นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบราฮิม ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ แทน ตันศรี อับดุลราฮิม โมฮัมหมัด นูร์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่เดือน ส.ค.61 แล้ว
ผู้อำนวยความสะดวกฯ คนใหม่ คือ ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซีย
มีรายงานว่า นายอันวาร์ อิบราฮิม แต่งตั้ง ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน ตามการเสนอของหน่วยข่าวกรองมาเลเซีย ซึ่งถือว่าเส้นทางของผู้อำนวยความสะดวกฯ คนใหม่ แตกต่างจากคนเดิม คือ ตันศรี อับดุลราฮิม โมฮัมหมัด นูร์ อย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก “ตันศรี ราฮิม” เป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย แต่ “ตันศรี ซุลกิฟลี” มาจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ส่งหนังสือแต่งตั้ง “ตันศรี ซุลกิฟลี” ไปที่สภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.65 ซึ่งแตกต่างจากการแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกฯ 2 คนก่อนหน้านี้ ที่ได้รับการเสนอชื่อจากสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซียเอง
@@ ย้อนปูม 2 ผู้อำนวยความสะดวกฯ สันติภาพยังไม่เกิด
ก่อนหน้านี้ มาเลเซียแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว 2 คน ตั้งแต่รัฐบาลไทยกับ “กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ” ตกลงกันที่จะพูดคุยเพื่อแสวงหาแนวทางสันติสุข สันติภาพ ยุติเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบบ “เปิดเผย บนโต๊ะ” เมื่อปี 2556 เป็นต้นมา ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย และรัฐบาล นายนาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย
โดยผู้อำนวยความสะดวกฯ คนแรก คือ ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกฯ การพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 2 คณะ 2 ช่วงเวลา คือ กลุ่มบีอาร์เอ็น ภายใต้การนำของ นายฮัสซัน หรือ ฮาซัน ตอยิบ เมื่อปี 2556-2557 และ “กลุ่มมารา ปาตานี” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ในปี 2558-2561 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีการริเริ่มกระบวนการพูดคุยขึ้นใหม่ หลังจากการพูดคุยครั้งแรกไม่บรรลุข้อตกลง โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งฝ่ายไทยมองว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สุดโต่ง ไม่สามารถปฏิบัติตามได้
ส่วนกระบวนการพูดคุยกับ “กลุ่มมารา ปาตานี” เดินหน้าถึงการร่วมกันจัดทำ “พื้นที่ปลอดภัย” และกำลังจะมีแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างบางคนเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สุดท้ายไม่บรรลุข้อตกลง และยังมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลครั้งสำคัญในมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด อดีตนายกฯผู้ยิ่งใหญ่ของมาเลเซีย หวนคืนสู่เก้าอี้ผู้นำสูงสุดของประเทศอีกครั้ง ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จากนั้นได้ตัดสินใจเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯ คนใหม่ เป็น “ตันศรี ราฮิม” และเริ่มกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นอีกรอบ
@@ จับตาเข้าทางฝ่ายตรงข้ามรัฐไทย
ส่วนผู้อำนวยความสะดวกฯ คนที่ 3 คือ “ตันศรี ซุลกิฟลี” ซึ่ง นายอันวาร์ อิบราฮิม เห็นชอบให้แต่งตั้งนั้น มีรายงานว่า มาจากการเสนอชื่อของหน่วยข่าวกรองมาเลเซีย ซึ่งผู้บริหารหน่วยบางคน มีแนวคิด “มลายูนิยม” หรือสนับสนุนแนวทางมลายู รวมทั้งมีนโยบายช่วยเหลือ “ชนกลุ่มน้อยมุสลิม” ทั่วโลก
จึงทำให้มีการคาดการณ์กันว่า แนวทางนี้น่าจะมีอิทธิพลต่อ “ตันศรี ซุลกิฟลี” ผู้อำนวยความสะดวกฯคนใหม่ และน่าจะเป็นการเปิดทางให้หน่วยข่าวกรองมาเลเซียเข้ามามีบทบาทในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย หลังจากก่อนหน้านี้บทบาทสำคัญอยู่ในมือของสันติบาลมาเลเซียมาโดยตลอด
นอกจากนั้น ยังมีความเป็นไปได้ที่หน่วยข่าวกรองมาเลเซีย จะเสนอให้มีการรวมแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างฯทุกกลุ่ม มาพูดคุยกับรัฐบาลไทย ซึ่งน่าจะทำให้ฝ่ายไทยทำงานยากขึ้น
@@ เปิดเส้นทาง “ตันศรี ซุลกิฟลี”
สำหรับ “ตันศรี ซุลกิฟลี” เป็นอดีตนายทหารสายวิชาการ เป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารมาเลเซีย เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านกลุ่มก่อความไม่สงบ เคยมีบทบาทในปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา แต่ไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จึงคาดว่า “ตันศรี ซุลกิฟลี” ต้องฟังคำแนะนำจากหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะหน่วยข่าวกรองมาเลเซียค่อนข้างมาก เพราะเป็นหน่วยที่เสนอชื่อ “ตันศรี ซุลกิฟลี” ให้เข้ามาทำหน้าที่นี้
“ตันศรี ซุลกิฟลี” เกษียณอายุราชการเมื่อปี 2562 โดยตำแหน่งสำคัญก่อนหน้านั้นคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อปี 2561 และผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2554 ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศด้วย
@@ แม่ทัพภาค 4 ทราบข่าวแล้ว รอประสานงาน
พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ทราบเรื่องการแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกฯ คนใหม่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกัน แต่ พล.ท.ศานติ ไม่ตอบคำถามว่าจะมีการพูดคุยสันติสุขฯรอบใหม่เมื่อใด
@@ “พูโล”โอเค หวังเร่งเปิดโต๊ะพุดคุยรอบใหม่
นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานขบวนการปลดปล่อยสหปัตตานี หรือ พูโล กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” เช่นกันว่า ทราบเรื่องผู้อำนวยความสะดวกฯ คนใหม่แล้ว อันที่จริงเเล้วเรื่องสันติสุข หรือสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง คือรัฐบาลไทย และกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ส่วนผู้อำนวยความสะดวกฯ มีบทบาทแค่การช่วยเหลือ
“เราก็โอเคที่เป็นเขาคนนี้ มีความหวังว่าจะเกิดการพูดคุยรอบใหม่เร็วๆ นี้” ประธานพูโล กล่าว
นายกมาลลูดี สาเหาะ ชาวบ้านใน จ.ยะลา กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องและไม่สนใจ ชาวบ้านอยากให้สงบ แต่เมื่อยังไม่สงบ ก็ต้องอยู่กันต่อไป ใครจะทำอะไรขออย่าให้กระทบชาวบ้านเป็นพอ เพราะชาวบ้านต้องอยู่ต้องกิน แค่นี้ก็เดือดร้อนไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว เหตุการณ์ความไม่สงบก็ยังมีตลอด คนในพื้นที่เบื่อหน่ายมาก