ความสำเร็จเบื้องต้นในการประสานงานเพื่อลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน ระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯฝ่ายรัฐบาลไทย กับผู้เห็นต่างจากรัฐ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” กลายเป็นแรงกดดันให้ขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่เหลือ แสดงศักยภาพด้วยการก่อเหตุรุนแรง
เหตุผลที่ออกมาก่อเหตุหรือแสดงศักยภาพ ยังคลุมเครือว่า เพื่อหวังเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือประกาศต่อต้านการพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยกันแน่
วันจันทร์ที่ 18 เม.ย.65 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. จะแนะ จ.นราธิวาส รับแจ้งเหตุแขวนป้ายผ้า บริเวณบ้านไอซือเร๊ะ หมู่ 3 ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จึงนำกำลังเข้าตรวจสอบ พบมีป้ายผ้าแขวนป้ายผ้า 1 ผืน บริเวณราวสะพานกูมุง เขียนข้อความเป็นภาษาไทย ปนภาษามลายู ว่า "ปาตานีไม่ใช่สยาม มึงออกไป Patani Merdeka PULA P4"
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการปลดป้าย พร้อมส่งมอบให้หน่วยที่เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อไป
แหล่งข่าวจากหน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า PULA (ปูลา) ย่อมาจาก คำว่า "PATANI UNITED LIBERATION ARMY" แปลว่า กองทัพของกองกำลังสหปาตานีเสรี หรือ กองทัพของพูโล
โดยกลุ่ม PULO P4 (พูโล พีโฟร์) เป็นกลุ่มที่ขนานนามกองกำลังของตัวเองว่า “ปูลา” (PULA) และเป็นนามใหม่ของกองกำลัง PULO P4 ซึ่งเดิมใช้ชื่อกองกำลังว่า PLA ซึ่งเป็นกองกำลังร่วมระหว่าง PULO P4 กับกลุ่ม GMIP (กลุ่มมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี)
@@ แสดงบทบาทไล่หลัง G5 ต่อรองเจรจา
ก่อนหน้านี้ กลุ่มพูโล เอ็มเคพี (PULO-MKP) ภายใต้การนำของ นายกัสตูรี่ มาห์โกตา ได้อ้างความรับผิดชอบว่าเป็นผู้ก่อเหตุระเบิด 3 ลูกในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 15 เม.ย.65 ทำให้ชาวบ้านหาปลาเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 รายจากระเบิดลูกแรก, เจ้าหน้าที่อีโอดี หรือชุดเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด ได้รับบาดเจ็บ 3 นายจากระเบิดลูก 2 ส่วนระเบิดลูก 3 สามารถเก็บกู้เอาไว้ได้
โดยในที่เกิดเหตุมีการทิ้งใบปลิวอ้างชื่อกลุ่ม G5 ซึ่งนายกัสตูรี่ อธิบายว่าคือกองกำลัง 5 ปีกของพูโล โดยแต่ละปีกแบ่งพื้นที่รับผิดชอบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้น นายกัสตูรี่ ยังให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า ต้องการให้รัฐบาลไทยเจรจากับทุกกลุ่ม “เพราะปาตานีไม่ใช่ของบีอาร์เอ็นเท่านั้น”
อนึ่ง กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบล่าสุดที่เปิดโต๊ะพูดคุยกันเมื่อ 2 ปีก่อน ช่วงเดือน ม.ค.63 เป็นการพูดคุยกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับกลุ่มบีอาร์เอ็นเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่า มีบทบาทมากที่สุดในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
@@รู้จัก “พูโล 3 กลุ่ม” ตกขบวนสันติภาพ?
"กลุ่มพูโล" ก็เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนเก่าแก่ที่มีชื่อติดหูคนไทยมานาน แต่ระยะหลังมีความแตกแยกภายใน ทำให้แตกตัวออกเป็น 3 กลุ่มย่อย
1.กลุ่มพูโล DSPP หรือ สภาชูรอเพื่อการนำพูโล หรือ องค์การสหปัตตานีเสรี หรือ องค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานี มีแกนนำสำคัญ ได้แก่ นายกาแม ยูโซะ หรือ นูร์อับดุลดุลเราะห์มาน เป็นประธาน และมี นายลุกมาน บินลิมา หรือ มะ ปอแซ เป็นรองประธาน โดยนายลุกมานเคยร่วมคณะพูดคุยสันติภาพกับคณะพูดคุยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556
2.กลุ่มพูโล P4 (พีโฟร์) หรือพูโลเก่า หรือ องค์การสหปัตตานีเสรี มี นายซัมซูดิง คาน เป็นหัวหน้า และมีกองกำลังเป็นของตัวเอง ชื่อว่า พีแอลเอ หรือ Patani Liberation Army
3.กลุ่มพูโล MKP หรือองค์การสหปัตตานีเสรี หรือกลุ่มพูโลใหม่ แตกตัวออกมาจากพูโลเก่า มี นายกัสตูรี่ มาห์โกตา อดีตโฆษกและฝ่ายต่างประเทศพูโลเป็นประธาน
กลุ่มพูโล DSPP และ MKP เคยเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพฯ ในนามกลุ่ม “มาราปาตานี” พูดคุยกับรัฐบาลไทยช่วงต้นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อราวๆ ปี 58 ก่อนที่การพูดคุยจะเดินถึงทางตัน และหยุดชะงักไป จากนั้นรัฐบาลไทยได้เปิดโต๊ะพูดคุยใหม่กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ในปี 63 แต่ครั้งนี้ไม่มีตัวแทนกลุ่มพูโลเข้าร่วมด้วยแต่แต่กลุ่มเดียว
@@ “แม่ทัพน้อย” ตั้งแง่พูโลอยากคุย ต้องยุติก่อเหตุ
มีรายงานว่า นายกัสตูรี่ อ้างเหตุที่ไม่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยฯว่า เพราะพูโลไม่ต้องการคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย เนื่องจากพูโลต้องการอิสระจากประเทศไทย
ด้าน พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ ในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า นโยบายพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ต่อยอดมาจากโต๊ะพูดคุยยุค พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 โดยเน้นการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการตามความสมัครใจกับทุกกลุ่ม ทุกสถานที่ และทุกเรื่อง
“มีคำถามว่าทีมพูโลพร้อมหรือสมัครใจจะมาคุยหรือยัง ถ้ายังไม่พร้อมก็ต้องใช้มาตรการควบคุมไม่ให้ก่อเหตุ ซึ่งก็เน้นไปแล้ว อำนาจรัฐต้องเข้มแข็ง เป็นธรรม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน บนความมีส่วนร่วมของทุกคนและสังคมยอมรับ”
ขณะที่ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องที่พูโลไม่ยอมเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยฯ แต่ในอนาคตคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย อาจพิจารณาคุยกับพูโลด้วย เพราะภาพรวมคณะพูดคุยฯพร้อมคุยกับทุกกลุ่ม