"...คนจำนวนไม่น้อยถูกตักเตือนจากเพื่อนในกลุ่มเมื่อมีการแสดงความเห็นทางการเมือง ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งถูกเชิญหรือถูกขับออกจากกลุ่มเพราะไม่หยุดแสดงความเห็นทางการเมืองและที่สำคัญคือความเป็นเพื่อนขาดสะบั้นลงเพราะการแสดงความเห็นทางการเมืองแบบสุดขั้วในกลุ่มที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกัน..."
หลังจาก พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและรัฐบาลหมดวาระลง นอกจากการนำเสนอข่าวของสื่ออย่างเข้มข้นเกี่ยวกับ การย้ายพรรคของบรรดา ส.ส.และข่าวนโยบายของพรรคการเมือง รวมทั้งความเห็นของนักการเมืองที่โหนกระแสเหตุการณ์สำคัญๆที่หลั่งไหลออกมาสู่สายตาผู้คนแทบจะตลอดเวลาแล้ว ข่าวเรื่องการจับขั้วทางการเมืองก็กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เพราะฝ่ายที่ประกาศว่าจะจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากแบบแลนด์สไลด์พรรคเดียวนั้นคงไม่ง่ายอย่างที่คิด
การนำเสนอข่าวและความเห็นทางการเมืองซึ่งแต่เดิมต้องพึ่งสื่อกระแสหลักได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบสู่โลกไซเบอร์ผ่านโซเชียลมีเดียของแต่ละบุคคลหรือของพรรคการเมืองซึ่งสามารถเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางและด้วยความแพร่หลายบวกกับศักยภาพของโซเชียลมีเดียทำให้ทุกฝ่ายต้องหันเข้าหาโซเชียลมีเดียอย่างไม่มีทางเลือก
การใช้โซเชียลมีเดียทางการเมืองสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของโซเชียลมีเดียที่มีประโยชน์ต่อกิจกรรมการเมืองอย่างน้อยที่สุด 2 ประการคือ
๏นักการเมืองและผู้ติดตามข่าวสารทางการเมืองสามารถรู้ถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งกันและกันได้ในทันที(Real time)
๏โซเชียลมีเดียทำให้นักการเมืองสามารถแสดงตัวตนต่อสาธารณะได้อย่างไม่มีข้อจำกัดเรื่อง เวลาและสถานที่ โดยไม่ต้องพึ่งสื่อช่องทางอื่น รวมทั้งยังเป็นการสร้างความใกล้ชิดระหว่างนักการเมืองกับคนหมู่มากและสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจากโลกเสมือนไปสู่ความสัมพันธ์ในโลกแห่งความจริงง่ายขึ้น
จากข้อมูลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร MIT Technology Review เมื่อปี 2017 พบว่า เมื่อใดก็ตามที่ความสัมพันธ์ของบุคคลเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ สามารถทำให้เกิดการสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในโลกออฟไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นความได้เปรียบจากการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสานสัมพันธ์ทางการเมืองและเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มแล้วโซเชียลมีเดียยังสามารถขยายขอบเขตไปยังคนอื่นๆที่อยู่นอกวงของความใกล้ชิด (Loose connection) ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งหมายถึง ความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะไม่จำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มคนใกล้ชิดภายในเน็ตเวิร์กของตัวเองอีกต่อไป
อย่างไรก็ตามพื้นที่บนโซเชียลมีเดีย เป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้คนมากที่สุดพื้นที่หนึ่งเพราะโซเชียลมีเดียมักนำคอนเทนต์ที่ไม่พึงประสงค์เข้ามากวนใจผู้ใช้งานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ร้ายป้ายสีกันในทางการเมือง การใช้โซเชียลมีเดียโจมตีตัวบุคคลทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องส่วนตัว ฯลฯ นอกจากนี้การใช้โซเชียลมีเดียยังสะท้อนถึงพฤติกรรมส่วนตัว รวมถึงความรอบรู้ในเรื่องกติกาและมารยาทบนโลกออนไลน์ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วไปรวมทั้งนักการเมืองแต่ละคนด้วยเช่นกัน
คอนเทนต์การเมือง เรื่องแสลงใจผองเพื่อน
การใช้โซเชียลมีเดียทางการเมืองย่อมหนีไม่พ้นการนำคอนเทนต์เรื่องการเมืองมาโพสหรือแชร์ต่อๆกันอยู่เสมอ ผลการศึกษายืนยันว่า ยิ่งผู้คนใช้เวลาบนเฟซบุ๊กมากเท่าใด ยิ่งมีโอกาสได้อ่านความเห็นทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น แม้ว่าคนเหล่านั้นจะไม่นิยมโพสเรื่องการเมืองบ่อยครั้งนักหรือเป็นผู้ที่ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง จึงมีความเป็นไปได้ที่อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กได้นำความเห็นทางการเมืองของผู้คนมาแสดงบนบัญชีของผู้ใช้เฟซบุ๊กเองมากเกินไปจนขาดสัดส่วนที่เหมาะสม ทั้งที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนนั้นไม่มีความต้องการที่จะอ่านความเห็นทางการเมืองเลยก็ตาม
แม้ว่าเฟซบุ๊กจะมีนโยบายลดการมองเห็นบัญชีที่โพสเกี่ยวกับการเมืองในหน้านิวส์ฟีด(NewsFeed) ลง ก็ไม่ได้หมายความว่าคอนเทนต์ทางการเมืองจะลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเชื่อได้ว่าความชื่นชอบทางการเมืองของคนบางกลุ่มที่ใช้เฟซบุ๊กก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงหรือหายไปไหนและการลดการป้อนความเห็นทางการเมืองคงไม่สามารถปิดกั้นคอนเทนต์ทางการเมืองได้มากนัก ตราบใดที่เรื่องการเมืองยังคงเป็นที่สนใจของผู้คนและเฟซบุ๊กยังทำมาหากินกับคอนเทนต์ทางการเมืองเพื่อสร้างความผูกพัน(Engagement) กับผู้ใช้เฟซบุ๊กอยู่ตลอดเวลา
ความเป็นที่นิยมในการใช้โซเชียลมีเดียทางการเมือง ทำให้คนบางกลุ่มสามารถอ่านข่าวการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งยังคงเสพข่าวการเมืองผ่านสื่อช่องทางอื่นๆ รวมทั้งเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ คอนเทนต์ทางการเมืองที่ปรากฎอยู่ทั่วไปบนโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะมาจากนักการเมืองเองหรือผู้ที่ไม่ใช่นักการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความที่เป็นความเห็นส่วนตัวย่อมส่งผลกระทบต่อผู้รับข่าวสารในทางใดทางหนึ่งอยู่ไม่มากก็น้อย
จากการสำรวจของ PEW Research Center เกี่ยวกับมุมมองเรื่องคอนเทนต์ทางการเมืองบนโลกโซเชียลเมื่อปี 2016 พบว่า
๏ 37 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เบื่อหน่ายต่อคอนเทนต์ทางการเมืองที่ได้เห็น ในขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์ มีความชอบต่อคอนเทนต์ทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย (แต่การสำรวจในปี 2019 ตัวเลขความเบื่อหน่ายคอนเทนต์การเมืองเพิ่มขึ้นจาก 37 เปอร์เซ็นต์เป็น 46 เปอร์เซ็นต์)
๏ 59 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียตกอยู่ในความเครียดและอึดอัดใจเมื่อพูดถึงเรื่องการเมืองกับคนที่ไม่เห็นพ้องกับตนเอง
๏ 49 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียเห็นว่า การสนทนาเรื่องการเมืองบนโลกโซเชียลมีการแสดงความโกรธเคืองกันมากกว่าการสนทนาเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้ 53 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าพวกเขาไม่เคารพซึ่งกันและกัน ในขณะที่ 49 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าพวกเขาไม่ค่อยมีมารยาท
๏ ปฏิกิริยาของผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่อคอนเทนต์ทางการเมือง : 39 เปอร์เซ็นต์ มีการบล็อก อันเฟรนด์ หรือ ซ่อน ผู้ที่มักชอบนำคอนเทนต์ทางการเมืองมาโพสบนโลกโซเชียล
๏ 64 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า การเผชิญกับความเห็นที่ต่างทางการเมืองจากผู้อื่นบนโซเชียลมีเดียจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าระดับของความไม่ลงรอยต่อกันมีมากกว่าที่ตัวเองคาดคิด
ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า คอนเทนต์ทางการเมืองบนโลกไซเบอร์ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมีความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อการรับรู้ของผู้คน โดยเฉพาะเมื่อใกล้ถึงเวลาเลือกตั้ง หลายคนอดไม่ได้ที่จะทำตัวเป็นนักวิจารณ์ทางการเมืองและเผยแพร่ความเห็นส่วนตัวหรือแชร์ความเห็นจากแหล่งต่างๆส่งให้เพื่อนในกลุ่มอ่าน จนทำให้เพื่อนบางคนถึงกับออกปากว่ารู้สึกอึดอัดเพราะถูกบังคับให้อ่านในเรื่องที่ไม่อยากอ่านและต้องการอ่านคอนเทนต์ที่ประเทืองปัญญามากกว่า
สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงอารมณ์ตอบสนองต่อคอนเทนต์ทางการเมืองบนโลกโซเชียลและยังสะท้อนถึงมารยาทในการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้ใช้โซเชียลมีเดียจะต้องเรียนรู้เองด้วยการสังเกตพฤติกรรมและการตอบสนองจากคนรอบตัวที่ใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อรักษามิตรภาพระหว่างเพื่อนที่นับวันจะหาได้ยากยิ่งเอาไว้
คนจำนวนไม่น้อยถูกตักเตือนจากเพื่อนในกลุ่มเมื่อมีการแสดงความเห็นทางการเมือง ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งถูกเชิญหรือถูกขับออกจากกลุ่มเพราะไม่หยุดแสดงความเห็นทางการเมืองและที่สำคัญคือความเป็นเพื่อนขาดสะบั้นลงเพราะการแสดงความเห็นทางการเมืองแบบสุดขั้วในกลุ่มที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกัน ซึ่งแน่นอนว่าความบาดหมางทางการเมืองบนโลกโซเชียลย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในโลกแห่งความจริงไม่มากก็น้อยและพิสูจน์ได้เช่นกันว่าการแบ่งขั้วทางการเมืองเกิดขึ้นได้ทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกไซเบอร์
หลายคนจึงเลือกที่จะรักษาความเป็นเพื่อนระหว่างกันเอาไว้ด้วยการอดกลั้น ยอมที่จะไม่แสดงความเห็นทางการเมืองเพราะเห็นว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับความเห็นทางการเมืองของใครบางคนก็ตาม ผลการศึกษาของนักวิจัยพบว่าผู้ที่มีเพื่อนมากมักจะมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยเรื่องการเมืองหรือมีข้อโต้แย้งทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย เพราะต้องการรักษามิตรภาพระหว่างเพื่อนเอาไว้ให้ยั่งยืนนั่นเอง
ใครคือผู้มีอิทธิพลในโลกโซเชียล
ในโลกโซเชียลมีเดีย ผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ แต่โลกของโซเชียลมีเดียกลับถูกควบคุมโดยคนส่วนน้อยตามกฎของ Zipf (Zipf’s law) หรือที่รู้จักกันในชื่อกฎ 80/20 ซึ่งหมายความว่าคนเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีอิทธิพลบนโซเชียลมีเดีย
ผลการศึกษาของ PEW’s Research Center พบว่า ความเห็นทางการเมืองบนโซเชียลมีเดียถูกโพสด้วยคนจำนวนน้อย (น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นทางการเมืองที่เผ็ดร้อนบนทวิตเตอร์ เกิดจากผู้ใช้ทวิตเตอร์เพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ทั้งหมด แต่สามารถสร้างคอนเทนต์ได้มากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของคอนเทนต์ทั้งหมดบนทวิตเตอร์และ 73 เปอร์เซ็นต์ของการทวีตพูดถึงการเมืองในประเทศ (สอดคล้องกับการสังเกตกลุ่มเพื่อนในไลน์ของผู้เขียนเองจำนวน 12 กลุ่มและเพื่อนที่ติดต่อกันประจำราว 15 คนจากเพื่อนจำนวน 232 คน ซึ่งพบว่าคนที่ชอบโพสความเห็นการเมืองมีอยู่ไม่มากนัก แต่ผลของคอนเทนต์การเมืองมักทำให้ผู้คนเกิดอารมณ์ร่วมในทางใดทางหนึ่งเสมอและเกิดผลกระทบในกลุ่มค่อนข้างมาก)
การศึกษาเดียวกันพบว่า ผู้ที่ชอบแสดงความเห็นทางการเมืองมักเป็น ผู้มีการศึกษา มีอายุน้อย และมักจะเป็นเพศชาย(ปัจจุบันเชื่อว่าผู้สูงวัยสามารถโพสคอนเทนต์ทางการเมืองได้คล่องแคล่วเช่นกันเพราะมีทักษะในการใช้เครื่องมือสื่อสารประเภทโทรศัพท์และโซเชียลมีเดียได้ดีกว่าเมื่อก่อน) ขณะที่เพศหญิงมีแนวโน้มชอบใช้โซเชียลมีเดียและมักเข้าไปอ่านคอนเทนต์ทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย แต่ไม่พบรายงานว่าเพศหญิงชอบโพสความเห็นทางการเมืองที่มากอย่างมีนัยสำคัญเท่าเพศชาย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่นิยมชมชอบการโพสความเห็นทางการเมืองบนเฟซบุ๊ก มักจะมีการแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านช่องทางอื่นๆด้วยทั้งในโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์
การเมืองฝั่งเดียวกัน vs การเมืองฝั่งตรงข้าม
ถึงวันนี้ยังไม่มีหลัก ฐานใดพิสูจน์ได้ว่า โซเชียลมีเดียคือต้นเหตุสำคัญในการทำให้เกิดการแบ่งข้างทางการเมืองมากน้อยเพียงใด เพราะการแบ่งข้างทางการเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งโซเชียลมีเดียยังไม่ถูกสร้างขึ้น แต่น่าเชื่อว่าโซเชียลมีเดียเป็นอาจเครื่องมือที่ช่วยเปิดทาง(Enable)ให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายง่ายขึ้นและทำให้มองเห็นตัวตนทางการเมืองของแต่ละกลุ่มชัดเจนขึ้น
การแบ่งขั้วของผู้คนโดยถือความเป็น “เขา” และความเป็น “ เรา” ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลทางการเมืองของแต่ละคนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในทุกยุคสมัย และเป็นผลผลิตของการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทั้งในโลกแห่งความจริงและโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้พฤติกรรมที่แสดงออกโดยทั่วไปของผู้คนที่มักพบเป็นประจำคือ ชื่นชมต่อความเห็นทางการเมืองในกลุ่มก้อนของพวกเดียวกัน แต่ด้อยค่าความเห็นของกลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามเสมอ
ผลการศึกษาพบว่าการเกิดขั้วทางการเมืองจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งเริ่มรู้สึกและปฏิบัติต่อคนที่มีความเห็นทางการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับตนต่างออกไปและเพิ่มระดับ ความไม่ชอบ (Antipathy) ต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองมากขึ้น นักจิตวิทยามักเรียกการแบ่งขั้วทางการเมืองในลักษณะนี้ว่า การแบ่งขั้วทางอารมณ์(Affective polarization) ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างขั้วหรือการต้องการเอาชนะกันในทางการเมืองอาจจะนำไปสู่ความตึงเครียดจนไปถึงความรุนแรงได้เช่นกัน
ผลการศึกษาอีกชุดหนึ่งพบว่าคนในฝั่งการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกันมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ จะมองว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็น พวกผู้ร้าย (Downright evil) เสมอและในการศึกษาเดียวกันพบทัศนคติที่น่าตกใจระหว่างสองพรรคการเมืองในสหรัฐอเมริกา โดยพบว่าคน 20 เปอร์เซ็นต์ ที่ถือหางพรรคเดโมแครตและคน 16 เปอร์เซ็นต์ที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน เห็นว่า ประเทศจะดีขึ้นถ้าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองตายไปเสียจากโลกนี้
สิ่งที่น่าวิตกต่อการแบ่งขั้วทางการเมืองคือการชักนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างผู้คนที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกันทั้งๆอยู่ในประเทศที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยชั้นนำของโลก จากการศึกษาพบว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ขับเคี่ยวกันระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน กับ อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2020 นั้น คนอเมริกันที่อยู่ฝั่งเดโมแครต 18 เปอร์เซ็นต์ และคนที่อยู่ฝั่งรีพับริกันจำนวน 16 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า ความรุนแรงคือทางออกที่สมเหตุผลหากฝ่ายตรงข้ามชนะการเลือกตั้ง
แนวความคิดเรื่องความรุนแรงทางการเมืองเหล่านี้จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการบุกโจมตี แคปปิตอล ฮิลล์ อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ จากการที่ผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าไปภายในตัวอาคาร จนทำให้การประชุมรับรองผลการเลือกตั้งต้องสะดุดลง โดยมีผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิตภายในอาคารรัฐสภาและในช่วงเวลาโกลาหลเฟซบุ๊กและยูทูบสั่งลบวิดีโอคลิปของทรัมป์ ออกจากแพลตฟอร์ม โดยเห็นว่าคลิปดังกล่าวยุยงให้เกิดความรุนแรง รวมถึงทวิตเตอร์ได้ประกาศบล็อคบัญชีของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากเขาทวีตข้อความอย่างต่อเนื่องว่า เขาถูกโกงการเลือกตั้งในปี 2020 จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าโซเชียลมีเดียจากบัญชีของทรัมป์และพวกพ้องคือส่วนหนึ่งของสื่อที่ใช้ปลุกระดมความรุนแรงในวันนั้น
แม้ว่ากลุ่มคนหัวรุนแรงที่บุกรัฐสภาสหรัฐในวันนั้นไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนอเมริกันส่วนใหญ่มาก่อน แต่เชื่อได้ว่าพวกเขาก่อตัวและสะสมความโกรธแค้นบนโลกโซเชียลมาอย่างยาวนานและมาปะทุจนถึงขีดสุดในวันที่ 6 มกราคม 2021 ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ โดยมีแรงจูงใจอย่างน้อยที่สุด 3 ประการคือ ความไม่พอใจต่อสภาพแวดล้อมทางการเมือง ความไม่พอใจการนำเสนอข่าวของสื่อและความภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แบบถวายหัวนั่นเอง
ภาพลบทางการเมืองในโลกโซเชียล
ผลการศึกษาของนักการสื่อสารพบว่าการเสพข่าวการเมืองบนโซเชียลมีเดียมากเกินไปจะทำให้ ความเชื่อว่ามนุษย์ทำทุกอย่างเพื่อตัวเองและขาดความจริงใจ(Cynicism)มีระดับสูงขึ้น พร้อมทั้งยังทำให้ความเพิกเฉยทางการเมือง(Political apathy)ของผู้คนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงภาพในทางลบของการเมืองบนโลกโซเชียลอยู่ไม่มากก็น้อย
โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่ผู้คนมักเข้าใจว่ามีอิสระในการแสดงออกอย่างไม่จำกัดขอบเขต โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นสถานที่ระบายอารมณ์ เป็นที่จับผิดและเป็นศาลเตี้ยที่ตัดสินผู้คนด้วยการลงโทษทางสังคมโดยไม่ต้องไต่สวนและปราศจากความรับผิดชอบใดๆหากไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล นอกจากนี้โซเชียลมีเดียคือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสีสันทางการเมืองไม่แพ้สื่อช่องทางอื่น เพราะเป็นแหล่งรวมข้อมูลทางการเมืองที่หลากหลายทั้งจากฝั่งนักการเมืองเองและบรรดากองเชียร์ รวมทั้งเสียงจากฝ่ายตรงข้าม การเสพคอนเทนต์การเมืองทำให้คนจำนวนมากอดไม่ได้ที่จะโต้ตอบซึ่งกันและกัน ทั้งโต้ตอบกันด้วยความสุภาพ แต่บ่อยครั้งที่ให้ความเห็นกันเกินเลยจนเข้าขั้น แรงสุดขั้ว หยาบคาย ขาดหลักฐานอ้างอิง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความบาดหมางและเกิดวิวาทะบนโลกออนไลน์แล้วยังอาจนำไปสู่คดีความฟ้องร้องต่อกันอีกด้วย
การเข้าไปอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียที่มีข้อมูลสารพัดรูปแบบและคอนเทนต์ที่หลากหลายโดยเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เว้นเสียแต่ว่าเลิกใช้โซเชียลมีเดียหรือหยุดการใช้โซเชียลมีเดียชั่วคราวซึ่งเชื่อว่าหลายคนไม่สามารถทำได้ เพราะโซเชียลมีเดียได้แทรกซึมเข้าไปในทุกส่วนของชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปเสียแล้ว วิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงความขุ่นเคืองอารมณ์จากคอนเทนต์ที่เราไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะความเห็นทางการเมืองที่มักแสลงใจคนส่วนหนึ่งนั้น อาจต้องตั้งสติและใช้วิธีง่ายๆ ต่อไปนี้ในการรับมือ ซึ่งน่าจะได้ผลตามสมควรหากทำจริงจัง
๏ หนี : เมื่อพบคอนเทนต์ทางการเมืองที่ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวหรือถึงขั้นโกรธ ให้รีบออกจากแหล่งของคอนเทนต์นั้นในทันทีหรือลบคอนเทนต์นั้นออกไปและหันไปหาคอนเทนต์อื่นๆที่สร้างความบันเทิงใจแทน เช่น ฟังเพลง อ่านข่าวกีฬา ดูหนัง ฯลฯ และทำกิจกรรมอะไรก็ตามที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับคอนเทนต์ทางการเมืองใดๆอีก
๏ หยุด : เมื่อพบคอนเทนต์ทางการเมืองที่แสดงถึงถีงความไม่ประสีประสาหรือความไร้ภูมิปัญญาของผู้โพส ให้หยุดคิดและไตร่ตรอง อย่าเพิ่งรีบร้อนตอบโต้หรือแก้ไข เพราะเราอาจแปลความหมายในสิ่งที่เห็นไม่ตรงกับเจตนาของผู้โพสความเห็นนั้นก็เป็นได้
๏ ขอโทษ : โลกโซเชียลมีเดียไม่มีเกราะป้องกันภัย(Safeguard) ไม่ว่าใครก็ตามจึงอาจถูกคุกคามจากตัวตนที่มองไม่เห็นได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ “การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจบนโลกออนไลน์” ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์อาจทำให้เราอยู่ในสถานะเป็นผู้คุกคามหรือพาดพิงบุคคลอื่นในทางการเมืองเสียเองโดยเราไม่รู้ตัว การแสดงความขอโทษต่อบุคคลผ่านสาธารณะ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดเสมอในการยุติความขัดแย้งใดๆบนโซเชียลมีเดีย
อ้างอิง
1.Frenemies โดย Jaime E.Settle
2.https://www.dailymail.co.uk/news/article-9245955/Facebook-reduce-political-content-news-feed-users.html
3.ส่องปรากฏการณ์น่าแปลกในโลกโซเชียลมีเดีย https://www.isranews.org/article/isranews-article/105429-pansak-2.html
4.Breaking the Social Media Prism โดย Chris Bail
5.Grandstanding โดย Justin Tosi และ Brandon Warmke
ภาพประกอบ
https://hutchersonlaw.com/can-fired-political-posts-social-media/