ปฏิบัติการ “โจ้คลุมถุง” ทำให้เกิดกระแสการทวงถามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย ที่ผลักดันกันมาเนิ่นนานข้ามทศวรรษ แต่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมเสียที
ณ วินาทีนี้ สังคมบางส่วนเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการ “ปฏิรูปตำรวจ” และ “กระบวนการยุติธรรม”เลยทีเดียว
ส่วนกลุ่มที่เคยทำงานด้านสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้ มองเลยไปถึงการควบคุมการปฏิบัติของทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหน่วยอื่นด้วย เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ เปิดช่องให้มีการจับกุมควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องแจ้งข้อหา ระยะเวลา 7 วันถึง 30 วัน
ห้วงเวลาตามกฎหมายพิเศษนี้เหมือนเป็น “สุญญากาศ” ที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ตาม “ศูนย์ซักถาม” หรือ “ศูนย์ควบคุมตัว” ต่างๆ
การมีกฎหมายป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย หรือ “พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มฆ่า-อุ้มหาย” ซึ่งเป็นประเด็นเรียกร้องของคนทำงานภาคใต้มาตลอด
และหนึ่งในนั้นคือ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งตัวของอังคณาเองนั้น ไม่ใช่แค่ทำงานภาคใต้ และทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังเป็น “ผู้สูญเสีย” จากคดี “อุ้มหาย” ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ผู้เป็นสามี ตั้งแต่ปี 47 จนถึงปัจจุบันกฎหมายไม่สามารถเอาผิด หรือคืนความเป็นธรรมให้กับเธอได้
“ทีมข่าวอิศรา” พูดคุยกับ อังคณา นีละไพจิตร ถึงบทบาทการผลักดันกฎหมายป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง และสถานการณ์การอุ้มฆ่า อุ้มหาย ทรมาน ในประเทศไทย
@@ เส้นทางการผลักดันกฎหมายฉบับนี้?
ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ของสหประชาชาติ เมื่อปี 54 จากนั้นเมื่อวันที่ 9 ม.ค.55 สมัย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา แต่ก็ไม่แล้วเสร็จ
ต่อมาปี 59 กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายฯ ต่อ ครม. ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบ ปัญหาก็คือสมัย สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) พอร่างกฎหมายถูกส่งเข้าไป ปรากฏว่าล่าช้าจนกระทั่ง สนช.หมดวาระ กลายเป็นกฎหมายที่หายไป พอมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อปี 60 สนช.ก็บอกว่าต้องไปรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก่อน ร่างกฎหมายก็ถูกเบียดออกไป และกลับไปที่ต้นเรื่อง ก็คือกระทรวงยุติธรรม
ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป เกี่ยวข้องกับประชาชน ก็ต้องรับฟังความเห็น ก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ มาเริ่มรับฟังความคิดเห็นกันใหม่ จนกระทั่งรับฟังความคิดเห็นเสร็จ ก็เสนอ ครม.อีกครั้ง ระหว่างนี้ก็มีคณะกรรมาธิการบางคณะในสภา และพรรคการเมืองหลายพรรคได้เสนอร่างของตัวเองเข้าไปด้วย ตอนนี้ส่งเข้าบรรจุวาระของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และน่าจะถือว่าร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลัก ปัญหาก็คือจะต้องขอความเห็นชอบจาก ส.ว.ด้วย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ส.ว.ที่ส่วนมากก็มาจาก สนช.เดิม จะคัดค้านเหมือนที่เคยหรือไม่
เรื่องนี้ผลักดันกันมานานมากแล้ว คือรัฐบาลเองก็อยากจะสร้างผลงานด้วย ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงล่าช้ามาก แล้ว สนช.เองก็พิจารณาล่าช้ามาก ทั้งๆ ที่สมัย สนช. กฎหมายออกมาหลายร้อยฉบับ แต่กฎหมายที่จะเป็นการคุ้มครองประชาชนกลับล่าช้า และสุดท้ายก็หลุดออกไปเฉยๆ ไม่ได้เป็นความสำคัญลำดับแรกของรัฐบาลมาโดยตลอด เพราะคุณประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ก็อยู่มาตั้งแต่ปี 57 จนวันนี้ เนื่องจากว่ามันไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก มันก็เลยทำให้ล่าช้า ตกไปบ้าง หยิบขึ้นมาใหม่บ้าง
@@ ตั้งแต่กรณีของทนายสมชาย มาจนถึงเคสของอดีตผู้กำกับโจ้ มองปัญหานี้อย่างไร?
คิดว่าอันดับแรกต้องมีการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องการสืบสวน สอบสวน จะต้องมีอัยการ เข้ามาร่วม ด้วยหลักการที่ว่าผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวว่ามีสิทธิ์พบทนายระหว่างมีการสอบสวน จะต้องไม่มีข้อยกเว้นว่าด้วยสถานการณ์พิเศษ จะต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริง
พร้อมๆ กันนั้น รัฐบาลจะต้องรีบพิจารณากฎหมายป้องกันการทรมานฯ สาระสำคัญจะต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านทรมานและบังคับสูญหายของสหประชาชาติด้วย มิฉะนั้นกฎหมายจะไม่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองเหยื่อได้จริง เช่น หลักการบังคับให้สูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ เรื่องนี้สำคัญ เพราะว่าเจ้าหน้าที่หลายคนมีความเห็นว่า ควรจะไม่นับคดีย้อนหลัง
ทีนี้หลักการของการบังคับสูญหาย ก็คือ “คนหาย” ก็ยังคงเป็นคนหายอยู่เรื่อยๆ จนกว่าเราจะทราบที่อยู่หรือชะตากรรม ก็เหมือนกับว่าเมื่อไหร่ที่พบศพ เมื่อไหร่ที่รู้ว่าเขาถูกขังในคุกลับ หรือรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน อายุความถึงจะเริ่มต้น
อย่างในต่างประเทศ เมื่อเวลาผ่านไป เช่น 5 ปี 10 ปี คนเหล่านี้ก็ยังเป็นผู้สูญหายอยู่และรัฐก็มีหน้าที่ต้องติดตามสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรม เพราะว่าต้องติดตามไปเรื่อยๆ และหลายๆ ประเทศก็พบว่า เวลาผ่านไปหลายสิบปี ก็สามารถที่จะรื้อฟื้นคดีได้ เอาคนผิดมาลงโทษ คืนศพให้กับญาติได้
เพราะฉะนั้นหลักการนี้เป็นหลักการที่สำคัญมาก แต่คิดว่าในประเทศไทยเอง เจ้าหน้าที่ หลายส่วนก็ค้าน เพื่อที่ว่าคดีเก่าๆ จะได้ไม่ต้องถูกรื้อฟื้น อันนี้ถือว่าขัดกับหลักการใหญ่ของอนุสัญญาฯอย่างมาก
@@ หลักการสำคัญๆ ที่ต้องมีในกฎหมาย ยังมีอะไรอีกบ้าง?
เรื่องความผิดของผู้บังคับบัญชา คือถ้าผู้บังคับบัญชารู้เห็น หรือรู้แต่ว่าไม่ห้าม ก็ต้องได้รับโทษ เพราะว่าบางทีการสั่งการ อาจมีการสั่งการโดยที่ให้เป็นนโยบาย หรือส่งสัญญาณ ถ้าเอาผิดได้เฉพาะคนที่กระทำการ โดยที่คนสั่งการ ม่ต้องรับผิด ก็ถือว่าคนที่ทำผิดยังคงลอยนวลอยู่ ฉะนั้นกรณีอุ้มหาย ผู้สั่งการก็จะเป็นผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็นเป็นใจ ในการสั่งการ หรือว่ารู้ แต่ว่าไม่ห้าม ก็ต้องรับผิดด้วย ตรงนี้สำคัญ
กฎหมายยังให้นิยามคำว่า “เหยื่อ” และ “ผู้เสียหาย” ที่กว้างกว่าเดิม เพราะตามกฎหมายอาญา “เหยื่อ” และผู้กระทำการแทนบุคคลที่สูญหาย คือ บุพการี ผู้สืบสันดาน และคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น ที่จะมีสถานะเป็น “ผู้เสียหาย” ดำเนินการทางคดีได้
กรณีของ สมชาย นีละไพจิตร ก็ทำให้เห็นเลยว่า พอไม่มีหลักฐานที่จะบอกว่า สมชาย ถูกทรมานหรือว่าเสียชีวิต ญาติก็เข้าไปเป็นผู้เสียหายแทนไม่ได้ เพราะว่าศาลฎีกาก็บอกเลยว่าเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานที่จะบอกว่าทนายสมชายบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทนายสมชายก็จะต้องมาดำเนินการฟ้องร้องด้วยตัวเอง มันก็เลยกลายเป็นว่าทุกวันนี้ คดีลักษณะนี้ เป็นคดีที่ไม่มีผู้เสียหาย เพราะว่าผู้เสียหายหายไปแล้ว
ในกฎหมายมีอีกหลายอย่างที่จะเป็นหลักประกัน เช่น เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวหรือจับกุมใคร ต้องมีบันทึก ต้องให้ญาติเยี่ยม ทนายเยี่ยมได้ ต้องมีบันทึกเลยนะว่าญาติได้เยี่ยม อันนี้ก็จะเป็นหลักประกันว่า เขาจะไม่ถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัว ถ้าเป็นพลเมืองไทย อัยการสามารถขอความร่วมมือในการหาตัว ในการสืบสวนร่วมกับประเทศอื่นได้
ที่สำคัญถ้าหากประเทศใดที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯฉบับนี้แล้ว สมมติผู้กระทำผิดหนีไปอยู่ในประเทศไหนก็ตาม ซึ่งประเทศนั้นให้สัตยาบันอนุสัญญาฯด้วย เราก็สามารถไปดำเนินคดีในต่างประเทศได้เลย สามารถจับกุม ควบคุมตัวดำเนินคดีได้ หรือส่งกลับมาที่ประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นการผ่านร่าง พ.ร.บ.ปัองกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย จึงมีความสำคัญ
@@ ความท้าทายหลังจากนี้?
ก็ต้องรอดูว่า หากร่างกฎหมายเข้าสู่สภาวาระ 1 แล้ว จะมีการรับหลักการหรือไม่ ถ้ารับหลักการ ก็ต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระ 2 รายมาตรา ตรงนี้ต้องดูว่ากรรมาธิการจะมีใครบ้าง เพราะถ้าหากว่ามีเฉพาะตำรวจ หรือทหาร หน่วยความมั่นคง โดยที่ไม่เปิดโอกาสให้คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการบังคับสูญหายหรือทรมานเข้าไป รวมถึงญาติที่มีความรู้มีประสบการณ์ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหน้าตากฎหมายจะออกมาแบบไหน แต่ว่าต่างประเทศเขาจะให้ความสำคัญกับนักสิทธิมนุษยชนและญาติเหยื่อมาก โดยจะเปิดให้เข้าไปมีส่วนร่วมและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งจะทำให้กฎหมายมีความสมบูรณ์และบังคับใช้ได้จริง
--------------------
ภาพประกอบจาก Facebook - Angkhana Neelapaijit