ใกล้ถึงวันรับสมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อเต็มที แต่หลายพื้นที่ก็ยังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเขตแบบแปลกประหลาด ถึงขั้นฟ้องศาลกัน บางพื้นที่มีเพิ่มเขต ลดเขต ก็เลยฝุ่นตลบกันอีกระลอก
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้...ที่ปัตตานี ต้องบอกว่ายุ่งจนนาทีสุดท้าย นอกจากจะมีเพิ่มเขตจาก 4 เป็น 5 เขตแล้ว ยังมีการย้ายพรรคย้ายค่ายกันวุ่นวายด้วย
โดยเฉพาะเขต 1 ปัตตานี กลายเป็นพื้นที่ “ไม่มีแชมป์เก่า” ไปเสียแล้ว เพราะ นายอันวาร์ สาและ อดีต ส.ส.เขตนี้ ต่อเนื่องถึง 4 สมัย ตัดสินใจนาทีสุดท้าย เปลี่ยนเขตไปลงเขต 5 ซึ่งเป็นเขตใหม่ซะอย่างนั้น
เหตุผลจากเจ้าตัวไม่ชัดเจนว่าเพราะอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและมีคำอธิบายตามมา...เป็นแบบนี้
1.ปัจจุบัน นายอันวาร์ ย้ายค่ายจากประชาธิปัตย์ไปอยู่พลังประชารัฐ หรือ “พรรคลุงป้อม” ซึ่งก็โดนกระแสวิจารณ์หนัก เพราะตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นายอันวาร์ ยืนตรงข้ามพลังประชารัฐมาตลอด ทำตัวเป็น “ฝ่ายค้านในรัฐบาล” แม้จะอ้างว่าเจตนา “ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์” แต่ก็ฟังไม่ค่อยขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะเหนือจาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังมี “3ป.” ซึ่ง “ลุงป้อม” หรือ พล.อ.ประวิตร ก็เป็น “พี่ใหญ่ 3ป.” อีกที
การย้ายซบพลังประชารัฐไม่ทำให้นายอันวาร์ได้ “ภาพบวก” หนำซ้ำพลังประชารัฐรอบนี้ไม่มีกระแส ผลโพลชายแดนใต้ก็ค่อนข้างชัด
ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เมื่อเดือน ก.พ.66 “ลุงป้อม” ไม่ติด 1 ใน 10 บุคคลที่คนชายแดนใต้อยากเลือกให้เป็นนายกฯ (ได้อันดับ 11) ส่วนคะแนนนิยมของพรรคอยู่อันดับ 6 ร้อยละ 4 กว่าๆ เท่านั้น แต่การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว ผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
2.ว่าที่ผู้สมัครเขต 1 ปัตตานี ของพลังประชารัฐ กลายเป็น นายอรุณ เบ็ญจลักษณ์ ที่เพิ่งอกหักจากพรรคประชาชาติ โดน ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู เบียดกระเด็น แต่ก็น่าแปลกที่ นายอรุณย้ายพรรคได้แบบทันควัน จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าเป็นคนทำให้ นายอันวาร์ กระเด็นจากเขต 1 ไปอยู่เขต 5 ด้วยหรือเปล่า
3.ข่าวจากคนใกล้ชิดนายอันวาร์ เผยว่า สาเหตุที่นายอันวาร์ย้ายไปลงเขต 5 ซึ่งเป็นเขตใหม่ เพราะเป็นพื้นที่ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายอันวาร์ มีญาติพี่น้องจำนวนมาก จึงน่าจะได้เปรียบ
แต่ข่าวจากคนที่ไม่ได้ใกล้ชิดนายอันวาร์ มองว่า นายอันวาร์มีโอกาสสอบตกสูงถ้ายังอยู่เขต 1 เพราะสาเหตุที่นายอันวาร์ได้เป็น ส.ส.ต่อเนื่องถึง 4 สมัย เนื่องจากเป็นพลังเสริมกันระหว่างคะแนนส่วนตัวของนายอันวาร์เอง กับคะแนนพรรคประชาธิปัตย์
เขต 1 เดิม ประกอบด้วย อำเภอเมือง กับอำเภอยะหริ่งเกือบทั้งอำเภอ ทำให้นายอันวาร์ได้คะแนนส่วนตัวจากอำเภอยะหริ่ง ผสมกับคะแนนพรรคในพื้นที่เขตเมือง ทั้งกลุ่มคนพุทธ ชาวไทยเสื้อสายจีน กลุ่มข้าราชการ ซึ่งเป็นแฟนคลับประชาธิปัตย์ ส่งผลให้นายอันวาร์ได้รับชัยชนะ
ผลการเลือกตั้งปี 62 นายอันวาร์ ได้ 19,883 คะแนน แต่ขนาดได้สองแรงบวก (คะแนนส่วนตัว + คะแนนพรรค) ยังไม่ถึง 20,000 คะแนน และยังโดนคู่แข่งหายใจรดต้นคอ กล่าวคือ
ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู พรรคประชาชาติ ได้ 15,233 คะแนน
นายสนิท นาแว พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ 13,614 คะแนน
ในการเลือกตั้งปี 66 ผศ.ดร.วรวิทย์ ยังอยู่เขต 1 พรรคเดิม ส่วนนายสนิท ลงแก้มือเขต 1 แต่ย้ายค่ายไปอยู่ประชาธิปัตย์ จึงมีโอกาสสูงที่คะแนนเก่าของนายอันวาร์จากเขตเมือง จะเทให้นายสนิท กระทั่งเข้าวินได้เหมือนกัน (เพราะขนาดไม่มีคะแนนพรรค นายสนิทยังได้มาแล้ว 13,000 กว่าๆ)
4.เขต 1 ปัตตานี ในการเลือกตั้งเที่ยวนี้ ยังมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา หรือ “หมอเพชรดาว” จากพรรคภูมิใจไทย ลงชิงเก้าอี้ด้วย จากเดิมอยู่บัญชีรายชื่อ ย้ายมาลงเขต 1 ปัตตานี เขตสัญลักษณ์ที่คล้ายเป็นเมืองหลวงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
หมอเพชรดาว เป็นลูกสาวของนายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส. และ ส.ว.ปัตตานี แกนนำกลุ่มวาดะห์ (กลุ่มของนักการเมืองรุ่นใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ในอดีต ซึ่งเคยประสบความสำเร็จทางการเมืองมากมาย) โดย นายเด่น เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยแรกด้วย (ปี 2535-2537)
นอกจากนั้น หมอเพชรดาว ยังเป็นหลานสาวของ “หะยีสุหลง” ผู้นำจิตวิญญาณของคนชายแดนใต้ บิดาของนายเด่น ซึ่งถูกอุ้มฆ่าถ่วงน้ำในยุคก่อนปี 2500 กลายเป็นหนึ่งใน “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะ “หะยีสุหลง” ได้รับการยอมรับศรัทธาจากคนในพื้นที่ เคยเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของปัตตานี จนถูกฝ่ายรัฐตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏ ถูกจับติดคุก และภายหลังถูกอุ้มฆ่า
เลือกตั้งหนนี้ที่ปัตตานีเขต 1 ต้องจัดว่าเดือด! นอกจากจะมีการเบียดแย่งกันลงสมัครของบรรดานักการเมืองแล้ว หมอเพชรดาว ยังเพิ่งขึ้นโรงพัก แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกับเพจข่าวเพจหนึ่งที่เขียนโจมตีหมอเพชรดาวในเรื่องส่วนตัว แต่เรื่องส่วนตัวที่ว่านี้กระทบกับคะแนนเสียงค่อนข้างแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีพี่น้องมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่แบบนี้
เรียกว่าเพิ่งยุบสภา ยังไม่ทันสมัคร ก็โหมโรงขึ้นโรงขึ้นศาล เป็นคดีความกันแล้ว...
5.ย้อนกลับไปที่นายอันวาร์ ย้าย(หนี)ไปลงเขต 5 อำเภอยะหริ่ง กับ อำเภอมายอ ก็ใช่ว่าจะสบาย เพราะต้องเจอคู่แข่งคนสำคัญ แถม “กระดูกแข็ง” อย่าง นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส จากพรรคประชาชาติ ดีกรีอดีตนายกเทศบาลตำบลตันหยง อำเภอยะหริ่ง จึงถือว่ามีฐานเสียงหนาแน่นในพื้นที่ไม่น้อยเช่นกัน
ที่สำคัญ นายสาเหะมูหามัด เป็นน้องเขยของ “นายกเศรษฐ์” เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานี ผูกขาดหลายสมัย เลือกตั้งนายก อบจ.เมื่อปี 63 เอาชนะคู่แข่งทิ้งห่างกว่า 1 แสนคะแนน
@@ เคลียร์ข่าว “นายกเศรษฐ์” เข้าชายคาบ้านป่ารอยต่อฯ
พูดถึง “นายกเศรษฐ์” เลือกตั้งใหญ่ปี 66 ถือเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของพรรคประชาชาติ และรับผิดชอบจัดตัวผู้สมัคร ส.ส.ปัตตานี ให้กับพรรค
แต่ล่าสุดเมื่อ นายอรุณ เบ็ญจลักษณ์ ย้ายจากพรรคประชาชาติไปลงพลังประชารัฐที่ เขต 1 ปัตตานี กลับปรากฏภาพ “นายกเศรษฐ์” รวมถึง นายอรุณ ไปยืนเรียงหน้าร่วมกับ “ลุงป้อม” ที่บ้านป่ารอยต่อฯ โดยมีแกนนำระดับ “คีย์แมน” ของพรรคพลังประชารัฐร่วมเฟรมพร้อมหน้า
ทั้ง “ผู้กองธรรมนัส” ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า คนสนิท “ลุงป้อม” และ “อดีต ส.ส.บีลา” สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ บ้านใหญ่นราธิวาส คนสนิทของ นายวิรัช รัตนเศรษฐ แม่ทัพอีกคนของ “พี่ใหญ่บ้านป่ารอยต่อฯ”
ภาพนี้ทำให้เกิดข่าวลือว่า “นายกเศรษฐ์” ย้ายตาม นายอรุณ เบ็ญจลักษณ์ ไปซบอก “ลุงป้อม” เรียบร้อยแล้ว
ภาพๆ เดียว ร้อนถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ที่ออกมาชี้แจงว่า “นายกเศรษฐ์” ก็รู้สึกกังวลกับภาพและข่าวที่ออกมา เพราะเบื้องหลังไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เป็นแค่ไปส่ง นายอรุญ เบ็ญจลักษณ์ เข้าพบ “ลุงป้อม” ที่บ้านป่ารอยต่อฯ หลังย้ายเข้าชายคาพลังประชารัฐเท่านั้น
“ท่านนายกเศรษฐ์ โทรมาเล่าให้ฟังแล้ว ท่านก็ร้อนใจ ยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น และการเลือกตั้งในเขต 5 ปัตตานี ก็ยังชนกับ นายอันวาร์ สาและ จากพลังประชารัฐแบบเต็มๆ ด้วย” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว
@@ “พรรคเป็นธรรม” กระแสพุ่ง! ขวัญใจคนวัยแรงชายแดนใต้
พูดถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงไม่พูดถึงพรรคนี้ไม่ได้ นั่นก็คือ “พรรคเป็นธรรม” แม้จะเป็นพรรคใหม่ แต่ต้องบอกว่า “มาแรงจริงๆ” แถมกลบกระแส “พรรคก้าวไกล” จนแทบจะเงียบสนิท
“พรรคเป็นธรรม” มี นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ เป็นหัวหน้าพรรค นายกัณวีร์ สืบแสง เป็นเลขาธิการพรรค
และ นายกัณวีร์ คนนี้นี่เองที่ทำให้กระแสพรรคเป็นพรรคพุ่งพรวดๆ ในพื้นที่ปลายด้ามขวาน เคยเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) และเคยทำงานที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR
สาเหตุที่กระแสของพรรคเป็นธรรมพุ่งแรงที่ชายแดนใต้ ก็เพราะนำเสนอนโยบายชัดเจน ยืนตรงข้ามกลไกของทหารและกองทัพในภารกิจดับไฟใต้่อย่างชัดเจนสุดๆ เรียกว่า ถ้าพรรคเป็นธรรมมีโอกาสได้เข้าสภา จะเข้าไปรื้อโครงสร้างเหล่านี้ทั้งหมด โดยเฉพาะกฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ที่สำคัญยังชักชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ “กลุ่มปัตตานี บารู” ซึ่งเป็นนักกิจกรรมรากหญ้า มาร่วมงานกับพรรคได้ยกกลุ่ม โดยนักกิจกรรม “ปัตตานี บารู” เคลื่อนไหวเรื่องการเมืองการปกครองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ แต่เน้นกลุ่มที่ถูกฝั่งรัฐกระทำ
นักกิจกรรมกลุ่มนี้เป็น “นักปราศรัย” ออกแนวปลุกระดมนิดๆ มีถ้อยคำเนื้อหาเร้าอารมณ์ ล่วงเลยไปจนถึงสุดโต่ง หลายคลิปที่หลุดสู่โลกออนไลน์ ทำเอาหน่วยงานความมั่นคงถึงกับสะดุ้ง และต้องหันมาจับตากันอย่างจริงจัง
เช่น คลิปที่เคยเป็นไวรัลอยู่พักหนึ่งในหมู่คนชายแดนใต้ เป็นการปราศรัยเรียกร้องให้นักต่อสู้วางอาวุธ แล้วพร้อมใจกันมาเลือกพรรคเป็นธรรม จากนั้นจะจัดชุมนุมที่สามารถเรียกร้อง “ปาตานี มือแดกอ” หรือ “ปาตานี เมอร์เดก้า” ซึ่งแปลว่า “เอกราชปาตานี” ได้
คลิปปราศรัยนี้ แม้จะตรงและแรง แต่เนื้อหาก็พูดยากว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นการชุมนุมก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมองมุมไหน เพราะในต่างประเทศก็มีการชุมนุมเรียกร้องประเด็นลักษณะนี้เช่นกัน
แต่ไม่ว่าฝ่ายความมั่นคงจะมองอย่างไร แต่คลิปไวรัลลักษณะนี้โดนใจกลุ่มสุดโต่งในพื้นที่อย่างมาก จนหลายคนลืม “พรรคก้าวไกล” ไปเลย
ก่อนหน้านี้ ฝ่ายความมั่นคงเคยประเมินว่า “พรรคเป็นธรรม” เป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยอีกที เพราะคนที่อยู่เบื้องหลังคอยขับเคลื่อนอย่างขะมักเขม้น คือ “เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช. อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ ในยุครัฐบาล “นายกฯหญิง ยิ่งลักษณ์” เมื่อปี 2556 ตอนนั้นเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น
ฝ่ายความมั่นคงมองว่า “พรรคเป็นธรรม” ตั้งขึ้นมาเพื่อสกัดความร้อนแรงของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นขวัญใจวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เอารัฐไทย และอยู่ตรงข้ามรัฐบาล ปรากฏว่าวันนี้พรรคเป็นธรรมมาแรงกว่า จึงน่าจะส่งผลให้พรรคก้าวไกลเสียคะแนนไปพอสมควรในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
โดยพรรคเพื่อไทยคาดว่าคะแนนจากก้าวไกล จะไหลมาที่ตัวเอง หรือไหลไปพรรคพันธมิตรอย่างพรรคประชาชาติ ของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง