ศอ.บต.โพสต์ข่าวชี้แจงกรณี “ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” ในพื้นที่ ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา เสียหายชำรุด ยืนยันส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วยังใช้งานได้ปกติ โต้สื่อเสนอข่าวเก่า แต่ยอมรับหลายพื้นที่มีปัญหาจริง ด้านนายก อบต.อ้างเหตุไม่รับโอนมาดูแล เพราะตั้งในมัสยิด ไม่ใช่พื้นทีรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่น ส่วนเรื่องร้องเรียนที่บาเจาะ นราธิวาส ตู้เสียนานจนกลายเป็นตู้ร้าง ยังไม่มีคำอธิบายใดๆ
สืบเนื่องจากกรณีที่ “ศูนย์ข่าวอิศรา” นำเสนอข่าวเกี่ยวกับ “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” หรือ “ตู้กรองน้ำพลังแสงอาทิตย์” ราคาตู้ละ 549,000 บาท แต่กลับชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ และยังไม่มีการเข้าไปดูแลซ่อมแซม โดยมีการร้องเรียนของชาวบ้านใน 2 พื้นที่ ได้แก่ ที่มัสยิดนูรูลอิสลามยะลูตง อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และที่มัสยิดในพื้นที่ ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา นั้น
ล่าสุดทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ทำข้อมูลเผยแพร่ชี้แจงเรื่องนี้แล้ว โดยระบุว่า ประเด็นข่าวดังกล่าวเป็นประเด็นข่าวเก่าที่เกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งหลังเกิดประเด็นข่าวขึ้นมา ทางศอ.บต.ได้เข้าตรวจสอบและซ่อมแซมตู้กรองน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ หมู่ 6 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปี 2564
และหลังเป็นข่าวอีกครั้ง ทาง ศอ.บต.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลตามที่ปรากฎข่าวอีกรอบ ผลปรากฏว่า เครื่องกรองน้ำในพื้นที่ หมู่ 6 ต.บาโร๊ะ ยังคงใช้งานได้ตามปกติ โดยมีครูตาดีกา เด็กๆ และชาวบ้านในชุมชน ยังคงใช้น้ำจากตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์กันเป็นปกติ โดยตู้กรองน้ำมิได้ชำรุดเสียหายแต่อย่างใด
@@ อัดคลิปโชว์ ไม่ได้โม้ กดน้ำได้จริง
ทาง ศอ.บต.ยังได้ทำคลิปวีดีโอสาธิตการกดน้ำจากตู้กรองน้ำครึ่งล้านใน ต.บาโร๊ะ ด้วย เพื่อยืนยันว่าสามารถใช้งานได้จริง
น.ส.ยามีล๊ะ สิแต ประชาชน หมู่ 6 บ้านแยเวาะ ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา กล่าวในคลิปวีดีโอ ขณะทดลองกดน้ำว่า ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ที่ติดตั้งหน้ามัสยิด ตั้งแต่ซ่อมมาในปี 2564 ยังใช้งานได้ตามปกติ เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และโรงเรียนตาดีกา ในการใช้น้ำสะอาดไว้ดื่มใช้ภายในบ้าน ซึ่งประชาชนนำแกลลอนมาใส่น้ำตุนไว้ทุกวัน ขอบคุณหน่วยงานที่ติดตั้งตู้กรองน้ำที่เห็นความสะอาดของน้ำดื่มสะอาดเพื่อชาวบ้านในชุมชน
@@ นายก อบต.บอกไม่รับโอนตู้กรองน้ำ เพราะตั้งในที่มัสยิด
ด้าน นายอับดุลรอซิ ทาเนาะ นายก อบต.บาโร๊ะ กล่าวถึงข่าวที่อ้างถึงแหล่งข่าวใน อบต. ไม่ยอมรับโอนตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์จาก ศอ.บต.มาดูแลเอง เพราะชำรุดขัดข้องบ่อ ยและไม่อยากแบกภาระค่าใช้จ่าย ว่า ประเด็นข่าวดังกล่าวเป็นประเด็นข่าวเมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ไม่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้อีกเลย ไม่เข้าใจว่าสำนักข่าวนำข่าวเก่ามาเขียนอีกทำไม แต่ยืนยันว่า ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ ศอ.บต. มาติดตั้งที่มัสยิด หมู่ 6 ต.บาโร๊ะ ยังใช้งานได้ตามปกติและมีประสิทธิภาพ ประชาชนใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
นายก อบต. บาโร๊ะ ชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นปัญหาการโอนตู้กรองน้ำมาอยู่ในความรับผิดชอบของ อบต. และ อบต.ไม่ยอมรับโอนว่า ไม่ได้เกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้งานของตู้กรองน้ำ แต่เป็นเรื่องของสถานที่จัดวางตู้กรองน้ำดังกล่าว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของมัสยิด ทำให้ อบต.ไม่มีอำนาจไปก้าวก่าย หากตู้กรองน้ำตั้งอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือพื้นที่ที่ อบต.ดูแลได้ ทาง อบต.ก็ยินดีรับดูแล เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดไว้ดื่ม ลดอาการเจ็บป่วยจากโรคนิ่ว ซึ่งพบว่ามีประชาชนเป็นโรคนี้จำนวนมากในพื้นที่
@@ ยอมรับตู้กรองน้ำมีปัญหา - ปัดข่าว อบต.ไม่รับโอน
ข้อมูลชี้แจงของ ศอ.บต. ยังยอมรับว่า ขณะนี้เครื่องกรองน้ำในหลายพื้นที่มีปัญหา เนื่องจากผ่านระยะเวลาการใช้งานแล้ว 5 ปี แต่ยืนยันว่าตู้กรองน้ำเป็นศูนย์กลางน้ำสะอาดของแต่ละหมู่บ้าน และก็ยังมีพื้นที่ที่ยังใช้งานได้ ซึ่ง ศอ.บต.ได้เร่งดำเนินการซ่อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด หากตู้กรองน้ำในพื้นที่ใดมีปัญหา ทาง อบต.และชาวบ้านสามารถแจ้งมายัง ศอ.บต. ผ่านสายด่วน 1880 จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ช่างของ ศอ.บต. จะลงพื้นที่ตรวจสอบและเช็คสภาพในเบื้องต้นเพื่อดำเนินการทำเรื่องซ่อมให้แล้วเสร็จ
ส่วนประเด็นข่าวที่ออกมาว่า การดำเนินการร่วมกันดูแลตู้กรองน้ำระหว่าง ศอ.บต. และอบต.ในพื้นที่ ปราฏกว่า อบต.ไม่สมัครใจในการดูแลนั้น ศอ.บต.ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะ อบต.ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายใดๆ ในการซ่อมบำรุง แต่เนื่องด้วยเครื่องกรองน้ำในพื้นที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลและบำรุงรักษา จึงเป็นหน้าที่ของ อบต. และหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นที่ต้องช่วยกัน
@@ ยังไร้คำชี้แจงตู้กรองครึ่งล้านที่บาเจาะ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ข่าวเรื่องตู้กรองน้ำครึ่งล้านของ “ศูนย์ข่าวอิศรา” เสนอข้อเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ อ.บาเจาะ ที่มัสยิดนูรูลอิสลามยะลูตง เป็นหลัก ว่าตู้กรองน้ำใช้งานไม่ได้มาหลายเดือนแล้ว แต่กลับยังไม่มีคำชี้แจงในส่วนนี้จาก ศอ.บต.
“ทีมข่าว” ได้ติดต่อทางโทรศัพท์ไปยัง นายกอมารูดิง กะนิ ผู้ใหญ่บ้านยะลูตง หมู่ 5 ต.กะเยาะมาตี อ.บาเจาะ ซึ่งมีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องตู้กรองน้ำเสีย ได้ข้อมูลว่า หลังมีข่าวออกทางสื่อมวลชน มีเจ้าหน้าที่โทรมาถามเรื่องตู้กรองน้ำเหมือนกัน แต่ไม่ทราบว่าจะมาซ่อมหรือมาทำอะไร จึงให้เบอร์โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดไป เพื่อให้ประสานงานกันโดยตรง โดยวันจันทร์ที่ 27 มิ.ย. จะเข้าไปดูที่มัสยิดว่ามีการมาซ่อมตู้กรองน้ำแล้วหรือยัง
ส่วนประเด็นการไม่รับโอนตู้กรองน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เป็นเรื่องเดิมที่มีปัญหาในปี 2564 หลังตู้กรองน้ำหมดระยะเวลาประกัน ซึ่ง “ศูนย์ข่าวอิศรา” นำประเด็นนี้มาเล่าย้อนให้ข่าวเพื่อให้เห็นปัญหาของการบริหารจัดการตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ นับตั้งแต่การจัดซื้อ ปัญหาเรื่องราคา จนสุดท้ายต้องระงับโครงการในล็อตที่ 3 และยังมีปัญหาเรื่องการปรนนิบัติบำรุง และซ่อมแซมตู้กรองน้ำหลังหมดระยะเวลาประกัน ทำให้มีความพยายามโอนตู้กรองน้ำให้ อบต. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบ แต่ถูกปฏิเสธจาก อบต.แทบทุกแห่ง
ข่าวของ “ศูนย์ข่าวอิศรา” ไม่ได้อ้างถึงนายก อบต.บาโร๊ะ แต่เป็นการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ใน อบต. ซึ่งเป็นฝ่ายประจำ รู้เห็นปัญหามาตลอด และยังได้พูดคุยสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ก็ได้รับการยืนยันว่าตู้กรองน้ำเสียบ่อย ใช้งานไม่ค่อยได้ โดยประเด็นนี้เป็นข่าวใหม่ที่เพิ่งสอบถามสัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยมีหลักฐานเป็นคลิปเสียงยืนยัน
@@ นายก อบต.บาโร๊ะ บอกมีนักข่าว ศอ.บต.ติดต่อมา
“ทีมข่าว” ยังได้โทรศัพท์ไปสอบถามเรื่องตู้กรองน้ำจาก นายอับดุลรอซิ ทาเนาะ นายก อบต.บาโร๊ะ จึงทราบว่า ที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นข่าวเก่าเมื่อปีที่แล้วนั้น เนื่องจากตนไม่ได้ทราบข้อมูลว่าตู้กรองน้ำชำรุดขัดข้อง และมีชาวบ้านไปร้องเรียนกับสื่อช่วงไม่กี่วันมานี้ จึงคิดว่าเป็นข่าวเก่าของปีที่แล้ว และตนก็เป็นผู้ให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้ว ส่วนปีนี้ยังไม่มีนักข่าวติดต่อมา ยกเว้นนักข่าวของ ศอ.บต. จึงให้ข้อมูลอ้างอิงถึงข่าวเก่าเมื่อปีที่แล้วเท่านั้น
“วันนี้ผมมีประชุมนอกพื้นที่ แต่มีนักข่าวของ ศอ.บต.โทรมาถามเรื่องตู้กรองน้ำ ผมก็ได้ปฏิเสธเรื่องข่าวที่ออกมาว่าผมไม่รู้เรื่อง ผมให้สัมภาษณ์สื่อปีที่แล้ว ปีนี้ยังไม่เคยให้สัมภาษณ์” นายอับดุลรอซิ บอกกับทีมข่าวอิศรา
และว่า “ผมบอกเขา (นักข่าว ศอ.บต.) ไปด้วยว่าเรื่องตู้กรองน้ำต้องแยกประเด็น 1.ถ้าใช้ได้ ชาวบ้านได้ประโยชน์ อย่ามาถามเรื่องราคา ถูกหรือแพง ถามชาวบ้านไม่ได้ เพราะชาวบ้านไม่ได้เป็นคนซื้อ ต้องไปถาม สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) หรือ ป.ป.ช. เพราะสำหรับชาวบ้าน ถ้าใช้ประโยชน์ได้ ก็โอเคหมด”
“2.เรื่องโอนตู้กรองน้ำให้ อบต.รับผิดชอบ ผมก็บอกเขาว่า เรื่องนี้ต้องย้อนไปดูว่า จุดที่วางตู้กรองน้ำเป็นอำนาจหน้าที่ของ อบต.หรือไม่ ถ้าจุดที่ตั้งตู้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบต. ก็ต้องรับมา แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่เรา แต่ไปอยู่ในมัสยิด ถ้าเรารับมา เราไม่ซ่อม ไม่ดูแล ชาวบ้านก็ร้องเรียนเราอีก มีปัญหากับเราอีก ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่โอนให้มัสยิดโดยตรง โอนให้มัสยิดเลย จะมาโอนให้ อบต.ทำไม ทำข้อตกลงกับมัสยิดก็ได้ ทำไมไม่ทำ จะมาโอนให้ อบต.ทำไม ก็รู้สึกงงตรงนี้เหมือนกัน”