอ้างอิงหรือเพื่อการศึกษาแต่ขัดต่ออุดมการณ์ของพวกเขา ก็จะถูกโจมตีทันที การคว่ำบาตรออนไลน์จึงไม่ต่างจากการรุมประชาทัณฑ์โดยศาลเตี้ยที่ไม่มีผู้ตัดสิน ไม่มีขอบเขตของโทษหนักเบาหรือกระบวนการทางกฎหมายใดๆรองรับ
วัฒนธรรมการรุมคว่ำบาตรออนไลน์จึงเป็นภัยต่อผู้คนที่ต้องการแสดงความเห็นของตนเองตามสิทธิขั้นพื้นฐานบนบนโลกไซเบอร์ เพราะการคว่ำบาตรออนไลน์นอกจากจะสร้างความอับอายต่อผู้ถูกกระทำในวงกว้างแล้ว ยังลุกลามถึงขั้นทำลายอาชีพ ทำลายชื่อเสียง จิตใจ รวมถึง ทำลายชีวิตของผู้คนในที่สุด คำพูดที่ว่า “การคว่ำบาตรออนไลน์ คือมะเร็งร้ายของสังคม” จึงไม่เกินความเป็นจริง
นอกจากการคว่ำบาตรออนไลน์แล้วพวกเขายังใช้วิธีอื่นๆเพื่อปิดปากผู้คน ด้วยการไม่คบหาสมาคมด้วย(Boycott) การหยุดลงทุนกับธุรกิจบางประเภท(Divestment) และการใช้มาตรการทำโทษ(Sanction) หรือที่เรียกรวมๆกันว่ามาตรการ BDS
ส่อง 15 พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้
จากการเปิดเผยของ นักเขียน นักการศึกษา นักกฎหมาย นักจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกาและผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำและถือว่ายืนฝั่งตรงข้ามกับคนกลุ่มนี้ พบว่าอย่างน้อยที่สุดพวกเขาได้แสดงพฤติกรรมต่างๆต่อสาธารณะ ด้วยจินตนาการที่เกินกว่าความเป็นจริงผสมกับอารมณ์ในทางลบที่มักจะอยู่คู่กับพวกเขาเสมอ เป็นต้นว่า (ประมวลจาก อ้างอิง 1 2 3 และ 4)
1. คนกลุ่มนี้มักจะมองทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวด้วยความขุ่นเคืองใจและก้าวร้าว(Offensive) อยู่เป็นนิจจนดูเหมือนว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับสิ่งเลวร้ายหรือปีศาจที่วนเวียนอยู่รอบตัวพวกเขาอยู่ตลอดเวลา
2. พวกเขาไม่ใช่นักประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นนักประชาธิปไตยเพียงแต่ชื่อ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขามีความเป็นเผด็จการแฝงอยู่ในตัว เพราะใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านต่อหลักการของพวกเขา ก็จะถูก ปิดปาก กดดัน และลงโทษด้วยการปฏิเสธกิจกรรมทางสังคมหรือไม่ก็จะถูกโจมตีจากม็อบออนไลน์และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรออนไลน์หรือถูกลบออกจากแพลตฟอร์ม ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
3. พวกเขามักแสดงออกถึงพฤติกรรมยกตนข่มท่านอยู่เสมอ เพื่อให้ตัวเองอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการของพวกเขาและพวกเขาจะหาทางปิดปากคนเหล่านั้นด้วยวิธีของพวกเขาเอง
4. คนเหล่านี้มักจะพร่ำบอกเสมอว่า คุณค่าของ สังคม ประเทศ วัฒนธรรม และประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานคือ ความล้าหลัง ไร้สาระ หรือเป็นความผิดพลาดของอดีต ที่ต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง
5. พวกเขาถนัดในเรื่องการมองทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวแบบเหมารวม(Collective unit) มากกว่าการมองปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเป็นเรื่องๆหรือเฉพาะตัว(Individual part)
6. คนกลุ่มนี้ไม่ถนัดในเรื่องการประนีประนอมและไม่มีความยืดหยุ่น(Inflexible) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคนที่มองโลกผ่านเลนส์ที่พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อให้เห็นเฉพาะ สีดำกับสีขาว ความถูกกับความไม่ถูก ความดีกับความเลว หรือมองโลกในแบบไบนารี (0 กับ 1) เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับฟังก์ชันของโซเชียลมีเดียที่มีเฉพาะสองทางเลือก เช่น ชอบ(Like) หรือ ไม่ชอบ(Dislike) ความตาบอดความหลากสีเขาทำให้พวกเขาขาดโอกาสในการเห็นโลกที่ประกอบด้วยแถบสีอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน
7. พวกเขามองแต่ตนเองเป็นที่ตั้ง ใครที่มีความเห็นที่ต่างจากตนเองหรือพวกพ้องของตนเองจึงมักถูกชี้หน้าว่าเป็นคนผิดเสมอ กฎหมายบางมาตรา ระเบียบแบบแผนบางเรื่องจึงมักเป็นปัญหาของพวกเขา
8. การเรียกร้องความสนใจจากผู้คนโดยการชอบส่งเสียงตะโกนหรือกรีดร้องไปตามที่ต่างๆจนกลายเป็นกระแส คือสิ่งที่พวกเขาถนัดและหลายครั้งล้ำเส้นของคำว่ากาลเทศะและกฎหมายไป
9. คนเหล่านี้ชอบจับผิดและควานหาจุดอ่อนหรือความเสียเปรียบของคนในสังคมมาขยายผลเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามและหาประโยชน์ให้กับตัวเองโดยใช้ความไม่เป็นธรรมในสังคมบ้างหรือความไม่เท่าเทียมบ้างเป็นข้ออ้าง แม้ว่าบางเรื่องแทบจะหาสาระอะไรไม่ได้เลยก็ตาม
10. พวกเขาถนัดที่จะโน้มน้าวผู้คนให้เข้าร่วมกิจกรรมหรืออุดมการณ์ด้วยการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป อินสตาแกรมหรือแพลตฟอร์มอื่นๆที่พวกเขาเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการสานต่ออุดมการณ์ของตัวเอง โซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางสำคัญที่ใช้เป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อของคนกลุ่มนี้
11. ในขณะที่คนทั่วไป มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง เบิกบานบ้าง และโศกเศร้าบ้าง ตามสถานการณ์ แต่คนกลุ่มนี้มักเสพติดอารมณ์ทางลบอยู่เสมอ พวกเขาไม่เคยพอใจสิ่งที่อยู่รอบตัวและมักพยายามหยิบฉวยประเด็นใหม่ๆมาเพื่อเติมเชื้อความก้าวร้าวอยู่ตลอดเวลาและพยายามหาเหตุผลข้างๆคูๆเพื่อรองรับความไม่พอใจที่พวกเขาแสดงออก พวกเขาจึงต้องทำสงครามกับทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมตั้งแต่เรื่อง แบบเรียน ภาษา คณิตศาสตร์ ดนตรีคลาสสิก วรรณกรรม กีฬา จนกระทั่งการเลี้ยงสุนัขหรือแม้แต่ตัวสุนัขเองพวกเขาก็ยังตั้งแง่ด้วย
12. พวกเขาเห็นว่าระบบทุนนิยม(Capitalism) คือระบบที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้น การโจมตีระบบทุนนิยมจึงมักพบเห็นอยู่เป็นประจำในการทำกิจกรรมของพวกเขา
13. องค์กร ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ มักจะตกเป็นเป้าหมายโจมตีของพวกเขาเสมอ เช่น มีการสร้างแคมเปญเรียกร้องให้มีการตัดงบตำรวจ(Defund the Police) ตัดงบกองทัพ ด้อยค่า องค์กร ราวกับว่าองค์กรที่พวกเขาโจมตีเหล่านี้ไม่เคยทำประโยชน์ใดๆให้กับประเทศชาติเลย
14. คนกลุ่มนี้เป็น มนุษย์เจ้าปัญหา ความเจ้าปัญหาของพวกเขาทำให้คนเหล่านี้ฉวยโอกาส วิพากษ์วิจารณ์ การกระทำ วัตถุ-สิ่งของ และบุคคลที่พวกเขาไม่ชอบ ในแทบทุกแง่มุม และเลือกที่จะไม่เอ่ยถึงปัญหาที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหาจริงๆซึ่งก็คือตัวของพวกเขาเอง
15. พวกเขามักเรียกร้องให้ ทำลาย เปลี่ยนชื่อ ฯลฯ สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมการแบ่งแยกสีผิว การกดขี่ข่มเหงและความไม่เท่าเทียม ตามมหาวิทยาลัยและสถานที่ต่างๆทั้งใน สหรัฐอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลียและในบางครั้งพวกเขาก็ ทุบ ทำลาย ขีดเขียนและพ่นสี สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นเสียเอง
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเพียงพฤติกรรมส่วนหนึ่งที่คนกลุ่มนี้แสดงออกอย่างเห็นได้ชัดและมีตัวอย่างให้ได้เห็นอยู่เสมอตามกิจกรรมต่างๆของพวกเขาทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกไซเบอร์ จนกลายเป็นเรื่องน่ารำคาญ น่ารังเกียจและบางคนถึงขั้นกล่าวว่าเป็นภัยต่อสังคม ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่กลายพันธุ์จากแนวคิดและเจตนาเดิมที่ต่อต้านการเหยียดผิวและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยความไม่เท่าเทียมอย่างสิ้นเชิง
การเบี่ยงเบนพฤติกรรมจากความน่ายกย่องจนกลายเป็นการละเมิดและคุกคามผู้คนรวมทั้งการหาประโยชน์จากการใช้ความไม่เท่าเทียม เพื่อแสวงหาอำนาจให้ตัวเองจึงเป็นพฤติกรรมที่ไม่ใช่วิถีของการสร้างสังคมที่เสมอภาคและยุติธรรมอีกต่อไป
ยาพิษในห้องเรียน
คนกลุ่มนี้แทรกซึมเข้าไปเพื่อแผ่อิทธิพลทางอุดมการณ์ของตัวเองเข้าไปในโรงเรียน เช่น บางโรงเรียนบังคับให้นักเรียนต้องระบุ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ อัตลักษณ์ทางเพศ ศาสนาและแม้แต่รสนิยมทางเพศ(Sexual orientation) ในวิชาชื่อ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อนำไปใช้ระบุว่า นักเรียนคนนั้นจัดอยู่ในชนนั้นที่เป็นผู้กดขี่(Oppressor) หรือ ผู้ถูกกดขี่(Oppressed) เป็นต้น (โรงเรียน Agassi Campus, ลาส เวกัส) ในที่สุดโรงเรียนดังกล่าวถูกฟ้องร้องจากผู้ปกครองของเด็กที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำดังกล่าวและยังรอผลการตัดสินของศาล( อ้างอิง 3 ) บางโรงเรียนพ่อแม่ถึงกับต้องให้ลูกย้ายโรงเรียนเพราะเห็นว่าโรงเรียนนำเอาเรื่องการเหยียดผิวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนผ่านบทเรียนและกิจกรรมของโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครองในสังคมอเมริกันบางกลุ่มจึงมีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเหยียดผิวและความไม่เท่าเทียมเข้าไปในบทเรียนและต้องการให้โรงเรียนกลับมาเป็นโรงเรียนที่แท้จริงอีกครั้ง
ยาพิษในครอบครัว
พ่อกับแม่คือก้างขวางคอชิ้นใหญ่ที่เป็นอุปสรรคในการสอดแทรกอุดมการณ์ของพวกเขาแก่เด็กเล็ก คนกลุ่มนี้จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะกีดกันพ่อแม่ ออกจากลูกและสอนลูกให้ต่อต้านพ่อแม่ตั้งแต่วัยอนุบาลและสอนให้เด็กรับรู้เรื่อง การเหยียดผิวและความไม่เท่าเทียม ตั้งแต่ก่อนอ่านออกเขียนได้เพราะพวกเขาถือว่าพ่อกับแม่คือผู้กดขี่ลูก(อ้างอิง4) ครูบางโรงเรียนถึงกับตั้งกลุ่ม เฟซบุ๊ก เพื่อต่อต้านบรรดาพ่อแม่เด็กที่ไม่เห็นด้วยกับการนำเรื่องการเหยียดผิวเข้ามาสอนในโรงเรียน มิหนำซ้ำยังนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ปกครองที่ต่อต้านการสอนการเหยียดผิวไปเปิดเผยต่อสาธารณะ บางโรงเรียนถึงขั้นปลอมหลักสูตรการเรียน(Fake curriculum) และส่งไปยังผู้ปกครองเมื่อมีการถูกถามถึงการสอนเรื่องการเหยียดผิว เป็นต้น(อ้างอิง 3)
พวกเขามีจำนวนเท่าใด
การประเมินจำนวนคนที่แน่นอนของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างยาก จากข้อมูลที่มีผู้ประเมินไว้หยาบๆ ในสหรัฐอเมริกาน่าจะมีจำนวนประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดและอาจมีเพิ่มขึ้นอีกในช่วงปี 2020 (อ้างอิง3) ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่เลวร้ายโดยธรรมชาติ แต่พวกเขาถูกปั่นหัวจากผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังเพื่อให้กระทำการใดๆก็ตามที่ทำให้อุดมการณ์ของผู้อยู่เบื้องหลังประสบความสำเร็จ
คนไทยต้องรู้ทัน
การเรียกร้องความเป็นธรรมและการยกระดับความเท่าเทียมเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการได้รับบริการต่างๆในสังคม เป็นเรื่องที่สังคมโลกไม่สามารถปฏิเสธสิ่งดีงามเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในระยะหลังของคนบางกลุ่มที่อาศัยแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมขึ้นมาอ้างและกลายเป็นพฤติกรรมกลายพันธุ์ที่ไร้เหตุผลและเกินเลยจากการเรียกร้องความเป็นธรรมออกไปทุกทีเป็นเรื่องที่สังคมยากจะยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมตะวันตกหรือแม้แต่ในบ้านเราก็ตามและถ้าทุกคนวางเฉยก็เท่ากับว่าเรายอมรับสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้ามาอยู่ในสังคมด้วยความเต็มใจ
หากข้อมูลที่นำเสนอตามเอกสารอ้างอิงบางส่วนข้างท้ายนี้ มิได้มีอคติหรือใส่ความคนกลุ่มนี้จนเกินไปและจากพฤติกรรมต่างๆที่ปรากฏตลอดหลายปีที่ผ่านมามีน้ำหนักมากพอที่จะเชื่อได้ว่าสิ่งที่คนกลุ่มนี้กระทำมีผลกระทบต่อสังคมจริงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะถ้าแนวคิดเหล่านี้แทรกซึมและถูกปลูกฝังให้กับเยาวชนไทยโดยพ่อ แม่ ผู้ปกครองไม่รู้เท่าทันและขาดความตื่นตัว อาจทำให้ความน่ารักในวัยเยาว์ของเด็กและวัยรุ่นแปรเปลี่ยนไปเป็นความก้าวร้าว ความผูกพันในครอบครัวอาจกลายเป็นความเย็นชา ความงดงามด้านศิลปะ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทยอาจถูกลดค่าลงเทียบเท่าสินค้าราคาถูกและสิ่งดีงามต่างๆที่ทรงคุณค่าของไทยอาจกลายเป็นอดีต เหลือเพียงชื่อไว้ให้ระลึกถึงเท่านั้น
คนไทยจึงต้องรู้ทันและต้องเลือกว่า เราอยากอยู่ในสังคมแบบเดิมที่พูดคุยกันได้ด้วยความมีมิตรไมตรี ประนีประนอมและด้วยเหตุผลหรือจะเข้าไปอยู่ในโลกใหม่ที่เต็มไปด้วย ความก้าวร้าว ยอมหักไม่ยอมงอและมีผู้คนที่มีตรรกะพิสดารอยู่รอบตัวและหากไม่มองโลกในแง่ร้ายหรือหวาดกลัวจนเกินไป ก็คงได้แต่คาดหวังว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นเพียงแฟชั่นที่ขึ้นลงตามกระแสในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อรอให้เสื่อมสูญไปตามกาลเวลา
แปล เรียบเรียง ถอดความและเพิ่มเติมเนื้อหา จากแหล่งอ้างอิง ต่อไปนี้
1. Woke, Banned, Censored and Cancelled โดย Steven D.Snyder
2. Cancel Culture โดย Alan Dershowitz
3. Actively Unwoke โดย Karlyn Borysenko
4. The Babylon Guide to Wokeness
5. https://www.thairath.co.th/news/foreign/209255
6. https://www.voathai.com/a/occupy-protests-going-global-ss-132114988/925079.html
7. https://themomentum.co/janjira-sombatpoonsiri-interview/
8. Digital Madness โดย Nicholas Kardaras
9. https://en.wikipedia.org/wiki/Defund_the_police
11. Stolen Focus โดย Johann Hari
อ่านและดูประกอบ
1. https://pantip.com/topic/41121991
2. https://thematter.co/thinkers/woke/28575
3. https://www.gqthailand.com/gq-hype/article/gq-hype-vol-144
4. https://thematter.co/thinkers/white-feminism/48258
5.
ภาพประกอบ
https://www.issep.org/article/control-blame-moral-outrage