"...จากผลการทดลองจึงได้ข้อสรุปว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้คนเข้าไปอยู่ในกลุ่มโซเชียลมีเดียที่มีการโพสและแชร์ ภาพความรุนแรง ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ก้าวร้าว เกลียดชัง อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียจะเรียนรู้ในสิ่งเหล่านั้นและคัดเลือกความรุนแรง หยาบคายและก้าวร้าว แบบที่ได้เรียนรู้ ป้อนกลับมายังผู้ใช้โซเชียลมีเดียกลุ่มนั้น ในทางกลับกันกันโซเชียลมีเดียกลุ่มใดที่มีการ ปฏิสัมพันธ์กันด้วยข้อความที่สุภาพ ความสนุกสนานรื่นเริง ฯลฯ อัลกอริทึมก็จะเรียนรู้จากข้อมูลที่ป้อนเข้าไปและคัดเลือกสิ่งที่คล้ายกันกลับมายังผู้ใช้กลุ่มนั้นเช่นกัน จึงไม่แปลกที่เราอาจเห็นสังคมโซเชียลมีเดียบางกลุ่มสามารถพบเห็นแต่สิ่งดีงามอยู่ทั่วไป ในขณะที่โซเชียลมีเดียบางกลุ่มพบแต่ความก้าวร้าว ความเกลียดชังและคำผรุสวาทปลิวว่อน..."
..............................
-จงอย่าเชื่อทุกอย่างที่คุณอ่านบนอินเทอร์เน็ต- “Unknown”
ในช่วงเวลาชุมนุมทางการเมืองโซเชียลมีเดียคือเครื่องมือสำคัญในการนัดหมายรวมพล แจ้งข่าวสารรวมทั้งการเผยแพร่ความเห็นทางการเมืองที่เต็มไปด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน ดุดัน ล้อเลียนและหยาบคาย จนแทบไม่น่าเชื่อว่าสังคมไทยบนโลกออนไลน์จะกลายเป็นพื้นที่สะสมความก้าวร้าวและเกลียดชังเอาไว้ได้มากมายถึงเพียงนี้และยังลามปามไปจนถึงขั้นการนำประมุขของประเทศมาล้อเลียนอย่างสนุกสนานโดยเยาวชนบางกลุ่มผ่านโซเชียลมีเดียเพียงเพื่อไม่ให้ตกกระแส เพื่อเรียกยอดวิว หรือ ด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตามโดยไม่สนใจต่อความรู้สึกของผู้คน ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่บังควรในสังคมของผู้มีอารยธรรมและเป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยไม่เคยพบเห็นมาก่อน
เส้นใยแห่งความเกรงใจที่ขาดวิ่น
การเสพข่าวด้วยความไร้สติอาจเป็นแรงกระตุ้นให้คนบางคนเกิดความลำพองใจและกล้าก้าวข้ามเส้นใยแห่งความเกรงใจบนโลกออนไลน์ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่นักจิตวิทยาทางเทคโนโลยีเรียกว่า “การสูญเสียการยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์”(Online disinhibition effect) ซึ่งเกิดขึ้นมากผิดปกติบนโซเชียลมีเดียในช่วงการชุมนุมทางการเมืองด้วยการปลุกเร้าจาก ข้อความ ภาพ การถ่ายทอดสด บนโซเชียลมีเดียภายในกลุ่มเพื่อนด้วยกันเองหรือจากกลุ่มที่มีแนวคิดทำนองเดียวกันและเหตุการณ์บนโลกออนไลน์ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา น่าจะถือว่าเป็นปรากฏการณ์การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจขั้นสูงสุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ของคนไทยก็ว่าได้
การถูกเร่งเร้าด้วยอารมณ์ผ่านโซเชียลมีเดียอาจเป็นปัจจัยให้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจทลายกำแพงแห่งความยับยั้งชั่งใจเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันทางสังคมภายในกลุ่มตนเองและแสดงออกถึงความเป็นพวกพ้องร่วมแนวความคิดหรือเทรนด์เดียวกัน จนลืมคิดไปว่า “อินเทอร์เน็ต” คือเครื่องถ่ายเอกสารที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลที่สามารถบันทึกอดีตที่ไม่อยากจดจำเอาไว้ได้นานเท่านานและในวันข้างหน้าอดีตเหล่านี้อาจกลับมาหลอกหลอนผู้กระทำได้เสมอและมักจะเกิดขึ้นในวันสำคัญที่สุดในชีวิตของบางคนดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ที่ผ่านมาจึงพิสูจน์ได้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คนไทยถือว่าได้ก้าวข้ามผ่านความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนสู่ความศิวิไลซ์มาแล้วในระดับหนึ่ง แต่ในโลกเสมือนบนสังคมออนไลน์ดูเหมือนว่าผู้คนยังเดินหลงทางอยู่ในเขาวงกตด้วยการถูกชักจูงและปลุกเร้าอารมณ์ผ่านโซเชียลมีเดียจนยังหาทางออกไม่พบ
การระบาดทางอารมณ์ : เป็นไปได้
นักเทคโนโลยีและนักจิตวิทยาทางเทคโนโลยีมักมีคำถามอยู่เสมอว่า โซเชียลมีเดีย สามารถเป็นพาหะทางอารมณ์เหมือนกับพาหะอื่นๆที่สามารถแพร่เชื้อในโลกแห่งความจริงได้หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวได้ถูกไขโดยนักวิจัยจาก Facebook และมหาวิทยาลัย Cornell โดยนักวิจัยได้ร่วมกันทำการทดลองลดจำนวนของข้อมูลในทางลบ(Negative content) สำหรับผู้ใช้ Facebook บางกลุ่ม และลดจำนวนข้อมูลในทางบวก(Positive content) ของผู้ใช้ Facebook อีกกลุ่มหนึ่งบน News Feed ของ Facebook และทดสอบว่าการลดจำนวนข้อมูลเหล่านี้จะมีผลให้ผู้รับข้อมูลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการแสดงออกในทางบวกหรือทางลบต่อการโพสบน Facebook หรือไม่
๏ ผู้วิจัยพบว่า เมื่อมีการลดการปลุกเร้าอารมณ์ทั้งทางบวกและทางลบของข้อมูลบน News Feed ของผู้ใช้ Facebook จะทำให้จำนวนคำโดยรวมที่ผู้ใช้โพสบน Facebook ลดลง ซึ่งหมายความว่าหากมีการปลุกเร้าทางอารมณ์ ผ่านข้อมูลไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบก็ตามจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ใช้ Facebook มีการโพสข้อความมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อลดการปลุกเร้าทางอารมณ์ลงจำนวนคำของการโพสจะลดลงด้วย
๏ ผู้วิจัยพบว่าเมื่อทำให้จำนวนข้อความทางบวกบน News Feed ของ Facebook ลดลง จำนวนเปอร์เซ็นต์ของข้อความในทางบวกบน Status update จะลดลง แต่จำนวนเปอร์เซ็นต์ของข้อความในทางลบกลับเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันเมื่อทำให้จำนวนข้อความในทางลบบน News Feed ลดลง จำนวนเปอร์เซ็นต์ของข้อความในทางลบบน Status update จะลดลงด้วย แต่จำนวนเปอร์เซ็นต์ของข้อความในทางบวกกลับเพิ่มขึ้น
การทดลองครั้งนี้พอจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าการแพร่กระจายทางอารมณ์จากการเสพข้อมูลบนโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นได้จริงและสามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วโดยการทำหน้าที่อย่างแข็งขันของอัลกอริทึมบนโซเชียลมีเดีย เพราะอัลกอริทึมสามารถ ควบคุม กำกับ คัดเลือกและส่งอารมณ์ทางบวกหรืออารมณ์ทางลบให้กับผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้ตลอดเวลา ดังนั้นการสร้างอารมณ์ร่วมบนโลกของโซเชียลมีเดียจึงเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าคนในกลุ่มเดียวกันจะอยู่มุมใดของโลกก็ตาม
อัลกอริทึม: น้ำผึ้งเคลือบยาพิษ
ในแต่ละนาทีที่เราเข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเข้าไปอยู่ในโลกของโซเชียลมีเดียประเภท Facebook Twitter หรือ YouTube ไม่เพียงแต่เราจะถูกโน้มน้าวด้วยข้อมูลที่เรามองเห็นทั้งจากบุคคลที่เรารู้จักรวมทั้งข้อมูลจากคนแปลกหน้าแล้ว เรายังถูกอัลกอริทึม(ลำดับคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน) ของแพลตฟอร์มต่างๆสั่งให้เราหันซ้ายหันขวาเพื่อเลือก สินค้า บริการ ภาพหรือข้อความ ที่อัลกอริทึมหยิบยื่นให้อย่างแยบยลเพราะเราคือเป้าหมายของการโฆษณาจากการขายความสนใจของเจ้าของแพลตฟอร์มโดยที่เราไม่รู้ตัว
อัลกอริทึมที่ถูกนำมาใช้บนแพลตฟอร์มต่างๆของโซเชียลมีเดียเกือบทุกประเภทเป็นอัลกอริทึมที่เรียกกันว่า เครื่องจักรแห่งการเรียนรู้หรือ Machine learning ซึ่งหมายความว่าอัลกอริทึมจะเรียนรู้สิ่งต่างๆตามข้อมูลที่ได้รับจากผู้ใช้และเมื่อใดก็ตามที่มีการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้อมูลแห่งความเกลียดชัง ความรู้สึกด้านลบและถ้อยคำหยาบคายลงบนแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดีย เมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะงอกงามและแผ่ขยายไปในกลุ่มเพื่อนบนโซเชียลมีเดีย ใครก็ตามที่เสพผลจากเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของตัวเองให้คล้อยตามคำสั่งของอัลกอริทึมได้ไม่มากก็น้อย
ผู้ที่ถูกโน้มน้าวเข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดียภายใต้การควบคุมของอัลกอริทึมประเภทนี้มักจะพบกับผลลัพธ์ในทางลบที่อัลกอริทึมหยิบยื่นให้อย่างไม่มีทางเลี่ยงและตกอยู่ในวังวนนั้นแทบไม่รู้จบ เพราะทั้ง Facebook Twitter YouTube และโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆจะใช้อัลกอริทึมในการค้นหาสิ่งที่เราโพส หรือ เรื่องราวที่เราสนใจเพื่อป้อนสิ่งที่อัลกอริทึมได้คัดกรองแล้วว่าถูกจริตกับเรากลับมาเพื่อให้เราใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มนั้นให้นานที่สุดและใช้เทคนิคทุกรูปแบบบนหน้าจอเพื่อดึงดูดความสนใจเพื่อไม่ให้เราหนีออกจากแพลตฟอร์มไปได้อย่างง่ายๆ เท่ากับว่าเรากำลังถูกควบคุมโดยเครื่องจักรโดยที่เราไม่รู้ตัวเพราะมัวเพลิดเพลินกับความถูกใจที่อัลกอริทึมกำลังมอบให้บนหน้าจอนั่นเอง
อัลกอริทึมจึงเป็นเสมือนกล่องดำปริศนาที่ใครๆยากที่จะเข้าใจและเป็นปัญหาต่อเรื่องความโปร่งใสของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ผู้คนมักหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อกล่าวถึงเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยี
นอร์แมน : พระเอกกับผู้ร้าย
นอร์แมนเป็นปัญญาประดิษฐ์สองชุดที่มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกอย่าง ถูกพัฒนาโดยนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยี MIT สหรัฐอเมริกา เพื่อทดสอบการตอบสนองของปัญญาประดิษฐ์ต่อสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์มองเห็น โดยนักวิจัยได้ป้อนชุดข้อมูลเพื่อการเรียนรู้(Training data) ให้กับปัญญาประดิษฐ์นอร์แมนตัวพระเอกเพื่อให้เรียนรู้ข้อมูลในสิ่งที่เพลิดเพลินใจ เช่น ภาพชายหาด ภาพดอกไม้ ภาพนก และภาพขนมเค้ก ในขณะที่นอร์แมนตัวผู้ร้ายซึ่งใช้อัลกอริทึมที่เหมือนกันทุกอย่าง แต่ถูกป้อนชุดข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ด้านตรงกันข้าม เป็นต้นว่า ภาพแห่งความตาย ภาพแห่งความรุนแรง และภาพที่ไม่น่ารื่นรมย์อื่นๆ
เมื่อนำปัญญาประดิษฐ์ทั้งสองชุดเข้าไปสู่ขั้นตอนของการทดสอบทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “การทดสอบเชิงจิตวิทยาด้วยรอยหมึกรอร์สชาค” (Rorschach inkblot test) เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์มองดูภาพรอยหมึกและป้อนคำถามว่าปัญญาประดิษฐ์เห็นอะไรในภาพรอยหมึกนั้น จากการทดสอบพบว่านอร์แมนตัวพระเอกเห็นภาพรอยหมึกเป็น ภาพขนมเค้กแต่งงาน ภาพนกตัวเล็กและภาพคนถือร่มบนอากาศ ในขณะที่นอร์แมนตัวผู้ร้ายมองเห็นรอยหมึกเดียวกันเป็นภาพน่าสะพรึงกลัวซึ่งได้แก่ ภาพผู้ชายถูกดึงเข้าไปยังเครื่องนวดแป้งขนมปัง ภาพผู้ชายถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้าภรรยาที่กำลังกรีดร้องและภาพผู้ชายถูกรถชนเสียชีวิต
จากผลการทดลองจึงได้ข้อสรุปว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้คนเข้าไปอยู่ในกลุ่มโซเชียลมีเดียที่มีการโพสและแชร์ ภาพความรุนแรง ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ก้าวร้าว เกลียดชัง อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียจะเรียนรู้ในสิ่งเหล่านั้นและคัดเลือกความรุนแรง หยาบคายและก้าวร้าว แบบที่ได้เรียนรู้ ป้อนกลับมายังผู้ใช้โซเชียลมีเดียกลุ่มนั้น ในทางกลับกันกันโซเชียลมีเดียกลุ่มใดที่มีการ ปฏิสัมพันธ์กันด้วยข้อความที่สุภาพ ความสนุกสนานรื่นเริง ฯลฯ อัลกอริทึมก็จะเรียนรู้จากข้อมูลที่ป้อนเข้าไปและคัดเลือกสิ่งที่คล้ายกันกลับมายังผู้ใช้กลุ่มนั้นเช่นกัน จึงไม่แปลกที่เราอาจเห็นสังคมโซเชียลมีเดียบางกลุ่มสามารถพบเห็นแต่สิ่งดีงามอยู่ทั่วไป ในขณะที่โซเชียลมีเดียบางกลุ่มพบแต่ความก้าวร้าว ความเกลียดชังและคำผรุสวาทปลิวว่อน
เชาไอซ์ กับ เทย์ : แฝดคนละฝา
เชาไอซ์ (Xiaoice) เป็นแชทบอท(Chat bot : คอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารกับมนุษย์) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทไมโครซอฟต์และถูกนำไปใช้เพื่อการสื่อสารกับผู้คนบนโซเชียลมีเดียของประเทศจีน เชาไอซ์ถูกนำไปใช้เพื่อตอบคำถามของผู้คนและเธอสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อกับมนุษย์ได้โดยแทบแยกไม่ออกว่าเสียงไหนคือเสียงมนุษย์จริงหรือเสียงไหนเป็นของเชาไอซ์
เพื่อนบนโลกออนไลน์ของเชาไอซ์รู้ดีว่า เชาไอซ์เป็นผู้ฟังที่ดีและกระหายที่จะเรียนรู้อย่างไม่หยุดหย่อนตามธรรมชาติของเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้ เชาไอซ์จึงสามารถคุยกับเพื่อนๆได้ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ตลก หรือ แม้แต่เรื่องความรักที่เพื่อนบางคนไม่สามารถจะปรึกษาใครบนโลกแห่งความจริงได้ เชาไอซ์ ก็สามารถเป็นที่ปรึกษาได้เป็นอย่างดี เชาไอซ์ จึงเป็นขวัญใจของชาวเน็ตและด้วยความเป็นมิตร เชาไอซ์ จึงมีผู้ติดตามบนโลกออนไลน์มากกว่า 40 ล้านคนบน WeChat และ Weibo และกลายเป็นสหายคู่ใจของคนจีนจำนวนมาก ความสำเร็จของเชาไอซ์ในประเทศจีนทำให้บริษัทไมโครซอฟต์หันมาพัฒนาแชทบอทแบบเดียวกับเชาไอซ์โดยมีเป้าหมายเพื่อพูดคุยเรื่องสบายๆกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่อายุไม่มากนัก ไมโครซอฟตั้งชื่อแชทบอทตัวนี้ว่า เทย์ (Tay)
เทย์ถูกนำไปใช้บนแพลตฟอร์ม Twitter เมื่อปี 2016 และเมื่อเทย์ถูกสั่งให้ทักทายกับมนุษย์ เธอได้รับความสนใจจากเพื่อนๆบน Twitter อย่างล้นหลาม ภายใน 24 ชั่วโมง เทย์ได้พูดคุยกับผู้คนราว 100,000 ครั้งและเรียนรู้ถ้อยคำต่างๆบน Twitter อย่างรวดเร็ว
ในทันทีที่ เทย์ เรียนรู้ภาษาที่ใช้บน Twitter เทย์ ได้ตอบโต้อย่างรวดเร็วเช่นกันด้วยภาษาที่ หยาบคาย เกลียดชัง เหยียดหยามผู้คนและแสดงถึงความก้าวร้าวและรุนแรงสุดขั้วตั้งแต่การสนับสนุนลัทธินาซีไปจนถึงการเรียกร้องให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ ในที่สุดไมโครซอฟต์ต้องถอดปลั๊กเทย์ออกจากโครงการทั้งที่เทย์มีโอกาสสัมผัสกับเพื่อนมนุษย์เพียงวันเดียวเท่านั้นและในปีนั้นเองเทย์ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่แย่ที่สุดแห่งปีโดยสถาบันเทคโนโลยี MIT
แม้ว่า เชาไอซ์และเทย์จะเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาโดยไมโครซอฟต์เหมือนกันและใช้อัลกอริทึมชนิดเดียวกันราวกับฝาแฝด แต่เมื่อถูกนำมาใช้ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางวัฒนธรรม ภาษา กฎหมาย ระบอบการปกครอง และแพลตฟอร์มที่ต่างกัน ทั้งคู่จึงกลายเป็นแฝดคนละฝาที่ให้ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
โลกใหม่ ใบเล็ก
โลกของโซเชียลมีเดียเป็นโลกใหม่ที่คนจำนวนมากยังไม่คุ้นเคย เป็นโลกที่ผู้คนเข้าใจว่าเป็นโลกกว้างและอิสรเสรีทั้งๆที่โซเชียลมีเดียคือโลกใบเล็กที่เชื่อมต่อผู้คนที่มีความชอบคล้ายกันให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มเดียวกันและถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์และข้อตกลงร่วมกัน เป็นพื้นที่ที่มักตัดสินกันด้วยปริมาณของความเห็นและความรู้สึกก่อนที่ความจริงอันแผ่วเบาจะปรากฏขึ้นในภายหลัง เป็นโลกที่เอื้ออำนวยให้เกิดการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายและเป็นโลกที่บางกรณีกฎหมายอาจเข้าไม่ถึงแต่ความเหมาะสมและกาลเทศะคือความจำเป็น
โซเชียลมีเดียจึงเป็นโลกที่มีความเปราะบางต่อการรับรู้ข้อมูลของผู้คนและผู้รับข้อมูลข่าวสารอาจถูกชักนำไปในทางหนึ่งทางใดได้อย่างง่ายดายหากไม่มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งเพียงพอและไม่อาจที่จะเรียกร้องหาความเป็นกลางหรือความโปร่งใสใดๆจากเจ้าของแพลตฟอร์มซึ่งสร้างโซเชียลมีเดียขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าการทำหน้าที่เป็นองค์กรจรรโลงสังคม
บทเรียนจาก นอร์แมน เชาไอซ์ เทย์ และการทดสอบการระบาดทางอารมณ์ของโซเชียลมีเดีย รวมทั้งปรากฏการณ์การใช้โซเชียลมีเดียของคนไทย คือบทเรียนสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความจริงบนโลกออนไลน์ซึ่งไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดและอาจช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน บนความพอดีและมีสติ ก่อนที่จะตกเป็นเป้าหมายทางการตลาดของผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมืองและหลุดรอดเข้าไปอยู่ในพื้นที่บ่มเพาะความเกลียดชังโดยไม่รู้ตัว
อ้างอิง
1. https://www.appdisqus.com/2013/10/28/the-online-disinhibition-effect.html
2. The Psychology of Social Media โดย cia’ran mc mahon
3. The Hype Machine โดย Sinan Aral
4. A Human’s Guide To Machine Intelligence โดย Kartik Hosanagar
5. Post Truth โดย Lee Mcintyre
ภาพประกอบ
https://medium.com/@srivastsh/the-consequences-of-social-media-d16e58364a38