กล่าวกันว่า การเปิดโต๊ะเจรจา หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พูดคุยสันติภาพ - พูดคุยเพื่อสันติสุข” จะเป็นทางออกของปัญหาไฟใต้อย่างยั่งยืน
การพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน แบ่งออกเป็น 2 ภาค 2 ห้วงเวลาหลักๆ กล่าวคือ
/// ห้วงแรก ก่อนปี พ.ศ.2556 ///
- เริ่มกระบวนการพูดคุยกับผู้เห็นต่างฯ มาตั้งแต่ปี 2536 ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายทหาร
- รูปแบบการพูดคุย เป็นการพูดคุยแบบปิดลับ พบปะกันในต่างประเทศ ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ
- สถิติเหตุรุนแรงลดลงเรื่อยๆ เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาเดินถูกทาง ใกล้สำเร็จ กระทั่งปี 2543 รัฐบาล นายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงเหลือเพียง 8 ครั้งตลอดทั้งปี
- ปี 2545 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สั่งยุบ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และ พตท.43 (กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43)
นโยบายของอดีตนายกฯทักษิณ ถูกระบุว่าเป็นต้นเหตุทำให้ไฟใต้กลับมาคุโชน แต่จริงๆ แล้วมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาจปรับเปลี่ยนยุทธวิธี จากปฏิบัติการในป่าเขา เรียกค่าคุ้มครอง มาเป็นการใช้ยุทธวิธีก่อการร้ายในเมือง และใช้เยาวชนในการขับเคลื่อน ทั้งเป็นนักรบและแนวร่วมสนับสนุน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลาบ่มเพาะมากกว่า 2 ปี
- ปี 2546 มีเหตุการณ์ปล้นปืนเกิดขึ้นหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการปล้นจากหน่วยพิทักษ์ป่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และอาสารักษาดินแดน (อส.)
- ปี 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ 4 ม.ค. (วันเสียงปืนแตก)
- เกิดสถานการณ์ไฟใต้รอบปัจจุบัน มีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นรายวัน
/// ห้วงที่ 2 หลังปี 2556 ///
- 28 ก.พ.2556 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเปิดศักราชการพูดคุยเพื่อสันติภาพรอบใหม่
- เป็นการพูดคุยแบบเปิดเผย บนโต๊ะ ไม่ใช่แอบคุยใต้โต๊ะ หรือนัดพบกันในประเทศที่สาม
- แต่การพูดคุยแบบเปิดเผย บนโต๊ะ ถูกมองว่าเป็นการยอมรับการมีตัวตนของขบวนการ BRN และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ เช่น พูโล
- มีการลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ในขณะนั้น กับแกนนำบีอาร์เอ็น อุตตาซ ฮัสซัน ตอยิบ
- บีอาร์เอ็นเสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่ฝ่ายความมั่นคงไทยยอมรับไม่ได้
- การพูดคุยหยุดชะงักในปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงปี 2557 เพราะมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ สุดท้ายจบลงที่การรัฐประหาร
- รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ริเริ่มกระบวนการพูดคุยครั้งใหม่ ในปี 2558 ใช้ชื่อว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- นับถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ไปแล้ว 3 คน คือ
1) พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก
2) พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
3) พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช.
- ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐเปลี่ยนกลุ่มพูดคุยจาก “มารา ปาตานี” เป็น “บีอาร์เอ็น” นำโดย อุสตาซ หีพนี มะเร๊ะ (ดร.อานัส อับดุลเราะห์มาน)
- การพูดคุยชะงักไปกว่า 1 ปีเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
-ล่าสุดกำลังจะนัดพูดคุยรอบใหม่ ภายในเดือนนี้ โดยมีตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
@@ ระวังกับดัก “พูดคุยฯ”
พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อดีตนายทหารผู้เชียวชาญปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เตือนให้ระวังติด 2 กับดักไฟใต้
หนึ่ง คือ ชื่นชมกับสถิติเหตุรุนแรงที่ลดลง ทั้งๆ ที่ความรู้สึกของประชาชนยังไม่ปลอดภัย
สอง คือ การพูดคุยแบบบนโต๊ะ เปิดเผย มีมาเลเซียเป็นตัวกลาง (อำนวยความสะดวก) เป็นผลพวงจากการพูดคุยยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ (28 ก.พ.56) การพูดคุยรูปแบบนี้สำเร็จยาก และมีต้นสายปลายเหตุมาจากที่อดีตนายกฯทักษิณ ไปเจรจากับอดีตนายกฯมาเลเซีย นายนาจิบ ราซัค เพื่อให้จัดกระบวนการพูดคุย
ฝ่ายความมั่นคงไม่เคยเห็นด้วยกับการพูดคุยรูปแบบนี้ แต่เป็นนโยบายที่สืบเนื่องมา จึงไม่มีทางเลือกอื่น
มีข้อเสนอใหม่ คือ เปิดการพูดคุย Track 2 แบบไม่มีตัวกลาง
@@ ประชาชนมีส่วนร่วมบ้างไหม?
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งคำถามเรื่องการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุข
“รัฐบาลยังละเลยการมีส่วนร่วม เห็นได้จากการตั้ง ‘ผู้แทนพิเศษดับไฟใต้’ ชุดใหม่ไม่มีคนพื้นที่เลย มีแต่อดีตข้าราชการ”
@@ พูโลเตือนภายเรือในอ่าง
กัสตูรี่ มะห์โกตา ประธานองค์การพูโล ให้สัมภาษณ์พิเศษกับรายการ “ข่าวข้นคนข่าว” ทางเนชั่นทีวี เห็นด้วยกับการพูดคุย Track 2 ไม่ต้องมีคนกลาง คุยกันแบบคนในครอบครัวและคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก
กัสตูรี่ บอกด้วยว่า การพูดคุยต้องต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนตัวคณะพูดคุยไปตามวาระ หรือตามตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่ที่ผ่านมาไม่เป็นแบบนั้น โดยเฉพาะในรอบ 10 ปีมานี้ เปลี่ยนคณะพูดคุยหลายชุด หลายคน ทำให้สงสัยว่ารัฐบาลไทยเลี้ยงไข้ ไม่อยากให้ไฟใต้สงบหรือไม่
@@ ทางออก หรือ ทางตัน?
สุดท้ายต้องวัดใจว่าหลังจากนี้กระบวนการพูดคุยฯ จะพายเรือในอ่าง หรือจะเดินหน้าต่อไป เพราะมีข่าวว่าจะมีการกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ safety zone เพื่อทดสอบศักยภาพและความจริงใจของแต่ละฝ่าย
แต่บางเสียงก็เริ่มค้านว่า จะกำหนดพื้นที่ปลอดภัยทำไม เพราะจริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องทำให้ทุกพื้นที่ปลอดภัย
กระแสแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการพูดคุยครั้งก่อนกับ “มารา ปาตานี” และจบลงที่ “พื้นที่ปลอดภัย” กับข้อเสนอการส่งตัวแทนเข้ามาในพื้นที่โดยได้รับการคุ้มครองชั่วคราวทางกฎหมาย
@@ ปี 70 ไฟใต้ไม่ดับง่าย
จากการตรวจการบ้าน 18 ปีไฟใต้ ทำให้เห็นว่า ปัญหานี้คงไม่จบง่าย และอาจไม่จบในปี 2570 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้ เพราะ
- เจตจำนงในการต่อสู้กับรัฐยังมีอยู่ และยังไม่หมดไป
- มีการสร้างผู้ก่อความไม่สงบรุ่นใหม่ เรียก ผกร.หน้าขาว
- กระบวนการพูดคุยยังมีความเห็นต่างมากทั้งฝ่ายรัฐด้วยกันเอง และคู่เจรจา
- เงื่อนไขวิสามัญฆาตกรรม ความไม่เป็นธรรม ยังปลุกได้ตลอดเวลา