ตัวอย่างของความน่าตกใจในการก่อเหตุรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นได้ชัดจากกรณีคนร้ายดักยิง นายนาวีวัฒน์ หะยีบาสอ อายุ 53 ปี อดีตแพทย์ประจำตำบลท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
เหตุการณ์เกิดขึ้นขณะ นายนาวีวัฒน์ กำลังขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนนภายในหมู่บ้าน หมู่ 1 ต.ท่ากำชำเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 18 พ.ค.66
จากสภาพศพที่ผ่านการชันสูตร และผลการตรวจที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ พบว่าคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงถล่มไม่น้อยกว่า 24 นัด เพราะพบปลอกกระสุน 24 ปลอก
แทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นการยิงเพื่อสังหารคนเพียงคนเดียว...
ยิ่งไปกว่านั้น ในรายงานผลการตรวจพิสูจน์ปลอกกระสุนปืนของกลางทั้ง 24 ปลอก พบว่าคนร้ายยิงมาจากปินกลเล็ก (เอ็ม 16 ) จำนวน 2 กระบอก ซึ่งเมื่อตรวจเทียบกับเหตุการณ์รุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ พบว่าอาวุธปืนสงครามที่ใช้สังหารนายนาวีวัฒน์ เคยก่อเหตุมาแล้วอย่างน้อย 16 คดี มีผู้เสียชีวิตถึง 11 ราย บาดเจ็บ 7 ราย ใช้ยิงโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ 4 ครั้ง ยิงบ้านเรือนประชาชนอีก 2 ครั้ง
พื้นที่เกิดเหตุ หรือ “พื้นที่ทำการ” ของอาวุธปืนกระบอกนี้ คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นหลัก โดยมีการก่อเหตุในพื้นที่ใกล้เคียงบ้าง ก็คือ อ.เมืองปัตตานี และ อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน
จากหลักฐานที่เจ้าหน้าที่รวบรวมได้ ชัดเจนว่านี่คือ “ปืนเวียน” ที่กลุ่มก่อความไม่สงบนำมาใช้ก่อเหตุซ้ำแล้วซ้ำอีกในพื้นที่เดิมๆ โดยที่ฝ่ายรัฐไม่สามารถตามยึดมาเป็นของกลางได้ สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ทั้งยังสะท้อนรูปแบบการก่อเหตุของกลุ่มคนร้ายว่า มาจากการกระทำในลักษณะ “ขบวนการ” มีการแบ่งงานกันทำ และวางแผนตระเตรียมการมาเป็นอย่างดี
สำหรับยุทธวิธี “ปืนเวียน” เป็นแผนการของกลุ่มก่อความไม่สงบซึ่งมีอาวุธปืนจำกัด จึงวางแผนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการสร้างความเสียหายให้กับรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐให้มากที่สุด
วิธีการที่กลุ่มก่อความไม่สงบนำมาใช้ก็คือ
1.ปลุกแนวคิด ”ปืนของรัฐ คือปืนของเรา” จึงเปิดปฏิบัติการปล้นปืน ทั้งปฏิบัติการเล็กๆ และปฏิบัติการขนาดใหญ่ เช่น
-ปล้นปืนจากค่ายทหาร เมื่อปี 2547 ครั้งเดียว 413 กระบอก
-ปล้นชิงปืนหลังก่อเหตุโจมตีทำร้ายเจ้าหน้าที่ อาทิ วางระเบิดรถตำรวจ ทหาร แล้วสังหารซ้ำ จากนั้นก็ชิงปืนไป คราวหนึ่งก็ได้ 4-10 กระบอก มีทั้งอาวุธสงครามที่เป็นปืนประจำกาย และปืนพกสั้น ซึ่งบางกรณีก็เป็นปืนส่วนตัว
2.ก่อเหตุทำร้ายครู ประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือกองกำลังภาคประชาชน ซึ่งเป็นพลเรือนช่วยงานรัฐ จากนั้นก็ชิงปืนไป ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่พกปืนไว้ป้องกันตัว แต่คนร้ายก่อเหตุแบบกองโจร โจมตีแบบไม่ทันให้รู้ตัว ทำให้ส่วนใหญ่ต้องเสียชีวิต และโดนชิงปืนไป
-การก่อเหตุลักษณะนี้ โดยมากมักได้ปืนพกสั้นของเหยื่อ
3.เมื่อได้ปืนไปแล้ว ก็จะนำไปใช้เป็น “ปืนกลาง” หรือ “ปืนเวียน” ในแต่ละเขตพื้นที่เคลื่อนไหว โดยปืนอาจถูกเคลื่อนย้ายไปนอกพื้นที่ที่ปล้นชิงปืนมาก็ได้ เพื่อให้ไกลจากเจ้าของเดิม ทำให้ยากต่อการสืบสวนหาปืน
(ในอดีตปืนของรัฐจะมีการขึ้นบัญชีเอาไว้ แยกเป็นพื้นที่ หากปืนหายหรือถูกเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด เวลาก่อเหตุ ฝ่ายรัฐอาจเชื่อมข้อมูลไม่ถึงกัน แต่ปัจจุบันฝ่ายความมั่นคงทลายกำแพงนี้แล้ว)
เช่น เมื่อก่อเหตุชิงปืนจากเจ้าหน้าที่แล้ว ก็จะมีการส่งปืนไปตามเขตงานต่างๆ ของพวกตน และปืนเหล่านั้นก็จะถูกใช้ในพื้นที่เขตงาน
อย่างปืนที่คนร้ายใช้ยิงแพทย์ประจำตำบลท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ก็ถูกใช้ในพื้นที่ อ.หนองจิกเป็นหลัก / มีการถูกนำไปใช้ในพื้นที่อำเภออื่นบ้าง แต่ก็เป็นอำเภอรอยต่อ อำเภอที่อยู่ติดกันทั้งสิ้น คือ อำเภอเมืองปัตตานี กับ อ.เทพา จ.สงขลา
4.กระบวนการนำปืนไปใช้ และนำปืนไปซ่อนหลังจากก่อเหตุแล้ว จะมี “ฝ่ายเมล์” หรือ “ฝ่ายโลจิสติกส์” ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายปืน
กล่าวคือ นำปืนจากที่ซ่อนไปส่งใกล้กับแหล่งซ่อนตัวของทีมสังหาร หรือ “ทีมก่อเหตุ” โดยนำไปวางไว้ตรงจุดนัดหมาย (มีการนัดแนะกันไว้ก่อน) จากนั้นจะมีทีมของฝ่ายก่อเหตุไปรับปืน แล้วนำไปส่งให้ทีมก่อเหตุนำไปปฏิบัติการ เมื่อปฏิบัติการเสร็จ ก็จะมีทีมไปรับปืน เพื่อนำกลับไปซ่อนที่เดิม
ฉะนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้น แม้จะเจอคนที่ก่อเหตุ แต่มักไม่เจอปืน หรืออาวุธที่ใช้ ทำให้ปืนยังถูกนำไปสร้างสถานการณ์ครั้งอื่นๆ ได้อีก
5.สถานที่ซ่อนปืน ส่วนมากจะอยู่ที่บ้านแกนนำ หรือแนวร่วมคนสำคัญ ซึ่งเตรียมพื้นที่เอาไว้แล้ว เช่น ห้องลับในบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเคยค้นเจอ หรือไม่ก็นำไปใส่ภาชนะปิดผนึก แล้วนำไปถ่วงน้ำ เจ้าหน้าที่ค้นบ้านก็หาไม่เจอ ทำให้ปืนวนเวียนอยู่ในมือของผู้ก่อความไม่สงบ สามารถก่อเหตุได้ซ้ำๆ โดยไม่ถูกตามยึดคืน
นี่คือที่มาของ “ปืนเวียน” ที่กลุ่มก่อความไม่สงบใช้ยุทธวิธีนี้ในการก่อเหตรุนแรง และต่อสู้กับฝ่ายรัฐมานานร่วม 20 ปี!
เห็นยุทธวิธี “ปืนเวียน” แล้ว อาจทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุใดการต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้กฎหมายพิเศษ เพราะเหตุว่าฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ใช่อาชญากรธรรมดา แต่เป็น “กลุ่มขบวนการ” ที่มีการวางแผนมาอย่างแยบยล
รัฐบาลชุดใหม่...หากพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งได้สำเร็จจริง น่าจะนำนโยบายเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ที่ได้หาเสียงไว้มาปฏิบัติค่อนข้างแน่ นั่นก็คือการยกเลิกกฎหมายพิเศษทั้งหมดในพื้นที่, ถอนทหาร และยุบ กอ.รมน.
แต่เมื่อรัฐบาลใหม่ยังไม่มา รัฐบาลรักษาการจึงต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปพลางก่อน โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ค.66 เป็นการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี ต่ออายุ-ขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 3 เดือน เป็นการต่ออายุ-ขยายเวลารอบที่ 72 รวมระยะเวลาประมาณ 18 ปีเต็ม เนื่องจากเริ่มใช้มาตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย
หากรัฐบาลชุดใหม่ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษทุกฉบับตามที่ประกาศไว้จริง (กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความมั่นคง) ก็ต้องรอดูว่าจะมีเครื่องมืออื่นใดมาทดแทนเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะใช้เครื่องมืออื่นๆ นอกจากกฎหมายและกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อให้สามารถดับไฟใต้ได้อย่างยั่งยืน...
ต้องรอดู!