คืบหน้าบุกค้นบ้านหาตัว “ซัมลี สอละซอ” ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 4 หมายจับในพื้นที่ อ.ศรีสาคร นราธิวาส พบแต่น้องชาย เจ้าหน้าที่เชิญตัวไปสอบปากคำก่อนปล่อยกลับบ้าน ด้าน โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ระบุ 1 ใน 4 หมายจับเป็นคดียิงคนหาของป่า และวางระเบิดเจ้าหน้าที่
วันศุกร์ที่ 14 ก.ค.66 ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง นำกำลังเข้าบังคับใช้กฎหมายปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย หมู่ 7 บ้านไอร์จูโจ๊ะ ต.ศรีสาคร อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นบ้านของ นายซัมลี สอละซอ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่มีหมายจับ 4 หมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่สืบทราบว่า นายซัมลี ได้หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้าน จึงประสานขอกำลังเสริมเพิ่มเติม พร้อมประสานผู้นำในพื้นที่เข้าเจรจาให้ออกมามอบตัว
ต่อมาหลังจากการเข้าเจรจาและเข้าตรวจค้นภายในบ้าน เจ้าหน้าที่ไม่พบน ายนายซัมลี สอละซอ และไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ พบเพียง นายอานูวา สอละซอ ซึ่งเป็น้องชายของนายซัมลี เจ้าหน้าที่จึงได้เชิญตัวไปที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 เพื่อซักถามข้อมูล ก่อนปล่อยตัวกลับบ้าน
พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า กรณีที่ อ.ศรีสาครเป็นการปิดล้อมบุคคลเป้าหมายตามหมายจับ คือ นายซัมลี สอละซอ ที่มีหมายจับ 1 ในนั้น คือ คดียิงชาวบ้านหาของป่าในพื้นที่ และเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่
“ในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ ไม่พบบุคคลตามเป้าหมายหรือสิ่งของผิดกฎหมาย พบแต่ นายอันนูวา สอละซอ น้องชาย จึงเชิญตัวไปที่หน่วยฯ เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ก่อนให้กลับบ้าน” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าว
@@ แจ้งเตือนเฝ้าระวัง 18 ปี “ดับเมืองยะลา”
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ แจ้งย้ำเตือนกำลังพลทุกชุด ทุกหน่วย ให้เฝ้าระวัง พร้อมดูแลรักษาความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนอย่างเข็มงวด
สาเหตุที่มีการแจ้งเตือน เนื่องจากวันนี้ 14 ก.ค.66 เป็นวันครบรอบ 18 ปีเหตุคนร้าย 60 คน ดับไฟทั้งเมืองยะลา ก่อนก่อเหตุรุนแรงพร้อมกันหลายจุด โดยเน้นหนักในพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา เรียกว่าเหตุการณ์ “ดับเมืองยะลา” จึงขอให้กำลังพลทุกปฏิบัติการมีความพร้อม ความตื่นตัวในการปฏิบัติหน้าที่ในทุกภารกิจ สามารถตอบโต้ได้ทันท่วงทีเมื่อมีเหตุการณ์ และไม่ตั้งอยู่ในความประมาทในทุกภารกิจ
สำหรับเหตุการณ์ “ดับเมืองยะลา” เมื่อคืนวันที่ 14 ก.ค.2548 คนร้าย 60 คนเปิดปฏิบัติการก่อกวนและก่อเหตุรุนแรงทั่วเมืองไล่เลี่ยกัน 23 จุด โดยเริ่มจากการวางระเบิดโรงไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง จากนั้นวางระเบิดรวม 6 จุด ลอบวางเพลิง 6 จุด วางวัตถุต้องสงสัย 6 จุด วางตะปูเรือใบ 3 จุด ปะทะกับเจ้าหน้าที่ 3 จุด และยังมีการก่อกวนโดยการขว้างระเบิดเพลิงอีกหลายจุด เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 2 นาย ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 17 คน เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 1 คน และผู้ต้องสงสัยอีก 6 คน
เหตุการณ์ “ดับเมืองยะลา” เป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในช่วงนั้น และเป็นจุดเปลี่ยนให้รัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ โดยยกกฎหมายฉบับเดิม คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2495 โดยรัฐบาลในขณะนั้นเลือกวิธีตราเป็นพระราชกำหนด โดยไม่ผ่านสภา เพื่อความรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ แต่จากนั้นได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต่ออายุขยายเวลาทุกๆ 3 เดือน (เป็นเงื่อนไขของกฎหมาย) มามากกว่า 70 ครั้ง หรือเกือบ 18 ปีเต็ม ขณะที่มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปเพียงบางอำเภอเท่านั้น